กำไรแบงก์พุ่งทำสถิติพ่นพิษ นายกฯ นัดถกผู้ว่าการแบงก์ชาติ เอกชนรุมสับ ‘ดอกเบี้ยสูง’

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาในโลกสื่อสังคมออนไลน์

หลังจาก “ประชาชาติธุรกิจ” นำเสนอข่าว “แบงก์กำไรสูงสุด 2.2 แสนล้าน อานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้น-BBL แชมป์”

คอลัมนิสต์ดัง “หนุ่มเมืองจันท์” โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า

“เห็นพาดหัวข่าวของ ‘ประชาชาติธุรกิจ’ วันนี้แล้วอึ้งเลยครับ พร้อมตั้งคำถามถึง ‘แบงก์ชาติ’ รู้สึกอย่างไร เมื่อแบงก์พาณิชย์กำไรทะลุ 2.2 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์”

หนุ่มเมืองจันท์เปรียบเปรยว่า ธุรกิจแบงก์ที่เปรียบเสมือน “หัวใจ” สูบฉีดเลือดหรือเงินไปเลี้ยงร่างกาย หรือภาคธุรกิจจะมีกำไรในสถานการณ์แบบนี้ถือเป็นเรื่องปกติ

ร่างกายดี หัวใจก็ควรจะแข็งแรง

แต่สถานการณ์เศรษฐกิจในวันนี้แย่มาก แบงก์ชาติเพิ่งปรับลด GDP ปี 2566 จาก 3.6% เหลือ 2.4% พ่อค้าแม่ค้าบ่นว่าขายของไม่ดี ธุรกิจเอสเอ็มอี 11 เดือนที่ผ่านมาของปี 2566 เลิกกิจการ 17,858 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 11% รถยนต์ถูกยึดเดือนละ 27,000 คัน เพราะคนผ่อนไม่ไหว รวมทั้งคนที่ยื่นเรื่องขอกู้ซื้อบ้านถูกแบงก์ปฏิเสธประมาณ 50% แต่ถ้าเป็นบ้านหรือคอนโดมิเนียมราคา 1-3 ล้านบาท อัตราการกู้ไม่ผ่านสูงถึง 70%

เป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้ค่าผ่อนบ้านต่อเดือนสูงขึ้น ขณะที่เงินเดือนเท่าเดิม แบงก์จึงไม่ปล่อยกู้เพราะกลัวหนี้เสีย ในขณะที่แบงก์พาณิชย์ไทยทำกำไรได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ มาจาก “การเพิ่มขึ้นของส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ” หรือ NIM ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

พร้อมตั้งคำถามว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะหน่วยงานกำกับธนาคารพาณิชย์ เห็นความผิดปกติแบบนี้ไม่คิดทำอะไรบ้างหรือ หรือมองว่าเป็นเรื่องปกติเพราะเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว

ทั้งนี้ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 8 ครั้ง โดยปรับขึ้นครั้งแรกเมื่อ 10 สิงหาคม 2565 จาก 0.50% เป็น 0.75% และต่อเนื่องจนถึง 27 กันยายน 2566 มาอยู่ที่ 2.50% ซึ่งถือเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุดในรอบ 10 ปี

 

เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นร้อน ที่ได้รับความสนใจจากทุกวงการ เพราะในมุมมองของประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆ รู้สึกถึงความเดือดร้อนจากส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากที่สูง

พร้อมกับการออกมาจุดประเด็นเพิ่มเติมจากนายกรัฐมนตรี

โดยช่วงค่ำวันที่ 7 มกราคม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทวีตข้อความว่า “จากการที่แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆ ที่เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลายๆ เดือนนั้น ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจเลย และยังมีผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย และ SMEs อีกด้วย ผมจึงอยากให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูราคาสินค้าเกษตรบางชนิดให้เหมาะสม เพราะอาจจะต่ำไปก็ได้ และหวังว่าแบงก์ชาติจะช่วยดูแลประชาชนไม่ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางกับ เงินเฟ้อนะครับ”

เรียกว่าเป็นการออกมาติงแบงก์ชาติแบบตรงๆ จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะเป็นการเขย่าเก้าอี้ผู้ว่าแบงก์ชาติหรือไม่

จากนั้นวันที่ 8 มกราคม 2567 นายกฯ เศรษฐาก็ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ออกมาติงเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า “ความจริงแล้วเราพูดคุยกันตลอดอยู่แล้วในเรื่องนี้ ซึ่งเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยตนมีจุดยืนชัดเจนว่า ‘ผมไม่เห็นด้วย’ แต่ท่าน (แบงก์ชาติ) ก็มีอำนาจในการขึ้น” พร้อมระบุว่า ปัจจุบันเงินเฟ้อต่ำมาก ดังนั้น อาจจะต้องฝากให้พิจารณาเรื่องการลดดอกเบี้ย

และในวันที่ 9 มกราคม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าวันที่ 10 มกราคม 2567 จะมีการพูดคุยกับ รมช.คลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในเวลา 13.30 น. โดยจะมีการพูดคุยกันหลายเรื่องๆ เป็นเรื่องที่สำคัญที่ต้องให้ความสำคัญและนำข้อมูลมาหยิบยกกัน

 

ขณะที่ในส่วนของภาคเอกชนต่างก็ออกมาสะท้อนถึงปัญหา “ดอกเบี้ยสูง” ที่ทำให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ตกที่นั่งลำบาก

พร้อมเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีหน้าที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ ช่วยดูแลเรื่องส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝาก เพราะหลายฝ่ายมองว่าการที่ส่วนต่างดอกเบี้ยสูงในเวลานี้ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์มีกำไรสูงเป็นประวัติการณ์

โดยนายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์ SMEs ไทย เปิดเผยว่า จากข้อมูล พบว่าธนาคารพาณิชย์มีสัดส่วนสินเชื่อที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอยู่ราว 20% ของมูลค่าสินเชื่อทั้งหมด จากที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายทยอยปรับขึ้นมาตลอดตั้งแต่ปี 2565 จาก 0.5% จนถึงปัจจุบันที่ 2.5% เมื่อเดือนกันยายน 2566 ส่งผลต่อภาระดอกเบี้ยที่แบกรับเพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ในไตรมาส 3/2566 สินเชื่อรวมมีการขยายตัว 0.8% และการเติบโตสินเชื่อของเอสเอ็มอี -5.2% สะท้อนถึงปัญหาและความสามารถในการเข้าถึงเงินทุนของกลุ่มเอสเอ็มอีที่ยากลำบากมากขึ้น

“ความแข็งแกร่ง ความมีเสถียรภาพของสถาบันการเงินในประเทศไทยเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ แต่หากมองปัจจัยผลกระทบเอสเอ็มอีต่อการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบจะพบว่าปัญหาการจัดหาแหล่งทุนต้นทุนต่ำ รวมทั้งแก้ปัญหาหนี้ เป็นปัญหาอันดับ 1 ใน 4 ที่เอสเอ็มอีต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือด่วน รองจากการกระตุ้นการใช้จ่าย และการเพิ่มศักยภาพและส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี และการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายจากปัจจัยการผลิตด้านพลังงาน”

นายแสงชัยระบุว่า ปัจจัยดอกเบี้ยที่ส่งผลต่อเอสเอ็มอี จึงต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลังพิจารณากำกับดูแลการคิดคำนวณดอกเบี้ยที่เป็นธรรม มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีความเหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดการเอาเปรียบผู้ขอสินเชื่อทั้งส่วน Bank และ Non bank

โดยทางสมาพันธ์จะมีการประชุมร่วมกับสมาชิกผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศในวันที่ 24 มกราคมนี้ ซึ่งจะมีการนำประเด็นเรื่องดอกเบี้ยมาหารือด้วย

 

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโนบาย 2.5% ของ ธปท.ช่วงที่ผ่านมา แม้จะเป็นการทยอยปรับ แต่ในมุมของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ต้องแบกรับภาระต้นทุนของดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์อย่างมาก และสถานการณ์หนี้เสียที่สูงขึ้นทำให้แบงก์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อบ้านที่อยู่อาศัยต่ำกว่า 3 ล้านบาท ยิ่งตอกย้ำให้ SMEs รวมถึงประชาชนเหล่านี้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก จำเป็นต้องอาศัยแหล่งเงินกู้นอกระบบ

“เอกชนที่อยู่รอดได้ก็จะเป็นรายใหญ่เพราะมีสภาพคล่องยังพอไปได้ ส่วนรายเล็ก SMEs ลำบากและเหนื่อยที่สุด ไม่รอดก็มี ยิ่งเจอแบงก์ขึ้นดอกเบี้ยก็ตายกันหมด เรื่องแบงก์มีกำไรสูงถึง 2.2 แสนล้านบาทนั้น เพราะช่องว่างดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำและดอกเบี้ยเงินกู้มันสูง เรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบเข้ามาดู ว่าจะทำอย่างไรให้เอกชน ผู้ประกอบการ ประชาชนได้รับผลกระทบจากตรงนี้น้อยที่สุด”

เรียกว่างานนี้ทั้งภาคธุรกิจและประชาชน ให้การสนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มที่ ด้วยหวังให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรม

น่าจับตาต่อไปว่า หลังจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและแบงก์ชาติจะพัฒนาต่อไปอย่างไรเมื่อมีทั้งกรณี “ดอกบี้ยสูง” และโครงการ “ดิจิทัลวอลเล็ต” เป็นโจทย์ที่สำคัญรออยู่