วิกฤตเมียนมา จาก ‘เล้าก่าย’ ถึง ‘เนปิดอว์’

(Photo by AFP)

แม้ว่าโลกภายนอกไม่ได้รับรู้ข้อเท็จจริงโดยละเอียดนักเกี่ยวกับสถานการณ์สู้รบในสงครามกลางเมืองที่เมียนมาที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้มากมายนัก กระนั้น ยามใดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ สื่อมาตรฐานระหว่างประเทศก็มักมีช่องทางในการตรวจสอบเพื่อยืนยันสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และกลายเป็นช่องทางในการตรวจสอบพัฒนาการของสงครามที่นั่น

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ กรณีที่ “เล้าก่าย” เมืองเอกของเขตปกครองตนเองโกกั้ง บริเวณเหนือสุดของรัฐฉานติดกับชายแดนจีน ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังฝ่ายต่อต้านเมื่อไม่นานมานี้ เหตุการณ์สำคัญนี้ก็ได้รับการตรวจสอบยืนยันอย่างชัดเจนในอีกไม่ช้าไม่นานต่อมา

กองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมียนมาดังกล่าวก็คือ กองทัพผสมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ นำโดยกองกำลังของ 3 ชนกลุ่มน้อยเป็นหลัก หนึ่งคือ กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (เอ็มเอ็นดีเอเอ) อีกหนึ่งคือ กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอั้ง (ทีเอ็นแอลเอ) สุดท้ายก็คือ กองทัพอาระกัน (เอเอ) ที่รวมตัวกันหลวมๆ เป็น “พันธมิตรแห่งภราดรภาพ” ทำสงครามต่อต้านรัฐบาลเนปิดอว์อย่างจริงจัง ครอบคลุมพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศ

พันธมิตรแห่งภราดรภาพนี่เองที่รับผิดชอบในการเปิดปฏิบัติการ “1027” เมื่อปลายเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา

 

ตามรายงานของ อองซอ บรรณาธิการและผู้ก่อตั้ง “อิรวดี” เมื่อ 11 มกราคมที่ผ่านมา ปฏิบัติการ 1027 ได้รับความสำเร็จอย่างสูงในเวลาอันรวดเร็ว ยึดที่ตั้งทางทหารน้อยใหญ่ได้กว่า 400 ฐาน ในรัฐฉานและยะไข่ ควบคุมจุดค้าขายบริเวณพรมแดนได้อย่างน้อย 5 จุด เข้ายึดและควบคุมหัวเมืองต่างๆ ได้หลายเมือง เฉพาะในรัฐฉาน มีมากถึง 16 เมือง เมื่อถึงต้นเดือนมกราคมนี้ รวมทั้งเล้าก่าย

การสูญเสียเล้าก่ายให้กับเอ็มเอ็นดีเอเอ ที่เป็นกองกำลังฝ่ายต่อต้านนั้น ไม่เพียงมีนัยสำคัญสูงมากทางด้านการทหารเท่านั้น แต่ยังผูกพันไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมาในกรุงเนปิดอว์กับทางการจีน หนึ่งในไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ยังคงสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือคณะนายทหารที่ยึดอำนาจรัฐในเมียนมาอยู่ในเวลานี้

ในทางด้านการทหาร กรณีเล้าก่ายไม่เพียงเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดในการสู้รบที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากการรัฐประหารเมื่อปี 2021 เท่านั้น

แต่ยังเป็นความพ่ายแพ้ที่ใหญ่หลวงที่สุดในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของกองทัพเมียนมาอีกต่างหาก

ที่แย่มากยิ่งขึ้นไปอีกก็คือลักษณะของความพ่ายแพ้ครั้งนี้ ที่นายทหารระดับพลจัตวา 6 นาย นายทหารระดับกลาง 228 นาย กับทหารอีก 2,100 นาย พร้อมสมาชิกในครอบครัว ยอมยกธงขาวยอมแพ้โดยไม่คิดที่จะต่อสู้ใดๆ กับกองกำลังเอ็มเอ็นดีเอเอแต่อย่างใด

เอ็มเอ็นดีเอเอ ถึงกับประกาศในเวลาต่อมาว่า โกกั้งเป็นดินแดน “ปลอดรัฐบาลทหาร” และสำทับซ้ำว่า เหตุการณ์นี้คือจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่จุดสิ้นสุดของอำนาจเผด็จการ

 

ข้อมูลของอองซอ ระบุว่า หน่วยงานทางทหารหน่วยแรกที่ยกธงขาวยอมศิโรราบครั้งนั้นคือ กองบัญชาการปฏิบัติการภูมิภาคเล้าก่าย (อาร์โอซี) ที่ควบคุมบัญชาการปฏิบัติการในโกกั้งทั้งหมด

อองซอ เชื่อว่า การยอมแพ้โดยไม่สู้รบครั้งนี้เกิดขึ้นจาก “คำสั่ง” จากเนปิดอว์ แต่ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าใครคือผู้รับผิดชอบในการสั่งการครั้งสุดท้าย ระหว่าง พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา กับรองพลเอกอาวุโส โซ วิน ผู้ทำหน้าที่ผู้บัญชาการกองทัพบก

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ อองซอ ระบุว่า นายพลทั้งสอง “ไม่ถูกกัน” ไม่ชอบหน้าซึ่งกันและกันอยู่ในที ที่เป็นข้อห้ามสำคัญของกองทัพในยามทำศึก ไม่ว่าจะเป็นที่ไหนในโลก

นักวิเคราะห์ทางทหารบางคนชี้ว่า เหตุการณ์ที่เล้าก่าย สะท้อนให้เห็นถึงสภาพขวัญกำลังใจของทหารในกองทัพเมียนมา ที่ยิ่งนับวันยิ่งไร้กำลังขวัญที่จะสู้รบและคิดที่จะยกธงขาวยอมแพ้อยู่ตลอดเวลา

บางคนตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า เหตุการณ์ที่เล้าก่ายเกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่ทางการจีน “ยื่นข้อเรียกร้อง” อย่างเป็นทางการไปยังรัฐบาลทหารในเนปิดอว์ ให้ดำเนินการปราบปรามกลุ่ม “จีนเทา” ที่อาศัยเล้าก่ายเป็นฐานในการก่ออาชญากรรมหลากหลายรูปแบบต่อชาวจีนในพื้นที่ชายแดน

จะด้วยเหตุผลว่า “ทำไม่ได้” หรือ “ไม่ได้ทำ” เพราะไม่อยากทำ ก็แล้วแต่ แต่รัฐบาลเนปิดอว์ ไม่สามารถสนองตอบต่อข้อเรียกร้องดังกล่าวได้

นักสังเกตการณ์เหล่านี้เชื่อว่า นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เอ็มเอ็นดีเอเอ ที่เคยมีอิทธิพลเหนือโกกั้งและมีสายสัมพันธ์ที่ดีในระดับหนึ่งอยู่กับทางการจีน เข้ามารับผิดชอบ “ปฏิบัติการกวาดล้าง” แทน

 

พัฒนาการของเหตุการณ์หลังจากที่เล้าก่ายตกอยู่ภายใต้การควบคุมเบ็ดเสร็จของเอ็มเอ็นดีเอเอ ก็น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะไม่นานนัก ทางการจีนเข้ามารับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ เปิดการเจรจาระหว่างตัวแทนของกลุ่มพันธมิตรภราดรภาพขึ้นที่ยูนนาน ใช้เวลา 2 วัน ระหว่าง 13-14 มกราคมที่ผ่านมา

จีนแถลงในเวลาต่อมาว่า ทั้งสองฝ่ายตกลง “หยุดยิง” กัน แต่การณ์กลับปรากฏว่า ยังไม่ทันข้ามวัน การโจมตีทางอากาศซึ่งเป็นยุทธวิธีถนัดของกองทัพเมียนมา ก็เกิดขึ้นในพื้นที่โกกั้งและรัฐฉานอีกครั้ง ต่อด้วยการสู้รบของทั้งสองฝ่ายอีกครั้งหนึ่ง ราวกับว่าไม่มีความตกลงใดๆ เกิดขึ้น

ทางการเนปิดอว์ ออกมาแก้ต่างว่าฝ่ายตรงข้ามกล่าวหา สร้างสถานการณ์ขึ้นเพื่อหวังให้เกิดความแตกแยกระหว่างเมียนมากับจีน

ทางการจีนยังไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ในเรื่องนี้ แต่นักวิเคราะห์เชื่อกันว่า ยิ่งนับวันทางการจีนยิ่งระอากับรัฐบาลทหารเมียนมามากขึ้นทุกที

และดูเหมือนว่า มิน อ่อง ลาย จะลืมเลือนข้อเท็จจริงที่ว่า รัฐบาลจีนเพียงสนใจแต่ผลประโยชน์ที่ได้จากความสัมพันธ์

ไม่เคยแคร์ว่าใครจะเป็นรัฐบาลในเมียนมาแม้แต่น้อย