ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 มกราคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ |
เผยแพร่ |
“กบฏ 9 กันยา”
ระหว่างที่อดีตผู้ก่อการ “เมษาฮาวาย” ที่ถูกปลดจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญกำลังดิ้นรนเอาตัวรอดเพื่อการดำรงชีวิตโดยหวังลึกๆ ว่าจะได้กลับเข้ารับราชการใหม่นั้น ก็เกิดเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “กบฏ 9 กันยา” ขึ้น
เหตุการณ์เริ่มขึ้นเช้ามืดเวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2528 โดยกำลังทหารจากกรมอากาศโยธิน ได้เข้าจับกุมตัว พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศที่บ้านพักเป็นตัวประกัน และกำลังทหารอีกส่วนหนึ่งพร้อมรถถังของกรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ ได้เข้ายึดกองบัญชาการทหารสูงสุด สนามเสือป่า เพื่อใช้เป็นกองบัญชาการคณะปฏิวัติ พร้อมกับได้เข้ายึดทำเนียบรัฐบาล ลานพระบรมรูปทรงม้า สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท) ทั้งยังได้ตรึงกำลังบริเวณหน้ารัฐสภาและพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
คณะผู้ก่อการนำโดย พ.อ.มนูญ รูปขจร ร่วมกับน้องชาย น.ท.มนัส รูปขจร ซึ่งอ้างว่ามีนายทหารนอกราชการชั้นผู้ใหญ่เข้าร่วม อาทิ พล.อ.เสริม ณ นคร พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ รวมทั้ง พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นขณะที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อยู่ระหว่างการเดินทางไปปฏิบัติราชการที่ประเทศอินโดนีเซีย และผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก อยู่ระหว่างการเดินทางไปปฏิบัติราชการที่ประเทศสวีเดน
เวลาประมาณ 04.00 น. ฝ่ายรัฐบาลได้รับรายงานการก่อการปฏิวัติจึงแจ้งให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ทราบ ซึ่งมีคำสั่งให้ พล.อ.เทียนชัย สิริสัมพันธ์ รองผู้บัญชาการทหารบก จัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ที่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ บางเขน เพื่อเป็นฐานบัญชาการต้านปฏิวัติ
เวลาประมาณ 07.30 น. พล.อ.เทียนชัย สิริสัมพันธ์ ออกประกาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงในเครือข่ายกองทัพ ให้กำลังทหารที่เคลื่อนย้ายกำลังออกมากลับเข้าที่ตั้ง ในเวลาใกล้เคียงกันฝ่ายผู้ก่อการก็ออกประกาศคณะปฏิวัติชี้แจงเหตุผลการก่อการทางสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ โดยระบุชื่อ พล.อ.เสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ พร้อมออกคำสั่งคณะปฏิวัติตามมาอีกหลายฉบับ ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ยังประกาศย้ำคำสั่งเดิมเป็นระยะๆ
เวลาประมาณ 10.00 น. เกิดการยิงต่อสู้กันขึ้นที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และฝ่ายปฏิวัติได้เคลื่อนรถถังเข้าไปประชิดกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ เพื่อยึดสถานีวิทยุกองพลที่ 1 ซึ่งรัฐบาลใช้ออกแถลงการณ์ การปะทะเป็นไปอย่างรุนแรง มีการใช้ปืนใหญ่รถถังยิงทำลายเสาอากาศเครื่องส่ง และห้องส่งกระจายเสียงจนใช้การไม่ได้
เวลา 11.00 น. พล.อ.เทียนชัย สิริสัมพันธ์ กล่าวแถลงทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ย้ำให้ทหารที่เคลื่อนกำลังออกมากลับเข้าที่ตั้ง และได้ประกาศให้ปลัดกระทรวงต่างๆ มารายงานตัวที่กรมทหารราบที่ 11 ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างพร้อมเพรียง และในเวลาใกล้เคียงกันนี้กำลังทหารฝ่ายรัฐบาลได้เข้ายึดกรมประชาสัมพันธ์ และ อสมท กลับคืนมาได้ ทำให้คณะปฏิวัติไม่สามารถส่งกระจายเสียงได้อีก
เวลา 12.00 น. กำลังของคณะปฏิวัติเริ่มถอยร่นกลับเข้าไปในสนามเสือป่า
เวลา 12.40 น. ผู้นำแรงงานหลายคนได้ขึ้นปราศรัยโจมตีการบริหารงานของรัฐบาลที่ลานพระบรมรูปทรงม้า
เวลา 13.00 น. รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานคร ผ่านทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ขณะเดียวกันก็มอบหมายให้ พล.ท.พิจิตร กุลละวณิชย์ แม่ทัพภาคที่ 1 ทำการเจรจาให้ฝ่ายปฏิวัติยอมวางอาวุธ
เวลา 15.00 น. การเจรจาเป็นผลสำเร็จ รัฐบาลยินยอมให้ พ.อ.มนูญ รูปขจร เดินทางไปยังสิงคโปร์ ส่วน น.ท.มนัส รูปขจร หลบหนีไปได้ ภายหลังทั้งคู่ได้ลี้ภัยไปเยอรมนีตะวันตก กลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ชุมนุมอยู่ก็สลายตัวไป คณะปฏิวัติที่เหลือทยอยกันเข้ามารายงานตัวพร้อมกับปล่อยตัวประกัน พล.อ.อ.ประพันธ์ ธูปะเตมีย์
เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย เป็นทหาร 2 ราย ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ 2 ราย ประชาชน 1 ราย ได้รับบาดเจ็บประมาณ 60 ราย และมีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหา “กบฏ” 33 ราย ซึ่งภายหลังได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2531
ความพยายามในการยึดอำนาจครั้งนี้ คณะปฏิวัติได้ระบุชื่อ พล.อ.เสริม ณ นคร เป็นหัวหน้า รวมทั้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันน์ และ พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา แต่ทั้งหมดล้วนอ้างว่าถูกบีบบังคับให้เข้าร่วม นอกจากนั้น ยังปรากฏว่าไม่มีเพื่อนร่วมรุ่นทั้ง จปร.7 และคณะทหารหนุ่มเข้าร่วมด้วยแม้แต่คนเดียว กำลังที่ใช้ปฏิวัติจึงมีเพียงหน่วยทหารม้าที่ พ.อ.มนูญ รูปขจร เคยเป็นผู้บังคับบัญชา และทหารอากาศของน้องชาย รวมประมาณ 500 นายเท่านั้น
เพื่อน จปร.7 และคณะทหารหนุ่มคนอื่นๆ ซึ่งไม่ได้ให้ความร่วมมือกับ พ.อ.มนูญ รูปขจร ต่างกำลังรอความหวังในการกลับเข้ารับราชการอยู่
พล.ต.จำลอง ศรีเมือง
พ.อ.จำลอง ศรีเมือง 1 ในแกนนำคณะทหารหนุ่มตั้งแต่เริ่มรวมตัวเมื่อ พ.ศ.2516 ซึ่งขณะเกิดเหตุการณ์นี้ก็ยังคงดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็ไม่ได้เข้าร่วมด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากนั้น พล.อ.วีรยุทธ อินวะษา หนึ่งในคณะผู้ก่อการยังได้กล่าวและมีบันทึกใน “ขวาสุดขั้ว” ของ “วสุชน รักษ์ประชาไท” ว่า พ.อ.จำลอง ศรีเมือง ไม่ได้เข้าร่วมตั้งแต่ครั้งเหตุการณ์เมษาฮาวายแล้ว “เราจะเริ่มปฏิบัติการเมื่อตอนเมษาฯ เขาก็ถอยฉากออกไปเพราะเขาไม่เห็นด้วยในการทำวิธีอย่างนี้ เขาไม่ชอบวิธีการใช้ความรุนแรง จำลองเขาไม่ชอบ”
หลังเหตุการณ์ “กบฏ 9 กันยา” เดือนถัดมา พ.อ.จำลอง ศรีเมือง ก็ได้รับพระราชทานยศพลตรี เมื่อ 1 ตุลาคม พ.ศ.2528 และได้ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลว่าไม่เห็นด้วยกับกฎหมายทำแท้งของรัฐบาล แล้วเข้าลงแข่งขันรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ฟ้าเปิด
หลังถูกปลดจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญอันเป็นผลจากความล้มเหลวในการยึดอำนาจครั้งเหตุการณ์ “เมษาฮาวาย” และไม่ได้เข้าร่วมในเหตุการณ์ “กบฏ 9 กันยา” แล้ว ในที่สุดทั้งหมดก็ได้กลับเข้ารับราชการ เว้นบางคนที่ไม่มีความประสงค์
พ.อ.พัลลภ ปิ่นมณี บันทึกว่า
“ปี พ.ศ.2530 ผมได้รับคำสั่งให้กลับเข้ารับราชการทหาร ยศเดิม ตำแหน่งใหม่ให้ผมมาเป็นหัวหน้ากองประชาสัมพันธ์ที่ กอ.รมน. ผู้ที่ได้รับคำสั่งให้กลับเข้ามารับราชการทหารคราวนั้นมาเกือบหมด
ยกเว้นประจักษ์ (สว่างจิตร) กับบุญศักดิ์ (โพธิ์เจริญ) ที่ไม่ยอมกลับเข้ามารับราชการ”
ปิดตำนานคณะทหารหนุ่มอย่างถาวร
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022