แบงก์กำไรทะลุ 2 แสนล้าน ท่ามกลางวิกฤตหนี้เสีย สะท้อนเศรษฐกิจไทยเปราะบาง

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งประกาศผลประกอบการในปี 2566 ออกมาแล้ว ซึ่งเป็นไปตามที่บรรดานักวิเคราะห์คาดการณ์ ก็คือ แม้ว่าไตรมาสสุดท้ายของปีจะดร็อปลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ผลดำเนินงานทั้งปีแบงก์ไทยก็ทำกำไรสุทธิได้ท่วมท้น

โดยเฉพาะบรรดาธนาคารขนาดใหญ่ที่กำไรเติบโตกันถ้วนหน้า ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากรายได้ดอกเบี้ยที่เติบโตมากขึ้น ตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้นในปีที่ผ่านมา

ธนาคารพาณิชย์ 10 แห่ง ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกำไรสุทธิ ปี 2566 รวมกันที่ 231,613 ล้านบาท ในจำนวนนี้แบงก์ที่มีกำไรสูงสุด ได้แก่ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX (หลักทรัพย์ SCB) มีกำไรสุทธิสูงสุดที่ 43,521 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.9% จากปีก่อน

ขณะที่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) มีกำไรสุทธิ จำนวน 41,636 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.1% จากปีก่อน เรียกได้ว่ามีกำไรเพิ่มขึ้นมากที่สุดในบรรดาแบงก์ใหญ่ด้วยกัน ส่วนธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มีกำไรสุทธิ จำนวน 42,405 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.55% จากปีก่อน

นอกจากนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มีกำไรสุทธิ จำนวน 32,929 ล้านบาท เติบโต 7.2% จากปีก่อน ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) มีกำไรสุทธิ ปี 2566 จำนวน 18,462 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อน

ธนาคารทิสโก้ (TISCO) มีกำไรสุทธิ จำนวน 7,302 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากปีก่อน

ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH BANK) มีกำไรสุทธิ จำนวน 1,693 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.85% จากปีก่อน

และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB Thai) มีกำไรสุทธิ จำนวน 1,605.3 ล้านบาท ลดลง 44.9% จากปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง สถานการณ์หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทั้ง 10 แบงก์มีหนี้เสียรวมกันที่ 511,352 ล้านบาท ลดลงเพียงเล็กน้อย 0.05% จากปีก่อน

โดยในจำนวนนี้พบว่า 3 แบงก์ใหญ่มีแนวโน้มเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า คือ ธนาคารกรุงไทย บมจ.เอสซีบีเอกซ์ และธนาคารกสิกรไทย แต่เอ็นพีแอลลดลง เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ส่วนแบงก์กรุงเทพเอ็นพีแอลลดลง ทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและเทียบกับปีก่อน

แบงก์ที่เอ็นพีแอลสูงสุด คือ ธนาคารกรุงไทย อยู่ที่ 99,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.15% จากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ 98,309 ล้านบาท แต่ลดลง 1.64% จากปีก่อน ที่มีเอ็นพีแอลที่ 101,096 ล้านบาท

ขณะที่การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ เพื่อรับความเสี่ยงหนี้เสียที่จะเกิดขึ้น โดยภาพรวม 10 แบงก์อยู่ที่ 235,943 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่สำรอง 198,141 ล้านบาท

โดยแบงก์กรุงเทพ และกสิกรไทย ตั้งสำรองในระดับใกล้เคียงปีก่อน คือ แบงก์กรุงเทพ ตั้งที่ 33,666 ล้านบาท

กสิกรไทย ตั้งสำรองที่ 51,840 ล้านบาท ส่วน บมจ.เอสซีบีเอกซ์ ตั้งสำรอง 43,600 ล้านบาท เพิ่มสูงจากปีก่อนที่มีการตั้งสำรอง 33,829 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 28.88%

ด้านธนาคารกรุงไทย ตั้งสำรองเพิ่มมากที่สุดถึง 52.37% โดยตั้งที่ 37,085 ล้านบาท จากปีก่อนตั้งสำรองที่ 24,338 ล้านบาท โดยเฉพาะไตรมาสสุดท้ายมีการตั้งสำรองสูงถึง 13,070 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นการตั้งสำรองกรณีลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่ง

นอกจากนี้ แบงก์ขนาดกลางอย่างธนาคารกรุงศรีฯ ที่ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นมาก ที่ 35,617 ล้านบาท จากปีก่อน 26,652 ล้านบาท ส่วนทีทีบีตั้งสำรอง 22,199 ล้านบาท จากปีก่อนตั้ง 18,353 ล้านบาท

 

น.ส.ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในปี 2567 แม้เศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตดีขึ้น แต่ยังมีความท้าทายที่หลากหลายจากเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงจากการเติบโตที่ชะลอลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐที่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจจีนที่ยังเผชิญกับปัญหาความเปราะบางของภาคการเงินและตลาดอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามปัจจัยในประเทศ รวมถึงมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจของภาครัฐด้วยเช่นกัน

“ในปี 2566 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 42,405 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.55% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นฐานที่ต่ำ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยปรับตัวดีขึ้นในบางส่วน อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังคงตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปริมาณสูงใกล้เคียงกับปีก่อน เพื่อรองรับความไม่แน่นอนจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น”

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ท่ามกลางความผันผวนทางธุรกิจในระบบเศรษฐกิจโลก ธนาคารกรุงเทพพร้อมดำเนินการเพื่อสนับสนุนลูกค้าให้สามารถผ่านความท้าทายและความยากลำบากเหล่านี้ และสามารถแสวงหาโอกาสที่เหมาะสม

สำหรับสร้างการเติบโต โดยจะดำเนินการอย่างสอดรับกับรัฐบาลที่ได้ออกมาตรการลดภาระค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า และมาตรการต่างๆ มาให้ความช่วยเหลือ และสอดรับกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้ดำเนินนโยบายทางการเงินเพื่อช่วยดูแลเงินเฟ้อ และช่วยให้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจมีเสถียรภาพมากขึ้น เพื่อให้บริษัทไทยสามารถฟันฝ่าอุปสรรค ก้าวข้ามความท้าทายที่รออยู่ และเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีบี เอกซ์ กล่าวว่า ในปี 2566 บริษัทมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากวิกฤตโควิด ภายใต้การฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศที่ไม่ทั่วถึง ภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูง ตลอดจนความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่เพิ่มสูงขึ้น

 

น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญในปี 2566 ของระบบธนาคารยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ซึ่งสวนทางกับประเทศอื่นที่ปรับลดลงแล้วตามการช่วยเหลือลูกค้า แต่ของไทยยังคงมีลูกค้าที่อยู่ในมาตรการช่วยเหลืออยู่ค่อนข้างมาก โดยในปี 2567 คาดว่าธนาคารมีการตั้งสำรองต่อสินเชื่อ (Credit Cost) ที่ 1.10-1.25% เนื่องจากไทยยังคงมีปัญหาในเรื่องของคุณภาพสินเชื่อ

“ปี 2567 น่าจะยังคงเห็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ มีแนวโน้มขยับเพิ่มขึ้นได้”

น.ส.ธัญญลักษณ์กล่าวว่า ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ยังเติบโตได้ ส่วนหนึ่งมาจากทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับเพิ่มขึ้น แม้ว่าสินเชื่อจะขยายตัวไม่มากก็ตาม อย่างไรก็ดี แนวโน้ม NIM ในปี 2567 จะทยอยแคบลง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยเริ่มทรงตัว และต้นทุนเงินฝากจะทยอยปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อานิสงส์จาก NIM จะปรับลดลง

“ผลจาก NIM ที่ปรับสูงขึ้น ยังไม่รวมผลจากต้นทุนการบริหารจัดการสินทรัพย์ และการตั้งสำรอง ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากธนาคารยังคงให้ความระมัดระวังในเรื่องของคุณภาพสินเชื่อ ซึ่งหากรวมเข้ามา จะเป็นตัวถ่วงให้อัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (ROE) และผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) ปรับลดลง ซึ่งจะเห็นว่าผลการดำเนินงานในกลุ่มธนาคาร ยังค่อนข้างต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเซ็กเตอร์อื่น และประเทศอื่นที่ปรับดีขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจ”

สรุปได้ว่า แม้กำไรปีที่ผ่านมาแบงก์ไทยจะดูดีในแง่ผลกำไร แต่มองไปข้างหน้า อาจจะยังไม่ค่อยสดใสเท่าใดนัก ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังน่าวิตก ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป