เมื่อหนี้สาธารณะลาว กลายเป็น ‘วาระแห่งชาติ’

ระดับหนี้สินสาธารณะ และหนี้สินที่รัฐบาลค้ำประกันในลาว พอกพูนขึ้นจนถึงระดับวิกฤตเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา หลังจากทางการลาวกู้เงินมาใช้เพื่อลงทุนในกิจการเหมืองและโรงไฟฟ้าพลังน้ำ อย่างหนักในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

ระหว่างปี 2017 เรื่อยมาจนถึงปี 2022 มูลหนี้ภาครัฐของลาวพุ่งพรวดเป็นติดจรวด จาก 52 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) กลายเป็น 112 เปอร์เซ็นต์

ตอนที่หนี้สินภาครัฐพุ่งพรวดพราดนั้น สารพัดวิกฤตก็ถาโถมเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น วิบัติภัยธรรมชาติ, โควิด-19, ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลก ลงเอยด้วยเงินกีบลาวอ่อนค่าลงอย่างหนักหน่วงรุนแรงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

ถ้าหากยังคงนิ่ง งอมืองอเท้า มูลหนี้และพันธะการชำระหนี้จะกัดกินและกัดกร่อนทั้งสถานะทางการเงินการคลังของรัฐบาลและทุบทำลายเศรษฐกิจที่ประเทศพยายามลงทุนลงแรงเรื่อยมาไปจนหมด

คาดการณ์กันว่า ภาระหนี้ที่ผูกมัดรัฐบาลลาวอยู่ในเวลานี้จะทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องควักเงินชำระต่อปีสูงถึง 1,300 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2027 ที่จะถึงนี้ ฟังดูเหมือนจะไม่มากมายกระไร

แต่ถ้าคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า จีดีพีของลาวเมื่อปี 2023 ที่ผ่านมา มีเพียงแค่ราวๆ 14,000 ล้านดอลลาร์ เท่านั้น พันธะหนี้ดังกล่าวก็สูงมาก

สูงเกินกว่าที่จะปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปได้

 

หนี้สินมหาศาล ไม่เพียงเป็นผลลบต่อรัฐบาล แต่ยังทำให้พัฒนาการของประเทศถดถอย และส่งผลในทางลบต่อประชาชนทุกคนในประเทศ เพราะทำให้รัฐบาลไม่มีงบประมาณสำหรับใช้เพื่อส่งเสริมการศึกษา สนับสนุนกิจการด้านสาธารณสุขและอื่นๆ ผลักดันให้บรรดานักลงทุนพากันเลี่ยงการลงทุนในลาว ที่จะเป็นที่มาของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และช่วยให้เกิดการสร้างงาน จ้างงานขึ้นตามมา

บทความของ สุลิวัฒ สุวันนะจอมคำ อธิบดีกรมการบริหารหนี้สาธารณะในสังกัดกระทรวงการคลังของลาว และ เอ็มมา วีฟ รองผู้อำนวยการทั่วไปของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) ที่ปรากฏในนิกเกอิ เอเชียเมื่อ 15 มกราคมที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นความคืบหน้าสำคัญในการรับมือกับความท้าทายระดับวิกฤตครั้งนี้ของลาว

เริ่มต้นจากการ “ยอมรับ” และ “ตระหนัก” ในข้อเท็จจริงและความร้ายแรงของเรื่องนี้ และเริ่มต้นดำเนินการเพื่อลดการกู้ยืมของภาครัฐในระยะสั้นลง และทำให้ภาระหนี้มีที่อยู่ไม่ส่งผลกระทบต่อศักยภาพของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ดำเนินการหลายขั้นตอนเพื่อยกระดับปัญหาหนี้ให้กลายเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่ทุกภาคส่วนต้องรับรู้และรับผิดชอบขึ้นมา

หลายขั้นตอนที่ว่านั้น มีตั้งแต่การเพิ่มความเข้มงวดด้านการคลัง เรื่อยไปจนถึงการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจสำคัญๆ ของประเทศ การเพิ่มการกำกับดูแล โดยเฉพาะในส่วนของการกู้ยืมของบรรดารัฐวิสาหกิจเหล่านี้ ด้วยการกำหนดให้จัดทำรายงานสถานะทางการเงินต่อกระทรวงการคลัง

รวมถึงการกำหนดให้รัฐวิสาหกิจในบางกิจการ อาทิ การบิน, การค้า และพลังงาน ควบรวมกิจการเข้าด้วยกันกับหุ้นส่วนที่เป็นภาคเอกชนหรือไม่ก็หุ้นส่วนจากต่างชาติ

ทางการลาวจะดำเนินการเพื่อปรับปรุงการจัดเก็บภาษี และปฏิรูประบบข้อมูลงบประมาณของรัฐ เพื่อหาทางปรับปรุงให้การจัดเก็บรายได้มีประสิทธิภาพดีขึ้น

และมีความเป็นไปได้ที่จะกำหนดให้มีการเก็บภาษีใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน อาทิ ภาษีที่ดิน, ภาษีอสังหาริมทรัพย์ หรือภาษีจากผลิตภัณฑ์ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ หรือสิ่งแวดล้อม หรือเป็นผลผลิตที่ก่อผลทางลบต่อสังคม เป็นต้น

ลาวกำลังพัฒนาระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเพย์เมนต์ และปรับปรุงระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) สำหรับพัฒนาแวดวงธุรกิจขึ้นด้วยอีกต่างหาก

 

ในเวลาเดียวกันก็เริ่มเจรจากับบรรดาเจ้าหนี้ เพื่อขยายเวลาชำระหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ ผู้เขียนให้ข้อมูลไว้ว่า ภาระหนี้ราว 1,200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเดิมต้องชำระให้กับเจ้าหนี้รายสำคัญในช่วงระหว่างปี 2020 จนถึงปี 2022 ได้รับความเห็นชอบให้ยืดเวลาชำระไปแล้ว ส่งผลดีต่อสภาพคล่องของรัฐบาลอย่างมาก

กระทรวงการคลังของลาวยังจับมือกับเอดีบี จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เชิญผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และหารือเกี่ยวกับนโยบายเพื่อฟื้นฟูภาระหนี้ให้กลายเป็นหนี้ที่ยั่งยืนขึ้น รวมทั้งหลักและวิธีการที่ดีในการบริหารหนี้สาธารณะ

เป้าหมายของลาวก็คือการแสวงหาวิธีและแนวทางที่ดีในการเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการหนี้ ลดภาระหนี้ และหาแนวทางการจัดการและบริหารความเสี่ยง ซึ่งจะนำไปสู่การประสานงานการบริหารจัดการหนี้สินที่ครอบคลุมและทั่วถึงทั้งองคาพยพของรัฐบาลนั่นเอง

รัฐบาลลาวเตรียมแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะที่บัญญัติขึ้นในปี 2018 เสียใหม่ พร้อมกันนั้นก็หาทางพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการหนี้ในระยะปานกลางขึ้นมาบังคับใช้ในปี 2024 นี้ จัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ โดยกำหนดให้บุคคลระดับรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป้าหมายเพื่อยกระดับรัฐวิสาหกิจลาวและบัญญัติกฎหมายว่าด้วยเรื่องนี้ใหม่ให้แล้วเสร็จภายในปี 2025

สิ่งที่รัฐบาลลาวจำเป็นต้องทำเพื่อดิ้นหนีจากกับดักหนี้ยังมีอีกมาก เส้นทางข้างหน้ายังคงเต็มไปด้วยความท้าทาย

แต่การตระหนักในความเป็นจริง และตัดสินใจยกเครื่องระบบใหม่ทั้งหมดครั้งนี้ก็มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง

อย่างน้อยก็ทำให้พอจะมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้รำไรแล้ว