ระวังอาถรรพ์! : ข้อเตือนใจจากโลกโบราณ กรณีไล่รื้อศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

วันนี้จะขอพูดถึงเรื่องความเชื่อจีนๆ ซึ่งมีประเด็นเชื่อมโยงไปถึงข้อขัดแย้งบางอย่างในสังคมไทยครับ

ก่อนอื่นผมต้องชี้แจงถึงความผิดพลาดของตนเองจากบทความเรื่อง “ลาทีปีเก่า : ความหวัง การมู และก้าวข้ามมู?” ซึ่งผมกล่าวถึงเรื่องต่อหวดหรือการก้าวข้ามไสยศาสตร์ ว่าอาจารย์ณัฐนนท์ได้รับการต่อหวดจากท่านอาจารย์แป๊ะเกี๋ยว ซึ่งที่จริงเป็นอาจารย์แป๊ะเซ้ง ขอแก้ไขและขออภัยทั้งอาจารย์นนท์และผู้อ่านมา ณ ที่นี้ครับ

ชาวจีนฮกเกี้ยนมีสุภาษิต (ซ่อกหงื่อ) เก่าแก่ว่า “หน้าเป็นศาลเจ้า หลังเป็นวัง ลูกหลานไม่มีทางเจริญ” (อ๊ามเจ๋งเกี๊ยงอ่าว เกี้ยซุ้นโบ๋ชุดถาว)

เป็นคติความเชื่อเรื่องชัยภูมิบ้านว่า ไม่ควรตั้งอยู่โดยมีศาลเจ้าอยู่ด้านหน้าหรือมีวังอยู่ด้านหลัง เพราะหากตั้งบ้านเรือนเช่นนั้นจะหาความสุขความเจริญไม่ได้ไปจนถึงรุ่นลูกถึงหลานกันเลยทีเดียว

นับเป็นเรื่องที่ชาวบ้านจีนกลัวเกรงกันมาก มิไยต้องกล่าวการไล่รื้อศาลเจ้าแล้วไปสร้างบ้านเรือนหรืออาคารทับลงไป

 

ผมเคยเขียนถึงเรื่องกรณีสำนักงานจัดการทรัพย์สินของจุฬาฯ พยายามจะไล่รื้อศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง เพื่อจะสร้างอาคารคอนโดมิเนียมสูงตระหง่านบนพื้นที่นั้นไว้ในมติชนสุดสัปดาห์ตั้งแต่ 18 มกราคม พ.ศ.2565 ท่ามกลางกระแสคัดค้านจากนิสิตนักศึกษาและผู้คนจำนวนมาก

มาบัดนี้กรณีดังกล่าวก็ยังไม่คลี่คลาย ความพยายามจะไล่รื้อศาล-ฟ้องร้องผู้ดูแลยังคงอยู่ ทั้งที่นักวิชาการหลายท่านและสื่อต่างๆ ได้แสดงให้เห็นคุณค่าของอาคารศาลเจ้าดังกล่าวทั้งในมิติประวัติศาสตร์และจิตวิญญาณของชุมชน

นอกจากนี้ เรายังได้เห็นพลังของนิสิตนักศึกษา ที่แม้เขาอาจไม่ได้มีความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือนับถือเจ้าแม่ทับทิม แต่ยังได้ช่วยกันปกป้องสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นคุณค่าต่อชุมชนใกล้มหาวิทยาลัยอย่างแข็งขัน จนถึงขนาดประท้วงต่อต้านและช่วยเข้าไปช่วยดูแลจัดกิจกรรมในฐานะกรรมการของศาลเจ้าร่วมกับคนรุ่นเก่า

ขณะที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมุ่งมองไปเฉพาะการพัฒนาที่ดินให้กลายเป็นอสังหาริมทรัพย์เพื่อตอบสนองเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น ครั้นจะทำศาลเจ้าใหม่ทดแทนก็ทำอย่างลวกๆ แบบขอไปที ปราศจากทั้งความงามและความถูกต้องตามขนบ

ศาลเจ้าที่ทำอย่างมักง่ายด้วยเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ จะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดไปสถิตหรือครับ เราอาจหลอกคนด้วยกันได้ว่าตรงนี้มีศาลเจ้าที่มีเทพสถิตแล้ว แต่เราจะหลอกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้กระนั้นหรือ?

เสียดายที่สถาบันการศึกษาหลักของประเทศซึ่งควรจะแสดงให้เห็นว่า สามารถนำเอาวิชาความรู้ทางสถาปัตยกรรมมาสร้างศาลใหม่ได้เหมือนเดิมทุกกระเบียดนิ้ว (ดังที่คุยไว้) เอาความรู้ทางวัฒนธรรมและโบราณคดีมาใช้หรือแสดงให้เห็นตัวอย่างว่าจะอนุรักษ์ของเดิมไปพร้อมๆ กับการพัฒนาได้อย่างไร แต่ก็ไม่ทำทั้งที่มีความพร้อมทุกอย่าง

ภาพยนตร์เรื่อง The Last breath of SAMYAN ที่คุณเปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ กำกับการแสดง อำนวยการสร้างโดยเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และเสฏฐนันท์ ธนกิจโกเศรษฐ์ ก็ได้แสดงให้เห็นถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี แนะนำใครที่สนใจให้ไปดูกัน

ที่จริงผมไม่ได้เกี่ยวของโดยตรงกับศาลเจ้าแม่ทับทิมแห่งนี้ แต่เนื่องจากถือว่าตัวเป็นลูกเจ๊กหลานจีน เป็นพวกไหว้เจ้าเผากระดาษด้วยคนหนึ่ง เห็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่บรรพชนของตัวนับถือถูกไล่ที่ก็รู้สึกเศร้าใจ บวกกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นั่นเป็น “พระหม่าจ้อโป๋” หรือเจ้าแม่ทับทิมซึ่งเป็นเทวนารีที่ชาวฮกเกี้ยนนับถืออย่างยิ่ง ก็รู้สึกเหมือนญาติผู้ใหญ่ของเรากำลังจะโดนไล่ออกจากบ้านเก่าแก่ของท่าน

วันนี้ผมจึงอยากมาเล่าเรื่อง “อาถรรพ์” เกี่ยวกับศาลเจ้าในความเชื่อจีน เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติทั้งแก่ผู้จะคิดรื้อถอนทำลายรวมทั้งเป็นข้อสะกิดใจแก่ผู้ที่คิดจะไปอยู่อาศัยที่นั่นด้วย

มิใช่ผมจะเอาความเชื่อมาขู่ให้กลัว แบบที่ศาสนามักเอาสวรรค์มาล่อ เอานรกมาขู่ดอกครับ

เพียงแต่อยากให้เห็นว่า เหตุใดเขาถึงเชื่อกันแบบนั้น เขามีหลักคิดอะไร เหตุผลเหล่านั้นอาจไม่ใช่เหตุผลเชิงประจักษ์แบบวิทยาศาสตร์ แต่เราก็ไม่ควรละเลยภูมิปัญญาโบราณที่มักซ่อนอะไรไว้ และพูดด้วยภาษาอีกแบบ

อีกทั้งครูบาอาจารย์หลายท่านกล่าวว่า อะไรที่คนส่วนมากเห็นว่าเป็นอัปมงคลหรือควรแช่งชัก หลายครั้งมันก็เป็นไปเช่นนั้นจริงๆ จะด้วยอำนาจจิตมวลรวมที่เชื่อมโยงกันหรือจะเพราะผู้คนเหยียดหยามไม่ข้องแวะก็ตามแต่

เราจึงอย่าเอาตัวไปไว้ในที่ซึ่งคนโบราณหรือคนส่วนใหญ่ถือว่าเป็นอัปมงคลน่าจะดีที่สุด

 

