สู่ปีที่ 21 สงครามภาคใต้! ปุจฉาความมั่นคง 25 ประการ

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ในสงครามทั้งปวง ทั้งฝ่ายข้าศึกและฝ่ายเราต่างก็พยายามชิงความเป็นฝ่ายกระทำในสมรภูมิ ในยุทธบริเวณ ในยุทธภูมิ และในสงครามตลอดทั้งสงครามด้วยกันทั้งนั้น ความเป็นฝ่ายกระทำนี้ก็คือ ความมีสิทธิเสรีของกองทัพ กองทัพใดสูญเสียความเป็นฝ่ายกระทำ และถูกบังคับให้ตกอยู่ในฐานะของการเป็นฝ่ายถูกกระทำแล้ว กองทัพนั้นก็ไม่มีเสรีภาพ และมีอันตรายที่จะถูกทำลายหรือถูกตีพ่ายไป”
ประธานเหมาเจ๋อตุง (พฤษภาคม 2481)

 

ถ้าเราย้อนเวลากลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในเช้าวันที่ 5 มกราคม 2547 นั้น นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้เรียกประชุมด่วน! เพราะเมื่อคืนที่ผ่านมาได้เกิดการบุกเข้าปล้นคลังแสงของ “ค่ายปิเหล็ง” ในจังหวัดนราธิวาส เหตุการณ์อุกอาจเกิดขึ้นอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน และเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามชุดใหม่ของไทย

รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงในขณะนั้น เชื่อว่าสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ได้ลดระดับของการเป็น “ภัยคุกคามด้านความมั่นคง” ลงหมดแล้ว อันเป็นผลจากการสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์ในทั่วทุกภาคของประเทศ ดังนั้น ทุกฝ่ายเมื่อ 20 ปีที่แล้วจึงมองคล้ายกันว่า ประเทศไทยไม่มีสถานการณ์ความมั่นคงที่น่าเป็นห่วง แม้จะเกิดเหตุก่อการร้ายขนาดใหญ่กับสหรัฐอเมริกาในวันที่ 11 กันยายน 2544 ก่อนหน้านี้ก็ตาม

แต่ผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ปล้นปืนในวันที่ 4 มกราคม 2547 ได้ยกระดับและขยายวงความขัดแย้ง จนทำให้ปัญหาการก่อความไม่สงบในภาคใต้มีสถานะเป็นปัญหาความมั่นคงที่สำคัญของไทย

อีกทั้งความรุนแรงที่เกิดในวันนั้น ได้ดำเนินสืบเนื่องต่อมา จนกลายเป็นปัญหา “สงครามยืดเยื้อ” ในยุคหลังสงครามคอมมิวนิสต์อย่างเห็นได้ชัด

และเป็นสงครามที่กินระยะเวลายาวกว่าสงครามคอมมิวนิสต์ ที่ใช้เวลาทั้งหมด 18 ปี (จากวันเสียงปืนแตกในปี 2508 จนถึงการประกาศการสิ้นสุดของสงครามในปี 2526)

 

ฉะนั้น ถ้าทดลองรวบรวมปัญหาบางส่วนในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา เราอาจตั้ง “ปุจฉาความมั่นคง” ได้ดังนี้

1) การปล้นปืนเกิดมาครบ 20 ปีแล้ว เรามีคำตอบหรือไม่ว่าในวันนั้น “ใคร” ในเชิงตัวบุคคลที่เป็นหัวหน้า หรือ “กลุ่มติดอาวุธ” ใดที่เปิดปฏิบัติการชุดนี้

2) ปฏิบัติการปล้นค่ายทหารเกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์อะไร และปืนที่ถูกปล้นจะนำมาใช้ก่อเหตุรุนแรงในไทยเพียงประการเดียว หรือจะนำไปใช้ก่อเหตุในประเทศใกล้เคียงด้วย

3) ปืนที่ถูกปล้นในวันนั้น มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 413 กระบอก จนถึงวันนี้กองทัพบกสามารถนำปืนที่ถูกปล้นกลับคืนมาได้แล้วเป็นจำนวนกี่กระบอก

4) รูปแบบของปฏิบัติการในวันนั้นเป็นเช่นไร และทำอย่างไรกลุ่มผู้ก่อเหตุจึงสามารถนำอาวุธปืนสงครามจำนวนมากเช่นนี้ออกไปจากค่ายทหารได้อย่างไร้ร่องรอย

5) ฝ่ายรัฐพอมีคำตอบหรือไม่ว่า ผู้ก่อเหตุในวันนั้นมีกำลังพลเท่าใดในการบุกปล้นค่ายทหาร และใช้คนจำนวนเท่าใดในการขนอาวุธ เพราะอาวุธปืนสงครามจำนวนถึง 413 กระบอกนั้น ไม่อาจขนออกด้วยการแบกหามได้โดยง่าย

6) ทำอย่างไรที่กองทัพบกจะลบล้างวาทกรรม “ทหารปล้นปืนเอง” ที่ฝ่ายตรงข้ามสร้างขึ้นหลังเหตุการณ์ และยังคงเป็นความเชื่อที่ฝังอยู่ในความรู้สึกของหลายคน ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการที่กองทัพไม่สามารถแถลงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน (คำถามข้อ 1-5 ในข้างต้น)

7) หากเกิดเหตุเช่นนี้ในประเทศที่การเมืองมีเสถียรภาพและมีวุฒิภาวะ จะต้องเกิด “กระบวนการไต่สวนภายใน” ทั้งในระดับของกองทัพ และระดับของกระทรวงกลาโหม เพื่อรวบรวมข้อมูลไว้ใช้สำหรับเป็น “บทเรียนในอนาคต” ซึ่งไม่ชัดเจนว่ากระบวนการสรุปบทเรียนได้เกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งข้อมูลนี้จะช่วยในการตอบโต้กับวาทกรรม “ทหารปล้นปืนเอง” ได้ด้วย

8) ผลสืบเนื่องที่ตามมาอย่างชัดเจนคือ การก่อตัวของความรุนแรงชุดใหม่ ซึ่งในรอบ 20 ปีมีการก่อเหตุถึง 10,392 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 4,577 ราย บาดเจ็บ 11,349 ราย ในจำนวนนี้ผู้เสียชีวิตเป็นประชาชนมากที่สุดถึง 4,577 ราย และประชาชนบาดเจ็บมากที่สุด 6,182 ราย (อ้างอิงตัวเลขจาก “20 ปีไฟใต้,” ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา, 3 มกราคม 2567) มาตราการการรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชน และรวมถึงชุมชนที่เป็นเป้าหมายด้วยนั้น ทำให้ประเด็นนี้เป็นคำถามถึงทุกรัฐบาลเสมอ

9) ในสถานการณ์ความรุนแรงเช่นนี้ การรักษาความปลอดภัยให้แก่บุคคลที่ป้องกันตนเองไม่ได้ เช่น ครู พระสงฆ์ และผู้นำศาสนาอิสลาม เป็นคำถามอีกประการที่ยังคงเป็นปัญหาเสมอ เพราะในเวลา 20 ปีนี้ มีครูเสียชีวิต 98 คน บาดเจ็บ 120 คน พระสงฆ์เสียชีวิต 13 รูป บาดเจ็บ 33 รูป ผู้นำศาสนาอิสลามเสียชีวิต 24 คน บาดเจ็บ 26 คน

10) ในความสูญเสียอีกส่วนเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงโดยตรง ในรอบ 20 ปี มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเสียชีวิต 623 นาย ตำรวจ 410 นาย และ อส. 18 นาย สำหรับการบาดเจ็บนั้น เป็นทหาร 2,994 นาย ตำรวจ 1,712 นาย และ อส. 40 นาย สถิติเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามในเรื่องของ “การพิทักษ์กำลังรบ” (เรื่องของ Force Protection ในงานสนาม) ว่ารัฐจะมีมาตรการอย่างไรในเรื่องนี้

 

11) ในวงรอบของความรุนแรง 20 ปีนี้ ฝ่ายรัฐจะสามารถวิเคราะห์ “แบบแผนการก่อเหตุ” ได้หรือไม่เพียงใด เพราะข้อมูลการวิเคราะห์น่าจะเป็นประโยชน์กับงานยุทธการในสนาม ดังจะเห็นได้ว่า ประมาณร้อยละ 43 ของความรุนแรงเกิดการใช้อาวุธยิง ประมาณร้อยละ 35 ใช้การวางระเบิด ประมาณร้อยละ 15 เป็นการวางเพลิง ประมาณร้อยละ 2 เป็นการซุ่มโจมตี ประมาณร้อยละ 0.5 เป็นการบุกเข้าตีฐานของฝ่ายทหารหรือตำรวจตระเวนชายแดน

12) การใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาภาคใต้จนถึงปีงบประมาณปัจจุบัน (21 ปีงบประมาณ) มียอดสูงเกินกว่า 5 แสนล้าน ยอดเงินงบประมาณจำนวนมากขนาดนี้ ทำให้เกิดคำถามสำคัญในเรื่องของประสิทธิภาพและประสิทธิผลอยู่เสมอ และคำถามนี้เกิดในสังคมและในรัฐสภามาโดยตลอด

13) ปัญหาที่ถูกถามมานานว่า รัฐบาลจะสามารถควบคุมงบประมาณในการแก้ปัญหาได้หรือไม่ เพราะงบประมาณนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ดังเช่น “งบฯ ดับไฟใต้” ในปีงบประมาณ 2567 สูงกว่าปี 2566 เป็นจำนวน 450 ล้านบาท หรือการเพิ่มนี้เป็นปัญหา “งบฯ กำลังพล” ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี

14) ทำอย่างไรที่จะควบคุมไม่ให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบจากงบประมาณจำนวนมหาศาล หรือจะควบคุมอย่างไรไม่ให้การแก้ปัญหาในภาคใต้เป็น “ทุ่งเศรษฐี” สำหรับบางคนและบางกลุ่ม การดำเนินการด้วย “ความโปร่งใส” ด้านงบประมาณ จะช่วยให้ฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะทหารไม่ถูกวิจารณ์เรื่อง “เลี้ยงไข้” กับปัญหาภาคใต้ (คำวิจารณ์นี้เกิดตั้งแต่ยุคสงคราม พคท.แล้ว)

15) คำถามในเรื่องของความสัมพันธ์ บทบาท ภารกิจ ของหน่วยงานต่างๆ ในภาคใต้ ยังคงเป็นปัญหาเสมอ ทั้งกองทัพภาคที่ 4, กอ.รมน., ศอ.บต. และหน่วยงานทั้งของฝ่ายพลเรือน ตำรวจ และทหารในพื้นที่ ซึ่งน่าจะถึงเวลาที่ควรต้องทบทวนบ้างว่า ในรอบ 20 ปี หน่วยงานต่างๆ เหล่านี้ มีบทบาทและดำเนินภารกิจที่ตอบสนองต่อการแก้ปัญหาเพียงใด รวมถึงควรจะใช้งบประมาณเพียงใดในแต่ละส่วน และการดำเนินภารกิจมีความซ้ำซ้อนหรือไม่

 

16) คำถามในเรื่องของการจัดองค์กรความมั่นคงกับงานสนามในภาคใต้ มักจะเป็นประเด็นทุกครั้ง เช่น บทบาทของ กอ.รมน. ที่เพิ่มมากขึ้นหลังการรัฐประหารทั้ง 2 ครั้งในปี 2549 และ 2557 หรือปัญหาบทบาทของรองผู้ว่าราชการจังหวัดฝ่ายทหาร ประเด็นเหล่านี้กองทัพบกสามารถนำมาทบทวนได้หรือไม่ เพื่อทำให้บทบาทของทหารมีความชัดเจนและไม่ซ้ำซ้อนในการแก้ปัญหา

17) การเจรจาที่เกิดตั้งแต่ยุครัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2556 จนถึงปัจจุบันนั้น เคยมีการทบทวนถึงประเด็นและปัญหาที่เกิดอย่างจริงจังมากน้อยเพียงใด คณะผู้เจรจาฝ่ายรัฐไทยมีความพร้อมและมีทักษะบนโต๊ะเจรจามากน้อยเพียงใด ใครจะเป็นผู้กำหนดกรอบและควบคุมทิศทางการเจรจา และถ้าผู้เจรจาบางคนกระทำการเกินขอบเขตแล้ว รัฐไทยควรต้องรับผิดชอบเพียงใดหรือไม่ และอะไรคือข้อสรุปของการเจรจาในรอบ 10 ปี (2556-2566) ที่ผ่านมา

18) ฝ่ายรัฐตอบได้หรือไม่ว่า ในรอบ 20 ปีผู้ก่อเหตุหลักเป็นใคร หรือเป็นขบวนการใด ใช่กลุ่ม “BRN” อย่างที่กล่าวถึงจริงหรือไม่ หรือคำถาม 20 ปีในทางทหารคือ “ใครเป็นข้าศึก?” แล้วฝ่ายเราเคยมีกระบวนการทางยุทธศาสตร์ทหารในการ “วิเคราะห์ข้าศึก” หรือไม่ และเรา “รู้จักข้าศึก” มากน้อยเพียงใด (บทท่องจำของซุนวูแบบนกแก้วนกขุนทองคือ “รู้เขา รู้เรา ร้อยศึก ร้อยชนะ”)

19) ทำอย่างไรที่รัฐไทยจะรู้ว่า คู่เจรจาบนโต๊ะเป็น “ตัวจริง-เสียงจริง” ที่คุยแล้วสามารถก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้จริง เพื่อไม่ให้การเจรจากลายเป็น “ละครโรงใหญ่” เพื่อให้ผู้แสดงได้เสนอหน้าบนสื่อ

20) ทำไมการเจรจาปัญหาทางการเมืองเช่นนี้ต้องยึดติดอยู่กับตำแหน่งของอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำไมรัฐไทยไม่ใช้ตัวแบบสากลด้วยการตั้ง “คณะผู้เจรจา” โดยมีสถานะเป็น “ผู้แทนพิเศษ” (special envoy) เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้ในระยะยาว โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับความเป็นรัฐราชการ แต่การจะกระทำเช่นนี้ได้จริง ฝ่ายการเมืองจะต้องมีความรู้และความเข้าใจในปัญหา ดังนั้น จึงมีคำถามต่อเนื่องว่า ทำอย่างไรที่ฝ่ายการเมืองจะมีความรู้และความเข้าใจในปัญหานี้ด้วย

 

21) ทำอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์จากกระบวนการการเจรจาที่เกิดขึ้น กล่าวคือ ทำอย่างไรที่การเจรจาจะต้องเกิดความ “โปร่งใส” โดยเฉพาะกับปัญหาตัวบุคคลบางส่วน ดังนั้น เป็นไปได้หรือไม่ที่งบฯ ของการเจรจานี้ อาจต้องเปิดเผยใน “ระดับหนึ่ง” ด้วย (ไม่ได้ต้องเปิดทั้งหมด)

22) ในทางกลับกัน ทำอย่างไรที่จะยกระดับความรับรู้และความเข้าใจของฝ่ายความมั่นคง โดยเฉพาะผู้นำทหารในพื้นที่ภาคใต้บางคนและบางส่วน ที่ยังยึดติดอยู่กับ “ผลประโยชน์เก่า-ความคิดเก่า-วิธีการเก่า” อันเป็นอุปสรรคโดยตรงต่อการแก้ปัญหา หรือคำถามในทางทหารคือ ทำอย่างไรที่กองทัพภาคที่ 4 จะต้องไม่เป็น “ตัวเลือกสุดท้าย” ของนายทหารนักเรียนในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก และทำอย่างไรที่ปัญหาภาคใต้จะไม่เป็น “เหมืองทอง” ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคง

23) ทำอย่างไรที่ “ทุกอณู” ของฝ่ายรัฐจะยึดกุมทิศทาง “การเมืองนำการทหาร” และไม่ละเมิดด้วยการใช้นโยบาย “การทหารนำการเมือง” ที่อาจทำให้เกิดภาวะ “เสียมวลชน” ในสนามรบทางการเมืองในภาคใต้

24) รัฐไทยจะสามารถจัดทำ “กระบวนการทำลายการบ่มเพาะความรุนแรง” (deradicalization) ได้หรือไม่ รวมถึงการจัดทำกระบวนการพาอดีตผู้ร่วมขบวนการกลับคืนสู่สังคมปกติ เช่นในตัวแบบของยุคสงคราม พคท.

25) รัฐไทยจะกำหนด “ยุทธศาสตร์ภาคใต้” ในปีที่ 21 ของสงครามชุดนี้อย่างไร และข้อพึงสังวรที่สำคัญคือ ยุทธศาสตร์ชุดนี้จะต้องไม่ทำแบบ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ที่มีปัญหาหลัก 4 ประการ คือ ไร้สาระทางยุทธศาสตร์ ไร้ประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ ไร้ทิศทางทางยุทธศาสตร์ และสร้างปัญหาทางยุทธศาสตร์กับอนาคต!