ตะลึง ธงแดง ปักหน้า สุจิตต์ วงษ์เทศ มิตรรัก นักศึกษา

บทความพิเศษ

 

ตะลึง ธงแดง

ปักหน้า สุจิตต์ วงษ์เทศ

มิตรรัก นักศึกษา

 

ความรู้สึกต่อ “คอมมิวนิสต์” ไม่ว่าที่เรียกว่าคอมมิวนิสต์ “จีน” ไม่ว่าที่เรียกว่าคอมมิวนิสต์ “ไทย” สะท้อนอะไร

สะท้อน “อิทธิพล” ของ “โปรประกันดา”

กล่าวสำหรับประเทศไทยย่อมเป็นอิทธิพลของ “สหรัฐ” สำแดงผ่าน “สำนักข่าวสารอเมริกัน”

หรือที่รับรู้อย่างสั้นๆ ว่า “ยูซิส”

นี่คือการปักธงในทาง “ความคิด” ต่อต้าน “คอมมิวนิสต์” อย่างประสานกับยุทธศาสตร์ “ปิดล้อมจีน”

อันก่อรูปตั้งแต่สถานการณ์หลังเดือนตุลาคม 2492

นั่นก็ตรงกับยุครัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ต่อเนื่องมายังรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต่อเนื่องมายังรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร

สิ่งที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ สำแดงออกคืออารมณ์ “ตกค้าง”

เป็นความตกค้างตั้งแต่ฟังบทเพลงของ “ลิเก” ที่ขับขานกันในแต่ละหมู่บ้านของปราจีนบุรีกระทั่งมาถึงยุคที่เข้าทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์

อารมณ์ตกค้างทั้งหมดนี้สมควรจดจารบันทึก

 

อ่าน นิวยอร์ก ไทม์ส

อ่าน สังคมอเมริกา

กูซื้อหนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส ราคาฉบับละ 15 เซ็นต์มาฉบับหนึ่ง หน้าแรกเป็นรายงานข่าวและพาดหัวเกี่ยวกับประธานาธิบดีนิกสัน

เส้นล้อมกรอบหน้าแรกในเนื้อข่าวนี้ให้เปิดดูรายละเอียดหน้าใน

ไทม์สแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกและส่วนหลัง จำนวนหน้าแต่ละวันไม่แน่นอน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับจำนวนแจ้งความที่เข้าละกระมัง เพราะอเมริกาเป็นราชาแห่งการโฆษณา

และไทม์สก็เป็นที่รวมแห่งการโฆษณาสินค้าเช่นเดียวกัน

สำนักงานใหญ่ของไทม์สอยู่กลางกรุงนิวยอร์กย่านไทม์สแควร์ นอกจากนิวยอร์กจะเป็นมหานครศูนย์กลางธุรกิจการค้าของโลกแล้ว นิวยอร์กยังเป็นมหานครแห่งหนึ่งของอเมริกาที่เป็นศูนย์บัญชาการสงครามเวียดนามว่าควรจะเป็นอย่างไรเหมือนกัน

โฆษณาเป็นหัวใจของการทำหนังสือพิมพ์ นี่คือความรู้ที่ได้จากการเป็นนักหนังสือพิมพ์มาระยะหนึ่งในระหว่างที่อยู่ในกรุงเทพฯ ก่อนจะเดินทางมาอเมริกา

แต่ไทม์สเกือบจะเรียกได้ว่าโฆษณาเป็นเลือดเป็นเนื้อด้วย ไม่ได้เป็นหัวใจอย่างเดียว

 

กระจ่าง สว่างใส

เบื้องหน้า การอ่าน

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวและบทวิพากษ์วิจารณ์ในหน้าบรรณาธิการของฉบับธรรมดาและส่วนวิจารณ์ข่าวการเมืองทั่วโลก ฉบับวันอาทิตย์ที่ทันเหตุการณ์และดักคอรัฐบาลของโลกนี้

ถูกทำให้ข้อบาดหมางใจระหว่างคนอ่านหมดไป

แม้จะไม่ใช่หนังสือพิมพ์ที่ดีที่สุดในโลกแต่ไทม์สก็เป็นหนังสือที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งของอเมริกา

วันปกติจะหนาประมาณ 80 หน้า

ส่วนฉบับวันอาทิตย์แบ่งออกเป็นประมาณ 10 ส่วน และไม่รู้ว่าหนากี่ร้อยหน้า รู้แต่ว่าวันอาทิตย์กูจะต้องออกมาซื้อไทม์สแล้ว “แบก” กลับไปนอนอ่านที่บ้านได้ 1 เดือน (ถ้าหากจะอ่านทุกตัวทั้งหมด)

สถิติจากเอกสารที่มีอยู่แสดงให้เห็นว่าไทม์สไม่ได้เป็นหนังสือพิมพ์ที่ขายมากที่สุดในอเมริกา เพราะวันปกติขายได้ประมาณ 8 แสนกว่าฉบับ

ส่วนฉบับวันอาทิตย์อันหนักหน่วงขายได้ประมาณล้านกว่าฉบับเท่านั้น

 

หนีบ นิวยอร์ก ไทม์ส

เดินไป ใน คอร์แนล

สุจิตต์ วงษ์เทศ หนีบ เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส เดินจนถึงกลางย่านคอลเจนทาวน์ แล้วจึงเลี้ยวเข้าถนนตรงไปกลางมหาวิทยาลัยคอร์แนล

นักเรียนมหาวิทยาลัยเดินกันขวักไขว่

ไม่เหมือนธรรมศาสตร์ ไม่เหมือนจุฬาฯ ไม่เหมือนเกษตรฯ และไม่เหมือนศิลปากร

เพราะที่นี่ไม่ใช่กรุงเทพฯ

ประมาณ 3 เดือนที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ เดินเหินอยู่ในมหาวิทยาลัยคอร์แนลทำให้เกิดความเคยชินแม้จะไม่ใช่นักศึกษา แต่ก็หามีใครรู้ไม่ว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน

สิ่งที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ประสบในระหว่างการเดินสร้างความประหลาดใจอย่างต่อเนื่อง นิสิตนักศึกษาที่นี่สับปะรังเคในเรื่องเครื่องแต่งกายเสียยิ่งกว่านักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรในกรุงเทพฯ เสียอีก

แต่ความน่าตื่นตาตื่นใจกลับเป็น

 

ปัก ธง ค้อนเคียว

ใน มหาวิทยาลัย

อาจารย์ผู้ปกครองของมหาวิทยาลัยคอร์แนลเขาไปทางไหนกันหมด เพราะไอ้จอร์จ-ไอ้นักศึกษาปริญญาเอกทางรัฐศาสตร์คนนั้นกำลังเอาธงแดงค้อนกับเคียวของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ปักอยู่กลางสนามหน้าร้านขายหนังสือในมหาวิทยาลัย

ไอ้อีกคน ผมยาวทางโน้นกำลังตั้งโต๊ะขายสมุดปกแดงคาถาของนายเมาเซตุงในราคาเล่มละ 50 เซ็นต์

ทำไมอาจารย์ผู้ปกครองที่นี่เขาไม่ทำงาน

และทำไมอาจารย์ผู้ปกครองของ (มหาวิทยาลัย) กรุงเทพฯ จึงต้องทำงานหนักมาก

ทำไมกรุงเทพฯ จึงไม่เหมือนอเมริกา ทำไมอเมริกากับเมืองไทยจึงไม่เหมือนกัน

ทำไม ทำไมบางสิ่งบางอย่างเราจึงไม่เหมือนกัน ในเมื่อประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย อเมริกาก็ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

คนอเมริกันมีมากในเมืองไทย และคนไทยมีมากในอเมริกา

ใครๆ เขาก็ว่าไทยกับอเมริกาเป็นพี่น้องกัน แต่ทำไมจึงไม่เหมือนกัน หรือว่าพี่น้องกันไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน

จริงอยู่ “ตะกั่ว” เคยบอกว่า เมืองไทยเป็นขี้ข้าของอเมริกา

กูไม่เชื่อ กูไม่เชื่อ

แต่เขาบอกว่า จอห์นสันเคยไปเมืองไทยเฉยๆ โดยไม่ต้องบอกล่วงหน้าเหมือนเดินทางไปอลาสกา

กูไม่รู้

แต่สงสัยว่าในเมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วทำไมอเมริกากับเมืองไทยจึงไม่เหมือนกัน มนุษย์เราจะมาหาความแตกต่างกันไปทำไมในเมื่อทุกคนก็เป็นมนุษยชาติของโลกของพิภพนี้

แล้วทำไมจะต้องมีอเมริกา มีไทย และทำไมเราจะต้องมาย้ำความเป็นเอกราชซึ่งไม่มีในโลก

เราจะโกหกตัวเองกันไปทำไม

กูเป็นคนโง่ก็ยังบอกว่าเป็นคนโง่ กูเกลียดคอมมิวนิสต์ก็บอกว่าเกลียดคอมมิวนิสต์ กูกลัวคอมมิวนิสต์ก็บอกว่ากลัวคอมมิวนิสต์

แล้วทำไมเราจึงไม่กล้ายอมรับความจริงกันล่ะว่า เราเป็นขี้ข้าอเมริกา

 

คำถาม กังวานก้อง

ถาม ความเป็นไท

เป็นความตื่นตาตื่นใจอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเมื่อเห็นการนำธงแดง ประดับดาว ปักลงหน้าร้านหนังสือในมหาวิทยาลัย

ไม่ว่าจะเมื่อเกิดความสงสัยในสายสัมพันธ์ ไทย-สหรัฐ

ถามว่าเป็นความสัมพันธ์อันเสมอภาคเยี่ยงประเทศที่ทัดเทียมกันแห่งระบอบประชาธิปไตยหรือไม่

แม้จะภูมิใจอย่างยิ่งในความเป็นไทย

กระนั้น สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็มากด้วยคำถามตามมาเป็นชุดๆ ยิ่งเมื่อได้พบและรับฟังความเห็นของ เชิง แก่นแก้ว ยิ่งมากด้วยความสงสัย

สงสัยสหรัฐ สงสัยไทย สงสัยคอมมิวนิสต์

เชิง แก่นแก้ว เขาเป็นใคร มีความสำคัญอย่างไรแต่ละคำพูดจึงเย้าเร้าใจ สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นอย่างสูง

คำตอบมิได้อยู่ในสายลม หากแต่อยู่กับความเป็นจริง