ผู้รู้ท่านสอนผมมาว่า ในปิฎกของศาสนาเต๋ามีคัมภีร์ “ถ่อเต่ก้องเก๊ง” หรือพระสูตรว่าด้วยเจ้าที่หรือเทพแห่งผืนดิน ว่าเทพเจ้าแห่งผืนดินมีหลายองค์ แต่ละองค์มีศักดิ์และครองที่ดินต่างกันออกไป (คล้ายคลึงกับแนวคิดเรื่องพระภูมิในตำราไทย)

เทพแห่งผืนดินองค์ที่มีเดชมากนั้นเป็นองค์ที่สถิตในที่ดินของศาลเจ้า เรียกว่า “อุยเหลงถ่อเต่” อุยเหลงแปลว่าเทวานุภาพ เพราะมีพลังต่างจากองค์อื่นๆ ซึ่งหากแม้รื้อถอนศาลเจ้าออกไปแล้ว เทพเจ้าองค์นี้และพลังปราณของพระองค์ก็จะยังอยู่ และทำให้ที่ดินตรงนั้นยากจะหาความสงบสุขพอที่มนุษย์จะอยู่อาศัยได้ เพราะท่านไม่ใช่เทพยดาผืนดินสำหรับบ้านเรือนของคน แต่ท่านมีพลังเพื่อส่งเสริมศาลเจ้าโดยเฉพาะ

การจะขอท่านย้ายออกไปก็ยากมากๆ เพราะท่านได้รับแต่งตั้ง (เทกฮ่อง) มาจากฟ้า เรื่องนี้ทางไสยศาสตร์จีนบอกเลยว่าแก้ยากที่สุด

รื้อที่ฮวงซุ้ยหรือสุสานเก่ายังแก้ได้ง่ายกว่า

 

นอกจากนี้ ยังมีความเชื่อเรื่องมังกรผืนดินซึ่งคล้ายคลึงกับความคิดเรื่องนาคของเราว่า เมื่อขุดปรับหน้าดินเพื่อจะทำที่อยู่อาศัยหรือปลูกสร้างอาคาร ก็อาจไปกระทบมังกรในผืนดินเหล่านี้ (มังกรเหล่านี้เกิดจากกระแสปราณของธรณี กลายเป็นมังกรทั้งห้า เทียบได้กับพลังห้าธาตุหรือความอุดมสมบูรณ์)

ดังนั้น เมื่อมีการสร้างอาคารก็จะมีพิธี “อานเหลง” คือทำให้มังกรเหล่านี้สุขสงบด้วยการเชื้อเชิญเขามาเลี้ยงดู เขาก็จะคายปราณซึ่งทำให้ที่ดินบริเวณนั้น “อ่อง” คือรุ่งเรืองมีโชคมีลาภดังเดิม แต่หากไปรื้อถอนทำลายศาลเจ้า มังกรเหล่านี้ก็จะถูกรบกวนอีกครั้งและจะเลิกคายปราณที่ทำให้เกิดความสุขความเจริญในที่ดินเดิม

นอกจากนี้ เมื่อจะสร้างศาลเจ้าขึ้นมา จะมีการฝังศิลาฤกษ์ไว้ด้านล่างเพื่อกำหนดว่าที่ดินเหล่านี้ไม่ใช่ที่ดินธรรมดาอีกต่อไปแต่ให้เป็นที่สถิตของเทพ เป็นหมุดหมายหรือสัญญาต่อฟ้าดินสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งยังมีการอัญเชิญสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหก (หลกสิ่ว) เช่น เสือขาว มังกรเขียว นกแดง มาคุ้มครองศาลเจ้าที่สร้างขึ้น มีพิธีเค่งถ่อและเตี่ยนถ่อ คือสมโภชและบูชาผืนดิน

ทั้งหมดนี้คือการยกระดับให้เป็นที่ดินศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง

ดังนั้น การรื้อถอนทำลายศาลเจ้าซึ่งได้ทำพิธีไว้ถูกต้องดีแล้วจะทำให้เกิด “สั่วะ” คืออาถรรพ์หรือการ “ต้องธรณีสาร” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไปกระทบทำลายสิ่งข้างต้นทั้งหมด ทำให้ปราศาจากความสุขความเจริญไปจนถึงลูกถึงหลาน กล่าวอีกอย่าง เพราะกว่าจะเป็นศาลเจ้าขึ้นมาได้นั้น ต้องใช้ทั้งพลังของฟ้าดิน (ธรรมชาติ) พลังของฤกษ์ยาม พลังของพิธีกรรม พลังของเทพ และพลังของคน จึงไม่ใช่อะไรที่จะแก้กันง่ายๆ

นอกจากนี้ ศาลเจ้ายังเป็นพื้นที่สาธารณะ การไปรื้อถอนพื้นที่สาธารณะคือการทำลายพลังเจตจำนงส่วนรวมและความหวังของชุมชนมนุษย์ วัฒนธรรมไหนๆ ก็ว่าเป็นอุบาทว์ เช่น ในล้านนาเขาก็ไม่ให้ถมบ่อ ถมฝาย เขาว่ามัน “ขึด” (อุบาทว์) ที่จริงก็เพราะเป็นการทำลายประโยชน์ส่วนรวมและให้เกิดความขัดแย้งเกลียดชังนั่นเอง

นอกจากนี้ ศาลเจ้ายังเป็นสถานที่ที่ผู้คนเข้าออกเพื่อทำกิจกรรมตลอดเวลาจึงสะสมพลัง “หยาง” เอาไว้มาก ตามคติหยินหยางของเต๋า พลังหยางคือพลังเคลื่อนไหว ความร้อน ฯลฯ พลังหยางไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยซึ่งต้องการความนิ่งและความสงบ (หยิน)

เมื่อไปสร้างอาคารสำหรับอยู่อาศัยในที่ดินนั้นก็ย่อมได้รับผลนี้ คือรู้สึกวุ่นวายอยู่ไม่สุขตลอดเวลา

 

ผมจึงอยากให้ลองฟังคำเตือนจากโลกโบราณดูครับ ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร จะว่าเพ้อเจ้อหรืองมงายก็ไม่เชิง เพราะมันก็มีหลักคิดของมันซึ่งเชื่อมโยงเรื่อง “ฟ้า ดิน คน” คือธรรมชาติและชุมชนไว้ด้วยกัน ไม่ถึงกับปราศจากเหตุผลเสียเลย เพราะแนวคิดจีนเห็นว่าความศักดิ์สิทธิ์มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นมาลอยๆ ได้ แต่ต้องมีองค์ประกอบครบทุกด้าน

ส่วนทางแก้นั้น ผมคิดว่าผู้บริหารจุฬาฯ ควรพิจารณาว่าจะสร้างอาคารใหม่ที่สอดคล้องกลมกลืนกับอาคารเก่าคือศาลเจ้าได้อย่างไรโดยไม่ต้องไปรื้อทุบทิ้ง

อีกทั้งหากสร้างอาคารใหม่ในบริเวณนั้นโดยไม่ขัดกับคติความเชื่อก็จะดีขึ้นไปอีก ซึ่งจะทำเช่นนี้ได้ต้องตั้งทีมวิจัยศึกษา ก็จะได้ความรู้เรื่องศาสนาและคติชนจีนมาเป็นของแถม

ทำดังนี้จึงสมกับเป็นสถาบันการศึกษาระดับสูง ไม่ใช่ไปจ้างซินแสจากไหนไม่รู้มาเพื่อสนับสนุนโครงการ แล้วสร้างศาลเจ้าใหม่แบบมักง่ายประจานตนเอง

หากทำเช่นนี้ได้ก็จะเป็นกรณีศึกษาอันน่ายกย่อง แล้วยิ่งถ้าท่านเชื่อเรื่องพวกนี้ จะไม่ดียิ่งขึ้นไปอีกหรือที่จะได้รับความรุ่งเรือง ความคุ้มครองจากองค์เทพเจ้าและได้รับคำอำนวยพรจากนิสิตนักศึกษาและผู้คนในชุมชน อันจะมีให้ทั้งแก่ตัวผู้บริหารมหาวิทยาลัย

รวมถึงผู้จะมาอยู่อาศัยในอาคารสถานที่นั้นด้วย •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง