รัฐบาล ‘เศรษฐา’ ลุยรีดภาษีที่ดิน 100% กทม.ชง ‘ชัชชาติ’ รื้ออัตราใหม่ ดัดหลังเศรษฐี-เกษตรกรจำแลง

ในที่สุดกระทรวงมหาดไทยเคาะภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2567 เก็บอัตราเดิม 100% ไม่มีอัตราลดหย่อนอีกต่อไปแล้ว หลังมองว่าสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ภาวะเศรษฐกิจเริ่มผงกหัว จากแรงหนุนภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว

แต่เพื่อเป็นการบรรเทาภาระประชาชน ได้ขยายเวลาการชำระให้อีก 2 เดือน จากเดิมที่ผู้เสียภาษีจะต้องจ่ายภายในเดือนเมษายน 2567 เป็นภายในเดือนมิถุนายน 2567

ถึงแม้จะขยายเวลาให้ ยังไม่วายมีเสียงสะท้อนจากผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะภาคธุรกิจน้อยใหญ่ ต่างออกมาระบุไปในทิศทางเดียวกันว่าเกาไม่ถูกที่คัน

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ กำลังซื้อทรุดทุกหย่อมหญ้า รัฐบาลควรจะลดหย่อนให้อีก 1 ปี หรือจนกว่าเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติจริงๆ เพราะถึงยืดเวลาให้ แต่สุดท้ายต้องจ่ายในอัตรา 100%

โดยอัตราที่จัดเก็บในปี 2567 แบ่งเป็นที่ดินเกษตรกรรมจัดเก็บ 0.01-0.1%

ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยจัดเก็บ 0.02-0.1%

ที่ดินอื่นๆ เช่น การพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม จัดเก็บ 0.3-0.7%

และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์จัดเก็บ 0.3-0.7% โดยเป็นอัตราที่บังคับใช้ตั้งแต่แรกเริ่มและเป็นอัตราที่ไม่ชนเพดานตามที่กฎหมายกำหนด

 

นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2567 จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ คือ เก็บในอัตรา 100% ไม่มีลดหย่อนเหมือนปี 2566 ที่ลดให้ 15% เพื่อเป็นการลดภาระงบประมาณภาครัฐ ที่ต้องจัดสรรงบประมาณมาชดเชยให้กับหน่วยงานท้องถิ่น

คาดว่าในปี 2567 จะเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้จำนวน 41,459 ล้านบาท

โดยเป็นขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 10,059.14 ล้านบาท เทศบาลตำบล 6,934.73 ล้านบาท เทศบาลเมือง 4,604 ล้านบาท เทศบาลนคร 4,000 ล้านบาท พัทยา 544.65 ล้านบาท และกรุงเทพมหานคร (กทม.) 15,016.63 ล้านบาท

เพิ่มจากปี 2566 ที่จัดเก็บได้ 37,000 ล้านบาท เนื่องจากเปี 2566 กรมธนารักษ์มีการปรับราคาประเมินที่ดินเพิ่มขึ้นทั่วประเทศเฉลี่ย 8.93% จึงทำให้สามารถจัดเก็บภาษีที่ดินฯได้สูงและไม่ต้องขอเงินงบประมาณชดเชยจากภาครัฐอีกด้วย

อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ขยายความเพิ่มถึงรายละเอียดการจัดเก็บในกรณีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ 3 ปีติดต่อกัน ในปีที่ 4 จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.3 หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัว เช่น จาก 0.3% เป็น 0.6%

ขณะเดียวกัน หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมองว่าอัตราที่จัดเก็บยังต่ำเกินไป สามารถออกข้อบัญญัติกำหนดอัตราภาษีที่สูงกว่าอัตราภาษีที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 37 วรรคหกได้

แต่จะกำหนดอัตราภาษีแยกตามประเภทการใช้ประโยชน์หรือตามเงื่อนไขแต่ละประเภทการใช้ประโยชน์ไม่ได้ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้

 

จากสัญญาณดังกล่าว แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างยกร่างข้อบัญญัติกำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ในส่วนของที่ดินประเภทเกษตรกรรม ที่มีการนำที่ดินกลางเมืองมาแสร้งทำเกษตรกรรมกันจำนวนมาก โดยปรับอัตราแบบขั้นบันได เช่น ปรับจาก 0.01% หรือล้านละ 100 บาท เป็น 0.02% หรือล้านละ 200 บาท

อีกประเภทที่อยู่อาศัย เนื่องจากผู้ที่มีบ้านหลายหลัง มีการหลบเลี่ยงการเสียภาษีบ้านหลังที่สอง เพื่อให้เข้าเกณฑ์ยกเว้นบ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท ทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีการย้ายที่อยู่อาศัยกันมาก โดยจะปรับใหม่เป็นแบบขั้นบันได เช่น จาก 0.02% หรือล้านละ 200 บาท เป็น 0.03% หรือล้านละ 300 บาท เป็นต้น

เมื่อปี 2566 ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่ามีการเลี่ยงจ่ายภาษีแพงกันมาก เช่น เปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากรกร้างเป็นที่ดินเกษตรกรรมจำนวนมากกว่า 50% เพราะจ่ายถูกกว่าอัตราที่ดินรกร้าง และย้ายที่อยู่อาศัยเพื่อให้เข้าเกณฑ์ยกเว้นภาษีบ้านหลังแรก

ขณะที่รายได้เก็บภาษีจากธุรกิจอพาร์ตเมนต์ก็ลดลงเป็น 1,000 เท่า เช่น เดิมเก็บตามภาษีโรงเรือนอัตรา 12.5% ต่อปี เคยเก็บได้ 200,000 บาท เหลือ 2,000 บาท เป็นต้น

อยากให้รัฐบาลทบทวนภาษีที่ดินใหม่ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น เช่น กรณียกเว้นบ้านหลังแรก 50 ล้านบาท ในกรุงเทพฯ มีแค่ 10 รายเท่านั้น ควรจะกำหนดให้เหลือ 10-15 ล้านบาท

“การที่ กทม.มีแนวคิดปรับเพิ่มอัตราภาษีที่ดินของที่ดินทั้งสองประเภทนี้ เพื่อต้องการให้อัตราภาษีเท่ากับการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน อย่างไรก็ตาม ต้องได้รับการอนุมัติจาก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. และสภา กทม. ถึงจะสามารถจัดเก็บได้ โดยตั้งเป้าจะบังคับใช้ภายในปีภาษี 2568” แหล่งข่าวย้ำถึงเจตนารมณ์

 

ทางฝั่งกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ยกร่างกฎหมาย อยู่ระหว่างที่จะยกเครื่องครั้งใหญ่กฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหลังจากที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2563 ในระหว่างทางมีปัญหาเรื่องการใช้ดุลพินิจและการตีความที่ดินประเภทต่างๆ

รวมถึงประกาศเกณฑ์ชนิดพืชและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเมื่อปลูกแล้วจะเข้าเกณฑ์ที่ดินเกษตรกรรม ทำให้จ่ายภาษีในอัตราถูกลง ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเอื้อนายทุน เจ้าของที่ดิน หลังเจ้าสัว ตระกูลดัง ทุ่มพลิกโฉมที่ดินรกร้างกลางเมือง เป็นเกษตรกรรมจำแลงกันคึกคักตลอดหลายปีที่ผ่านมา

จากความอลหม่านที่เกิดขึ้น ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยได้แจ้งเกณฑ์เก็บภาษีที่ดินปี 2567 สำหรับให้หน่วยงานท้องถิ่นนำไปปฏิบัติ โดยมีหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจ

ไม่ว่ากรณีเจ้าของที่ดินได้ทำการเกษตรแล้ว ต่อมาภายหลังมีวัชพืชขึ้นสูงเกินกว่าชนิดพืชที่ปลูก อันอาจเกิดจากเจ้าของที่ดินมิได้เข้าไปบำรุงรักษาตามรอบระยะเวลา ที่ดินแปลงดังกล่าว หากยังคงปรากฏตามชนิดพืชที่ปลูกตามอัตราขั้นต่ำที่กำหนดในบัญชี ยังคงถือว่าเป็นที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ไม่ใช่ที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ

กรณีสนามชนไก่ที่ไม่สามารถประกอบกิจการได้ด้วยเหตุอันมิใช่มาจากผู้เสียภาษี เช่น มาตรการควบคุมป้องกันโรคติดต่อ ไม่ถือเป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ

กรณีที่ดินที่ถูกน้ำท่วมขังเป็นเหตุให้ไม่สามารถทำประโยชน์ในที่ดินได้ ไม่ถือเป็นที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ

กรณีเจ้าของที่ดินยังไม่ได้ก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยตามที่ได้รับอนุญาตเนื่องจากเกิดสถานการณ์ที่ขั้นตอนแนวทางดำเนินการ ข้อกฎหมายและระเบียบการแพร่ระบาดของโควิด จึงชะลอการก่อสร้างอาคาร และมีหนังสือขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ไม่เข้าข่ายการใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย

 

และตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ให้ใช้บัญชีแนบท้าย ก ของประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 31 มกราคม 2566 ซึ่งได้มีการปรับปรุงอัตราขั้นต่ำของชนิดพืช

เช่น กาแฟพันธุ์อราบิก้า จากเดิม 533 ต้นต่อไร่ เหลือ 400 ต้นต่อไร่ สตรอว์เบอร์รี่ จากเดิม 10,000 ต้นต่อไร่ เป็นไม่มีอัตราขั้นต่ำ พืชกลุ่มให้เนื้อไม้ จากเดิม 100 ต้นต่อไร่ เป็น 30 ต้นต่อไร่ และเพิ่มชนิดพืช เช่น หม่อน องุ่น แก้วมังกร แอปเปิล อะโวคาโด อินทผลัม ยูคาลิปตัส 35 ต้นต่อไร่

คงต้องจับตาว่ากระทรวงการคลังจะยกเครื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2568 ไปในทิศทางไหน จะเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่หรือยอมหักดิบ ถอนขนห่านเศรษฐีที่ดิน เก็บรายได้เข้ากระเป๋ารัฐแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย!!