ทางรอดที่เหลือ ของดิจิทัลวอลเล็ต

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ | สมชัย ศรีสุทธิยากร

 

ทางรอดที่เหลือ

ของดิจิทัลวอลเล็ต

 

ต้องยอมรับว่า นโยบายในการหาเสียงพรรคการเมืองซึ่งถือว่าอยู่ในความสนใจของประชาชนมากที่สุด คือนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ แก่ประชาชน 50 ล้านคน เป็นเงินที่ต้องใช้ราว 500,000 ล้านบาท

นโยบายดังกล่าวอาจเป็นเพียงนโยบายที่ใช้ในการหาเสียง แต่เมื่อเป็นรัฐบาลอาจมีการอ้างถึงข้อจำกัดต่างๆ เช่น ความจำเป็นในการใช้จ่ายงบประมาณในเรื่องอื่น หรือข้อจำกัดด้านกฎหมายในการดำเนินการ

แต่บรรดาผู้นำของพรรคเพื่อไทยล้วนมีท่าทียืนยันและให้ความหวังแก่ประชาชน จนกลายเป็นความคาดหวังของประชาชนจำนวนมากว่า จะมีเงินดังกล่าวให้กับประชาชนจริง

ยิ่งมีการบอกถึงกำหนดการวันเดือนแน่นอน ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าทำได้แน่นอน

แต่จากเดิมที่ประกาศว่ามกราคม ก็เลื่อนเป็นกุมภาพันธ์ เลื่อนเป็นเมษายน และพฤษภาคม จนถึงขณะนี้ เริ่มมีการออกข่าวว่าอาจไม่ทันพฤษภาคม 2567 ทำให้นักวิชาการ นักวิเคราะห์การเมืองเริ่มฟันธงว่า โครงการดังกล่าวมีสิทธิไม่ได้เกิด

ยิ่งมีความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ทำได้ แต่ต้องไม่ผิดกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐซึ่งขึงพืดหลายมาตรา ยิ่งมีความเห็นจากคณะทำงานของ ป.ป.ช.ที่ชี้ให้เห็นปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในการดำเนินโครงการดังกล่าวที่สุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตและประพฤติมิชอบ ยิ่งทำให้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญในความสำเร็จของการผลักดันนโยบายดังกล่าวให้เกิดความสำเร็จ

ทางออกของการเดินหน้าในนโยบายที่สุ่มเสี่ยงดังกล่าวจึงเหลืออยู่เพียงไม่กี่ทาง

 

ต้องกล้าพอ

หากจะออกเป็นพระราชกำหนด

อํานาจในการออกเป็นพระราชกำหนดกู้เงิน 500,000 ล้านบาท เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ระบุว่า

“ในกรณีเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยของสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ พระมหากษัตริย์จะทรงตราพระราชกำหนดให้ใช้บังคับดังเช่นพระราชบัญญัติได้

การตราพระราชกำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้”

การออกเป็น พ.ร.ก.กู้เงิน จึงเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงในการตีความว่า เป็นเรื่อง “ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ” และ “เป็นกรณีฉุกเฉิน จำเป็น เร่งด่วนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” จริงหรือไม่

และความรับผิดชอบทั้งหมดย่อมอยู่ที่คณะรัฐมนตรีที่จะต้องกล้าและยอมรับผลที่ตามมา

 

เดินหน้าออกเป็นพระราชบัญญัติ

การเดินหน้าเสนอเป็นพระราชบัญญัติกู้เงิน 500,000 ล้านเข้าสู่สภา ยังเป็นแนวทางที่ประเมินว่า น่าจะเป็นความพยายามที่เป็นไปได้ที่สุด

เพราะเสียงในสภาผู้แทนฯ นั้นมีท่วมท้นเพียงพอที่จะผ่านพระราชบัญญัติ แต่ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 เดือนในขั้นสภาผู้แทนราษฎร และใช้เวลาอีก 1 เดือนในขั้นวุฒิสภา แม้วุฒิสภาอาจมีมติไม่เห็นชอบ ให้ยับยั้งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไว้ก่อนและส่งคืนสภาผู้แทนราษฎร แต่เนื่องจากเป็นพระราชบัญญัติทางการเงิน ตามมาตรา 138 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎรสามารถลงมติยืนยันร่างเดิมได้ เมื่อผ่านกำหนดระยะเวลา 10 วันไปแล้วได้

การยืนยันดังกล่าว ถือว่ารัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติ

อย่างไรก็ตาม ยังมีจุดที่เป็นอุปสรรคได้คือ ตามมาตรา 145 ของรัฐธรรมนูญ ที่ร่างพระราชบัญญัติใดได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะทูลเกล้าฯ ต้องรอไว้เป็นเวลา 5 วัน และอาศัยความตามมาตรา 148 ของรัฐธรรมนูญ หากมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของสองสภา รวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสองสภา คือ ประมาณ 75 คนขึ้นไป เห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มีข้อความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ก็สามารถร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยได้

การวินิจฉัยของศาล อาจนำความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะทำงานของ ป.ป.ช. หรือสอบถามความเห็นไปยังองค์กรอิสระอื่นๆ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งมีโอกาสที่จะเห็นต่างไปจากที่รัฐบาลต้องการได้

