ธนาคารชาติกับสัญญาณเตือนภัย สู่การเมืองอันตราย

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

บทความพิเศษ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

https://www.facebook.com/sirote.klampaiboon

 

ธนาคารชาติกับสัญญาณเตือนภัย

สู่การเมืองอันตราย

 

ปี 2567 กำลังเริ่มต้นในทิศทางที่ต่างจากปี 2566 อย่างไม่มีทางเทียบกันได้เลย เพราะขณะที่คนไทยเริ่มต้นปี 2566 ด้วยความหวังว่าการเลือกตั้งจะเปลี่ยนประเทศให้ดีกว่าเดิม

เรากำลังเข้าสู่ปี 2567 โดยความหวังเรื่องปีนี้จะดีกว่าเดิมกลับมีสภาพไม่ต่างจากหิมะตกกลางทะเลทราย

ขณะที่ความต้องการเปลี่ยนรัฐบาลทำให้ประเทศไทยในปี 2566 เคลื่อนไหวโดยมีแกนกลางที่เรื่องการเมือง ความต้องการฟื้นเศรษฐกิจจะทำให้ประเทศไทยในปี 2567 มีอีกแกนที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการทำมาหากินของคนในประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่มีสัญญาณหรือวี่แววที่ดีขึ้นเลย

มองในแง่การเมือง ปี 2567 คือปีที่รัฐบาลไม่มีท่าทีว่าจะทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยเติบโตจากเดิมมากมายนัก คำถามประชามติรัฐธรรมนูญเป็นคำถามพ่วงแบบยุค คสช.ที่ไม่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ คดีการเมืองเรื่อง 112 ยังเดินหน้า

ส่วนการปฏิรูปกองทัพไม่มีวี่แววว่ารัฐบาลจะทำอะไรเลย

 

สําหรับแง่เศรษฐกิจ ปี 2567 ไม่มีแนวโน้มว่าคนไทยจะทำมาหากินดีขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ไม่มีสัญญาณว่าเศรษฐกิจพุ่งทะยานอย่างก้าวกระโดด ไม่มีโอกาสจะมีการลงทุนภาครัฐหรือการลงทุนจากต่างประเทศขนาดใหญ่ และไม่น่ามีใครเชื่อว่าตัวเองจะรวยขึ้น

สำหรับประชาชนที่เป็นคนธรรมดาหาเช้ากินค่ำจริงๆ ไม่ใช่ลูกหลานเศรษฐีหรือทายาทนักการเมือง ประเทศไทยปี 2567 คือประเทศที่มีความหวังทางเศรษฐกิจและการเมืองให้ประชาชนน้อยมาก หรือในอีกทางคือเป็นประเทศที่มีเงื่อนไขจะเกิดความขัดแย้งทางสังคมจากความสิ้นหวังได้ตลอดเวลา

ล่าสุด การที่สิบธนาคารพาณิชย์มีกำไรจนถึงไตรมาส 3 ของปี 2566 รวมทั้งสิ้นราว 2 แสนล้านบาทกลายเป็นประเด็นที่สังคมวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าทำไมธนาคารกำไรเพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่กำไรสุทธิ 163,745 ล้านบาท ท่ามกลางการทำมาหากินที่ฝืดเคืองของประชาชน

อันที่จริงการที่ธนาคารพาณิชย์ซึ่งในแง่เศรษฐศาสตร์การเมืองเรียกว่า “ทุนธนาคาร” จะมีกำไรแบบนี้ไม่แปลกอะไร

แต่ปัญหาคือกำไรของ “ทุนธนาคาร” ถูกเชื่อมโยงกับ “ส่วนต่างของดอกเบี้ย” จนนำไปสู่ความรู้สึกว่า “ทุนธนาคาร” แค่รับฝากเงินโดยจ่ายดอกเบี้ยถูกๆ แล้วไปปล่อยกู้ก็ได้กำไร

คำอธิบายของนักเศรษฐศาสตร์และนักการธนาคารคือ ต้นทุนของธนาคารพาณิชย์ไม่ได้มีแค่ดอกเบี้ยเงินฝากอย่างที่หลายคนเข้าใจ

หากยังมีเงินที่ต้องส่งกองทุนฟื้นฟูเพื่อใช้หนี้ตั้งแต่ยุควิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 รวมทั้งต้นทุนจากหนี้เสียและหนี้ไม่ก่อรายได้ แต่คำอธิบายนี้แทบไม่มีน้ำหนักในคนทั่วไปเลย

น่าแปลกที่ทั้งที่กลุ่มทุนร่ำรวยมหาศาลจากธุรกิจกึ่งผูกขาดที่ใช้อำนาจรัฐสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม แต่ปฏิกิริยาสังคมต่อทุนกลุ่มนี้กลับมีนิดเดียว

ปัญหาของทุนธนาคารคือการกดดอกเบี้ยเงินฝากให้ต่ำแต่ดอกเบี้ยเงินกู้สูงอย่างที่ทุกคนรู้กัน แต่ดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำสะท้อนว่าธนาคารไม่ได้แข่งขันเพื่อระดมเงินฝากเพื่อไปปล่อยกู้มากอย่างในอดีต

คำถามคืออะไรทำให้ธนาคารระมัดระวังการปล่อยกู้ทั้งที่เป็นแหล่งรายได้ธนาคารเอง

 

เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพยิ่งขึ้น ถ้าถือว่าธนาคารเป็นโรงงาน หนึ่งในสินค้าของโรงงานนี้คือสินเชื่อจากการปล่อยกู้ ส่วนดอกเบี้ยธนาคารก็เปรียบได้กับราคาของสินค้า ปริศนาที่ต้องตอบให้ได้คืออะไรทำให้ธนาคารไม่เร่งปล่อยกู้จนต้องเร่งเพิ่มดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อระดมเงินฝากไปค้ากำไร?

มองในแง่การเมือง ทุนธนาคารเหมือนคนที่ถูกจับแขวนกลางสี่แยกเพื่อให้สังคมระบายออกถึงความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจไทย

แต่ปัญหาคือทุนธนาคารเป็นต้นเหตุของความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ หรือทุนธนาคารถูกใช้เพื่อเบี่ยงประเด็นความล้มเหลวทางเศรษฐกิจโดยสร้างปีศาจขึ้นมากลบปัญหาจริง

ไม่ต้องเถียงกันแล้วว่าเศรษฐกิจไทยวันนี้ฝืดเคืองจนการทำมาหากินไม่คล่องตัวอย่างที่ควรเป็น

แต่คำว่าฝืดเคืองและหากินไม่คล่องตัวไม่มีมาตรฐานกลางเหมือนตาชั่งที่ไม่ถูกโกง

ยิ่งกว่านั้นปัญหานี้ยังรุนแรงในคนแต่ละกลุ่มไม่เท่ากันด้วย จนการโยนบาปไปที่ธนาคารอาจเป็นแค่วาทกรรมการเมือง

มองในแง่เศรษฐศาสตร์การเมืองและการพัฒนา ความฝืดเคืองเป็นปัญหาซึ่ง “สัมพัทธ์” กับสถานะทางเศรษฐกิจของคนแต่ละกลุ่มในสังคม คนในระบบเศรษฐกิจเดียวกันจึงมีปัญหาเรื่องการฝืดเคืองไม่เท่ากัน และที่สุดแล้วความฝืดเคืองจึง “สัมพัทธ์” กับสถานะทางชนชั้นของแต่ละคนในสังคม

มีคนพูดเยอะว่าเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้อง “ปรับโครงสร้าง” ซึ่งไม่เคยมีนิยามให้ตรงกันว่าหมายถึงอะไร เพราะโดยส่วนใหญ่จะพูดถึงการเพิ่ม “ศักยภาพของประเทศ”, เพิ่ม “ประสิทธิภาพ” และเพิ่ม “ความสามารถในการแข่งขัน”

แต่ไม่ค่อยมีใครพูดเรื่องลดความเหลื่อมล้ำหรือกระจายรายได้เลย

 

แม้ทุกนายกฯ และทุกรัฐบาลจะพูดถึงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน

แต่คนไทยทุกคนรู้ดีว่าสังคมไทยมีการเลื่อนสถานะทางชนชั้นน้อยมาก

คำพูดเรื่องลดเหลื่อมล้ำและความยากจนเป็นเพียงยาหอมที่แทบทุกคนใช้โจมตีรัฐบาลอื่นและหลอกประชาชนว่าไม่ได้ถูกรัฐบาลทิ้งเท่านั้นเอง

สำหรับรัฐบาลที่ต้องการแก้ปัญหาความฝืดเคืองประชาชนจริงๆ สิ่งที่ต้องทำทันทีคือหาทางทำให้เศรษฐกิจโดยรวมโต เพิ่มรายได้เพื่อลดความยากจนที่ทำให้ประเทศมีขนาดเศรษฐกิจเล็กเกินไป คนเกิดต่ำจนกำลังแรงงานทยอยลดลง และแรงงานมีฝีมือน้อยจนดึงดูดการลงทุนต่างประเทศไม่ได้เลย

มักมีการโฆษณาว่าเมื่อเป็นรัฐบาลแล้วจะทำให้เศรษฐกิจดี แต่ถ้าเศรษฐกิจดีหมายถึงการทำมาหากินคล่องจนไม่ฝืดเคือง ประเทศไทยวันนี้ห่างไกลจาก “เศรษฐกิจดี” โดยนโยบายรัฐบาลยังไม่มีตรงไหนที่จะทำให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นได้ว่าจะพาประเทศไปสู่สภาวะ “เศรษฐกิจดี” ได้เลย

รัฐบาลนี้พูดเยอะเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นโดยกู้เงินไปแจก แต่ถึงเศรษฐกิจประเทศจะฝืดเคืองจริงๆ วิธีกู้เงินแจกก็ยังไม่มีข้อมูลชี้ชัดว่ากระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก ซ้ำอดีตปลัดคลังและหลายหน่วยงานยังประเมินว่าจะทำให้เศรษฐกิจโตขึ้นแค่ 0.6% ซึ่งแทบไม่มีผลอะไรเลย

ต่อให้รัฐบาลทำนโยบายนี้สำเร็จ ผลลัพธ์ก็ไม่ต่างจากยาแก้ปวดที่ไม่ได้รักษาโรคอย่างแท้จริง ส่วนนโยบายซอฟต์เพาเวอร์, แลนด์บริดจ์ และการชวนบริษัทยักษ์ใหญ่มาลงทุนกิจการต่างๆ ก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผลที่จับต้องได้ทางเศรษฐกิจ ไม่ต้องพูดถึงโอกาสที่จะไม่เห็นผลลัพธ์อะไรเลย

 

สิ่งที่รัฐบาลนี้ต้องเร่งทำคือกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นให้เห็นผลพร้อมการ “แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ระยะยาว แต่สิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำกลับเป็นการเร่งทำภารกิจที่จำเป็นที่สุดทั้ง 2 ข้อ จนไม่มีวี่แววว่าจะยุติความฝืดเคืองและส่งเสริมให้เกิดการทำมาหากินอย่างกว้างขวางได้เลย

ด้วยความสิ้นหวังทางเศรษฐกิจที่กลายเป็นรากฐานของความคับแค้นจนระเบิดเป็นความไม่พอใจ “ทุนธนาคาร” ประเทศนี้มีความเสี่ยงทางการเมืองที่จะเกิดความไม่พอใจในลักษณะนี้อีกมาก และวิธีที่คุณเศรษฐาเรียกคุยผู้ว่าการธนาคารชาติหรือโพสต์โซเชียลไม่ใช่ทางออกจากปัญหานี้อย่างแน่นอน

ห้าเดือนอาจไม่พอที่รัฐบาลจะฟื้นเศรษฐกิจหรือแก้ปัญหาโครงสร้างระยะยาว แต่ห้าเดือนเป็นเวลาที่เกินพอแน่ๆ กับการมียุทธศาสตร์ที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ, ความไม่เจริญเติบโต, ความถดถอย และความไม่ดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศที่เกิดขึ้นในยุคคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา และยุคอื่นก่อนนั้นมานาน

รัฐบาลนี้เข้าสู่อำนาจโดยการสนับสนุนของ ส.ว.และมีปัญหา “ขาดดุลด้านความชอบธรรม” (Legitimacy Deficit)

ผลที่ตามมาคือรัฐบาลพูดอะไรก็จะมีคนไม่เชื่อเยอะไปหมด

การมียุทธศาสตร์ที่ชัดจะช่วยชดเชยปัญหาของรัฐบาลข้อนี้ ไม่ใช่แค่ปัญหาเศรษฐกิจไทย