การเมืองไทยเปลี่ยนครั้งใหญ่ ในรอบ 17 ปี (จบ)

มุกดา สุวรรณชาติ

วิเคราะห์สัญญาณการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

การเมืองในบ้านเราถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็จะมีสัญญาณปรากฏให้เห็นชัดเจน เช่น การชุมนุมใหญ่เพื่อต่อต้านรัฐบาล หรือการรัฐประหาร ซึ่งเป็นปฏิกิริยาสุดท้ายในทางการเมืองหรือทางการทหาร เช่น…

การชุมนุมเดินขบวน 14 ตุลาคม 2516 ขับไล่รัฐบาล ทันทีที่ภาพปรากฏชัดเจนก็มีกลุ่มผู้ปกครองอีกกลุ่มฉวยโอกาสใช้พลังนักศึกษา ประชาชนช่วงชิงอำนาจ แต่ในทางการเมืองโดยรวมทำให้เกิดการเปลี่ยน การสร้างของกระแสประชาธิปไตยไป ไล่อำนาจเผด็จการที่เคยปกครองมายาวนานกว่า 15 ปี

การชุมนุมพฤษภาทมิฬ 2535 เมื่อเอาชนะอำนาจเผด็จการที่เพิ่งทำรัฐประหารมาได้ปีเดียวก็ได้เปิดฟ้าประชาธิปไตย ที่ถูกครอบงำด้วยอำนาจเผด็จการและเผด็จการครึ่งใบมา 10 ปี หลังพฤษภาคม 2535 จึงมีการเลือกตั้งและการเมืองแบบประชาธิปไตยก็เติบโตต่อเนื่องมาอีก 14 ปี

สัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่เลวร้ายก็มี…ในปี 2549 การรัฐประหารรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร จากนั้นประเทศก็ย้อนกลับเข้าสู่ยุคเผด็จการที่มุ่งมั่นจะสร้าง ระบอบอำมาตยาธิปไตย แม้ฝ่ายประชาชนจะพยายามต่อสู้จนได้รับชัยชนะ 2 ครั้งจากการเลือกตั้ง แต่ก็ต้องโดนทั้งอำนาจตุลาการภิวัฒน์และการรัฐประหารซ้ำในปี 2557

ความพยายามสร้างระบอบอำมาตยาธิปไตย ยังมีต่อมาจนกระทั่งเกิดการชุมนุมของนักศึกษา เยาวชนตั้งแต่ปี 2563 และตลอดทั้งปี 2564 จนถึง 2565

 

การเคลื่อนไหวตลอดเกือบ 3 ปี
…มีคุณค่าทางการเมือง ต่อการปฏิรูป

การวิเคราะห์ของเรามองการชุมนุมของเยาวชน ตลอดเกือบ 3 ปีว่ามีคุณค่าทางการเมืองเทียบเท่ากับการชุมนุมใหญ่ในอดีตแม้ไม่มีเหตุการณ์ใหญ่แบบ 14 ตุลาคม ปี 2516 หรือพฤษภาทมิฬ 2535 แต่ในความเป็นจริงการชุมนุมใหญ่ 10 ครั้ง เล็ก 100 ครั้งล้วนมีผลสะเทือนทางการเมืองแม้แกนนำจะถูกจับกุมคุมขังดำเนินคดีหลายร้อยคดี แต่ผลกระทบทางการเมืองได้สร้างแรงกดดันต่อชนชั้นปกครอง ที่ใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม และสะท้อนความไม่ถูกต้องในกระบวนการยุติธรรม

นี่เป็นแรงกดดันทางการเมืองที่ฝังใจประชาชน และได้สร้างความเปลี่ยนแปลงมา 3 ปีแล้ว

เป็นการสร้างความคิดที่ก้าวหน้าและต่อต้านความอยุติธรรม ต่อเนื่องมาจากการต่อสู้ของคนเสื้อแดงในปี 2553 จากนั้นได้มีการพัฒนาของประชาชนให้ก้าวหน้ามากขึ้น แปรไปสู่การลงคะแนนเลือกตั้งในทุกระดับ

โดยปกติแล้วการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่ตามมาก็จะเป็นไปตามทิศทางของผู้ที่ชนะ เช่น หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ทิศทางก็เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่พอหลังรัฐประหาร 2519 ก็เป็นเผด็จการ หรือหลังรัฐประหาร 2549 และ 2557 ก็พยายามเป็นระบอบอำมาตยาธิปไตย

แต่บางครั้งการเคลื่อนไหวต่อสู้นั้นก็ไม่มีใครได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด ในสภาพที่ก้ำกึ่งแบบนี้ การประนีประนอมบ้าง ต่อสู้บ้าง เกิดขึ้นแล้วแต่ใครจะเลือกเดินแนวทางไหน และในแต่ละช่วงเวลาใครจะได้เปรียบเสียเปรียบ ดังนั้น การเคลื่อนไหวหลังการเมืองเปลี่ยน อาจใช้เวลาหลายปีอาจจะยังคงต้องทำต่อไป สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง

แต่ถ้ามองให้ลึกแล้วจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงได้เริ่มขึ้นและดำเนินไปแล้ว ทำให้สภาพการเมืองดีกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แต่อาจจะไม่ได้ดั่งใจหวังหรืออาจไม่เร็วทันใจ

เพราะนี่คือการปฏิรูป ไม่ใช่การปฏิวัติ

 

การเปลี่ยนแปลงของผู้มีอำนาจ
เป็นการประนีประนอม
ไม่ใช่การปรองดอง

ที่บอกว่าไม่ใช่ปรองดอง เพราะถ้าเป็นการปรองดอง กลุ่มการเมืองเหล่านั้นจะมีเป้าหมายร่วมกันว่าจะสร้างสันติและความเจริญก้าวหน้าอย่างไร แต่ขณะนี้สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการลดความขัดแย้งและลดความเสียหายที่แต่ละฝ่ายจะได้รับ โดยต่างก็หวังผลเฉพาะหน้า เกี่ยวกับการตั้งรัฐบาลหรือการร่างรัฐธรรมนูญ หรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

ทางเลือกของกลุ่มอำนาจเก่า คือประนีประนอมกับสายทักษิณ เมื่อผลการเลือกตั้งปี 2566 ปรากฏชัดออกมา อำนาจเก่ารู้อยู่แล้วว่า คะแนนของฝ่ายอนุรักษนิยมมีไม่ถึง 1 ใน 3 ถ้าปล่อยให้พรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยรวมกันเป็นขั้วเดียวและต่อสู้ต่อไปพวกเขาจะต้องพ่ายแพ้ ถ้าอยากจะได้อำนาจก็ต้องรัฐประหาร ซึ่งไม่รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร จะมีการต่อต้านแรงแค่ไหน ถ้าพลาดก็จะพังกันทั้งหมด

ฝ่ายขวาซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเก่ายอมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่ฝ่ายซ้ายแบบก้าวไกลเสนอไม่ได้ ดังนั้น ในสมการประนีประนอมครั้งนี้จึงไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในสมการ

ในทางยุทธศาสตร์จึงถือว่าฝ่ายขวาทำได้สำเร็จโดยดึงพรรคกลางแบบเพื่อไทยมาเป็นนายกฯ บีบฝ่ายซ้ายแบบก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน

จากนั้นจะผูกพรรคเพื่อไทยให้กลายเป็นแนวร่วมของกลุ่มอำนาจเก่า อะไรที่ผิดพลาดและบาปกรรมก็ต้องรับไปด้วยกัน

นี่คือ…แผนเดิมที่ใช้กับประชาธิปัตย์ ที่เริ่มจากการมีอำนาจรัฐด้วยกัน ใช้อำนาจผ่านระบอบการปกครองและระบบยุติธรรมที่ได้เปรียบด้วยกัน เมื่อมีปัญหาพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้รับความเสียหายทางการเมือง จนกระทั่งปัจจุบันแทบจะสูญสลาย

เพื่อไทยจะพลิกเกมอย่างไร?

 

นี่คือการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่
แต่เป็นไปแบบช้าๆ
จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง

สรุปว่าการเปลี่ยนแปลงได้เริ่มมาจากปี 2563 และยาวต่อเนื่องมาจนถึงการเลือกตั้ง 2566 และจะปรากฏผลที่ชัดในปี 2567 จนถึงสิ้นสมัยรัฐบาล

ประชาชนทั้งมีความหวัง และบางส่วนก็ผิดหวัง ตอนนี้ทุกฝ่ายคอยดูว่ารัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยจะเปลี่ยนอะไรให้ดีขึ้น สามารถมีผลงานอะไรออกมาให้ประชาชนชื่นชมได้บ้าง เช่น

1. การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ค่าแรง หนี้สิน

2. การตั้ง ส.ส.ร. มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่

3. การเกณฑ์ทหาร ทำโดยสมัครใจได้เมื่อไร

4. การปรับปรุงระบบยุติธรรม นิรโทษกรรมนักโทษการเมือง

ตัวชี้วัดว่ากลุ่มอำนาจเก่ายอมปรับตัวทางการเมืองแค่ไหน…คือระบบยุติธรรม

การตัดสินคดีถือหุ้นสื่อของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลว่าครั้งนี้จะตัดสินออกมาอย่างไร

แต่ก็มีแนวโน้มที่จะรอดมากพอสมควร และถ้าพิธารอดในคดีแรก ก็ต้องดูว่าดาบสอง วันที่ 31 มกราคม 2567 จะกล้ายุบพรรคก้าวไกลหรือไม่?

เพราะพรรคก้าวไกลถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าล้มล้างการปกครองในกรณีเสนอแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งถ้าคดีนี้ตัดสินว่ามีความผิดและเลยไปถึงขั้นยุบพรรคหรือตัดสิทธิ์กรรมการพรรค นั่นหมายความว่า กลุ่มอำนาจเก่าต้องการเปิดศึกโดยตรงและไม่สนใจว่าผลต่อต้านทางการเมืองจะเป็นอย่างไร ไม่กลัวว่าจะมีปฏิกิริยาต่อต้านจนทำให้เกิดความรุนแรงหรือไม่

แต่คงจะได้เห็นผลทางการเมือง ในการเลือก ส.ว. และการเลือกนายก อบจ. ปี 2567 การเลือกเทศบาล และ อบต. ปี 2568

ถ้าการเมืองแรงขึ้น เศรษฐกิจตกต่ำ ยุติธรรมมืดมัว การเปลี่ยนแปลงก็จะถูกเร่งทั้งความเร็วและความแรง