เปิด “พิพิธภัณฑ์แห่งความล้มเหลว” เมื่อสี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง

Dr. Samuel West นักจิตวิทยา วัย 44 ปี ผู้ก่อตั้ง และภัณฑารักษ์ของ “พิพิธภัณฑ์แห่งความล้มเหลว” หรือ Museum of Failure กล่าวว่า สหรัฐเป็นประเทศที่ผู้คนหมกมุ่นอยู่กับความสำเร็จ ดังนั้น ความล้มเหลวจึงเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากๆ

“โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความล้มเหลวในวงการธุรกิจ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สำหรับองค์กรในอเมริกา เพราะหากคนเราไม่ยอมรับความความผิดพลาด ก็จะไม่สามารถพัฒนา และไม่สามารถเรียนรู้จากความล้มเหลวของตนเองได้” Dr. Samuel West กล่าว

Dr. Samuel West บอกว่า เขารู้ดีว่า 90% ของการสร้างนวัตกรรม มักล้มเหลว แต่ผู้คนวงกว้างไม่เคยได้รู้ ได้เห็น ได้ดู ได้ฟัง ได้อ่าน หรือเคยพูดถึงพวกมันเลย” Dr. Samuel West กล่าว และว่า

“ผมจึงก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งความล้มเหลว เพื่อจัดวางสิ่งประดิษฐ์ และผลิตภัณฑ์กว่าร้อยชิ้น ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์วัฒนธรรมในเมืองเฮลซิงบอร์ก ประเทศสวีเดน”

 

Dr. Samuel West เผยว่า เสียงตอบรับที่น่าสนใจซึ่งได้รับจากผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์แห่งความล้มเหลวก็คือ พวกเขารู้สึกว่าตัวเองได้รับการปลดปล่อย

“เมื่อผู้ชมได้เห็นว่า บรรษัทใหญ่ๆ อย่าง Heinz Apple Nintendo หรือ Google ก็เคยล้มเหลวมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ห้วงเวลาในการวิจัย และพัฒนา สร้างต้นแบบสินค้า ทดสอบ และทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือบริการใหม่ๆ” Dr. Samuel West กล่าว และว่า

“สิ่งเหล่านี้ทำให้เรา-ในฐานะปัจเจกชน รู้สึกเหมือนได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระไปด้วย เพราะบทเรียนทั้งหลาย ได้บอกเราว่า ช่วงที่เราเริ่มเรียนความรู้ใหม่ๆ หรือฝึกฝนทักษะใหม่ๆ หากเราจะล้มเหลวบ้างก็คงไม่เป็นไร” Dr. Samuel West ระบุ

 

ความโด่งดังของ “พิพิธภัณฑ์แห่งความล้มเหลว” ก็คือสถานที่จัดแสดงสิ่งประดิษฐ์ และผลิตภัณฑ์ที่ไม่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นว่า ไม่ว่าใครจะใหญ่มาจากไหนก็มีวันผิดพลาดได้

และทุกคนต้องก้าวผ่านความล้มเหลวไปให้ได้ เพื่อพัฒนานวัตกรรมต่อไป

ต้องบอกว่า Dr. Samuel West ยังคงมีสายตาของความเป็นเด็ก ที่ลงทุนลงแรงรวบรวมความล้มเหลวของบรรษัทข้ามชาติขนาดยักษ์จากทั่วโลก มาจัดแสดงใน “พิพิธภัณฑ์แห่งความล้มเหลว”

โดยนอกจากที่ “พิพิธภัณฑ์แห่งความล้มเหลว” จะได้รับความนิยมใน “สวีเดน” เป็นอย่างมากแล้ว