 

ใช้งบประมาณเหลือจ่ายปี พ.ศ.2567

งบประมาณแผ่นดิน ปี พ.ศ.2567 จำนวน 3.48 ล้านล้านบาท กว่าจะได้เริ่มใช้ก็ประมาณต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2567 เนื่องจากความล่าช้าของกระบวนการจัดทำงบประมาณ ทำให้เหลือระยะเวลาในการใช้งบประมาณเพียง 5 เดือนก่อนจะขึ้นปีงบประมาณใหม่

งบฯ ลงทุนที่มีกว่า 700,000 ล้านบาท อาจไม่สามารถทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างก่อหนี้ผูกพันได้ทัน รวมถึงรายการใช้จ่ายในหมวดอื่นๆ ที่อาจจะมีเงินเหลือจ่าย

การใช้งบประมาณเหลือจ่ายเพื่อนำมาใช้แจกเงินประชาชนตามนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต จึงอาจจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งได้ แต่ผู้เป็นรัฐบาลต้องมีความสามารถในการบริหารงบประมาณในระดับสูงมาก จึงจะสามารถตัดโอน โยกย้ายงบประมาณ ซึ่งก็มีข้อจำกัดในพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณอีกมากมายว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้

ช่องทางนี้ประเมินแล้วจึงอาจเป็นไปไม่ได้ หรือทำได้ก็ไม่สามารถได้เงินก้อนใหญ่ถึง 500,000 ล้านบาทได้

 

ตั้งในงบประมาณปี พ.ศ.2568

การตั้งรายการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจตั้งไว้ในงบประมาณปี พ.ศ.2568 ได้ทัน เนื่องจากการจัดทำงบประมาณของปีดังกล่าว ยังอยู่ในขั้นต้นที่รัฐบาลสามารถมีนโยบายลดรายจ่ายของหน่วยราชการให้เหลือเงินจำนวนมากเพื่อตอบสนองนโยบายของตน

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูโครงสร้างงบประมาณของประเทศ ที่ร้อยละ 70-75 เป็นรายจ่ายประจำ ร้อยละ 20 เป็นงบฯ ลงทุน ร้อยละ 5 เป็นงบฯ ใช้คืนเงินกู้ โอกาสที่จะมีเงินถึง 500,000 ล้านบาทหรือประมาณร้อยละ 15 ของงบประมาณประจำปีในปีงบประมาณเดียวเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก อีกทั้งมีข้อจำกัดที่ระบุในพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ และพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ ที่กำหนดสัดส่วนการกู้เงินต่างๆ ไว้มากมาย

เมื่อกู้เพิ่มไม่ได้ การตั้งรายจ่ายงบประมาณถึง 500,000 ล้านบาท จึงอาจไม่สามารถทำได้ในปีงบประมาณเดียว โดยรัฐบาลอาจต้องแบ่งเงินจำนวนดังกล่าวเป็นสองงวดในสองปีงบประมาณ คือ 250,000 ล้านบาท สำหรับงบประมาณปี พ.ศ.2568 และอีก 250,000 ล้านสำหรับงบประมาณ ปี 2569

แต่แนวคิดการทุ่มเงินลงไปครั้งเดียว เพื่อสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจก็อาจไม่เป็นจริง

 

กลับไปสู่คำถามพื้นฐาน

นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เป็นนโยบายประชานิยมที่ประเมินได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความต้องการ เพราะเป็นการเพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับประชาชนถึงคนละ 10,000 บาท

สำหรับคนชั้นกลางในเมือง เงินหมื่นบาท แม้ไม่ใช่เงินมากแต่คือโอกาสในการซื้อหาสิ่งที่อยากได้เพื่อตอบสนองความต้องการส่วนตัว แต่สำหรับคนในชนบท เงินหมื่นบาทเป็นเงินจำนวนค่อนข้างมากที่ไม่ได้หามาได้โดยง่าย อาจนำไปใช้ซื้อของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต หรือสามารถนำไปต่อยอดร่วมลงทุนเพื่อให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ตามมา

แต่การแจกเงินจากรัฐ จะกลายเป็นประเพณีนิยมของนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองในอนาคต เมื่อพรรคหนึ่งแจกได้ พรรคอื่นก็แจกได้เช่นกัน และอาจเกทับด้วยจำนวนเงินที่มากกว่า เมื่องบประมาณแผ่นดินไม่พอ ก็ต้องไปกู้มาแจก สร้างภาระหนี้สาธารณะให้แก่ประเทศที่เพิ่มขึ้นจนอาจกลายเป็นวิกฤตจริงในอนาคต

ทั้งหมดจึงกลับไปสู่คำถามพื้นฐานคือ เราจะแจกเงินเพื่ออะไร ประเทศวิกฤตจริงไหม การแจกเงินจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามคาดหวังหรือเป็นเพียงการรักษาหน้า รักษาสัญญาของพรรคการเมือง ไม่ให้ถูกตราหน้าในการเลือกตั้งครั้งต่อไปว่า พูดได้แต่ทำไม่ได้เท่านั้น

ประชาชนเท่านั้นจะเป็นผู้ให้คำตอบ