อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : The Stranger เศษเสี้ยวความทรงจำ แห่งบ้านเกิดเมืองนอน ของศิลปินจีนร่วมสมัย

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการศิลปะของศิลปินร่วมสมัยชาวจีนผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นในระดับนานาชาติ ที่มาแสดงในบ้านเรา

เลยหยิบเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามกิจวัตร นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า

The Stranger

นิทรรศการแสดงผลงานภาพวาดสีน้ำมัน ของศิลปินชาวจีนนาม จาง หย่งซู่ (Zhang Yongxu) ที่มีฝีแปรงอันจัดจ้านทรงพลัง และสีสันอันเจิดจ้า ซึ่งแฝงเร้นไปด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ มากมาย

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของวิถีชีวิตชนบท ประเด็นทางสังคม, การเมือง, เชื้อชาติ, เผ่าพันธุ์ ที่ถูกถ่ายทอดควบคู่ไปกับประสบการณ์ส่วนตัวด้วยฉากตอนจากความทรงจำในชีวิตของศิลปิน

“บ้านเกิดของผมอยู่ที่ซินเจียง (เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์) ที่อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ผมมักจะวาดภาพทิวทัศน์ของที่นั่น เวลาไปไหนมาไหน ผมชอบสเก๊ตช์ภาพ และมักจะมีสมุดสเก๊ตช์ดินสอหรือปากกาเก็บไว้ในกระเป๋า เวลาเกิดไอเดียขึ้นมาผมก็จะสเก๊ตช์ภาพเก็บเอาไว้ และบ่อยครั้งผมก็มักจะสเก๊ตช์ภาพทิวทัศน์ของบ้านเกิดเก็บเอาไว้

ถึงผมจะจากบ้านเกิดไปเป็นเวลานานแล้ว แต่ผมก็อยากพูดถึงมันมากขึ้น เพราะในปัจจุบัน ซินเจียง เป็นสถานที่ที่มีความสำคัญ เพราะขนาดที่กว้างใหญ่ จึงมีปัญหามากมายเกิดขึ้นที่นั่น

ด้วยความที่ซินเจียงมีพรมแดนติดกับประเทศอันหลากหลาย มันจึงมีความแตกต่างทางความเชื่อ ศาสนา และวัฒนธรรมอย่างมาก

ผมจึงต้องการวาดภาพที่สร้างความเข้าใจต่อสถานที่แห่งนี้ในระดับนานาชาติ นั่นเป็นเหตุผลที่ผมวาดภาพเหล่านี้ออกมา”

จาง หย่งซู่ กล่าวถึงบ้านเกิดอันเป็นที่มาแห่งแรงบันดาลใจของเขา

ภาพวาดเหล่านี้ถ่ายทอดให้เห็นชีวิตของผู้คนอันหลากหลายในซินเจียง ที่ถูกจับจ้องเฝ้ามองโดยสายตาของศิลปิน ฉากตอนในวิถีชีวิตประจำวัน สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ ถูกขับเน้นให้โดดเด่น และเปิดเผยแง่งามของความเรียบง่ายซึ่งถูกแสดงออกมาอย่างแจ่มแจ้งผ่านภาพวาดของเขา

ผลงานภาพวาดของ จาง หย่งซู่ พรรณนาฉากอันน่าหลงใหลของเมืองยามค่ำคืน, อาคารสไตล์บ้านๆ และภาพของผู้คนที่สุขสันต์หรือรันทดหดหู่ เขาใช้แสงสีอันจัดจ้านและฝีแปรงอันเกรี้ยวกราดในการสร้างภาษาทางภาพอันโดดเด่นเปี่ยมเอกลักษณ์ขึ้นมา

“สำหรับผม สีสันคือชีวิต ผมควบคุมสีในการวาดภาพเช่นเดียวกับการพูด ถ้าเราไม่สามารถควบคุมการพูดได้ นั่นเป็นปัญหาใหญ่ เพราะฉะนั้น คุณต้องศึกษาการควบคุมสิ่งต่างๆ รู้ว่าเมื่อไหร่ควรหยุด และเมื่อไหร่ควรไปต่อ ผมสนุกกับการควบคุมสีเหล่านั้นให้อยู่มือ

ภาพวาดเป็นเหมือนภาษาที่ผู้คนใช้พูดคุยสื่อสารกัน นั่นหมายความว่าคุณต้องถ่ายทอดความคิดภายในของคุณออกมาให้คนอื่นรับรู้ ผมชอบความคิดที่ว่า ภาพวาดแสดงออกถึงความรู้สึกภายในอันสำคัญบางอย่างของเราออกมา

ยกตัวอย่างเช่น ในภาพ Vicissitudes 2 (2011)* (ความไม่แน่นอน) ของผม ที่แสดงถึงความรู้สึกที่ว่า โลกนี้ไม่ใช่สถานที่อันปลอดภัยอีกต่อไป ด้วยภาพของบ้านที่ลอยอย่างไม่มั่นคงอยู่กลางทะเลน้ำแข็ง ที่สื่อถึงความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ซึ่งคล้ายกับปรัชญาของศาสนาพุทธ

ผมต้องการแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดเหล่านี้ออกมา และต้องการบอกเล่าว่าทุกวันนี้มันเกิดอะไรขึ้นในโลก นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมชอบการวาดภาพ”

ด้วยเศษเสี้ยวชิ้นส่วนของความทรงจำ ฉากในภาพวาดอันสดใสที่แสดงออกถึงส่วนผสมของความซื่อตรง เปี่ยมไปด้วยอิสระเสรีโดยไม่ยึดติดกับกรอบและกฎเกณฑ์ใดๆ และความแปลกประหลาดเหนือจริง ที่กระตุ้นเร้าอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชม ให้เชื่อมโยงกับโลกแห่งจิตวิญญาณและความทรงจำส่วนตัวของศิลปินได้อย่างไม่ยากเย็น

ในวัย 22 ปี จาง หย่งซู่ เดินทางออกจากบ้านเกิดในซินเจียงไปศึกษาและทำงานในนิวยอร์กและแคลิฟอร์เนีย และท่องเที่ยวไปทั่วโลก

ก่อนที่จะกลับมาอาศัยและทำงานอยู่ในกรุงปักกิ่ง

ถึงกระนั้นเขาก็คิดว่าตัวเองเป็นคนแปลกหน้าในสถานที่เหล่านั้น

นั่นอาจเป็นเพราะรากฐานและความรู้สึกนึกคิดของเขาหยั่งรากอย่างแนบแน่นอยู่ที่ซินเจียง บ้านเกิดของเขานั่นเอง

สำหรับเขา ซินเจียงเป็นสถานที่อันพิเศษที่เป็นจุดตัดของความเจริญกับความเป็นชนบท, การเมืองกับวัฒนธรรมมาบรรจบกัน

เขาใช้ภาพวาดเหล่านี้สำรวจตรวจสอบ และตั้งคำถามถึงความเป็นไปในเมืองแห่งนี้ และสถานที่แห่งอื่นๆ ในโลก ผ่านรอยเท้าของคนแปลกหน้า และเปิดโอกาสให้ผู้ชมรื่นรมย์ไปกับเศษเสี้ยวของความทรงจำส่วนตัว และรับรู้ประวัติศาสตร์ของบ้านเกิดเมืองนอนของเขา ที่ความเป็นประเพณีและความก้าวล้ำนำสมัยอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน

“ในประเทศของผม เราไม่มีอิสระในการพูดถึงอะไรหลายอย่างมากนัก แต่อย่างไรก็ดี ภาพวาดก็ไม่เหมือนกับงานเขียน เพราะงานเขียนสื่อสารอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมากว่า จนอาจทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่ผู้สร้างงานจะถูกผู้มีอำนาจรัฐเพ่งเล็งได้ แต่ภาพวาดเป็นอะไรที่คุณต้องใช้จินตนาการ และไม่ใช่ทุกคนที่จะอ่านสารที่ศิลปินต้องการสื่อออก ดังนั้น ภาพวาดหรืองานทัศนศิลป์จึงเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมและภาครัฐ อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ส่งผลดีต่อศิลปินเหมือนกัน เพราะถ้าเมืองจีนมีอิสรภาพเช่นเดียวกับประเทศตะวันตก ผมคิดว่าเราคงไม่มีศิลปินมากอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เพราะมันคงไม่มีความท้าทายอะไรอีกต่อไป สำหรับผม ความท้าทายเป็นสิ่งที่ดี มันทำให้เรารู้ว่าเราควรจะแสดงออกความคิดผ่านงานศิลปะของเราได้มากน้อยแค่ไหน

เวลาทำงาน ผมทำเพื่อตัวเอง เพื่อถ่ายทอดความคิดของตัวเองออกมา ผมไม่ได้ทำงานเพื่อใครอื่น ไม่ได้ทำงานเพื่อรัฐบาล ไม่ได้ทำงานเพื่อนักธุรกิจ แต่ในอีกแง่หนึ่ง ผมก็บอกกับศิลปินรุ่นใหม่ๆ ว่า อย่าทำงานเพื่อตัวเองแต่เพียงอย่างเดียว คุณต้องทำงานเพื่อสังคมบ้าง คุณต้องคิดถึงสังคมปัจจุบันและความเป็นไปในโลกนี้ว่ามันเป็นอย่างไรไปบ้างแล้ว”

จาง หย่งซู่ กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้นิทรรศการ The Stranger จัดแสดงที่หอศิลป์ ถัง (Tang Contemporary Art) ชั้น 3 Golden Place Plaza ถ.ราชดำริ

ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2017 ที่ผ่านมา

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก แกลเลอรี ถัง (Tang Contemporary Art)