ทฤษฎี ‘สองนคราประชาธิปไตย’ ยังทันสมัยอยู่หรือไม่?

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

ทฤษฎี ‘สองนคราประชาธิปไตย’

ยังทันสมัยอยู่หรือไม่?

 

ผลการเลือกตั้งทั่วไป 14 พฤษภาคมปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจในบรรดาผู้เกาะติดการเมืองมายาวนานว่า : ทฤษฎี ‘สองนคราประชาธิปไตย’ ที่ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เคยนำเสนอเอาไว้เมื่อ 30 ปีก่อนยังทันสมัยอยู่หรือไม่?

ผมชวนสองนักวิชาการรุ่นใหม่ที่ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้คนที่เกี่ยวข้องก่อนการเลือกตั้งมาตั้งวงคุยเพื่อหาคำตอบว่าที่เคยเชื่อกันว่า “คนชนบทเลือกรัฐบาล คนกรุงเทพฯ ล้มรัฐบาล” ยังเป็นจริงอยู่หรือไม่?

มีข้อสรุปที่น่าสนใจมากจากงานวิจัยร่วมของ ดร.ณพล จาตุศรีพิทักษ์, เมธิส โลหเตปานนท์ และ Allen Hicken ที่เพิ่งจะตีพิมพ์ใน Contemporary Southeast Asia

แต่เพื่อให้เนื้อหาครบวงจร ผมชวน ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ มาร่วมวงเสวนาด้วย

ได้มุมมองหลายด้านที่ชวนคิดและชวนวิเคราะห์กันต่อไปอย่างมากมาย

 

ดร.ณพลเท้าความว่าทฤษฎี “สองนคราฯ” มีภาพว่าการเมืองไทยเป็นไข่ดาว

ไข่แดงคือตัวเมือง ไข่ขาวคือชนบท

ทฤษฎี ‘สองนคราประชาธิปไตย’ ชี้ว่า ชาวชนบทมักเลือกผู้สมัครจากปัจจัยที่เป็นรูปธรรม มีความเกี่ยวโยงกับระบบอุปถัมภ์ท้องถิ่น

ขณะที่ชนชั้นกลางในเมือง (โดยเฉพาะกรุงเทพฯ) คำนึงถึงนโยบายและหลักการทางอุดมการณ์มากกว่า

ผลการเลือกตั้งปีที่แล้วสะท้อนอย่างชัดเจนว่าไข่แดงแตกแล้ว

หากดูภาพรวมของผลการเลือกตั้งในแต่ละภูมิภาค สิ่งที่น่าแปลกใจเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งคือ พรรคก้าวไกลได้คะแนนบัญชีรายชื่อเป็นอันดับ 1 หรือ 2 ในทุกเขตเลือกตั้งในประเทศ และได้คะแนนบัญชีรายชื่อมากที่สุดในทุกภูมิภาค ยกเว้นภาคอีสาน

 

จากการลงพื้นที่เพื่อไปสังเกตการหาเสียง และสัมภาษณ์นักการเมืองท้องถิ่น ได้ยินผู้สมัครอธิบายว่าเขตเลือกตั้งของตนว่าเป็นคล้ายกับไข่ดาว มีไข่แดงเป็นเขตเมือง ไข่ขาวเป็นเขตชนบท

การจะหาเสียงในแต่ละส่วนต้องใช้วิธีที่ต่างกัน

ในเขตเมืองหาเสียงคล้ายกับในกรุงเทพฯ ในเขตชนบทก็เน้นการใช้เครือข่ายท้องถิ่น

ที่แตกต่างไปจากเดิมคือไข่แดงในที่นี้กลายเป็นเขตเมืองทั้งหมด ไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ

 

ดร.ณพลบอกว่าทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตย” ควรจะแยกเป็นสองส่วน

ส่วนแรก คือข้อสังเกตเกี่ยวกับความแตกต่างในพฤติกรรมทางการเมืองและการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยระหว่างคนเมืองกับคนชนบท

ส่วนที่สอง คือข้อเสนอที่ว่าความแตกต่างนี้เป็นต้นตอของความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่การไม่ลงหลักปักฐานของประชาธิปไตย และการหวนคืนสู่อำนาจของระบอบทหารและระบอบเผด็จการ

งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งไปที่ส่วนแรก นั่นคือพฤติกรรมทางการเมืองของคนเมืองกับชนบท

แรงจูงใจที่ทำงานวิจัยชิ้นนี้มาจากการมีโอกาสพบปะผู้สมัคร ส.ส.ในหลายจังหวัดในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

และมีโอกาสได้สนทนากับผู้ช่วยในการหาเสียงเลือกตั้งหรือที่เรียกว่า “หัวคะแนน”

รวมถึงได้ติดตามการลงพื้นที่และการปราศรัยของผู้สมัคร ส.ส.

ที่สัมผัสได้คือผู้สมัครและทีมงานมักจะจำแนกแยกแยะฐานเสียงของตนเองด้วยการขีดเส้นระหว่างบริเวณที่มีความเป็นเมืองกับบริเวณที่มีความเป็นชนบทในเขตเลือกตั้งของตน

พบว่าผู้สมัครและหัวคะแนนมักจะเปรียบเทียบเขตเลือกตั้งของตัวเองเหมือน “ไข่ดาว”

เป็นคำที่ผู้สมัครและทีมงานหาเสียงใช้เรียกเอง

เป็นเหมือนกันตั้งแต่ผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐถึงพรรคก้าวไกล

 

“เราไม่ได้คิดคำนี้ขึ้นมาเอง เราได้จากผู้สมัครเอง” ดร.ณพลบอก

ไข่แดงหมายถึงบริเวณที่มีความเป็นเมืองค่อนข้างสูงเช่นเขตเทศบาลหรือพื้นที่ที่มีมหาวิทยาลัย เป็นต้น

“ไข่แดง” มักจะถูกล้อมรอบด้วย “ไข่ขาว” ซึ่งหมายถึงบริเวณที่มีความเป็นชนบทซึ่งประกอบด้วยตำบลเล็กตำบลน้อย

หรือที่เรียกว่า “รอบนอก”

พบอีกว่าผู้สมัครมักใช้ยุทธศาสตร์การหาเสียงที่ไม่เหมือนกันระหว่าง “ไข่แดง” กับ “ไข่ขาว”

ในโซน “ไข่แดง” หนึ่งในผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกลมองว่าจะ “ขายตัวพรรค” อย่างเดียวสำหรับคนในเมือง

โดยเน้นการพูดถึงการปฏิรูปกองทัพและหลักใหญ่ๆ ในภาพรวมเป็นหลัก

ในขณะที่ในโชนไข่ขาวรอบนอก การหาเสียงเน้นเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุ เป็นต้น

นั่นแปลว่าแม้แต่สำหรับผู้สมัครพรรคก้าวไกลเองก็มีการแยกยุทธศาสตร์ไข่แดงและไข่ดาวในเขตเลือกตั้งของตัวเอง

แต่ผู้สมัครพรรคอื่นจะแบ่งแยกสองโซนนี้ชัดเจนกว่า

“ในเมืองจะพูดเรื่องนโยบาย ส่วนนอกเมืองจะเน้นเครือข่ายหัวคะแนน”

จากการลงพื้นที่ พอจะสรุปได้ว่าประเทศไทยไม่ใช่ “ไข่ดาว” ในความหมายที่ว่าไข่แดงคือกรุงเทพฯ และไข่ขาวคือต่างจังหวัดอีกต่อไป

“แต่ไข่ดาวพบเห็นได้แทบทุกจังหวัด หรือแม้ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน…”

นั่นคือบัดนี้มี “ไข่ดาวหลายฟอง” หรือเรียกว่า “ไข่ดาวกระจาย”

 

นักวิจัยทั้งสามคนตั้งข้อสังเกตว่าพลวัต (dynamics) แบบนี้มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากภาพจำที่เกิดจากทฤษฎี “สองนคราประชาธิปไตย”

เน้นว่าเป็น “ภาพจำ” มิใช่สาระหลักที่ ดร.เอนกเขียนในหนังสือเล่มนั้นแต่เพียงอย่างเดียว

