นักบุญแห่งอินเดีย : อธิบายขยายความ (4)

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เนื่องจากเราได้กล่าวถึงนักบุญกลุ่มใหญ่คือนักบุญในสมัยกลางของอินเดียซึ่งอยู่ในขบวนการภักติ (Bhakti Movement) จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงแนวคิดนี้โดยสังเขป

ภักติ (Bhakti) ซึ่งในภาษาไทยใช้ว่าภักดีนั้น มักแปลว่า Devotion ในภาษาอังกฤษ มีความหมายถึงสภาวะทางจิตใจที่มีความรักต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างลึกซึ้ง เกี่ยวข้องกับมิติทางอารมณ์ความรู้สึก และมักมีนัยของการอุทิศทุ่มเท

คำนี้มาจากรากในภาษาสันกฤตว่า “ภาชฺ” อันหมายถึง การบูชา การปรนนิบัติ การแบ่งปันหรือการเข้าร่วม

ในบริบททางศาสนา ภักติหมายถึงอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อพระเจ้าหรือเทพเจ้าที่ตนรักและเคารพ พร้อมจะอุทิศชีวิตเพื่อความรักต่อพระเจ้าองค์นั้น

คัมภีร์นารทภักติสูตร นิยามความหมายของคำนี้ไว้ว่า “สิ่งนั้น (ภักติ) ถูกอธิบายแล้วว่าเป็นรูปแห่งความรัก (เปรม) อันสูงสุดต่อพระองค์” (สา ตวสฺมินฺ ปรม เปฺรมรูปา)

แม้แนวคิดนี้มิได้ปรากฏอย่างเด่นชัดในสมัยพระเวท แต่เริ่มมีคำว่าภักติในคัมภีร์เศวตาศวตรอุปนิษัท ซึ่งกล่าวถึงพระเจ้าสูงสุด (อีศะ) ในฐานะผู้ทรงช่วยเหลืออาตมันหรือดวงชีวะให้ลุถึงความหลุดพ้น ในขณะเดียวกันก็กล่าวถึงความภักดีของสาวกว่า “ปรนนิบัติพระเป็นเจ้าด้วยความภักดีฉันใด พึงปฏิบัติต่อครูฉันนั้น” (ยสฺย เทโว ปรา ภกฺติรฺยถา เทเว ตถา คุเรา)

 

อีกคำหนึ่งที่มักปรากฏบ่อยกว่าคือคำว่าศรัทธา (faith) ซึ่งมีความหมายแตกต่างกันอยู่บ้าง ศรัทธาคือความเชื่อมั่นในบางสิ่ง เช่น พระเจ้า บุคคล คำสอน หรือสิ่งนามธรรมต่างๆ ขณะที่ภักติมีนัยเกี่ยวข้องกับความรักและมักใช้กับพระเจ้าในฐานะที่เป็นบุคคล (personal God) มากกว่า คำนี้ปรากฏทั่วไปในศาสนาต่างๆ ของอินเดีย

ความคิดเรื่องภักติจะปรากฏชัดในคัมภีร์ภควัทคีตา ซึ่งจริงๆ แล้วมีเนื้อหาที่นำมาจากอุปนิษัทและสำนักปรัชญาสางขยะที่ดำรงอยู่ก่อนหน้า ทว่า แนวคิดเรื่อง “มหาเทพ” หรือพระเจ้าสูงสุดซึ่งพัฒนาขึ้นในสมัยนั้น ได้ช่วยให้แนวคิดภักติแพร่หลายและเป็นที่รับรู้ง่ายขึ้น

ด้วยเหตุนี้ จึงถือกันว่าแนวคิดภักติที่ถูกอธิบายอย่างเป็นระบบเริ่มต้นในคัมภีร์ภควัทคีตานี่เอง ตั้งแต่บทที่เจ็ดเป็นต้นไป แนวคิดนี้จะถูกกล่าวถึงบ่อยครั้ง จะขอยกตัวอย่างบางส่วนจากภควัทคีตาฉบับของอินทรายุธ (นายผี หรืออัศนี พลจันทร) ซึ่งรักษาการสะกดตามต้นฉบับไว้ ดังนี้

“ผู้ภักดีใด มีศรัทธา ปรารถนาการบูชาลักษณะนั้นๆ เราย่อมตอบแทนศรัทธาของผู้นั้นโดยแท้”

“ผู้บูชาทวยเทพก็ไปสู่เทวดา ผู้บูชาปิตฤก็ไปสู่ปิตฤ ผู้บูชาภูตก็ไปสู่ภูตนั้น แต่ผู้บูชาเราย่อมาสู่เรา”

“ผู้มีความภักดี เส้นเราด้วยใบไม้ใบ๑ ดอกไม้ดอก๑ ผลไม้ผล๑ กับน้ำ ซึ่งเราได้รับไว้จากบุทคลผู้มีใจอันปรยัตนี้ ย่อมปริตยาคเสมอว่าด้วยความภักดี”

“แม้หากผู้บาปหนาบูชาเรา ด้วยดวงใจอันไม่วอกแวก ผู้นั้นแล ย่อมต้องนับว่าเป็นผู้ดี เพราะเขาแก้ไขตนถูกต้องแล้ว

เขาย่อมกลายเป็นผู้เที่ยงธรรม แลไปสู่ความสงบอันเรื่อยเจื้อยโดยพลัน โกนไตยเอ๋ย จงรู้เทอญว่าผู้ภักดีต่อเราย่อมไม่ฉิบหายเป็นธรรมดา”

 

ภควัทคีตาให้คุณค่าต่อความภักดีเป็นอย่างสูง โดยถือว่ามิได้เป็นสิ่งที่ต่ำกว่าปัญญาความรู้ (ชญาณ) หรือการกระทำโดยสละกรรม (กรรมสันยาส) ภักติจึงเป็นหนทางหนึ่งในการเข้าถึงพระเจ้าหรือความหลุดพ้น หรือ “ภักติโยคะ” (Devotional Path) ซึ่งผู้ศรัทธาสามารถเลือกเป็นอีกวิถีปฏิบัติของตนนอกเหนือจากชญาณโยคะและกรรมโยคะได้

ความภักดีในภควัทคีตายังสะท้อนให้เห็นแนวคิดเกี่ยวกับพระเจ้าที่เปลี่ยนไป พระเจ้าทรงมีลักษณะเป็นปุรุโษตมะ คือพระเจ้าองค์เดียวสูงสุดผู้อุดมด้วยอานุภาพ กล่าวคือ มีกลิ่นอายแนวคิดเอกเทวนิยม (monotheism) คล้ายพระเจ้าในศาสนากลุ่มอับราฮัมมิก (ยูดาห์ คริสต์ อิสลาม) เพียงแต่ต่างกันอยู่ที่พระองค์เป็นสิริรวมของเทพเจ้าทั้งหมดและจะทรงปรากฏในรูปลักษณะใดก็ได้ หรือแม้แต่ถูกกล่าวถึงในลักษณะที่เป็นภาวะนามธรรมไปด้วยพร้อมๆ กัน

ความภักดิจึงเป็น “ความสัมพันธ์” ระหว่างสาวกกับพระเจ้า โดยพระเจ้าเป็นผู้ให้คำมั่นสัญญาหรือคำรับรองว่าพระองค์จะช่วยเหลือสาวกให้พ้นจากความทุกข์ และเนื่องจากพระองค์เป็นมหาเทพที่ไม่มีผู้ใดมีอานุภาพเท่า คำมั่นสัญญานั้นย่อมจะมีผลเสมอ

ขณะเดียวกันสาวกที่มีความเชื่ออย่างแท้จริงในคุณสมบัติและคำมั่นของพระองค์ ก็ย่อมสามารถเพิ่มพูนความภักดีไปได้โดยลำดับจนถึงความหลุดพ้น

 

แม้แนวคิดภักดีจะขับเน้นการสร้างความแตกต่างระหว่างสองสิ่งคือพระเจ้าและสาวก เพื่อให้ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ภักดีและอีกฝ่ายเป็นผู้ได้รับความภักดี ทว่า ดูเหมือนภควัทคีตาได้เสนอความคิดเพิ่มเติมออกไปอีกว่า โดยเนื้อแท้แล้ว พระเจ้ากับสาวกมิได้ต่างกัน “แท้จริง ผู้บูชาเราด้วยความภักดี อยู่ในเรา แลเราอยู่ในเขา”

ความคิดนี้เป็นรากฐานและจุดเด่นของปรัชญาอินเดีย โดยเฉพาะอุปนิษัทที่เห็นว่ามนุษย์และสัจธรรมสูงสุด ซึ่งไม่ว่าจะถูกเรียกขานด้วยชื่อใด ที่จริงเป็นสิ่งเดียวกัน

ดูเผินๆ เหมือนความคิดสองอย่างนี้จะขัดแย้งกันในตัวเอง ทว่า เมื่อศึกษาจากวิถีของเหล่านักบุญซึ่งได้รับอิทธิพลจากอุปนิษัทและสำนักเวทานตะของท่านศังกราจารย์ ต่างถือว่าพระเจ้าทรงดำรงอยู่ทั้งในฐานะที่เป็น “สคุณพรหมัน” หรือสิ่งสูงสุดอันประกอบด้วยคุณสมบัติหลากหลาย ซึ่งคือพระเป็นเจ้าแบบบุคคลนั่นเอง แต่อีกแง่หนึ่งพระองค์คือ “นิรคุณพรหมัน” คือสัจธรรมอันปราศจากคุณสมบัติใดๆ อยู่พ้นหรือเหนือไปกว่าความคิดของมนุษย์

บางครั้งจึงมีการแบ่งแนวคิดเกี่ยวกับพระเจ้าออกเป็นสองแบบ

อย่างแรก เน้น “สคุณ” จึงให้คุณค่ากับมิติทางอารมณ์ความรู้สึกต่อพระเจ้าแบบบุคคลไว้สูง

กับเน้น “นิรคุณ” คือให้คุณค่าการเพ่งพินิจภาวนาเพื่อเข้าถึงสภาวะอันลึกลับนั้น ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้ว นักบุญหลายคนมิได้แยกสองแนวคิดนี้ออกจากกันโดยสิ้นเชิง ทว่า ประสานกันไปตามแต่สถานการณ์ในชีวิตรวมทั้งระดับของความตื่นรู้ที่ท่านเหล่านั้นบรรลุด้วย

 

ในมิติทางอารมณ์ความรู้สึก “ภักติ” ถูกอธิบายออกไปห้าภาวะ ได้แก่ ศานติภาวะ, มธุรยะภาวะ, วัตสัลยะภาวะ, ทาสยะภาวะ และสขายภาวะ

ศานติภาวะคือภาวะแห่งความสงบ มักถูกอธิบายว่าเป็นสภาวะจิตใจแห่งนักบวชสันยาสีที่มีต่อพระเจ้า เพราะนักบวชเหล่านี้มุ่งเพ่งจิตทำสมาธิภาวนาต่อพระเจ้าด้วยการหลีกเร้นและสละรักโลภโกรธหลง จึงมีด้านอารมณ์ความรู้สึกน้อยที่สุดในทั้งห้าภาวะ

มธุรยะภาวะ หรือสภาวะแห่งความฉ่ำหวานของคนรัก ในภาวะนี้สาวกเห็นตนเองเป็นคนรักของพระเจ้า จึงมีความรู้สึกทุกอย่างที่คู่รักพึงมี ทั้งเปี่ยมไปด้วยความเสน่หารักใคร่ ความหลงใหล ความโหยหา นักบุญจำนวนมากโดยเฉพาะนักบุญสตรีมักเข้าถึงสภาวะเช่นนี้

วัตสัลยะภาวะ คือภาวะความรักที่บิดามารดามีต่อบุตร ซึ่งมีทั้งความห่วงใยอาทร การดูแลเอาใจใส่ทะนุถนอม ให้ความอบอุ่นและเฝ้ารอคอยอยู่เสมอ สาวกในนิกายของวัลลภาจารย์มักเข้าถึงสภาวะนี้ จึงมีการบูชาพระกฤษณะปางเด็กในบ้านเรือนและปฏิบัติดุจดังเป็นบุตรที่รักยิ่งคนหนึ่ง

ทาสยะภาวะ คือภาวะของทาสผู้ต่ำต้อย สาวกมองเห็นตนเองเป็นเพียงทาสเท่านั้นและมองว่าพระเป็นเจ้าคือนายผู้สูงส่ง จึงมีความรู้สึกอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างที่สุด นบนอบเชื่อฟัง พร้อมที่จะรับใช้และอุทิศชีวิตให้ ตัวอย่างของภาวะเช่นนี้คือหนุมาน และจากแนวคิดนี้จึงมีประเพณีของฝ่ายภักติที่สาวกจะใช้ชื่อตามท้ายด้วยคำว่าทาส เช่น รามทาส หริทาส เป็นต้น

ภาวะสุดท้ายคือ สาขยะภาวะ หรือภาวะของความเป็นเพื่อน (สขา/สหาย) ภาวะนี้สาวกเห็นตนเองเป็นเพื่อนกับพระเจ้า จึงมีทั้งความรัก ความไว้วางใจ ความใกล้ชิดสนิทสนม มีสิ่งใดก็อยากจะแบ่งปัน ปรึกษาหารือและเอื้ออารีต่อกัน

อรชุนเป็นตัวอย่างของผู้เข้าถึงภาวะนี้ บางครั้งสภาวะนี้จะถูกกล่าถึงในกลุ่มผู้ปฏิบัติเวทานตะ เพราะมีแง่มุมของความเท่าเทียม ซึ่งสอดคล้องกับหลักคิดว่า พระเจ้าก็คือเนื้อแท้ของตัวเราและพระองค์มิได้แยกแตกต่างจากตัวเรา

 

ด้วยภาวะแห่งภักติทั้งห้าแบบนี้เอง ทำให้ความสัมพันธ์ระว่างพระเจ้าและสาวกในศาสนาฮินดูมีความหลากหลาย แตกต่าง พระเจ้ามิจำเป็นจะต้องอยู่ในรูปแบบของนายผู้สูงศักดิ์หรือพระบิดาผู้ใจดีเท่านั้น แต่พระองค์ยังสามารถที่จะเป็นคนรักหรือเป็นเพื่อนของสาวกได้เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้นักบุญแต่ละคนจึงเลือกเอาภาวะดังกล่าวเข้ามาเป็นแกนกลางในวิถีชีวิต

หรือบางครั้งก็ปรากฏหลายภาวะพร้อมกัน •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง