เวนิสตะวันตก เมืองตะวันออกในโลกตะวันตก (2) | ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร

การสัญจรทางน้ำในเวนิสค่อนข้างมีค่าใช้จ่ายสูง เช่น หากไม่นับการนั่งเรือกอนโดล่าเที่ยวชมเมืองที่ราคาค่อนข้างแพงแล้ว การใช้เรือเมล์ประจำทางก็ยังค่อนข้างฟุ่มเฟือย เพราะค่าโดยสารแต่ละเที่ยวแม้เพียงเพื่อสัญจรในเกาะหลักของเวนิส ก็ค่อนข้างแพง ผู้คนส่วนใหญ่จึงเลือกเดินเท้าเป็นหลัก

นั่นทำให้แต่ละวันในเวนิสของผม ผมต้องได้เดินวันละไม่ต่ำกว่า 10 กิโลเมตร

ถึงอย่างนั้น การเดินในเวนิสก็ช่างเพลิดเพลิน ฉากทัศน์ของเมืองเวนิสนั้นน่าอภิรมย์ไปเสียทุกตรอกซอกซอย ทุกสายน้ำคูคลอง ทุกสะพานและร้านรวง

จนทำให้บางมุมถนน บางอาคารสถานที่ บางสะพาน บางเส้นทางเดิน บางจัตุรัสใหญ่และเล็ก บางย่านพักอาศัยต่างๆ ที่ผู้คนเดินผ่าน กลายเป็นสถานที่ที่ถูกเยี่ยมชม อันเนื่องมาจากเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสถานที่เหล่านั้น

เสน่ห์เฉพาะตัวที่เต็มไปด้วยเหลี่ยมมุมที่น่าชมเหล่านี้ ทำให้ผมอดสงสัยเจ้าถิ่นอย่าง อ.เอโด (เอโดอาร์โด ซิอานี) อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยกา’ฟอสการี ซึ่งเพิ่งอยู่เวนิสมาได้ 3 ปีไม่ได้ว่า “อาจารย์อยู่เวนิสมานานเท่าไหร่จึงจะเลิกยกกล้องขึ้นถ่ายรูปตามทางเดินที่เดินผ่านไปมาแทบทุกวัน”

อาจารย์ตอบว่า “ร่วม 1 ปีเต็มกว่าจะเลิกถ่ายรูปเส้นทางที่เดินผ่านเป็นประจำ”

 

ป้ายบอกทางไปย่านการค้าริอัลโตและจัตุรัสนักบุญมาร์ก

อย่างที่กล่าวแล้วว่า เวนิสทั้งเมืองเป็นเมืองมรดกโลก วิถีชีวิตของชาวเวนิสปัจจุบันส่วนหนึ่งจึงอาศัยอยู่บนร่างของเมืองโบราณที่มีชีวิตทับถมกันมาตั้งแต่ ค.ศ.600 ซึ่งหากนับถึงปัจจุบันก็เกือบ 1,500 ปี

หรือหากนับแค่ย้อนกลับไปยังยุคที่มีส่วนทำให้บ้านเมืองเวนิสเปลี่ยนไปไม่น้อย ก็ในสมัยเรเนอซองส์ ราว ค.ศ.1500 ซึ่งเทียบศักราชได้กับราวสมัยต้นอยุธยาของสยาม หากเมืองอยุธยายังอยู่แบบเดิมจนถึงปัจจุบัน เราก็จะได้เดินและหลับนอนในที่พักอาศัยในอยุธยาแบบเดียวกับที่ได้เดินในเวนิสปัจจุบัน

นอกจากผืนน้ำที่สลับกับพื้นที่บนบกแล้ว ประสบการณ์พื้นที่ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ความทับถมของการอยู่อาศัยยาวนานของคนหลายรุ่นต่อเนื่องกันมาร่วม 1,500 ปี ทำให้เวนิสมีพื้นที่ทั้งแคบและกว้างสลับกันไปตลอด

เวนิสเต็มไปด้วยตรอกซอกซอยที่ดึงดูดให้เดินเข้าไปสอดส่องจนคนต่างถิ่นอาจจะหลงทางหากไม่ใช้แผนที่นำทาง

สิ่งหนึ่งที่ท้าทายสำหรับการเดินทางในเวนิสก็คือ การเดินตามป้ายบอกทางสีเหลืองและป้ายสีขาวที่บอกชื่อถนน จัตุรัสสะพาน ลำคลองสีขาว

แม้ว่าตัวอักษรบนป้ายเหล่านี้จะใหญ่ทีเดียวล่ะ และหากเป็นป้ายนำทางไปสถานที่สำคัญก็จะมีลูกศรนำทางไปเรื่อยๆ จากมุมตึกหนึ่งไปยังอีกมุมตึกจนถึงที่หมาย แต่ป้ายบอกทางและชื่อสถานที่ของเวนิสก็มักติดอยู่บนตัวอาคารสูงกว่าระดับสายตาถึง 2-3 เท่า ทำให้ต้องเงยหน้ามองหา

แถมเวนิสยังนิยมใช้ภาษาถิ่นเวนิสเองที่แตกต่างจากภาษาอิตาเลียนทั่วไปในการระบุชื่อถนนหนทาง เช่น ใช้คำว่า calle (กาเล่) หมายถึงถนน แทนที่จะใช้ via แบบเมืองอื่นในอิตาลี

หรือคำว่า campo (คัมโปะ) หมายถึงจัตุรัสหรือสนาม แทนที่จะใช้ piazza (ยกเว้นจัตุรัสใหญ่แห่งเดียวคือ Piazza San Marco หรือจัตุรัสนักบุญมาร์ก)

หรือคำที่มีความหมายเฉพาะถิ่นมากคือ fondamenta (ฟอนดาเมนต้า) หมายถึงทางเดินเลียบคลอง sotoportego (ซอตโตปอเตโก) ทางเดินลอดใต้อาคาร หรือ rio ter? (ริโอเตร่า) ถนนที่ถมหรือคร่อมคลอง แล้วจึงต่อด้วยชื่อเฉพาะของถนนหนทางเหล่านั้น

คำระบุสถานที่เฉพาะถิ่นเหล่านี้บอกลักษณะเฉพาะของพื้นที่ในเวนิสเอง พร้อมๆ กับบอกประสบการณ์เชิงพื้นที่ของการสัญจรที่นี่ได้ดี นอกจากนั้นยังสื่อถึงการมีชีวิตกึ่งบกกึ่งน้ำได้อีกด้วย

เช่น ซอตโตปอเตโก เพราะที่นี่มีทางเดินลอดอาคารเป็นจำนวนมาก เนื่องจากพื้นที่ของเมืองจำกัดและต้องใช้ร่วมกันจนอาจต้องตัดทางเดินผ่าน หรือถนนเฉพาะประเภทอย่างฟอนดาเมนต้า เพราะที่นี่มีทางเดินเลียบคลองมากมาย

แต่ก็มีทางเดินมากมายที่ไม่ได้เลียบคลอง หรือริโอเตร่า บอกความเป็นมาว่า ถนนนั้นๆ เดิมเป็นคลองแล้วถูกถมหรือยังคงมีคลองไหลผ่านอยู่ใต้ถนน อาจเพราะความต้องการในการใช้ทางบกมีสูงขึ้น ทางน้ำเดิมจึงถูกถมหรือปิดเป็นถนนแทน

 

ความสัมพันธ์ระหว่างน้ำกับผู้คนที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ตามคัมโปะหรือจัตุรัสสาธารณะ ไม่ว่าจะเล็ก กลาง หรือใหญ่ มักจะมีบ่อน้ำ

บางคนบอกว่าบ่อน้ำเหล่านี้เคยมีจำนวนหลายพันบ่อ ปัจจุบันเหลือ 600 บ่อ แต่ไม่ได้ใช้งานแล้วตั้งแต่มีน้ำประปาส่งทางท่อ

ตั้งแต่ปลาย ค.ศ.ที่ 19 บ่อน้ำเหล่านี้ถูกสร้างมาเก่าแก่หลายร้อยปีโดยการดำริของรัฐบาลของเวนิสเองในแต่ละยุค เป็นบ่อน้ำสาธารณะให้ประชาชนมาตักไปใช้

ดังที่รู้กันว่า เวนิสสร้างขึ้นมาบนเลนตมในทะเล น้ำใต้ดินจึงเค็ม วิธีที่จะทำให้มีน้ำบริโภค เมืองเวนิสจึงก่อสร้างบ่อน้ำสะอาดไว้บริการ ด้วยการใช้ดินเหนียวกันน้ำทำเป็นแอ่งขนาดพอสมควรอยู่ใต้ดิน แล้วก่ออิฐเป็นปากบ่อขึ้นมาเหนือดิน เมื่อน้ำฝนตกลงมาก็จะมีรูให้น้ำไหลผ่านทรายกรองน้ำลงไปขังในอ่างใต้ดิน แล้วน้ำจะเอ่อขึ้นมาตรงปากบ่อ ประชาชนสามารถมาใช้ถังตักน้ำบ่อเหล่านี้ไปใช้สอยได้

โดยเขาจะมีเวลาเปิดปิดบ่อ และกำหนดปริมาณการใช้น้ำสะอาดของแต่ละครอบครัว

ส่วนในบ้านของคหบดี พวกเขาก็จะมีบ่อน้ำส่วนตัวอยู่ชั้นล่างสุดด้านในของประตูบ้าน หรืออยู่ในลานกลางบ้านหากเขาร่ำรวยถึงขนาดมีลานบ้านส่วนตัว

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือการใช้สอยพื้นที่ส่วนกลางหรือคัมโปะเหล่านี้ ด้วยเหตุที่เวนิสต่างจากเมืองอื่นตรงที่ไม่มีรถยนต์ในตัวเมือง (ยกเว้นบริเวณที่รถวิ่งข้ามจากแผ่นดินใหญ่เข้ามาในเมือง แต่ก็ต้องจอดไว้ที่นั่นทั้งหมด ซึ่งมีพื้นที่ขนาดเล็กกว่าลานจอดรถของวัดบางวัดในกรุงเทพพฯ เสียอีก) บรรดาคัมโปะต่างๆ จึงกลายเป็นที่ว่างที่ผู้คนสามารถพักผ่อนหย่อนใจได้ บางแห่งกลายเป็นที่วิ่งเล่นของเด็กๆ บางแห่งเป็นตลาดนัด บางแห่งเป็นที่นั่งของร้านอาหาร ในขณะที่เมืองอย่างฟลอเรนส์หรือโรม จัตุรัสล้วนถูกแปลงเป็นที่จอดรถเสียมาก

หากการเป็น “ตะวันตก” มากขึ้นเรื่องๆ ของเวนิสตะวันออกอย่างกรุงเทพฯ จะค่อยๆ เกิดขึ้นจากการลดบทบาทของคูคลองลง แล้วหันไปสร้างถนนหนทางตั้งแต่ถนนเจริญกรุง ถนนเยาวราช ไปจนถมคูคลองเป็นถนนสำคัญๆ อย่างถนนสาทร แล้วละก็ เวนิสตะวันตกกลับคงคูคลองและความเป็น “ตะวันออก” ไว้ด้วยการยืนยันถึงบทบาทของคูคลองและคงชีวิตทางบกที่ควบคู่กับทางน้ำมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

หากแต่ความเป็นตะวันออกที่ปะปนกับตะวันตกของเวนิสไม่ได้มีเพียงเท่านั้น เพราะเวนิสในอดีตที่ตกทอดมาจนปัจจุบันเป็นจุดบรรจบของความเป็นตะวันตกและตะวันออกในทางวัฒนธรรมและการเมืองที่ควรค่าแก่การศึกษาอีกหลายๆ ประการ

ดังจะได้กล่าวถึงต่อไป

ภาพเรือพยาบาล
ภายในอาคารโรงพยายาบาลเวนิส
ทางเดินเลียบคลองสายหนึ่ง
บ่อน้ำ ณ จัตุรัสในย่านชาวยิว
บ่อน้ำใกล้อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง