โซเมีย และคน ‘ไม่ไทย’

ประวัติศาสตร์ไทย คือเรื่องราวความเป็นมาของดินแดน (หรือพื้นที่) และผู้คน (หรือประชากร) ในประเทศไทยปัจจุบัน อันเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ได้จากเรื่องราวความเป็นมาของดินแดนและผู้คนบนโซเมียในสุวรรณภูมิและอุษาคเนย์

นิยามและคำอธิบายเรื่องโซเมียต่อไปนี้เรียบเรียงจากข้อเขียน (พบในคอมพ์) และงานค้นคว้าที่พิมพ์เผยแพร่ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ (นักปราชญ์ร่วมสมัย) ดังต่อไปนี้

โซเมีย (Zomia) เป็นชื่อเรียกบริเวณที่สูงอันกว้างใหญ่ไพศาลแห่งเอเชีย อันประกอบด้วยทิวเขาสลับซับซ้อนและสูงลิ่ว สลับกับที่ราบลุ่มน้ำหลายขนาดมีเล็กบ้างใหญ่บ้าง ตั้งแต่จีนตอนใต้ลงไปครอบคลุมถึงไทย ดังนี้

1. จีนตอนใต้ บริเวณทางใต้แม่น้ำแยงชี ครอบคลุมพื้นที่ซึ่งแผ่ไป 2 ทิศทาง ได้แก่

ทางตะวันตก ถึงที่ราบสูงทิเบต, เทือกเขาหิมาลัย

ทางตะวันออก ถึงเทือกเขา (ตะวันตก) ในเวียดนาม, ลาว พม่า (ตอนเหนือ) และไทย

2. ครอบคลุมถึงไทย (ไม่นับภาคกลางตอนล่าง และคาบสมุทรมลายู) ได้แก่

ภาคเหนือ ลุ่มน้ำกก, อิง, ปิง, วัง, ยม, น่าน

ภาคกลางตอนบน บริเวณลุ่มน้ำยม-น่าน เป็นชายขอบโซเมีย

ภาคอีสาน อยู่ส่วนปลายของโซเมีย รัฐที่ใช้ภาษาไท-ไตในที่ราบสูงอีสานล้วนตั้งบนส่วนหนึ่งของโซเมีย

ไตยวน, ไตลื้อ, ไตเขิน, ไตโหลง (หลวง), ไตแข่ (แขก), ไตอาหม, ผู้ไท (ไทดำ, ไทขาว, ไทแดง), ตลอดไปถึงไทลาย, ผู้ญัย, ไทโท้ (โถ่, ถู่) ในตอนเหนือสุดของเวียดนามและบางส่วนของกวางสี, รวมทั้งจ้วง และคนไท-ไตอีกมากมายที่อยู่ปะปนกับคนในกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในหลายชุมชนทางตอนใต้ของจีน คนเหล่านี้ล้วนมีชีวิตอยู่บนโซเมีย รวมทั้งหากยังจดจำอดีตของตนได้ก็เป็นเรื่องราวเกิดขึ้นบนโซเมียทั้งสิ้น

[เรียบเรียงใหม่จากข้อมูลที่พบในคอมพ์ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์]

 

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก่อนหน้านี้บอกว่าโซเมียคือ “ที่สูงแห่งเอเชีย” เป็นพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล มิทิวเขาสลับซับซ้อนกลางทวีปเอเชียค่อนลงทางใต้ จากเวียดนามไปทางตะวันตก (และย้อยลงไปในกัมพูชา) จนถึงด้านตะวันออกของอินเดีย รวมรัฐเล็กรัฐน้อยในเทือกเขาหิมาลัย มีพื้นที่มากกว่า 2.5 ล้านตารางกิโลเมตร ความสูงประมาณ 300 เมตรขึ้นไปเหนือระดับน้ำทะเล (กรณีกล่าวถึงผู้คนบน “ที่สูงแห่งเอเชีย” นี้ มักไม่นับรวมเสฉวน ซึ่งถูกผนวกเข้าไปในจักรวรรดิจีนมานานแล้ว และไม่รวมรัฐในเทือกเขาหิมาลัย เพราะไม่มีประวัติสัมพันธ์เชื่อมโยงกับผู้คนบนโซเมียอื่นๆ)

บริเวณโซเมียมีที่ราบในหุบเขากระจายอยู่ทั่วไปทั้งขนาดใหญ่และน้อยอันเป็นที่ตั้งของชุมชนเมือง ซึ่งบางแห่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐใหญ่อื่น บางแห่งเป็นอิสระในตัวเอง บางแห่งแม้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐใหญ่ในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติกลับมีอิสระปกครองและดำเนินความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านด้วยตนเอง

