Cyber Kidnapping ลักพาตัวแบบใหม่ไม่ต้องเจอเหยื่อ | จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

เมื่อพูดถึงการลักพาตัวเราย่อมนึกถึงการกระทำที่ล่อลวงเหยื่อเพื่อกักขังหน่วงเหนี่ยวให้ปราศจากอิสรภาพโดยอาจมาพร้อมกับการเรียกค่าไถ่จากสมาชิกในครอบครัว

ดังนั้น เมื่อฉันได้ยินคำว่า “Cyber Kidnapping” หรือการลักพาตัวทางไซเบอร์เป็นครั้งแรก นึกอย่างไรก็นึกไม่ออกว่าอาชญากรจะสามารถกักขังหน่วงเหนี่ยวร่างกายของเหยื่อด้วยวิธีทางไซเบอร์ได้อย่างไร

ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมาสำนักข่าวหลายแห่งรายงานว่า FBI ออกมาเตือนภัยเกี่ยวกับการลักพาตัวทางไซเบอร์หลังจากที่พบว่ามีกรณีนี้เกิดขึ้นแล้วในสหรัฐ โดยมีเหยื่อเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนชาวจีนที่อยู่ในมลรัฐยูทาห์

การลักพาตัวทางไซเบอร์คืออะไร โจรสามารถลักพาตัวเหยื่อได้อย่างไรโดยที่โจรกับเหยื่ออยู่กันคนละที่ ไม่ได้เจอตัวเป็นๆ กันด้วยซ้ำ

วิธีที่โจรใช้ก็คือการข่มขู่เหยื่อและครอบครัวของเหยื่อโดยใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือ โจรเริ่มจากข่มขู่ให้เหยื่อรู้สึกกลัวอะไรบางอย่างจนยอมแยกตัวเองออกมาคนเดียว หรือยอมกักขังตัวเองไว้ในที่ใดที่หนึ่งโดยจะต้องเปิดกล้องให้โจรเฝ้าดูได้ผ่านทาง FaceTime หรือ Skype ตลอดเวลา

ในขณะเดียวกันโจรก็จะติดต่อครอบครัวของเหยื่อเพื่อหลอกลวงให้เชื่อว่าตอนนี้โจรได้ลักพาตัวเหยื่อไปแล้ว และจะเกิดอันตรายขึ้นกับเหยื่อถ้าหากครอบครัวไม่ยอมทำตามคำสั่ง

 

แถลงการณ์ของ FBI ระบุชัดเจนว่าโจรมุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนจีนในสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักศึกษาชาวจีน

FBI ได้แจกแจงขั้นตอนการหลอกเหยื่อเอาไว้เป็น 4 ช่วงด้วยกัน

เริ่มจากช่วงที่หนึ่ง อาชญากรจะใช้วิธีปกปิดหรือปรับเปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ของตัวเองให้ดูเหมือนเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของหน่วยงานที่เชื่อถือได้ ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ตั้งแต่หมายเลขของผู้ให้บริการ ร้านค้าขนาดใหญ่ บริการส่งของ ไปจนถึงสถานทูต จากนั้นอาชญากรจะบอกว่าชื่อของเหยื่อถูกโยงเข้ากับการสืบสวนคดีฉ้อโกงบางอย่าง

ในช่วงที่สอง อาชญากรจะอ้างว่าจะโอนสายไปหาสถานีตำรวจที่กำลังสืบสวนคดีดังกล่าว ซึ่งอาชญากรที่สวมรอยเป็นตำรวจก็จะรับลูกต่อด้วยการแจ้งว่าเหยื่อจะถูกดำเนินคดีอะไรบ้าง และสร้างความกดดันด้วยการข่มขู่ว่าเหยื่อจะต้องถูกส่งกลับประเทศจีน ถูกดำเนินคดี หรือข่มขู่ว่าอาจจะถูกจับ

ช่วงที่สาม อาชญากรจะสั่งการให้เหยื่อเปิดกล้องและไมโครโฟนไว้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยอ้างว่าเพื่อให้เหยื่อได้พิสูจน์ ‘ความบริสุทธิ์’ ของตัวเอง พร้อมทั้งข่มขู่ไม่ให้เหยื่อนำรายละเอียดของคดีไปบอกคนอื่น ห้ามไม่ให้เสิร์ชอินเตอร์เน็ต และจะต้องรายงานกิจกรรมประจำวันทุกอย่างให้โจรรู้

ตามมาด้วยช่วงสุดท้าย โจรจะบอกให้เหยื่อโอนเงินก้อนใหญ่เข้าบัญชีธนาคารในประเทศจีนเพื่อพิสูจน์ตัวเองหรือจ่ายเงินค่าประกันตัวเองเพื่อไม่ให้ถูกส่งกลับประเทศจีน

ในบางกรณีอาจมีการชี้นำให้เหยื่อโกหกเพื่อนและครอบครัวเพื่อให้ได้เงินมาเพิ่ม หรืออาจจะใช้ให้เหยื่อไปช่วยหลอกลวงนักเรียนจีนคนอื่นๆ ด้วยวิธีคล้ายๆ กันนี้ต่อไปอีกทอด

 

สําหรับกรณีของนักเรียนแลกเปลี่ยนชาวจีนในยูท่าห์นั้น ตำรวจพบตัวเขาอยู่ในเต็นท์บนภูเขาท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นยะเยือก เขากักขังตัวเองตามคำสั่งของโจรที่เรียกเงินค่าไถ่จากครอบครัวของเขาไปได้เกือบสามล้านบาท

โชคยังดีที่เขาไม่หนาวตายอยู่บนภูเขาก่อนที่ตำรวจจะพบตัว เพราะหน้าหนาวในยูทาห์นับว่าไม่ใช่เล่นๆ เลยทีเดียว

นี่ถือเป็นคดีแรกที่ทำให้การลักพาตัวทางไซเบอร์กลายเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมาในสหรัฐ โดยก่อนหน้านี้จะเกิดขึ้นในออสเตรเลียบ่อยกว่า

ในแถลงการณ์ฉบับเดียวกันนี้ FBI ยังให้เคล็ดลับวิธีป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการลักพาตัวทางไซเบอร์ โดยเตือนว่าหากได้รับการติดต่อที่กล่าวอ้างว่าเราทำผิดกฎหมาย อย่าด่วนให้ข้อมูลส่วนตัว อย่ารีบโอนเงิน ให้ตรวจสอบอย่างรอบคอบว่าปลายสายโทร.มาจากหน่วยงานที่กล่าวอ้างจริงๆ ซึ่งการดูแค่หมายเลขโทรศัพท์ที่โทร.เข้ามาอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอเพราะมิจฉาชีพสามารถปลอมแปลงได้ อาจจะลองหาวิธีติดต่อหน่วยงานดังกล่าวและติดต่อไปเองเพื่อเป็นการยืนยัน

สิ่งที่ FBI ห้ามทำเด็ดขาดคือห้ามตกลงเปิดกล้องหรือเปิดไมโครโฟนให้มิจฉาชีพเฝ้าดูได้ตลอดเวลา

 

ก่อนหน้านี้มีสิ่งที่คล้ายกับการลักพาตัวทางไซเบอร์ภายใต้ชื่อที่เรียกกันว่า Virtual Kidnapping หรือการลักพาตัวเสมือนจริง

การลักพาตัวเสมือนจริงเกิดขึ้นครั้งแรกที่เรือนจำในเม็กซิโก มิจฉาชีพที่อยู่ในเรือนจำจะเลือกโทรหาเหยื่อที่อยู่ในย่านมีอันจะกินแล้วทำให้เหยื่อเชื่อว่าคนในครอบครัวถูกลักพาตัวไปแล้ว

ความน่ากลัวของการหลอกลวงประเภทนี้คือมิจฉาชีพจะไม่ยอมเปิดโอกาสให้เหยื่อมีเวลาได้ตั้งสติหรือตรวจสอบข้อมูลได้โดยจะหลอกล่อให้คุยโทรศัพท์ด้วยตลอดเวลาจนไปถึงขั้นตอนจ่ายเงินค่าไถ่ และมักจะเลือกเหยื่อผู้สูงวัย เพื่อหลอกว่าได้ลักพาตัวหลานไปแล้วและหลานจะตกอยู่ในอันตรายถ้าหากไม่รีบจ่ายเงินทันที

ฉันคิดว่าคนไทยอย่างเราที่รับโทรศัพท์มิจฉาชีพวันละหลายๆ ครั้งก็น่าจะพอเข้าใจสถานการณ์ดีอยู่แล้ว ที่ผ่านมามิจฉาชีพโทรศัพท์มาด้วยมุกหลอกลวงที่อัพเดตใหม่อยู่เรื่อยๆ การกล่าวอ้างว่าเหยื่อทำผิดกฎหมายหรือมีชื่อไปพัวพันอยู่กับกระบวนการผิดกฎหมายก็เป็นมุกที่มิจฉาชีพใช้กับเหยื่อคนไทยมาโดยตลอดเหมือนกัน

หากดูจากเทรนด์แล้วก็คาดการณ์ได้ไม่ยากว่ากลุ่มเป้าหมายน่าจะขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่นักศึกษาจีนที่อยู่ในต่างประเทศ แต่ฉันคิดว่าทุกคนมีโอกาสที่จะรับสายแก๊งมิจฉาชีพนี้กันได้ถ้วนหน้า

สติคือสิ่งที่สำคัญที่สุด มิจฉาชีพรู้ดีว่าถ้าเขาพรากสติไปจากเราได้เร็วแค่ไหน เขาก็จะพรากเงินในกระเป๋าเราไปได้เร็วแค่นั้น ดังนั้น ไม่ว่าปลายสายจะเร่งเร้าร้อนรนแค่ไหน…

ก็ให้หายใจเข้าลึกๆ ค่อยๆ ลำดับความคิด ก่อนจะตอบกลับไปนะคะ