‘รถยนต์พลังถ่านหุงข้าว’ : นวัตกรรมของคนไทยในช่วงสงคราม | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรปยืดเยื้อทำให้หลายประเทศประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง มีการดัดแปลงเครื่องยนต์รถยนต์และรถโดยสารมาใช้พลังงานจากถ่าน (coal gasification) แทนน้ำมัน มีการใช้รถยนต์พลังงานถ่านกันอย่างแพร่หลายในครั้งนั้น

สำหรับผลกระทบจากสงครามมหาเอเชียบูรพาทำให้ภาวะขาดแคลนสินค้าในสังคมไทยเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทยุทธปัจจัย เช่น วัสดุก่อสร้าง ยารักษาโรค น้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ เนื่องจากสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าจากต่างประเทศ ไทยไม่สามารถผลิตเองได้ ส่งผลให้วิถีชีวิตของคนไทยยากลำบากมากยิ่งขึ้น

ยิ่งในช่วงสงครามทอดระยะเวลายาวนาน น้ำมันเชื้อเพลิงยิ่งหายากและมีราคาแพงมาก จนประชาชนทั่วไปไม่สามารถหาน้ำมันมาเติมรถยนต์ส่วนตัวได้ รถยนต์มักถูกจอดทิ้งไว้ตามโรงรถ ท่ามกลางภาวะขัดสนเช่นนั้น เกิดความคิดริเริ่มสร้างรถยนต์เตาถ่านขึ้นเพื่อใช้ถ่านหุงข้าวเป็นพลังงานทดแทน

ในพระนครช่วงสงครามปรากฏรถเมล์สีน้ำเงินคาดเหลืองวิ่งรับส่งผู้คนตามท้องถนนโดยไม่ง้อน้ำมันที่หายากแสนเข็ญ

รถเมล์พลังถ่านหุงข้าววิ่งรับผู้โดยสารระหว่างสงครามในช่วงน้ำท่วมพระนครปลายปี 2485

 

ความทรงจำของคนร่วมสมัย

ใหญ่ นภายน นักดนตรีแห่งกรมโฆษณาการ บันทึกไว้ว่า รถยนต์พลังงานถ่านหุงข้าวนั้น ก่อนรถยนต์จะแล่นได้ เขาเห็นพนักงานขับรถจะจุดไฟเผาถ่านที่ทำเป็นท่อขนาดใหญ่ติดไว้ที่หลังรถก่อน และรอจนถ่านติดไฟดีเกิดความร้อนสักพักแล้วรถถึงจะวิ่งได้ (ใหญ่ นภายน, 2548, 42-43)

ส่วนมาซาโอะ เซโตะ เด็กชายชาวญี่ปุ่น ผู้มีพ่อเป็นทหารญี่ปุ่น เขาผู้อาศัยในพระนครในครั้งนั้น บันทึกว่า ช่วงสงครามเกิดสภาวะข้าวยากหมากแพง สินค้าที่เคยมีขายในท้องตลาดทั่วไปหายไปจากร้านค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันเชื้อเพลิง ประชาชนไม่สามารถหาซื้อน้ำมันได้ด้วยวิธีปกติ

บนท้องถนนครั้งนั้น เขาเห็นรถยนต์โดยสารที่วิ่งรับส่งประชาชนเปลี่ยนไปใช้พลังงานถ่านหุงข้าวแทน คนสมัยนั้นจึงคุ้นเคยกับภาพ “รถเมล์บรรทุกถ่านเต็มหลัง” เพื่อนำมาใช้เผาให้เกิดความร้อนเป็นพลังงานทดแทน (มาซาโอะ เซโตะ, เล่ม 1, 2548, 155)

รถโดยสารประจำทางในอังกฤษที่ใช้พลังงานถ่านช่วงสงครามโลก

รถยนต์พลังถ่านหุงข้าว

สาเหตุที่รถยนต์ช่วงสงครามใช้ถ่านหุงข้าวแทนน้ำมันเกิดจากน้ำมันเบนซินขาดแคลนส่งผลกระทบต่อการคมนาคม ทั้งทางรถยนต์ เรือยนต์ จึงมีผู้คนพยายามประดิษฐ์คิดค้นพลังงานขับเคลื่อนที่ใช้แทนน้ำมัน กลายเป็นรถยนต์พลังจากถ่านหุงข้าวที่เผาไหม้สันดาปจนสามารถจุดระเบิดในกระบอกสูบได้ อู่รถยนต์สมัยนั้นจึงออกแบบสร้างและผลิตเตาเผาถ่าน รับจ้างดัดแปลงระบบส่งเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ให้เป็นระบบใช้ถ่านหุงข้าว (สรศัลย์ แพ่งสภา, 2554, 108)

มนัส โอภากุล ชาวสุพรรณบุรีคนหนึ่ง เล่าว่า ในช่วงนั้น อู่รถยนต์ปรับรถโดยสารประจําทางมาใช้พลังงานจากเตาถ่านแทนการใช้น้ำมัน ด้วยการต่อถังด้วยสังกะสีเป็นรูปกลม เส้นผ่าศูนย์กลางราว 1 ฟุต สูง 1.5 เมตร ติดตั้งไว้ที่ตำแหน่งท้ายรถ มีเตาเผาถ่านวางอยู่ในก้นถัง มีพัดลมหมุนด้วยมือ เสียงดัง “ว้อๆ” เพื่อให้ควันไหลเข้าไปตามท่อเข้าเครื่องยนต์ซึ่งอยู่ด้านหน้าของรถ พอการสันดาปเต็มที่แล้วจึงจะสตาร์ตเครื่องยนต์ติด รถโดยสารชนิดนี้ที่สุพรรณบุรีมีเช่นกัน วิ่งจากตัวจังหวัดไปอําเภอบางปลาม้า หรือจากจังหวัดไปอำเภอโพธิ์พระยา ระยะทาง 90 ก.ม.อย่างสบาย

บริษัทสมัยนั้นที่สามารถปรับปรุงเครื่องยนต์ให้ใช้พลังงานจากถ่านหุงข้าวได้ เช่น บริษัท ไทยประดิษฐ์ จำกัด

ต่อมา มนัสนำรถโดยสารพลังงานถ่านเข้าไปวิ่งรับส่งผู้โดยสารในกรุงเทพฯ บ้าง แต่ดำเนินกิจการวิ่งรถประจำทางตามเส้นทางได้ไม่นานมีคนมาขอซื้อรถของเขาด้วยราคาดี เขาจึงขายรถยนต์ออกไป (silpa-mag.com/article 43824)

มนัสเล่าว่า เมื่อน้ำมันขาดแคลนไม่เพียงมีผลต่อรถยนต์เท่านั้น แต่ยังมีผลต่อการคมนาคมทางน้ำด้วย ช่วงนั้นมีการใช้เครื่องฉุดระหัดวิดน้ำเอามาดัดแปลงเป็นเครื่องเรือรับส่งคนโดยสารโดยใช้น้ำมันจากต้นเหียงแทนน้ำมันเบนซินด้วยเช่นกัน (silpa-mag.com/article 43824)

รถโดยสารพลังถ่านหุงข้าวในช่วงน้ำท่วมพระนครปลายปี 2485 และโฆษณาของบริษัท สุพรรณพานิช จำกัด

ในช่วงสงครามนั้น ในพระนครมี “รถเมล์เขียว” ของบริษัท สยามรถยนต์ จำกัด ของคุณวรกิจบรรหาร และคุณชลอ รังควร มีสัมปทานเดินรถในพระนคร และมีสำนักงานและอู่รถตั้งอยู่ที่โรงพิมพ์อักษรนิติ บางขุนพรหม

เส้นทางเดินรถเมล์เขียวนี้ วิ่งจากสถานีบางซื่อ-สะพานแดง-เกียกกาย-บางกระบือ-เทเวศร์-บางลำพู-สนามหลวง อีกสายหนึ่งเดินรถจากเทเวศร์-ยศเส-หัวลำโพง-สามย่าน-ศาลาแดง-สะพานดำ-ช่องนนทรี (สรศัลย์ แพ่งสภา, 2554, 107-109)

ไม่เพียงรถพลังถ่านหุงข้าวจะวิ่งรับส่งประชาชนในเมืองอย่างกว้างขวางเท่านั้น แต่ในยุคสมัยสร้างชาติด้วยการส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพพลานามัยดีด้วยการรู้จักการพักผ่อนตากอากาศนั้น ยังคงมีรถโดยสารด้วยพลังงานถ่านหุงข้าวนี้วิ่งรับส่งประชาชนจากพระนครไปท่องเที่ยวที่สถานตากอากาศบางปู สมุทรปราการด้วย

สำหรับเส้นทางรถโดยสารท่องเที่ยวนี้วิ่งไปตามถนนสายปากน้ำผ่านบางปิ้งไปบางปู วิ่งด้วยอัตราความเร็วถึง 60-70 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลยทีเดียว (สนิท เจริญรัฐ, 2507, 275 ; โกวิท ตั้งตรงจิตร, 2556, 148)

สำหรับรถพลังถ่านหุงข้าวหรือรถยนต์ไทยประดิษฐ์นั้น สรศัลย์บันทึกต่ออีกว่า รถยนต์ไทยประดิษฐ์ เป็นผลงานของคุณสุชาติ (เทียนไล้) กรรณสูต แห่งบริษัท สุพรรณพานิช จำกัด ที่สร้างเตาผลิตแก๊สเชื้อเพลิงจากถ่านสำหรับเครื่องยนต์รถยนต์และเครื่องยนต์เรือมากมาย รถเมล์เขียวของคุณวรกิจบรรหารก็ใช้เครื่องยนต์ของคุณเทียนไล้เช่นกัน สำหรับสัญลักษณ์บริษัท ไทยประดิษฐ์ เป็นรูปสิงโตสีเหลืองบนพื้นสีน้ำเงินเข้ม (สรศัลย์ แพ่งสภา, 2554, 107-109)

สำหรับประวัติของสุชาติ กรรณสูต (2444-2505) วิศวกรชาวไทยผู้ที่เป็นต้นคิดใช้ถ่านทำความร้อนเป็นพลังงานขับเคลื่อนให้แก่รถยนต์ เรือยนต์ในสังคมไทย ชื่อเดิมคือ เทียนไล้ เขาสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อราวปี 2475 แล้วกลับมาทำงานอยู่ที่บริษัท สุพรรณพานิช ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว (อนุสรณ์ในวันฌาปนกิจนายสุชาติ (เทียนไล้) และนางแมรี่ กรรณสูต, 2506)

รถยนต์ส่วนตัวที่ติดตั้งถังเผาถ่านและระบบการส่งแก๊สจากการเผาถ่านไปขับเคลื่อนรถยนต์