ลักษณะภูมิประเทศของโซเมียเป็นทิวเขาสลับซับซ้อน ทำให้การเดินทางระหว่างหุบเขาเป็นไปได้ยาก ส่วนเส้นทางน้ำหลายสายซึ่งมีแหล่งกำเนิดบนโซเมีย ได้แก่ พรหมบุตร, อิรวดี, สาละวิน, โขง, เจ้าพระยา, น้ำดำ-น้ำแดง ก็ใช้เป็นเส้นทางคมนาคมไม่ดีนัก เพราะเขตต้นน้ำมีเกาะแก่งมาก หรือน้ำไหลเชี่ยวจนเกินกว่าจะใช้เดินเรือ

“ที่สูงแห่งเอเชีย” ซึ่งวิลเลม ฟาน สเคนเดิล (Willem van Schendle) ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียศึกษา แห่งมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม (เนเธอร์แลนด์) สมมุติชื่อเรียกโซเมีย-Zomia มาจากตระกูลภาษาทิเบต-พม่า ว่า Zomi แปลว่า ประชากรบนที่สูง

[สรุปจากคำอธิบายหลายเวลาและสถานที่ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้แก่ จากหนังสือ ความไม่ไทยของคนไทย (พ.ศ.2559), จากเอกสารประกอบรายการ ทอดน่องท่องเที่ยว ของมติชน (พ.ศ.2563), จากคำนำเสนอ ในหนังสือ กาดก่อเมือง (พ.ศ.2564)]

แผนที่แสดงบริเวณที่สูงแห่งเอเชียหรือโซเมีย และพื้นที่โดยรวมทางใต้ของจีนอันเป็นหลักแหล่งของคนพื้นเมืองที่ “ไม่จีนไม่ฮั่น” โดยมีบรรพชนพูดภาษาไทยรวมอยู่ด้วย (ปรับปรุงจากต้นแบบตามคำแนะนำของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ อยู่ในเอกสารประกอบบรรยายรายการทอดน่องท่องเที่ยว ของมติชนทีวี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม 2563)

ผู้คนบนโซเมียซึ่งจีนเรียกรวมๆ ว่าเยว่ มีหลายชาติพันธุ์นับไม่ถ้วน

เยว่ (ออกเสียงคล้ายเยวี่ย, เหวียด, เหยอะ, แหยะ, แย้, อวด ฯลฯ) เป็นชื่อรวมๆ ที่จีนเรียกคนหลายชาติพันธุ์ (บางครั้งจีนเรียก “ไป่เยว่” หมายถึงเยว่ ร้อยเผ่า, เยว่ร้อยจำพวก) ประกอบด้วยคนต่างภาษาที่พูดตระกูลภาษาต่างๆ ตามชื่อสมมุติที่ถูกสร้างใหม่ ได้แก่ จีน-ทิเบต, พม่า-ทิเบต, ม้ง-เมี่ยน, มอญ-เขมร, ชวา-มลายู, ไท-ไต หรือ ไท-กะได เป็นต้น

[เยว่ร้อยเผ่า หรือเยว่ร้อยจำพวก เป็นพวก “ไม่ฮั่น” อยู่บริเวณที่ราบในหุบเขาสูงทางตอนใต้ของจีน หรือทางใต้แม่น้ำแยงซี ซึ่งเป็นหลักแหล่งกว้างขวางของกลุ่มชนหลากหลายชาติพันธุ์ที่ถูกเรียกรวมๆ อย่างเหยียดๆ ด้วยถ้อยคำของฮั่น (ซึ่งมีหลักแหล่งอยู่ทางเหนือขึ้นไป) ว่าเป็นพวกป่าเถื่อนเรียก เยว่, ฮวน, หมาน เป็นต้น พบหลักฐานสนับสนุนหลายอย่าง ได้แก่ เอกสาร, เครื่องมือเครื่องใช้ทำจากทองสำริด, พิธีกรรมความเชื่อจากภาพเขียนบนเพิงผาและอื่นๆ แต่จำเพาะเอกสารจีนโบราณชื่อ “หมานซู” (แต่งเป็นภาษาจีน พ.ศ.1410) บอกเล่าว่าคนพื้นเมืองป่าเถื่อนหลายจำพวกซึ่งไม่ใช่ฮั่นอยู่ทางใต้ของจีนตั้งแต่ทางใต้แม่น้ำแยงซีถึงฝั่งทะเลสมุทร (จากหนังสือ หมานซู (จดหมายเหตุพวกหมาน) ของ ฝันฉัว กรมศิลปากรให้ผู้เชี่ยวชาญภาษาจีนโบราณแปลเป็นภาษาไทยแล้วพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2512) เท่ากับเป็นที่รู้กันนับพันปีแล้วว่าทางใต้ของจีนล้วน “ไม่ฮั่น” หมายถึงหลักแหล่งของคนหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” ซึ่งล้วนไม่ใช่จีน]

“เยว่ร้อยจำพวก” มีกลุ่มไท-ไต รวมอยู่ด้วย แต่ไม่ใช่คนไทย (ขอย้ำว่าไท-ไต ไม่เรียกตนเองว่าไทย หรือคนไทย) ดังคำอธิบายต่อไปนี้

ไท-ไต หรือ ไท-กะได ชื่อสมมุติเรียกตระกูลภาษาซึ่งเป็นต้นตอหรือรากเหง้าภาษาไทย (ในประเทศไทยทุกวันนี้) มีข้อมูลเกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

1. ตระกูลภาษาไท-ไต หรือ ไท-กะได มีอายุเก่าสุดราว 3,000 ปีมาแล้ว

2. แหล่งเก่าสุดของตระกูลภาษาไท-ไต หรือ ไท-กะได อยู่ในโซเมีย (ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจีน) บริเวณที่ปัจจุบันเป็นมณฑลกวางสี-กวางตุ้ง กับทางเหนือของเวียดนาม (เป็นพื้นที่เดียวกัน ยังไม่มีเส้นกั้นอาณาเขตแบ่งประเทศ) หลักแหล่งดั้งเดิมของจ้วง-ผู้ไท (จ้วงเป็นชื่อรวมของคนไท-ไตในกวางสี ส่วนผู้ไทเป็นชื่อรวมของคนไท-ไตในเวียดนาม)

3. คนตั้งหลักแหล่งทางใต้ของมณฑลกวางสี-กวางตุ้งในจีน กับทางเหนือของเวียดนาม เป็นพวกถูกฮั่นเรียก เยว่ มีหลายชาติพันธุ์อยู่ปนกัน ได้แก่ คนพูดตระกูลภาษาม้ง-เมี่ยน, จีน-ทิเบต, ไท-ไต เป็นต้น โดยมีภาษาไท-ไตเป็นภาษากลางการสื่อสารในชีวิตประจำวัน

ต่อไปข้างหน้ามีการค้าระยะไกล ภาษาไท-ไตจะเป็นภาษากลางทางการค้าของดินแดนภายในภาคพื้นทวีปซึ่งอยู่ทางใต้ของจีน ครั้นมีอำนาจทางการเมืองก็ค่อยๆ แผ่ขยายลงไปถึงลุ่มน้ำโขง, ลุ่มน้ำสาละวิน, ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และคาบสมุทร

สำเนียงพูดสมัยเริ่มแรกของคนพูดภาษาตระกูลไท-ไต ไม่พบหลักฐาน แต่คาดเดาเทียบเคียงแล้วไม่ตรงกับสำเนียงมาตรฐานของคนพูดภาษาไทยในประเทศไทยปัจจุบัน

4. สมัยนั้นคนพูดภาษาตระกูลไท-ไตทางตอนใต้ของจีนบริเวณโซเมีย ไม่เรียกตนเองว่าไทย แต่เรียกตนเองตามชื่อทางวัฒนธรรมเป็นกลุ่มๆ ตามที่เลือกสรรกันเอง ได้แก่ ต้ง, จ้วง, นุง, สุ่ย, หลี, ปู้ยี, มู่หล่าว, เหมาหนาน, ผู้ไท เป็นต้น

ส่วนคำว่า ไท หรือ ไต แปลว่า คน หรือ ชาว เช่น ไทพวน แปลว่า คนพวน หรือ ชาวพวน, ไตลื้อ แปลว่า คนลื้อ หรือ ชาวลื้อ (ข้อมูลรายละเอียดมีอีกมากในหนังสือ ความเป็นมาของคำสยามฯ ของ จิตร ภูมิศักดิ์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2519) คำว่า ไต มีใช้ในภาษาเขมร พบในจารึกพิมายแปลว่าคน แต่มีฐานะทางสังคมต่ำลงหมายถึงคนที่เป็นทาส

5. คนพูดภาษาตระกูลไท-ไตและคนหลากหลายชาติพันธุ์บริเวณโซเมียต่อไปข้างหน้าจะมีความเคลื่อนไหวโยกย้ายไปมาหลายทิศทางตามเส้นทางการค้าภายใน กระทั่งลงไปตั้งหลักแหล่งมีอำนาจทางภาษาและวัฒนธรรมอยู่ร่วมกับคนในตระกูลภาษาอื่นๆ บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา เช่น ชวา-มลายู, มอญ-เขมร, ทิเบต-พม่า เป็นต้น แล้วรับภาษาและวัฒนธรรมเหล่านั้นรวมกับภาษาและวัฒนธรรมจากจีน, อินเดีย, เปอร์เซีย (อิหร่าน) ฯลฯ ครั้นนานไปได้กลายตนแล้วเรียกตนเองด้วยชื่อสมมุติใหม่ว่าไทย ซึ่งล้วนเป็นบรรพชนคนไทยปัจจุบัน

คนไทยเริ่มแรกพบบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ไม่พบที่อื่น) ระหว่าง พ.ศ.1600-1700 แต่บรรพชนคนไทยอยู่โซเมียราว 3,000 ปีมาแล้ว •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