‘เศรษฐา’ โคจรรอบโลก ดึงยักษ์ใหญ่ลงทุน ‘แลนด์บริดจ์’ เป้า GDP 5.5% ก้าวข้าม คุ้ม…ไม่คุ้ม

โครงการ “แลนด์บริดจ์” กำลังกลายเป็นโปรเจ็กต์ยักษ์ระดับ 1 ล้านล้านบาท และเป็นเดิมพันสำคัญของของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน

เป็นสะพานบก เชื่อมโยงขนส่งระหว่างทะเลอันดามัน จ.ชุมพร เชื่อมกับฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ที่ จ.ระนอง

ถูกนำไปโรดโชว์แล้วทุกมุมโลก ไล่ตั้งแต่ จีน ตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และล่าสุด สวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างการประชุม World Economic Forum ดึงดูดลงทุนทั่วโลกลงทุนไทย

บริษัทใหญ่ที่ “เศรษฐา” ลงทุนไปจีบ ตัวอย่างเช่น MUFG Bank ของญี่ปุ่น ChinaHarbor Engineering Company Ltd. (CHEC) บริษัทก่อสร้างในโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดของจีน CRRC Group รัฐวิสาหกิจจีนที่ผลิตอุปกรณ์ขนส่งทางรางใหญ่ที่สุดในโลก

ทั้งยังหารือกับ Governor of the Public Investment Fund (PIF) ของซาอุดีอาระเบีย The Port of Long Beach หน่วยงานท่าเรือลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย

และ “เศรษฐา” มีกำหนดในการหารือกับ Dubai Port World ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์การขนส่งสินค้า การดำเนินงานท่าเรือ การขนส่งสินค้าทางทะเล ที่สวิตเซอร์แลนด์ด้วย

 

“เศรษฐา” การันตีทุกวงที่ไปโรดโชว์ว่า ในอนาคต “แลนด์บริดจ์” อาจจะเป็นศูนย์กลางการขนส่งอีกแห่งของโลก เพราะทวีปเอเชียมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้ามากที่สุดประมาณ 40% ของโลก รองลงมาคือยุโรป 38%

การขนส่งระหว่างกันส่วนใหญ่ใช้เส้นทางช่องแคบมะละกา มีตู้สินค้าผ่านช่องทางนี้ 25% ของทั้งโลก มีน้ำมันผ่านช่องทางนี้ 60% ของโลก ถือว่าเป็นช่องทางที่คับคั่งและแออัดมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง

มีเรือผ่านช่องแคบประมาณ 90,000 ลำต่อปี และจากการคาดการณ์ในปี ค.ศ.2030 ปริมาณเรือจะเกินกว่าความจุของช่องแคบมะละกา และจะทำให้เกิดค่าเสียโอกาสระหว่างรอถ่ายเรือ

“ไทยเห็นโอกาสในการพัฒนาเส้นทางที่ช่วยบรรเทาผลกระทบ ด้วยเพราะไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน ที่สามารถพัฒนาการเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย เชื่อว่าโครงการแลนด์บริด์จเป็นเส้นทางเลือกที่สำคัญที่จะรองรับการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประหยัดและเร็วกว่า”

แม้ว่าสถานการณ์ในประเทศ เกิดกรณีที่ “ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล นำ ส.ส.พรรคก้าวไกล พาเหรดลาออกจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) สภาผู้แทนราษฎร

พร้อมทั้งออกมาตั้งข้อสังเกตความไม่สมบูรณ์ของรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการแลนด์บริดจ์ ในเรื่องความคุ้มค่าของโครงการ การประเมินความต้องการของบริษัทเดินเรือ และสินค้าซึ่งจะใช้ในโครงการแลนด์บริดจ์ที่เกินจริง รวมถึงการประเมินความแออัดของการเดินเรือ ในช่องแคบมะละกา และท่าเรือสิงคโปร์ ที่ยังมีข้อสงสัย รวมถึงการประหยัดต้นทุนการขนส่ง

แต่หัวหอกของโครงการ คือ “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.คมนาคม ยืนยันว่าจะเดินหน้าเต็มสูบ เขาเห็นแย้งกับฝ่ายค้านที่ออกมา “ดักคอ” โครงการแลนด์บริดจ์ที่ถูกโจมตีว่ารัฐบาลไทยนำรายงานไม่สมบูรณ์ไปเสนอนักลงทุนว่า…

“การลงทุนส่วนใหญ่ในโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากภาคเอกชน ดังนั้น เชื่อว่าภาคเอกชนเมื่อจะมีการลงทุนใดๆ ก็จะต้องศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน และในครั้งนี้มีการตอบรับจากบริษัทใหญ่ของดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ดังนั้น จึงเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถเกิดขึ้นได้แน่นอน”

สุริยะยังมั่นใจว่า โครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นส่วนช่วยทำให้ GDP ของประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ประมาณการ โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ไว้ที่ 4.0% ต่อปี เพิ่มเป็น 5.5% ต่อปี

 

สําหรับแลนด์บริดจ์ที่ “เศรษฐา” ขายตรงต่อนักลงทุนต่างชาติ มีการประมาณการวงเงินลงทุนโครงการทั้งหมด 1,001,206.47 ล้านบาท ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ที่แหลมอ่าวอ่าง อ.ราชกรูด จ.ระนอง ออกแบบให้สามารถรองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 21 เมตร และท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ที่แหลมริ่ว อ.หลังสวน จ.ชุมพร รองรับสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs ขนาดร่องน้ำลึก 17 เมตร

เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้งสองฝั่งมีระยะทางประมาณ 90 ก.ม. ประกอบด้วย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ขนาด 6 ช่องจราจร โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 ก.ม., ทางรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร จำนวน 2 ทาง โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 ก.ม. ออกแบบเพื่อรองรับการขนส่งตู้สินค้า 2 ชั้นบนแคร่ ทางรถไฟขนาดราง 1.0 เมตร จำนวน 2 ทาง

โดยเป็นอุโมงค์ 3 แห่ง ระยะทางอุโมงค์ประมาณ 21 ก.ม. เพื่อเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายทางรางหลักของประเทศ และพื้นที่สำหรับวางท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปและก๊าซธรรมชาติ เพื่อสนับสนุนการขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทางท่อในพื้นที่ของโครงการ รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่าโดยการถมทะเลเพื่อพัฒนากิจการสนับสนุนท่าเรือ

สำหรับโครงการลงทุน 4 เฟส ประกอบด้วย เฟสแรกวงเงินลงทุนสูงสุด ประมาณการ 522,844.08 ล้านบาท ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร 118,519.50 ล้านบาท, ท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง 141,716.02 ล้านบาท, เส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ 195,504.00 ล้านบาท, งานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า 60,892.56 ล้านบาท และค่าเวนคืนและจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 6,212.00 ล้านบาท

เฟส 2 ประมาณการลงทุนโครงการ 164,671.83 ล้านบาท ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร 45,644.75 ล้านบาท, ท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง 73,164.78 ล้านบาท, งานก่อสร้างเส้นทางเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ 21,910.00 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า 23,952.30 ล้านบาท

เฟส 3 ประมาณการลงทุน 228,512.79 ล้านบาท ประกอบด้วย งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 73,221.99 ล้านบาท, ท่าเรือน้ำลึกฝั่งระนอง 115,929.76 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจำนวน 39,361.04 ล้านบาท

เฟส 4 ประมาณการลงทุนโครงการ 85,177.77 ล้านบาท ประกอบด้วย งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร จำนวน 68,280.20 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า จำนวน 16,897.57 ล้านบาท

ทั้งนี้ แผนการพัฒนาทั้งโครงการเป็น 4 ระยะ เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.2025 ถึง ค.ศ.2040 รูปแบบการหาผู้มาลงทุนและดำเนินการจะเป็นการประมูลแบบนานาชาติ (International Biding) โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี เป็นสัญญาเดียว

 

ส่วนกลุ่มนักลงทุนที่มาดำเนินการโครงการ ต้องเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มีศักยภาพ ประกอบด้วย สายการเดินเรือ ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ ผู้ประกอบการและบริหารท่าเรือ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และนักลงทุนภาคอุตสาหกรรม

ขณะที่กลุ่มประเทศที่มีโอกาสขนส่งสินค้าผ่านโครงการแลนด์บริดจ์ อาทิ กลุ่มประเทศที่อยู่ทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ได้แก่ กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกลุ่มประเทศโอเชียเนีย เช่น ออสเตรเลีย ฟิจิ นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะโซโลมอน รวมทั้งกลุ่มประเทศที่อยู่ทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ได้แก่ กลุ่มประเทศเอเชียใต้ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง กลุ่มประเทศยุโรป และกลุ่มประเทศแอฟริกา

ทั้ง “เศรษฐา” ในฐานะนายกรัฐมนตรี ทั้ง “สุริยะ” ในฐานะเจ้ากระทรวงคมนาคม การันตีว่า โครงการแลนด์บริดจ์ “คุ้มค่า” ที่จะเดินหน้าอย่างแน่นอน