“พิพิธภัณฑ์แห่งความล้มเหลว” ยังได้รับการจัดทำเป็น “นิทรรศการเคลื่อนที่” ตระเวนไปตามเมืองใหญ่ต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น “ลอสแองเจลิส” หรือ “เซี่ยงไฮ้” โดยจัดแสดง “ผลิตภัณฑ์ที่ออกตัวผิดพลาด” กว่า 150 ชิ้นจากทั่วโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พิพิธภัณฑ์แห่งความล้มเหลว” สาขาใหม่ ใน “วอชิงตัน”

 

ซึ่งแม้ว่าผลิตภัณฑ์แห่งความล้มเหลวจำนวนมากเหล่านั้น จะอันตรธานหายไปจากไลน์การผลิต แต่สินค้าอีกหลายชิ้นได้รับการพัฒนากลายเป็นนวัตกรรม และนำออกขาย

ไม่ว่าจะเป็น “หน้ากากไฟช็อต” ที่ใช้ไฟฟ้าช็อตใบหน้าของผู้สวมใส่ให้สวยงามขึ้น หรือจะเป็น “ไม้กอล์ฟโถฉี่” ที่ให้นักกอล์ฟสามารถปัสสาวะลงไปได้ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปเข้าห้องน้ำในขณะที่ตีกอล์ฟอยู่

หรือจะเป็น “เก้าอี้ฮูลาฮูป” ที่ควรจะช่วยให้ผู้ใช้ได้ออกกำลังกายขณะทำงานอยู่ที่ออฟฟิศ แต่กลับทำให้เกิดอาการวิงเวียนแทน หรือจะเป็น “จักรยานพลาสติก” ที่ออกแบบให้พับเก็บง่าย แต่ขี่ไม่ได้จริงเพราะอันตราย

หรือจะเป็น “ตุ๊กตากำจัดขยะ” ที่ออกแบบให้เคี้ยวพลาสติกได้ ซึ่งอาจพลาดไปแทะนิ้วเด็กได้

ยังมีตัวอย่าง Classic แบบเจ็บๆ เช่น Nintendo บริษัทวิดีโอเกมยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ที่ล้มเหลวในหลายผลิตภัณฑ์มาก่อนอย่างไม่น่าเชื่อ หนึ่งในนั้น คือ “ถุงมือเล่นเกม” ที่สวมใส่เพื่อควบคุมเกมคอมพิวเตอร์ ซึ่งประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

อีกชิ้นเป็นตู้เกมสามมิติ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสายตาของเด็กได้หากเล่นเกมนานเกิน 10 นาที อย่างไรก็ดี Nintendo ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดเหล่านี้ และสร้างหนึ่งในวิดีโอเกมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา นั่นก็คือ Nintendo Wii นั่นเอง

อีกตัวอย่าง Classic ก็คือ “ซอสมะเขือเทศสีเขียว” ของ Heinz ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นหนึ่งใน Campaign ภาพยนตร์ Shrek การ์ตูนยักษ์เขียว แต่เมื่อกระแส Shrek เริ่มซาลง ความนิยมของซอสมะเขือเทศสีเขียวก็ถูกวางทิ้งไว้ในตู้เย็น

อีกเหตุผลหนึ่ง เป็นเพราะซอสมะเขือเทศสีเขียวมีรสชาติต่างออกไปจากไลโคปีนหรือสารสีแดงที่อยู่ในซอสมะเขือเทศสีแดง

 

นอกจากนี้ ยังมี Twitter Peek อุปกรณ์พกพาที่ใช้เล่น Twitter ได้เพียงอย่างเดียว หรือจะเป็นแผ่น DVD แบบดูแล้วทิ้ง ที่หมดอายุ 48 ชั่วโมงหลังเปิดภาพยนตร์ดูครั้งแรก

หรือจะเป็น “ลาซานญ่าคอลเกต” ที่ผลิตออกมาด้วยแนวคิดที่ว่า หลังทาน “ลาซานญ่า” ของ “คอลเกต” เป็นมื้อค่ำ แล้วก็แปรงฟันต่อด้วยยาสีฟันของ “คอลเกต” ไปเลยให้สิ้นเรื่องสิ้นราว

อย่างไรก็ดี นอกจาก Nintendo Wii ที่กลับมาประสบความสำเร็จในบั้นปลายแล้ว ยังมี N-Gage อุปกรณ์ลูกครึ่งของ Nokia ที่พยายามจะเป็นทั้งมือถือ และเครื่องเล่นเกม ซึ่งตอนหลังก็ได้รับความนิยมในระดับหนึ่ง

หรือจะเป็น Google Glasses แว่นตาอัจฉริยะที่มาก่อนกาล ด้วยรูปลักษณ์ที่ดูใช้ยาก และราคาสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถูกตีตราว่าเป็น “แว่นลามก” เอ็กซเรย์เสื้อผ้า ก็เป็นปัญหาที่ Google แก้ไม่ตกในช่วงแรก ก่อนที่จะปรับปรุงให้ดีขึ้นในเวลาต่อมา

หรือแม้แต่เครื่องคอมพิวเตอร์ Newton ของ Apple ที่แม้จะล้มเหลวในตอนแรก แต่ก็กลับเป็นการกรุยทางสู่การมาถึงของ iPhone และ iPad ที่ปฏิวัติวงการมือถือโลกในปัจจุบัน

 

ข้างต้นนี้ เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ของสินค้า และบริการ ที่ผู้มีคนลงทุนลงแรงอย่างมาก และคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถทำกำไร แต่ผลลัพธ์กลับไม่ได้เป็นดังหวัง

โดยผลิตภัณฑ์ที่ล้มเหลวมากกว่า 150 ชิ้นนี้ ปัจจุบันถูกจัดแสดงอยู่ที่ “พิพิธภัณฑ์แห่งความล้มเหลว” ในกรุงวอชิงตัน

Dr. Samuel West กลับมาสรุปให้เราฟังว่า แน่นอนว่า ใครๆ ก็รู้ ว่าความล้มเหลวคือสิ่งที่มีความสำคัญต่อความก้าวหน้า

“ดังนั้น เป้าหมายของพิพิธภัณฑ์แห่งความล้มเหลวก็คือ การช่วยให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้หลุดพ้นจากการถูกตีตราว่าเป็นความล้มเหลว”

มันอาจดูย้อนแย้งอยู่บ้าง แต่มันก็คือความเป็นจริง การลองเสี่ยง และล้มเหลวบ้างไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป เพราะมันเป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ Dr. Samuel West กล่าว และว่า

“เหตุผลที่ผมทำพิพิธภัณฑ์แห่งความล้มเหลวขึ้นมาก็คือ เราถูกบังคับให้เสพแต่เรื่องราวความสำเร็จตลอดเวลา ผมเบื่อเต็มทีกับวาทกรรมความสำเร็จ ที่มีให้เห็นอยู่ทุกที่ ทั้งในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ โทรทัศน์ และปัจจุบันก็ Internet”

เมื่อคุณเอาแต่บูชาความสำเร็จ ความล้มเหลวจึงกลายเป็นตราบาป ทั้งที่เบื้องหลังความสำเร็จ มีความล้มเหลวเป็นส่วนประกอบ Dr. Samuel West กล่าว

และว่า “ผมพยายามหาแนวทางใหม่ในการสื่อสาร เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำให้แนวคิดเรื่องการเรียนรู้จากความล้มเหลวมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น”

ผมคิดว่า ถ้าเรานำมาจัดเป็นนิทรรศการ มันก็น่าสนุกดี Dr. Samuel West ทิ้งท้ายว่า

“ตรงทางออกของพิพิธภัณฑ์แห่งความล้มเหลว ผู้ที่มาเยี่ยมชม มีโอกาสที่จะแบ่งปันความผิดพลาด ไว้ตรงมุม Share Your Failure โดยเขียนทุกความล้มเหลวลงในแผ่นกระดาษ Post-it แล้วแปะทิ้งไว้ตรงนั้น”