‘บิ๊กจวบ’ ฟาสต์แทร็ก ผบ.ตร.คนที่ 15 ทะลวงอุปสรรค ‘ข้อกำหนด ก.ตร.’ จับตา พล.ต.อ.เอก-คกก.พิทักษ์คุณธรรม

พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข

เค้าลางค่อยๆ ปรากฏชัดเจนขึ้น สัญญาณผลักดัน พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผช.ผบ.ตร. นรต.รุ่น 39 ขึ้นรอง ผบ.ตร.เพื่อเป็นแคนดิเดตชิงเก้าอี้ “พิทักษ์ 1” คนที่ 15

หลังสบช่อง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ขอโอนรับ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. นรต.รุ่น 40 ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

เพราะฉะนั้น เมื่อสัญญาณมาแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องทะลวงทุกอุปสรรค เพื่อให้เส้นทางนี้ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้

 

แกะจากคำพูด พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ผู้ทรงคุณวุฒิ โพสต์เฟซบุ๊กของตัวเองระบุว่า การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจประจำปี 2567 ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 และกฎหมายลำดับรองคือ “กฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ….”

ขณะนี้ “กฎ ก.ตร.” ดังกล่าว ก.ตร.มีกำหนดจะต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมกราคมนี้ แล้วจะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตาม พ.ร.บ.ตำรวจใหม่ มาตรา 88

จึงคาดว่า “กฎ ก.ตร.” จะเริ่มใช้ในการแต่งตั้งวาระประจำปี 2567 นั่นคือ ประมาณเดือนสิงหาคม

ดังนั้น ถ้าไปตามไทม์ไลน์ คะเนได้ว่า ไม่สามารถแต่งตั้งผู้ช่วย ผบ.ตร. ขึ้นเป็นรอง ผบ.ตร. ได้ทันที ต้องรอไปอีก 6 เดือน แต่งตั้งวาระประจำปี 2567

แต่เมื่อสัญญาณที่ส่งมาชัดเจน จะให้ พล.ต.ท.ประจวบ ขึ้นแท่น ผบ.ตร. ฤดูกาลแต่งตั้งสิงหาคมนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องออก “ข้อกำหนด ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจใหม่” เพื่อใช้แต่งตั้งได้เดือนเมษายนนี้เลย

 

จํากันได้ไหม “ข้อกำหนด ก.ตร.” เดิม ที่ประกาศใช้เมื่อ 17 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ใช้เป็นการเฉพาะกิจไปพลางก่อน ระหว่าง “กฎ ก.ตร.” ตามมาตรา 88 ยังทำไม่เสร็จนั้น หลังจากใช้แต่งตั้งโยกย้ายประจำปี 2566 “ข้อกำหนด ก.ตร.” นี้ก็ได้หมดอายุ

ดังนั้น เมื่อมีตำแหน่งรอง ผบ.ตร.ว่าง 1, ผู้ช่วย ผบ.ตร.ว่างอีก 1 จึงมีความเป็นไปได้ ด้วยการคลอด “ข้อกำหนด ก.ตร.” ให้ครอบคลุมไปพร้อมการแต่งตั้ง “นายพลแก้มลิง” สำหรับผู้ที่จะเกษียณอายุราชการเป็นการเฉพาะ

ตาม พ.ร.บ.ตำรวจใหม่ มาตรา 82 วรรคห้า เปิดช่องให้ดำเนินการแต่งตั้ง “นายพลแก้มลิง” ประกอบด้วย ข้าราชการตำรวจที่จะครบเกษียณอายุราชการ (ที่ปรึกษาพิเศษ ตร. (พล.ต.อ.) ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ตร. (พล.ต.ท.) ผู้ทรงคุณวุฒิ ตร. (พล.ต.ต.)) ที่จะดำเนินการในช่วงกุมภาพันธ์-มีนาคม ของทุกปี

แต่ถ้ากาง พ.ร.บ.ตำรวจใหม่แล้ว จะเห็นว่า การออก “ข้อกำหนด ก.ตร.” ที่จะออกใช้กับคนบางคนนี้ ไม่ได้ราบรื่นโรยด้วยกลีบกุหลาบเลย

แต่กลับตรงข้ามต้องฝ่าด่านอรหันต์ คือ คณะอนุกรรมการ ก.ตร.เกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบ ที่ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธาน น่าจะหืดขึ้นคอ เพราะต้องพิจารณาข้อกำหนดนี้

แม้ ก.ตร.มีอำนาจออกข้อกำหนดได้แต่ต้องพิจารณาว่าชอบด้วยกฎหมายเป็นธรรมตามมาตรา 60(3) หรือไม่ มิฉะนั้นแล้ว ก.พ.ค.ตร.อาจวินิจฉัยแก้ไขยกเลิกได้

ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดต้องจบก่อนแล้วถึงจะเข้าที่ประชุม ก.ตร.ให้มีมติ จากนั้นเสนอนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน ก.ตร. ลงนามประกาศใช้

 

จบกระบวนการขั้นตอนแล้ว จากนั้นที่ประชุม ก.ตร. ตั้ง “บิ๊กจวบ” ที่จะเกษียณอายุราชการปี 2568 ขึ้นรอง ผบ.ตร.ในวาระแต่งตั้งเดือนเมษายนนี้ เพื่อชิงเก้าอี้ ผบ.ตร.ในเดือนสิงหาคมนี้ได้

ขณะเดียวกัน แต่งตั้ง “บิ๊กเสือ” พล.ต.ท.ธนพล ศรีโสภา หัวหน้าจเรตำรวจ นรต.รุ่น 44 และ พล.ต.ท.ธิติ “บิ๊กเจ้า” แสงสว่าง ผบช.น. นรต.40 ขยับเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร.

ถึงตอนนั้น แม้ “บิ๊กจวบ” จะเป็นรอง ผบ.ตร. อาวุโสรั้งท้ายสุด แต่คุณสมบัติครบตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 แต่งตั้ง ผบ.ตร. ไม่จำเป็นต้องยึดอาวุโสเป็นหลัก ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีจะหยิบชื่อรอง ผบ.ตร. หรือจเรตำรวจแห่งชาติ เสนอให้ที่ประชุม ก.ตร.พิจารณาลงมติ

แคนดิเดต ผบ.ตร.คนที่ 15 จะประกอบด้วย “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. นรต.47 เกษียณอายุราชการปี 2574

“บิ๊กต่าย” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. นรต.41 คนสนิท “บิ๊กปั๊ด” พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.คนที่ 12 เกษียณปี 2569

พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. นรต.42 สายตรง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เกษียณปี 2569

และมี พล.ต.ท.ประจวบ ที่จะเกษียณปี 2568

 

ถ้าพิจารณาความโดดเด่นของ “บิ๊กจวบ” ถือว่ามีมากที่สุดในฐานะผู้ที่ได้รับความไว้วางใจของคนที่ชั้น 14 ด้วยความเป็นคนเหนือด้วยกัน เกิดเมืองแพร่ เติบโตจากนายตำรวจภาคเหนือจนถึงระดับ ผบช.ภ.5 แล้วขึ้นผู้ช่วย ผบ.ตร. มีสายสัมพันธ์แน่นปึ้ก “ผู้ป่วย” บิ๊กเนม

สปอตไลต์ส่องเมื่อครั้งได้รับความไว้วางใจให้ดูแลแผนอารักขาความปลอดภัยและแผนจราจรภารกิจรับตัวนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 เดินทางกลับจากต่างประเทศมารับโทษที่เมืองไทยตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ปรากฏว่า “มิชชั่นคอมพลีต”

สำหรับโปรไฟล์ พล.ต.ท.ประจวบ เกิด 13 พฤศจิกายน ปัจจุบันอายุ 59 เป็น นรต.39 จบรัฐศาสตรมหาบัณฑิต รุ่น 2 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผ่านหลักสูตร ผกก. รุ่นที่ 38, บตส. รุ่น 31, นยปส. รุ่นที่ 8, วปอ.รุ่นที่ 61, หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป.) รุ่น 10 และหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง รุ่นที่ 13

ตลอดชีวิตราชการพูดได้ว่าประจำโรงพัก ตั้งแต่ รอง สว.-รอง ผกก.รับราชการอยู่เชียงใหม่ เมื่อ 16 ธันวาคม 2545-6 กันยายน 2552 เป็น ผกก.สภ.ต.ภูพิงคราชนิเวศน์ เชียงใหม่, ผกก.สภ.เมืองลำพูน และ ผกก.สภ.เมืองเชียงใหม่ ตามลำดับ

ต่อมา 7 กันยาน 2552-30 กันยายน 2555 รอง ผบก.ภ.จว.ลำพูน, รอง ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ จนวันที่ 1 ตุลาคม 2555 นั่ง ผบก.สส.ภ.5 3 ปีต่อมาเป็น ผบก.ภ.จว.พะเยา

ถัดมา 1 ปี อัพเก้าอี้ รอง ผบช.ภ.6 แล้ว 1 ตุลาคม 2560 สไลด์ รอง ผบช.ภ.5 จากนั้นอีก 2 ปี เลื่อนนั่ง ผบช.ภ.5 และปี 2564 ขึ้น ผช.ผบ.ตร.

ผ่านงานจับกุมยาเสพติด ยึดทรัพย์นับหมื่นล้าน เน้นงานมีส่วนร่วมประชาชน ป้องกันมิให้เกิดอาชญากรรมทุกคดีไม่ว่าคดีเล็กคดีน้อยต้องจับให้ได้ ทำให้ประชาชนอยู่อย่างสงบสุข ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

สิ่งที่ “พล.ต.ท.ประจวบ” ย้ำเตือนผู้ใต้บังคับบัญชา คือ ถ้าภาพรวมถูกต้อง สวยงามเหมาะควร ทุกคนทุกหมู่เหล่า จะมีความสุขกาย สบายใจอย่างถาวรในระยะยาว