ศัพทานุกรมอำนาจนิยม (ตอนจบ) | เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

ผมได้แนะนำศัพท์ชุดอำนาจนิยมบางคำแก่ท่านผู้อ่านไปเมื่อตอนที่แล้ว

ได้แก่ อัตตาธิปัตย์ (autocrat), จอมเผด็จอำนาจ (despot), จอมเผด็จการ (dictator) และทรราช (tyrant)

 

มาในสัปดาห์นี้ขอแนะนำเพิ่มเติมอีก 2 คำคือ คณาธิปัตย์ (oligarch) และ เศรษฐยาธิปัตย์ (plutocrat) พร้อมกับขมวดจบโดยยกตัวอย่างลากเข้าความสู่การเมืองไทยเสียเลยทีเดียว

คณาธิปัตย์ (จากศัพท์กรีก Oligarkhos) หมายถึงสมาชิกของรัฐบาลที่ซึ่งอำนาจถูกสงวนไว้ให้แก่คณะบุคคลจำนวนน้อย

ประวัติศาสตร์นครรัฐกรีกสมัยสี่ศตวรรษก่อนคริสตกาลนั้นเป็นเรื่องราวการต่อสู้กันเองภายในระหว่างพวกประชาธิปัตย์ (ในความหมายผู้นิยมระบอบประชาธิปไตย) กับพวกคณาธิปัตย์, หรือระหว่างคนจนกับคนรวยนั่นเอง

แม้ว่าโลกชาวกรีกยุคนั้นจะประสบพบผ่านลองถูกลองผิดกับตัวแบบการปกครองคณาธิปไตยหลากหลายรูปแบบ ทว่าส่วนใหญ่แล้ว รัฐบาลคณาธิปไตยจะประกอบด้วยคณะมนตรี (council) ชุดหนึ่งหรือหลายชุดซึ่งบรรดาสมาชิกครองตำแหน่งตลอดชีพ

ระบอบคณาธิปไตยนั้นถูกถือว่าตรงข้ามกับระบอบประชาธิปไตย และฉะนั้น นครรัฐสปาร์ตาซึ่งปกครองแบบคณาธิปไตยจึงเสมือนภาพด้านกลับของนครรัฐเอเธนส์ซึ่งปกครองแบบประชาธิปไตย

แต่ถึงกระนั้นระบอบปกครองของนครรัฐสปาร์ตาก็เป็นกรณีเอกเทศในประดาคณาธิปไตยทั้งหลาย ค่าที่อำนาจไม่ได้กุมอยู่ในมือของชาวสปาร์ตาที่รวยที่สุด อันต่างจากระบอบคณาธิปไตยอื่นๆ แทบทุกแห่งนั่นแล (https://thehistoryace.com/the-ancient-spartan-government-explained-democracy-or-oligarchy/)

ครูเบน แอนเดอร์สัน & อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร กับคริส เบเกอร์ ผู้ประยุกต์ใช้ศัพท์คณาธิปัตย์และเศรษฐยาธิปัตย์มาวิเคราะห์การเมืองไทยระยะใกล้

ส่วน เศรษฐยาธิปัตย์ (จากศัพท์กรีกว่า ploutocratia) หมายถึงบุคคลที่ได้อำนาจปกครองมาจากความมั่งคั่งของตน

ชาวกรีกประณามระบอบ เศรษฐยาธิปไตย (plutocracy จากรากศัพท์กรีกว่า ploutos = ความมั่งคั่ง + cratos = อำนาจ) และเอามันไปตั้งประจันกับระบอบ อภิชนาธิปไตย (aristocracy) อันเป็นระบอบที่มีธาตุแท้เช่นเดียวกับคณาธิปไตย ชั่วแต่ว่าคณะบุคคลจำนวนน้อยผู้กุมอำนาจปกครองในระบอบนี้เป็น อภิชน (จากศัพท์กรีกว่า aristo?) ซึ่งไม่ใช่เศรษฐี แต่มีความหมายโดยอรรถถึงคนที่ดีที่สุด งดงามที่สุดหรือสุขุมาลยชาติ (ชาติกำเนิดเป็นผู้ดีมีตระกูลสูง) ฯลฯ แห่งนครรัฐ

นครรัฐเอเธนส์โบราณแต่เดิมนั้นเป็นระบอบอภิชนาธิปไตยที่ปกครองโดยพวกลูกหลานผู้ดีมีตระกูลซึ่งสืบเชื้อสายกันมานี่เอง (พวก eupatrid ดู https://www.britannica.com/topic/eupatrid)

คำว่าเศรษฐยาธิปัตย์ (plutocrat) กลับมาแพร่หลายอีกครั้งในโลกภาษาอังกฤษและกระจายต่อไปยังฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่สิบเก้าเพื่อโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านยิว ดังเช่นตัวละครไชล็อก นายทุนเงินกู้ชาวยิวในบทละครเรื่อง เวนิสวานิช (The Merchant of Venice, 1596-98) ของวิลเลียม เช็กสเปียร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปลเป็นคำกลอนไทย ดังปรากฏคำบ่นรำพึงแบบเศรษฐยาธิปัตย์ของไชล็อกตอนหนึ่งว่า (ดู https://researchcafe.tsri.or.th/the-merchant-of-venice/) :

 

“ลูกสาวกู! เงินของกู! อยู่ที่ไหน? หนีไปกับคริสตังชังน้ำหน้า!

เอาคริสตังเงินทองของกูมา! ยุติธรรม! เงินตรา และบุตรี”

Plutocrat ถูกลากเข้าความสู่การเมืองไทยครั้งสำคัญเมื่อราวสองทศวรรษก่อนโดยงานวิเคราะห์วิจัยของอาจารย์คริส เบเกอร์ กับผาสุก พงษ์ไพจิตร เกี่ยวกับรัฐบาลทักษิณ ในชื่อ “Pluto-Populism in Thailand : Business Remaking Politics” (http://pioneer.netserv.chula.ac.th/~ppasuk/papers.htm) และ “Pluto-populism : Thaksin and popular politics” (เป็นบทหนึ่งที่รวมเล่มในหนังสือ Thailand Beyond the Crisis) ซึ่งทั้งสองชิ้นออกมาไล่เลี่ยกันในปี 2004

บทคัดย่อของบทความชิ้นหลังได้สรุปความแปลกใหม่ของ เศรษฐยา-ประชานิยม (pluto-populism) แห่งรัฐบาลทักษิณไว้ว่า (https://www.taylorfrancis.com/chapters/edit/10.4324/9780203402399-9/pluto-populism-chris-baker) :

“เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2001 ทักษิณ ชินวัตร นักธุรกิจผู้ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทย ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีและแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีซึ่งแน่นขนัดไปด้วยนักธุรกิจชั้นนำอื่นๆ นี่เป็นเรื่องใหม่ เพราะแม้ว่านักธุรกิจได้เข้าครอบงำรัฐสภาไทยขณะการเมืองเรื่องการเลือกตั้งพัฒนามาในช่วงกว่าสองทศวรรษก่อน ทว่า พวกนักธุรกิจใหญ่ที่สุดยังคงวางตัวห่างออกไปเล็กน้อย

“ทักษิณชนะการเลือกตั้งด้วยแนวนโยบายอันกอปรไปด้วยมาตรการต่างๆ ที่โน้มดึงมวลชนชนบทโดยตรง นี่ก็เป็นเรื่องใหม่เช่นกัน การเลือกตั้งครั้งก่อนๆ เอาชนะกันด้วยอิทธิพลท้องถิ่นและแนวนโยบายของพรรค ไม่ถือเป็นเรื่องจริงจัง

“พรรคของทักษิณชนะการเลือกตั้งโดยหย่อนจากการครองเสียงข้างมากเด็ดขาดไปหน่อยเดียว ไม่มีการเลือกตั้งก่อนนี้ครั้งไหนนับแต่ปี 1979 เป็นต้นมาที่พรรคใดได้ที่นั่งถึงหนึ่งในสามของทั้งหมด ในปีถัดจากการเลือกตั้ง ทักษิณได้ดำเนินการ (หรือพยายามดำเนินการ) เชื้อมูลหลักทั้งหมดของแนวนโยบายการเลือกตั้งของตน นี่นับว่าเป็นเรื่องใหม่จริงๆ

“ถึงกลางปี 2002 ทักษิณกำลังทำนายว่าเขาจะครองอำนาจไปอีก 16 ปี ไม่มีนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งคนใดก่อนหน้านี้อยู่ในตำแหน่งได้เกินหนึ่งสมัยเป็นเวลา 4 ปีเลย”

ทุกวันนี้คุณทักษิณไม่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่อยู่ห้องวีไอพีชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งจะว่าไปก็สูงลิบกว่าทำเนียบรัฐบาลด้วยซ้ำ แหะๆ

 

ส่วนนักวิชาการไทยศึกษาผู้ประยุกต์คำว่าคณาธิปไตย (oligarchy) มาทำความเข้าใจการเมืองเมื่อสิบกว่าปีก่อนได้แก่ ครูเบน แอนเดอร์สัน (ผู้เชี่ยวชาญลัทธิชาตินิยมและเอเชียอาคเนย์ศึกษาชื่อดัง, 1936-2015) ในโอกาสรับเชิญจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและสาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้กล่าวปาฐกถา เรื่อง “มองอนาคตการเมืองไทยผ่านสายตาคนนอก” ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อ 26 มกราคม 2011 โดยคุณภัควดี ไม่มีนามสกุล ได้แปลปาฐกถาของครูเบนเป็นไทยและเผยแพร่ทางเว็บข่าวประชาไทต่อมา (https://prachatai.com/journal/2011/04/33843)

ความตอนหนึ่งที่ครูเบนประยุกต์แนวคิดคณาธิปไตยมามองการเมืองไทยมีว่า :

“อ.เกษียร เตชะพีระ หนึ่งในนักศึกษาที่ดีที่สุดคนหนึ่งที่ผมเคยสอน เขาบรรยายถึงระบบการเมืองไทยในปัจจุบันว่าเป็น ‘กึ่งประชาธิปไตย’ นี่คือคำนิยามที่พบมากที่สุดที่คนนอกมักใช้อธิบายระบบการเมืองในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย แต่ในทัศนะของผม ประเทศเหล่านี้รวมทั้งสยามด้วย จริงๆ แล้วอยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มคณาธิปไตย มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป

“กลุ่มคณาธิปไตยเหล่านี้มักเป็นกลุ่มเครือญาติ ลูกหลานไปโรงเรียนเดียวกัน มีธุรกิจเกี่ยวโยงกัน แต่งงานเกี่ยวดองกันเอง รวมทั้งมีค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า พวกเขาไม่แข่งขันกันเอง พวกเขามีการแข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน บางครั้งอย่างดุเดือดด้วย แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาตัดขาดจากคนกลุ่มอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง พวกเขามีความยืดหยุ่นพอที่จะดูดคนอื่นที่เป็นกึ่งคนนอกจากกลุ่มต่างๆ เข้ามา แต่ต้องวางอยู่บนเงื่อนไขที่พวกเขาตั้งขึ้นเท่านั้น พวกเขามีหลักจรรยาบรรณบางอย่างด้วยซ้ำ เช่น ไม่ใช้เรื่องอื้อฉาวทางเพศมาโจมตีกันเอง เป็นต้น

“สัญญาณหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นคณาธิปไตยอย่างชัดเจนก็คือการไม่มีฝ่ายค้านเป็นกลุ่มก้อนที่มีระบบจัดการที่ดี อีกสัญญาณหนึ่งคือการที่ ส.ส.ย้ายพรรคกันง่ายๆ และรวดเร็วเวลามีการจัดตั้งรัฐบาลผสม เนวินเคยเป็นมือขวาของทักษิณ แล้วจู่ๆ ก็ย้ายมาเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ซึ่งต่อต้านทักษิณ

“สิ่งที่สำคัญมากที่จะทำให้ระบอบคณาธิปไตยตั้งมั่นอยู่ได้ก็คือความเชี่ยวชาญในการควบคุมระบบการเลือกตั้ง เมื่ออินโดนีเซียจัด ‘การเลือกตั้งเสรี’ ขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากโค่นล้มซูฮาร์โตลงได้ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่สื่อตะวันตกโหมประโคมว่าเป็นการวางรากฐานระบอบประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย ผมบังเอิญได้พบกับเพื่อนร่วมงานอาวุโสชาวอเมริกันคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง และอันที่จริงก็เป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลอินโดนีเซีย เมื่อผมถามความคิดเห็นของเขา เขาส่ายหน้าและบอกว่า “อินโดนีเซียมีระบบการเลือกตั้งที่แย่ที่สุดเท่าที่ผมเคยเจอมา นี่ไม่ใช่อุบัติเหตุหรือสัญญาณของความโง่เขลา ผู้นำทางการเมืองที่นั่นรู้ดีว่าตัวเองกำลังทำอะไรในระหว่างที่ร่างกฎหมายการเลือกตั้ง

“ลักษณะของคณาธิปไตยอีกประการหนึ่งที่สามารถสังเกตเห็นได้ก็คือ ภาษาแบบลำดับชั้นที่ชนชั้นนำใช้เพื่อสร้างความชอบธรรม คำที่เป็นกุญแจสำคัญคือคำว่า ‘ให้’ ระบอบคุณพ่อใจดีจะ ‘ให้’ การศึกษาเกือบฟรีแก่ลูกหลานของชาติ เงินอุดหนุนแก่เกษตรกร อุปกรณ์เตือนภัยสึนามิ เงินกู้ดอกเบี้ยถูก คอมพิวเตอร์สำหรับโรงเรียนประถม ผ้าห่มและเมล็ดพันธุ์แก่ชนกลุ่มน้อย ‘ล้าหลัง’ ฯลฯ

“ผมเองไม่ได้ชื่นชมระบบการเมืองของสหรัฐ หรือสหราชอาณาจักร แต่ประชาชนในสองประเทศนี้คงรู้สึกแปลกหรือกระทั่งรู้สึกเหมือนถูกดูถูก หากประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีในประเทศของพวกเขาพูดอะไรอย่างเช่น ‘ให้’ งานใหม่หนึ่งล้านตำแหน่ง ผมเกรงว่าแม้แต่นักวิชาการระดับแนวหน้าของไทยก็ไม่ได้ใส่ใจต่อภาษาแบบคณาธิปไตยในประเทศไทยมากพอ ในอินโดนีเซียวันนี้ เราจะพบบ่อยๆ ว่ากลุ่มคณาธิปไตยมักบ่นว่า rakyat masih bodoh หมายความว่า มวลชนยังโง่/ไม่รู้เรื่อง สำนวนประโยคนี้เกิดขึ้นในยุคหลังประกาศเอกราชเมื่อ 60 ปีก่อน เมื่อคนอินโดนีเซียคิดว่าความโง่เขลาของประชาชนที่เกิดจากลัทธิอาณานิคมจะหายไปในเร็ววัน จนถึงทุกวันนี้ พวกคณาธิปไตยก็ยังใช้ภาษาแบบเดิมอย่างไม่ละอายแก่ใจ โดยส่อความหมายชัดเจนว่ามวลชนจะโง่แบบนี้ตลอดไป และเพราะเหตุนี้เองระบอบคณาธิปไตยแบบคุณพ่อใจดีจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อประเทศ…”

อ่านแล้ว หันไปมองดูปัจจุบันของเรา มันช่าง…หุๆ หุๆ