ธนาคารแห่งอาเซียน

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

สําหรับสังคมธุรกิจไทย ธนาคารกรุงเทพ ถือเป็นหนึ่งในธนาคารแห่งอาเซียน

ในรายงานนำเสนอของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBLที่ผ่านๆ มา (ยกตัวอย่าง Bangkok Bank Investor Presentation For 2Q21) มักย้ำถึงเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งมีมายาวนาน และถือว่ามีมากที่สุดในบรรดาธนาคารไทย (โดยเน้นว่า “Long-standing international presence in 14 economies”) โดยให้ความสำคัญเป็นการเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน กับเอเชียใต้

ล่าสุด (Bangkok Bank Investor Presentation For 3Q23) เสนอความหมายกว้างขึ้นเชิงภูมิศาสตร์ (“Our international network will allow us to capture business relocation into Asia”)

เชื่อว่าภาพข้างต้น จะน่าสนใจมากขึ้น เมื่อเทียบเคียงกับบางธนาคารในภูมิภาคเดียวกัน มีตำนานคล้ายๆ กัน โดยเฉพาะธนาคารไม่ได้ก่อตั้งในสังคมไทย

ขออ้างอิงอย่างเจาะจง United Oversea Bank หรือ UOB ธนาคารแห่งภูมิภาค ด้วยเครือข่ายกว้างขวาง และมีบทบาทในสังคมธุรกิจไทยด้วย

 

UOB ในภาพกว้างๆ สะท้อนความเป็นไปอย่างแตกต่างพอสมควร มีแบบแผนธุรกิจเชิงรุก มีประสบการณ์ในการปรับตัว ปรับโครงสร้างธุรกิจหลายครั้ง ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสถานการณ์ผันแปรช่วงต่างๆ

UOB ก่อตั้งขึ้นในสิงคโปร์ ปลายยุคอาณานิคม (2478) มีมาก่อนธนาคารกรุงเทพ (2487) ในไทย ถือว่าไม่นานนัก โดยชาวจีนโพ้นทะเล เพื่อตอบสนองธุรกิจชุมชนชาวจีนที่กำลังเติบโต ดูแล้วเป็นแนวทางตั้งต้นไม่ต่างกัน

UOB แสดงบทบาทเชิงรุกตั้งแต่ยุคต้น ด้วยแผนการซื้อและควบรวมธนาคารหลายแห่ง ในช่วงเปลี่ยนผ่านคาบเกี่ยว เมื่อสิงคโปร์แยกตัวออกจากมาเลเซีย และหลังจากมาเลเซียได้รับเอกราช ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ทางธุรกิจทั้งสองประเทศคงแนบแน่น

โดย UOB ได้เข้าตลาดหุ้น ทั้งสิงคโปร์และมาเลเซีย ในช่วงนั้น (2513)

ในช่วงใกล้เคียงเดียวกัน ธนาคารกรุงเทพ ได้เข้าสู่ยุค ชิน โสภณพนิช แล้ว (ตั้งแต่ปี 2496) แต่เพียงสั้นๆ จากนั้น เขาจำต้องไปอยู่ฮ่องกงช่วงหนึ่ง (2501-2507) ด้วยเผชิญมรสุมจากการเมืองไทย แต่กลายเป็นจังหวะที่ดี ชิน โสภณพนิช ถือโอกาสขยายเครือข่ายสาขาธนาคารกรุงเทพสู่ภูมิภาค ทั้งในฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

ว่าไปแล้วเวลานั้น ธนาคารกรุงเทพ แสดงบทบาทผู้นำธนาคารแห่งภูมิภาคอย่างโดดเด่น

 

UOB ขยายตัวใหญ่ครั้งใหม่ มีขึ้นอีกครั้ง ในช่วงคาบเกี่ยว “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เป็นไปตามแบบแผนเดิม ซื้อและควบรวมธนาคารอีกหลายแห่ง ทั้งในสิงคโปร์เอง อินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไทย เข้ามาในจังหวะธนาคารไทย เผชิญวิกฤตครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์

UOB เปิดฉากด้วยการซื้อ ธนาคารรัตนสิน (2542) ตามมาด้วย ธนาคารเอเชีย (2547) ต่อมามีการควบรวมกัน (2548) เป็น UOB (ไทย) มีสถานะอยู่ในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย

ธนาคารกรุงเทพเวลานั้น เป็นหนึ่งในธนาคารไทย “ผู้อยู่รอด” เพิ่งผ่านมรสุมในช่วงวิกฤตการณ์ ใช้เวลาปรับแนวทางปรับโครงสร้างธุรกิจอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะเริ่มขยับตัว สู่จังหวะก้าวสำคัญ ตามแผนการขยายเครือข่ายธุรกิจสู่จีนแผ่นดินใหญ่ ว่าไปแล้วเป็นไปตามแนวโน้ม ตามแผนการเดียวกันในระยะเดียวกันของธนาคารใหญ่ในภูมิภาค

