ชาวล้านนาสมัยก่อน ปลูก “บ่าขาม=มะขาม” ทำนายสภาพอากาศ

บ่าขาม อ่านว่า “บ่าขาม” หมายถึง มะขาม

 

บ่าขาม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tamarindus indica L. เป็นสมาชิกวงศ์ถั่ว (Family Fabaceae) วงศ์ย่อยไมยราบ (Subfamily Mimosoideae) ชื่อสกุล Tamarindus มาจากคำว่า Tamrhindiyy ที่เป็นชื่อมะขามในภาษาอาราบิก และคำว่า indica มาจาก India หรือประเทศอินเดีย ชื่อภาษาอังกฤษเรียก Tamarind หรือ Indian date

บ่าขาม เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ เปลือกต้นหนา แตกเป็นร่อง ใบประกอบขนนกชั้นเดียว เรียงสลับ แผ่นใบย่อยออกเป็นคู่ รูปขอบขนาน ปลายใบและโคนใบมน ดอกช่อออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกสีเหลือง มีลายเส้นร่างแหสีน้ำตาลแดง ผลเป็นฝัก บิดงอจนถึงตรง

เมื่อแก่เปลือกผลแห้งกรอบ เนื้อผลสีน้ำตาลเหนียวมีเส้นใบเหนียว เมล็ดเรียงแถวเดียว ทรงเกือบกลม แบน สีน้ำตาลเป็นมัน ออกดอกช่วงต้นฤดูฝน ติดผลแก่ช่วงปลายฝนต้นหนาวจนถึงต้นฤดูร้อน

 

เก๊าบ่าขาม หรือต้นมะขาม ชาวล้านนาเรามีการใช้ประโยชน์เกือบทั้งต้น ทั้งทางด้านอาหาร และทางยา ดังนี้

ใบมะขามอ่อนผลิใบหลังทิ้งใบในช่วงฤดูร้อนนำมายำกับน้ำยำแบบล้านนา (หมูสับต้มกับน้ำปลาร้า ตำกับน้ำพริกแกงเมือง แล้วเคี่ยวให้เข้ากัน) เป็นเมนู “ยำยอดมะขาม” โรยหน้าด้วยหอมแดงทอด กินอร่อย แถมช่วยระบายได้ด้วย หรืออาจประยุกต์ด้วยการยำกับปลากระป๋องก็อร่อยไปอีกแบบ ดอกมะขามออกในช่วงเดียวกันกับที่มีเห็ดถอบหรือเห็ดเผาะ บางครั้งหากมาทางเหนือเราอาจพบการใช้ดอกมะขามให้รสเปรี้ยวแทนยอดส้มป่อย หรือยอดมะเม่าในแกงเห็ดถอบได้

เนื้อมะขามมีรสชาติที่หลากหลายตั้งแต่เปรี้ยว เปรี้ยวอมหวาน จนถึงหวาน คนเฒ่าคนแก่ในล้านนานิยมกินมะขามหวานกับข้าวเหนียวเป็นอาหาร ส่วนเนื้อมะขามเปรี้ยวจะแกะเมล็ดปั้นเป็นก้อน เก็บไว้ปรุงอาหาร อย่าง จอผักกาด แกงฮังเล หรือแม้แต่ส้มตำมะละกอแบบล้านนาเราก็ใช้รสเปรี้ยวจากมะขามเป็นหลัก เส้นใยหรือ “แส้” ที่เหลือจากการแกะเมล็ดเอาเนื้อมะขาม ชาวล้านนานิยมนำมาขัดผิว

ใยจากเนื้อผลมะขามมีรสเปรี้ยวของเนื้อมะขามติดมาด้วยจึงช่วยให้หลังอาบน้ำแล้วผิวไม่แห้งเหมือนใช้สบู่ที่มีฤทธิ์เป็นด่าง ผิวจะสะอาด นุ่ม ลื่น ชุ่มชื้นดี

อ่านว่า จอผักกาดใส่บ่าขามลำแต๊ลำว่า
แปลว่า จอผักกาด (ต้มผักกาดรสเปรี้ยว) ใส่มะขาม อร่อยมากๆ

เมล็ดนำไปคั่ว กินเป็นของกินเล่นหรืออาหารว่าง โดยคั่วให้เนื้อในเหลือง กะเทาะเปลือกแช่น้ำให้นิ่ม รับประทานแบบถั่วต้ม หรือนำมาเล่นหลากหลายวิธี เปลือกผลนำไปตำเก็บไว้ผสมยาสูบ หรือยาเส้น ไว้มวนบุหรี่ เพื่อช่วยลดความฉุนของยาสูบ เรียกว่า “ขี้โย” หรือ “บุหรี่ขี้โย” ว่ากันว่าเปลือกมะขามเปรี้ยวจะดีที่สุด เพราะเปลือกบาง ติดไฟง่าย

ประโยชน์ทางยาของมะขาม ทั้งส่วนยอด ดอก และเนื้อมะขาม ช่วยระบายจากสารกลุ่มแอนทราควิโนน ที่มีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้เช่นเดียวกับมะขามแขก จึงช่วยให้ระบายได้ โดยปริมาณแอนทราควิโนนไม่ขึ้นอยู่กับรสชาติของเนื้อมะขาม ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นมะขามหวานหรือมะขามเปรี้ยวก็ช่วยระบายได้เหมือนๆ กัน เมล็ดมะขามช่วยถ่ายพยาธิตัวกลม พยาธิเส้นด้าย โดยใช้เนื้อใน 20-25 เมล็ด ต้มกับน้ำใส่เกลือเล็กน้อย รับประทานทั้งเนื้อให้หมดในคราวเดียว

ใบมะขามที่โตเต็มที่ ไม่แก่ไม่อ่อนเกินไปใช้เป็นส่วนผสมในลูกประคบล้านนา โดยรสเปรี้ยวในใบมะขามจะช่วยเปิดรูขุมขนระหว่างการนวดด้วยลูกประคบ ช่วยให้ตัวยาในลูกประคบสมุนไพรซึมซาบเข้าไปได้ดีขึ้น ดั้งนั้น หากเตรียมใบมะขามสำหรับทำลูกประคบให้รูดเอาเฉพาะใบเท่านั้น ห้ามเด็ดมาทั้งแกนใบประกอบ เนื่องจากเส้นแกนของใบประกอบมีรสฝาด มีฤทธิ์สมาน จะทำให้รูขุมขนปิด และปิดกั้นการซึมซาบของสารสำคัญจากสมุนไพรในลูกประคบได้

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าการปลูกมะขามไว้ในบ้านจะช่วยเสริมบารมีให้มีคนเกรงขาม นับหน้าถือตา ปกป้องจากสิ่งชั่วร้ายได้ และยังใช้ทำนายสภาพอากาศในแต่ละปีได้จากการงอของฝักมะขาม โดยว่ากันว่าหากปีใดฝักมะขามงอมาก อากาศในปีนั้นจะหนาวมาก

ในทางตรงข้าม หากฝักมะขามไม่ค่อยขดหรืองอมากนัก ทำนายว่าฤดูหนาวปีนั้นจะไม่ค่อยหนาว หรือค่อนข้างอบอุ่น และไม้มะขามถือว่าเป็นไม้ที่มีเนื้อละเอียดและแกร่ง นิยมใช้ทำเขียง •