หลายคนตีความว่า “เมือง” คือ “กรุงเทพฯ” เท่านั้น

และ “ชนบท” คือ “ต่างจังหวัด”

หรือข้อสรุปที่ว่าคนต่างจังหวัดตั้งรัฐบาล คนกรุงเทพฯ ล้มรัฐบาล

งานวิจัยนี้มุ่งจะทดสอบว่า “ทฤษฎีสองนคราฯ…” นี้ที่ตีความอย่างนี้ยังใช้ได้กับบริบทการเมืองไทยวันนี้หรือไม่

และหากใช้ไม่ได้หรือมีการปรับเปลี่ยนไปแล้ว งานวิจัยนี้ก็จะได้นำเสนอว่าควรจะแก้ไขหรือปรับปรุงอย่างไร

“ก็ต้องให้ความยุติธรรมกับงานเขียนเรื่องนี้ของอาจารย์เอนกเพราะท่านเขียนเพื่ออธิบายการเมืองไทยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว…”

ตัวแปรสำคัญคือพื้นที่ชนบทมีความเป็นเมืองมากขึ้นตลอดเวลา

อีกตัวแปรหนึ่งคือคนในชนบทจำนวนไม่น้อยมีชีวิตที่เชื่อมโยงกับความเป็นเมืองสูงขึ้น ไม่ว่าโดยหน้าที่การงานหรือที่พักอาศัย

และตัวแปรที่สามคือสังคมออนไลน์ที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่างชนบทกับเมืองมีความคลุมเครือมากขึ้น

อย่างน้อยที่สุดก็ในแง่ของการรับรู้ข่าวสาร

จึงทำให้เกิดความพยายามที่จะวิเคราะห์ทฤษฎี “สองนคราฯ” จากผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

 

โดยวิเคราะห์จากผลการเลือกตั้งจากแต่ละพื้นที่ เริ่มจากภาพใหญ่ที่สุดก่อนคือเปรียบเทียบกรุงเทพฯ กับภูมิภาคอื่นๆ

เกิดข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่าถ้าทฤษฎีสองนคราฯ ยังมีความหมายหรือความศักดิ์สิทธิ์อยู่ อย่างน้อยก็ต้องเห็นความแตกต่างในการตัดสินใจของผู้เลือกตั้งในการเลือกพรรคการเมือง

หรือ “พรรคในดวงใจ” ระหว่างคนกรุงเทพฯ กับคนต่างจังหวัด

ปรากฏว่าผลการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อมีความแตกต่างไม่มากนัก

พรรคก้าวไกลมาเป็นที่หนึ่งในกรุงเทพฯ และทุกภูมิภาคยกเว้นภาคอีสาน

และพรรคก้าวไกลเป็นที่หนึ่งหรือที่สองใน 400 เขตเลือกตั้ง

“ตอนแรกผมนึกว่าผมวิเคราะห์ผิด เพราะไม่นึกว่าพรรคก้าวไกลจะมาที่หนึ่งหรือที่สองใน 400 เขตเลือกตั้งในบัญชีรายชื่อ แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ”

 

ส่วนผลการเลือกตั้งแบ่งเขตมีความแตกต่างมากขึ้นระหว่างตัวเมืองกับชนบท

แต่พรรคก้าวไกลก็สามารถเอาชนะในเขตที่หลุดจากคำนิยามของความเป็นเมืองได้อย่างมีนัยสำคัญ

ตัวอย่างเช่น จังหวัดตาก, สุพรรณบุรี, กาญจนบุรี, นครปฐม, สุราษฎร์ธานี, บุรีรัมย์

ในจังหวัดเหล่านี้ แม้ว่ากลุ่มการเมืองเก่ายังชนะการเลือกตั้ง ส.ส.เขตอยู่ก็ตาม

แต่กลับแพ้ให้ก้าวไกลในระบบบัญชีรายชื่ออย่างสิ้นเชิง

“จึงเกิดเป็นคำถามว่าความเป็นเมืองกับชนบทยังเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการเลือกตั้งหรือไม่”

(สัปดาห์หน้า : เจ้าของทฤษฎีกับความจริงที่เปลี่ยนไปวันนี้)