หรือไร้หวังไปเสียสิ้น

เมนูข้อมูล | นายดาต้า

 

หรือไร้หวังไปเสียสิ้น

 

โลกของการสื่อสารที่ขณะนี้มี “สังคมออนไลน์” เป็นสื่อกระแสหลัก อันหมายถึงมากด้วยความหลากหลายของการแสดงความคิดเห็นในทุกเรื่องราว ได้ก่อปรากฏการณ์ที่ยากต่อการหลีกเลี่ยงความเห็นต่าง ยิ่งเป็นเรื่องราวที่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ความเห็นต่างไม่เพียงง่ายต่อการขยายเป็นความขัดแย้งทางความคิดดุเดือดถึงจุดก่อวิวาทะร้อนแรงได้เสมอเท่านั้น แต่ยังขยายรายละเอียดของความเห็นต่างยิบย่อยลงไป เป็นกลุ่มก้อนทัศนคติหลากหลายด้วย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ กรณี “ทักษิณ ชินวัตร” กลับมารับโทษ แต่ใช้การจำคุกที่โรงพยาบาลตำรวจแทนที่จะเป็นเรือนจำ

ความเห็นของผู้คนกระจัดกระจายไปหลายกลุ่มมาก

 

หนึ่ง คนที่เป็นตายร้ายดีอย่างไรก็รับไม่ได้กับการมี “ทักษิณ ชินวัตร” ร่วมแผ่นดินอยู่แล้ว ย่อมมองแต่ความไม่ถูกต้องของคนที่ต้องถูกลงโทษแต่ไม่ถูกจองจำในคุก เป็นกลุ่มที่เอาเป็นเอาตายกับการต่อต้านกระบวนการที่ทำให้ “ห้องหรูโรงพยาบาลตำรวจกลายเป็นที่คุมขัง”

สอง กลุ่มที่เห็นว่า “ทักษิณ” ถูกพิษการเมืองเล่นงาน ไม่เป็นไปตามหลักการของ “นิติรัฐ-นิติธรรม” ตั้งแต่เริ่มแล้ว การที่ “ทีมงานของทักษิณ” สู้ด้วยการทำให้ไม่ต้องถูกขังในเรือนจำเป็นความชอบธรรม เพราะเป็นเรื่องของการต่อสู้ ไม่ใช่การจัดการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ เป็นการมองความยุติธรรมในภาพรวม แบบเมื่อไม่เริ่มด้วยหลักการที่ชอบธรรม ก็ไม่จำเป็นต้องเหลืออะไรให้รักษาไว้ อยู่กันไปด้วยต่างคนต่างมีสิทธิที่จะต่อสู้โดยไม่คำนึงถึงกรอบของหลักการที่ควรจะเป็น

สาม กลุ่มที่เรียกร้องให้ยึดมั่นในหลักการ โดยมองว่าแม้ “ทักษิณ” จะถูกจัดการด้วยเหตุผลทางการเมืองจนกระทบต่อกรอบ “นิติธรรม” แต่ต้องตัดตอนเป็นเรื่องๆ ไป จะมาต่อสู้โดยอ้างการไม่ได้รับความยุติธรรม เป็นเหตุให้ต้องกระทำการที่กระทบต่อการปฏิบัติที่ถูกต้องไม่ได้ เพราะเท่ากับส่งเสริมการไม่ปฏิบัติตามกรอบที่ควรจะเป็น ส่งผลต่อความเสื่อมทรุดของการอยู่ร่วมกันด้วยกติกาที่ศักดิ์สิทธิ์

ซึ่งไม่ควรจะปล่อยให้เป็นเรื่องถูกต้อง

 

นั่นเป็นตัวอย่างคร่าวๆ ของกลุ่มใหญ่ๆ ที่ชัดเจนว่าต่างยึดถือความเห็นของพวกตัวเอง โดยปิดหูปิดตาที่จะรับฟังรับรู้ความเห็นของกลุ่มอื่น พร้อมจะแสดงท่าทีเผชิญหน้าให้เกิดแตกแยกแบบลามไปทุกเรื่อง เหมือนบ้านนี้เมืองนี้ไม่มีทางที่จะรับฟังกันด้วยเหตุด้วยผลเพื่อหาความเหมาะควรร่วมกันได้อีกแล้ว

เป็นเรื่องของการแบ่งกลุ่มเพื่อปิดหูปิดตาตัวเอง ด้วยความเชื่อว่าความคิดของพวกตัวเองเท่านั้นที่ถูกต้อง

ความน่าสนใจอยู่ที่ “ประชาชนส่วนใหญ่คิดอย่างไร”

 

เมื่อเร็วๆ นี้ “นิด้าโพล” สำรวจเรื่อง “กรณีทักษิณ ชินวัตร กับความอยู่รอดของรัฐบาล”

เมื่อถามถึงความอยู่รอดของรัฐบาล จากกรณีทักษิณ ชินวัตร ยังคงรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ร้อยละ 39.62 ระบุว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของรัฐบาลเลย, ร้อยละ 21.98 เห็นว่าค่อนข้างส่งผลกระทบ, ร้อยละ 18.70 เห็นว่าไม่ค่อยส่งผลกระทบ, ร้อยละ 15.42 ระบุว่า ส่งผลกระทบต่อความอยู่รอดของรัฐบาลอย่างมาก และร้อยละ 4.28 เฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อถามถึงการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ส่งตัวทักษิณ ชินวัตร กลับเข้าเรือนจำ จะลุกลามจนนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่เหมือนการชุมนุมของเสื้อเหลือง เสื้อแดง และ กปปส. ในอดีตหรือไม่

ร้อยละ 41.60 ระบุว่า จะไม่นำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่แน่นอน, ร้อยละ 41.30 เชื่อว่า จะนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ แต่ไม่ใหญ่โตเหมือนในอดีต, ร้อยละ 11.15 ระบุว่า จะนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่เหมือนในอดีตแน่นอน และร้อยละ 5.95 เฉยๆ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

จะเห็นว่าขณะที่กลุ่มความคิดทางการเมือง ใส่ใจอย่างเอาเป็นเอาตายกับการที่อำนาจรัฐปฏิบัติต่อ “ทักษิณ ชินวัตร” จนเกิดความแตกแยกทางความคิดกันรุนแรงในโลก “สื่อออนไลน์”

กลายเป็นประเด็นความเหมาะควรกับการจัดการ “กระบวนการยุติธรรม” ในประเทศไทย

ทว่า ในมุมมองของประชาชนส่วนใหญ่ ตาม “นิด้าโพล” คล้ายกับว่าไม่ได้ใส่ใจสักเท่าไร

ไม่เพียงไม่ใส่ใจว่า “ทักษิณ ชินวัตร” จะเป็นอย่างไร แต่ดูว่าความไม่ใส่ใจนั้นเลยไปถึงต่อ “ความยุติธรรม” ด้วย