UOB สามารถเดินตามแผนในจีนเพื่อสถานะเป็นธนาคารท้องถิ่น (2550) สำเร็จได้ก่อนธนาคารกรุงเทพเล็กน้อย (2552) และมีแผนการธุรกิจเชิงรุก ต่อเนื่องมา ปัจจุบัน UOB มีสาขาที่นั่นมากกว่าธนาคารกรุงเทพ (โปรดพิจารณาข้อมูลประกอบ)

อีกแผนการที่จริงจัง ธนาคารกรุงเทพมุ่งไปที่มาเลเซีย สานต่อความเป็นมายาวนาน จากธนาคารกรุงเทพเปิดสาขากัวลาลัมเปอร์ครั้งแรก (2502) ตั้งแต่ยุค ชิน โสภณพนิช ปักหลักอยู่ฮ่องกง

“นายชินใช้ฮ่องกงเป็นฐานปฏิบัติการงานด้านต่างประเทศ…ทุ่มเทความพยายามเต็มที่ในการสร้างความสัมพันธ์ทางการเงินอย่างแน่นแฟ้นกับนักธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น Robert Kwok แห่งมาเลเซีย Liem Sioe Liong แห่งอินโดนีเซีย Robin Loh แห่งสิงคโปร์ และ Ng Teng Fong แห่งฮ่องกง ขณะนั้นอยู่ในช่วงเริ่มต้นก่อร่างสร้างอาณาจักรธุรกิจ” หน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ซึ่งธนาคารกรุงเทพตั้งใจบันทึกไว้ (หนังสือ “ชิน โสภณพนิช (2453-2531)” จัดพิมพ์โดยธนาคารกรุงเทพ)

ผ่านมาอีกช่วง สาขากัวลาลัมเปอร์ได้ยกสถานะเป็นธนาคารท้องถิ่น – Bangkok Bank Berhad (2537) ถือเป็นเครือข่ายต่างประเทศแห่งแรกของธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยทั้งระบบก็ว่าได้ แต่ได้รีรอพักใหญ่ (2553) กว่าจะเปิดสาขาให้มากขึ้น

ปัจจุบันธนาคารกรุงเทพมีสาขาในมาเลเซีย 5 แห่ง ขณะ UOB วางรากฐานธุรกิจที่นี่อย่างมั่นคง ยาวนานมีสาขามากถึง 49 แห่งในปัจจุบัน

 

ธนาคารกรุงเทพกับแผนการใหญ่ครึกโครมที่สุด เพิ่งมีขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ กรณีอินโดนีเซีย

บทสรุปจากข้อมูลที่ธนาคารเองระบุไว้เองในปี 2563 “ธนาคารกรุงเทพได้รับโอนกรรมสิทธิ์การถือหุ้นในธนาคารเพอร์มาตา (Bank Permata) ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ชั้นนำและเป็นผู้นำด้านดิจิทัลแบงกิ้งและระบบเทคโนโลยีการชำระเงินในประเทศอินโดนีเซีย โดยธนาคารกรุงเทพได้ทำการควบรวมสาขาของธนาคารในประเทศอินโดนีเซียเข้ากับธนาคารเพอร์มาตา จนกลายเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 10 อันดับแรกในประเทศอินโดนีเซีย…”

ที่อินโดนีเซีย เป็นอีกระบบเศรษฐกิจหนึ่ง นอกจากไทย ซึ่งธนาคารกรุงเทพมีเครือข่ายธุรกิจมากกว่า ทั้งๆ ที่ UOB ได้ปักหลักมาก่อน ตามแบบแผนทำนองเดียวกัน ด้วยการซื้อและควบกิจการธนาคารอินโดนีเซียตั้งแต่ปี 2554

ส่วน UOB ในประเทศไทย (อ้างอิง UOB Presentation, Bangkok. OCT 2023) ปัจจุบันมีความสำคัญสำหรับ UOB group ไม่น้อย ด้วยมีสินทรัพย์และกำไรมาเป็นอันดับ 2 เป็นรองแค่เครือข่ายธุรกิจรากฐานในสิงคโปร์ เป็นธนาคารต่างชาติที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในไทย และเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย

จากข้อมูลเชื่อถือและอ้างกัน (Forbes The Global2000 for 2023) เกี่ยวกับจัดอันดับธนาคารในอาเซียน นำเสนอผลประกอบการ เชิงเปรียบเทียบ (อ้างอิงข้อมูลทางการเงินล่าสุด เมื่อพฤษภาคม 2566) แสดงรายได้ (sales) กำไร (profits) สินทรัพย์ (assets) และมูลค่าตลาด (market value) ปรากฏว่า UOB อยู่อันดับ 4

ส่วนธนาคารกรุงเทพในตำนานเคยเป็นอันดับหนึ่ง ลงมาอยู่อันดับ 16 •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com