หวอ : ฉากพระนครภายใต้ฝนเหล็กครั้งแรก

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

หวอ

: ฉากพระนครภายใต้ฝนเหล็กครั้งแรก

 

พลันเมื่อไทยยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทย (8 ธันวาคม 2484) รัฐบาลประกาศการพรางไฟทั่วประเทศ ด้วยคาดว่า อังกฤษคงจะส่งเครื่องบินมาโจมตี (รอง ศยามานนท์, 2520, 178)

เพียงราว 1 เดือนหลังจากนั้น อังกฤษตอบโต้ไทยด้วยการส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่พระนคร ด้วยเหตุที่ไทยยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านไทยเข้าโจมตีมลายูและพม่าของอังกฤษ จากนั้น ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทิ้งช่วงการโจมตีทางอากาศไปและเข้าโจมตีไทยอีกครั้งในช่วงปี 2486 จวบจบสิ้นสงคราม (2488) กล่าวได้ว่า การโจมตีพระนครในช่วงสงครามแบ่งได้ออกเป็นสองช่วง ดังนี้

ช่วงแรก ต้นปี 2485 เป็นการโจมตีของเครื่องบินจากอังกฤษ จากสนามบินพม่ามาโจมตีไทย หลังจากอังกฤษถอยร่นจากพม่าไปยังอินเดียแล้ว การโจมตีพระนครลดน้อยลง จวบกระทั่งปี 2486 เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรรุกกลับ สหรัฐและอังกฤษใช้เครื่องบินจากสนามบินในอินเดียและจีนมาโจมตีระลอกใหม่ เครื่องบินที่เข้ามาปฏิบัติการส่วนใหญ่เป็นเครื่องบิน บี 29 เป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดใหญ่ สร้างความเสียหายให้ไทยเป็นอย่างมาก (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 299)

ภูเขาทองตั้งหวอเตือนภัยการโจมตีทางอากาศครั้งสงครามและหวอที่ติดตั้งที่มหานครลอนดอน

เมื่อพระนครถูกโจมตีทางอากาศครั้งแรก

กลางดึกของคืนวันที่ 8 ต่อเช้าวันที่ 9 มกราคม 2485 มีเครื่องบิน 3 ลำของอังกฤษบินจากพม่ามาทิ้งระเบิดที่พระนคร แต่ทำความเสียหายไม่มากนัก เช่น มีการทิ้งระเบิดที่หน้ากรมไปรษณีย์ แต่ไม่ระเบิด แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถขุดค้นได้ และหายไป (รอง ศยามานนท์, 2520, 179)

คืนวันนั้น สัญญาณหวอดังทั่วพระนคร ประชาชนตื่นเต้นจนจับต้นชนปลายไม่ถูก เสียงเครื่องยนต์บนฟากฟ้าครางกระหึ่มตามมา ไฟฉายที่ตั้งอยู่ตามชานเมืองต่างสาดส่องขึ้นไปเป็นลำขาวบนท้องฟ้ากราดจับเป้าหมาย ชาวพระนครบันทึกไว้ว่า เขาเคยดูแต่ตอนซ้อมป้องกันภัยทางอากาศ แต่พอเห็นของจริงเข้าเท่านั้น ความสนุกหดหายไปทีเดียว (สรศัลย์ แพ่งสภา, 2558, 51)

ในคืนนั้นนับเป็นครั้งแรกที่ไทยลิ้มรสการโจมตีทางอากาศ มีการทิ้งระเบิดที่ตรอกบี.เอ็ล.ฮั้ว.เชิงสะพานพุทธ ด้านฝั่งธนฯ มุ่งทำลายสะพานแต่พลาดเป้า จากนั้น เครื่องบินมาทิ้งระเบิดแถวเยาวราช บ้านเรือนพังระเนระนาด (อาจินต์ ปัญจพรรค์, 2541, 196)

หมอเสนอ อินทรสุขศรี ครั้งเป็นนักศึกษาแพทย์ศิริราชเล่าว่า วันนั้น เสียงไซเรนดังก้องพระนคร ผู้คนแตกตื่นด้วยเป็นครั้งแรกที่พระนครถูกโจมตีทางอากาศจากฝ่ายสัมพันธมิตร คนจำนวนมากทำตัวไม่ถูก ผู้คนต่างตะโกนให้ปิดสวิตช์ไฟฟ้าตามที่เคยรับรู้มา

เขาเล่าว่า “หัวใจมันเต้นโครมคราม ตัวสั่นเหงื่อตก ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร นึกอยู่แต่ว่า ถ้าได้ยินเสียงระเบิดตูมตามขึ้นมาต้องนอนราบลงบนพื้นอย่างที่ได้เคยเรียน เคยฝึกมาจากการเป็นยุวชนทหารและยุวชนนายทหาร”

หมอเสนอเล่าต่อว่า “เสียงเครื่องบินเหมือนกับบินผ่านวนไปวนมา มีแสงไฟส่องเป็นลำขึ้นไปบนท้องฟ้า ลำแสงกวัดแกว่งไปมาอยู่ 2-3 ลำแสงตัดกันไปมาเพื่อค้นหาเครื่องบิน เสียงปืน ปตอ.ดังเป็นระยะๆ และต่อมาก็เป็นเสียงระเบิดที่เครื่องบินทิ้งลงมา” (เสนอ, 2548, 76)

เครื่องบิน รุ่น de Havilland DH.98 Mosquito ที่เข้ามาทิ้งระเบิดพระนครช่วงต้นสงคราม

การโจมตีทางอากาศครั้งแรกนั้น เป็นการทิ้งสะเปะสะปะ ไม่มีเป้าหมายจุดสำคัญ ไม่โดนกองทหารญี่ปุ่น ด้วยคงไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน เนื่องจากสถานที่ที่ถูกทำลายไม่ใช่จุดยุทธศาสตร์เลย (เสนอ, 2548, 76)

เครื่องบินที่ทิ้งมาระเบิดพระนครนั้นเป็นแบบปีกชั้นเดียวสองเครื่องยนต์ จำนวน 3 ลำ บินเข้ามาทิ้งระเบิดสร้างความเสียหายให้กับเยาวราชตอนกลาง ตรอกบี.เอ็ล.ฮั้ว สี่แยกวัดตึก แต่การโจมตีครั้งนั้น ทำลายหัวลำโพงไม่ได้ (สรศัลย์ แพ่งสภา, 2558, 52)

ชาวพระนครบันทึกวันนั้นไว้ว่า “ข้าพเจ้าได้ยินเสียงครางหึ่งๆ ดังมาแต่ไกล แต่เสียงหวอยังไม่ดัง…สักครู่เดียวมองเห็นแสงแวบประกายสว่างจ้าพร้อมมีเสียงระเบิดหลายครืน ไฟลุกไหม้สว่างจ้าจับท้องฟ้า ปรากฏว่าเครื่องบินฝ่ายข้าศึกทิ้งระเบิดลงบนพระที่นั่งอนันตสมาคมและหวอเพิ่งดังขึ้นภายหลัง นับเป็นการถูกโจมตีทางอากาศครั้งแรกในกรุงเทพฯ” (ประเก็บ คล่องตรวจโรค, 2515, 205-206)

วราห์ โรจนวิภาต ชาวฝั่งธนบุรีคนหนึ่งคาดว่า การที่เครื่องบินครั้งนั้นมุ่งทำลายสะพานพุทธ สถานีรถไฟสายมหาชัย แต่พลาดเป้าระเบิดไปตกที่ตรอกบี.เอ็ล.ฮั้ว แถบถนนสมเด็จเจ้าพระยา ด้วยในตรอกเป็นที่ตั้งบริษัทยา คนจึงเรียกว่า ตรอกบี.เอ็ล.ฮั้ว มีคนเจ็บและตาย บ้านเรือนเสียหาย (ek-prapai.org)

จากบันทึกความทรงจำของเด็กญี่ปุ่นในไทยบันทึกว่า เพียงราวหนึ่งเดือนหลังจากที่ญี่ปุ่นยกพลขึ้นไทย พระนครจึงถูกสัมพันธมิตรทิ้งระเบิด เขาได้ยินเสียงไซเรนดังขึ้น มีเสียงตะโกนให้ดับไฟ ชาวบ้านแถบนั้นออกมายืนดูเครื่องบินบนท้องฟ้า “ไม่นานบนท้องฟ้าก็มีเสียงหึ่ง หึ่ง ดังทึบทึบของเครื่องบินทิ้งระเบิด ดังขึ้นมาพร้อมกัน บนท้องฟ้ามีแสงไฟจำนวนมากสาดจากพื้นดินส่องขึ้นไปเพื่อหาเครื่องบิน มองเห็นเส้นสีขาวของไฟส่องหาเครื่องบินไหวไปมา…วินาทีนั้งเอง เสียง ตูม ตูม ปุ ปุ ปุ ระเบิดนำวิถีบินลากหางราวกับดาวตก วิ่งตัดกับลูกปืนจากปืนต่อต้านอากาศยาน แต่ระเบิดดังตูม ตูม อยู่ข้างตัวเครื่อง ไม่ถูกเครื่องบินเลยสักนัด… “(มาซาโอะ เซโตะ, เล่ม 1, 2548, 95-96)

สอดคล้องกับหมอเสนอเล่าว่า แม้จะเป็นการโจมตีที่ไร้เป้าหมายชัดเจน แต่ทำให้ผู้คนตาย โดยที่การต่อสู้อากาศยานของไทยทำลายเครื่องบินทิ้งระเบิดไม่ได้ แม้นจะมีการยิงต่อสู้จากภาคพื้น แต่ ปตอ.ของไทยไม่ระคายผิวเครื่องบินเหล่านั้นเลย (เสนอ, 2548, 76)

ความเสียหายแถบเยาวราช จากทิ้งระเบิดของอังกฤษ เมื่อคืนวันที่ 8 มกราคม 2485

ผู้คนเริ่มอพยพ

หลังจากพระนครยามถูกโจมตีทางอากาศแล้วนั้น “ทุกๆ เย็น ผู้คนชาวกรุงเทพฯ พากันแตกตื่นอพยพหลบภัยออกไปนอนนอกเมือง โดยมากไปนอนใกล้ๆ สวนฝั่งธนบุรี เรือโดยสารทุกลำมีผู้โดยสารแย่งกันลงอย่างแตกตื่นแน่นขนัด บางลำบรรทุกได้ 70 คนแต่มีแย่งกันลงถึง 200 คน จนเรือคว่ำมีคนตายกลางแม่น้ำ พอบ่าย 3 โมงล่วงแล้ว ผู้คนก็รีบเลิกงาน อพยพออกไปนอกเมืองกันหมดเพื่อหนีภัยโจมตีทางอากาศ” (ประเก็บ, 206)

ความหนาแน่นของผู้คนในพระนครลดลงๆ หลังถูกโจมตีอย่างต่อเนื่อง “วันต่อๆ มา ผู้คนพลเมืองบางตาลงทันที รถราน้อยลง ห้างร้านปิดใส่กุญแจกันมาก แสดงว่าการค้าหยุดลง เป็นที่รู้กันว่า กรุงเทพฯ จะถูกข้าศึกโจมตีหนักขึ้น จำเป็นต้องอพยพออกจากย่านกลางเมืองไป การอพยพนั้นไปต่างจังหวัดก็มี ออกไปพักพิงกับพรรคพวกพี่น้องในสวนและทุ่งนารอบๆ กรุงเทพฯ ก็มี พวกอพยพนี้ไปอยู่ชั่วคราวกันมาก แต่ที่ไปตั้งรกรากอยู่ก็มี เสียงหวอเวลากลางคืนมีบ่อยขึ้น เสียงนี้โหยหวนครวญครางสยดสยองขวัญบอกไม่ถูก” (ขุนวิจิตรมาตรา, 2523, 466)

นอกจากการโจมตีในวันที่ 8 มกราคมแล้ว เครื่องบินอังกฤษยังเข้าโจมตีพระนครในวันที่ 24, 27 มกราคม 2485 อีกด้วย ช่วงนั้น รัฐบาลมีคำสั่งให้ทุกกระทรวงทบวงกรมป้องกันภัยทางอากาศ ให้ข้าราชการผลัดเวรมาเฝ้ากระทรวงกันทุกคืน (ขุนวิจิตรมาตรา, 464)

ร้านขายยา บี.เอ็ล.ฮั้ว ในพระนคร
เครื่องบินอังกฤษโจมตีกรุงเทพฯ เมื่อคืนวันที่ 8 มกราคม 2485
สภาพอาคารเยาวราชใกล้ตึก 7 ชั้น เมื่อ 24 มกราคม 2485
ความเสียหายของบ้านเรือนประชาชน จากการทิ้งระเบิดเมื่อ 24 มกราคม 2485