ขมวดภาพปี 2566 ยุคใหม่ผู้นำเอสซีจี

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com
ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม

เอสซีจี เครือข่ายธุรกิจรากฐานไทย ช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ถือว่าเป็นยุคปรับตัวต่อเนื่อง

ตั้งแต่ต้นปี (1 มกราคม 2567) บริษัท ปูนซิเมต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี มีผู้นำคนใหม่-ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ขึ้นแทน รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส (ดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ 1 มกราคม 2559-31 ธันวาคม 2566) ที่แตกต่างไปจากเดิม ผู้นำคนใหม่ ควบตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิเมนต์ไทยโฮลดิ้ง จำกัด อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

ว่าไปแล้ว อยู่ในกระบวนการที่ว่า “แผนการสร้างผู้สืบทอด (Succession plan) เดินตามแบบแผนตลอดช่วง 2 ทศวรรษ ตั้งแต่หลังยุคชุมพล ณ ลำเลียง (ดำรงตำแหน่ง 2536-2548) โดยตั้งต้นครั้งแรก ยุคกานต์ ตระกูลฮุน (2549-2558)” อย่างที่เคยว่าไว้ ทั้งนี้รู้กันว่า ชุมพล ณ ลำเลียง เป็นผู้ริเริ่มแผนการสำคัญข้างต้น

ชุมพล ณ ลำเลียง (ผู้จัดการใหญ่ 2536-2548) คือผู้มีบทบาทอย่างสำคัญอย่างต่อเนื่อง ผู้อยู่ในคณะกรรมการเอสซีจี (จนถึงปัจจุบันราว 32 ปีแล้ว) อย่างต่อเนื่องที่สุดในประวัติศาสตร์องค์กรเก่าแก่กว่าศตวรรษเลยก็ว่าได้

สามารถเทียบเคียงกับยุคก่อนหน้า พระยามานวราชเสวี ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการเอสซีจี (ขณะนั้น บริษัทปูนซิเมนต์ไทย) เป็นเวลายาวนานถึง 28 ปี โดยเป็นประธานกรรมการ นานถึง 22 ปี (2485-2507) ผมเองเคยสรุปไว้ว่า ในยุคเดนมาร์ก (2456-2517) ท่ามกลางสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อและผันแปรมากที่สุดช่วงหนึ่ง ในความสัมพันธ์ปูนซิเมนต์ไทยกับสังคมไทย พระยามานวราชเสวี เป็นสัญลักษณ์ของความต่อเนื่องและสมดุล

ว่าไปแล้ว ชุมพล ณ ลำเลียง มีบทบาทเชิงบริหารมาตั้งแต่ช่วงคาบเกี่ยวระหว่างยุคเดนมาร์ก กับยุคอีกยุค (เขาเข้ามาทำงานปี 2515) ผมเองเคยเรียกว่า ยุคผู้บริหารไทย ขอเปลี่ยนใหม่เป็น เอสซีจียุคใหม่ (2517 เป็นต้นมา) ดังนั้น พอจะกล่าวได้ว่า เอสซีจียุคใหม่ ผ่านมาแล้วครึ่งศตวรรษ ท่ามกลางผันแปรมากมายเช่นกัน

ชุมพล ณ ลำเลียง เป็นสัญลักษณ์ของความต่อเนื่องและสมดุลเช่นกัน

 

ว่าด้วยการสรรหาผู้สืบทอด (Succession plan) อย่างเป็นเรื่องเป็นราว มีขึ้นในปลายยุค ชุมพล ณ ลำเลียง เพื่อสรรหา “คนใน” หรือ “ลูกหม้อ” ขึ้นเป็นผู้นำ พิจารณา Profile อย่างกว้างๆ ทั้ง กานต์ ตระกูลฮุน รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส และ ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม คล้ายๆ กัน จากแบบแผนการศึกษา จนถึงประสบการณ์สำคัญ โดยเฉพาะกับเครือข่ายธุรกิจเอสซีจีในต่างประเทศ ความสำคัญดูมีมากขึ้นตามยุทธศาสตร์ธุรกิจ ซึ่งปลุกกระแสขึ้นอย่างจริงจังในยุคกานต์ ตระกูลฮุน ในฐานะเอสซีจี “บริษัทชั้นนำในอาเซียน” เข้ากับจังหวะก้าวการหลอมรวมระบบเศรษกิจในภูมิภาค

จากนั้น เอสซีจี มีการปรับโครงสร้างคณะกรรมการครั้งใหญ่ โดยเฉพาะปรากฏรายนามกรรมการใหม่ๆ ในเครือข่ายธุรกิจสำคัญเอสซีจี เป็นผู้นำรุ่นใหม่เครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทย “มองในภาพใหญ่…สะท้อนความเป็นไปอย่างเป็นจริงสังคมธุรกิจไทยปัจจุบัน…สำหรับเอสซีชี ถือเป็นความสัมพันธ์ใหม่…ในระนาบเดียวกัน…แลกเปลี่ยน ประสบการณ์ ความรู้และบทเรียน…รวมทั้งข้อมูล และบทวิเคราะห์ ความเคลื่อนไหววงใน จนถึงสถานการณ์ในภาพกว้าง” ผมเองเคยว่าไว้ (ปี 2565) อีกมิติหนึ่งข้างเคียง

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทย โดยผู้นำรุ่นใหม่เหล่านั้น เป็นไปอย่างครึกโครม ตามแผนการก้าวกระโดด เข้าสู่ธุรกิจใหม่และขยายการลงทุนระดับโลก

 

จากนั้น “ผู้สืบทอด” จึงเข้าสู่กระบวนการฝึกปรืออย่างเข้มข้น เน้นบทบาทการวางแผนธุรกิจ การเงินและการลงทุน โดยมีตำแหน่งในแบบแผนที่เรียกว่า CFO ในระยะเวลาพอสมควร ถือเป็นประสบการณ์ต่อเนื่องที่จำเป็น สามารถมองเห็นภาพใหญ่ทางยุทธศาสตร์ธุรกิจ โดยเฉพาะกรณีรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส และ ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม อยู่ในตำแหน่งที่ว่านานพอควร พอๆ กันราว 5 ปี

ทั้งนี้กรณี ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม ถูกวางตัวไว้อย่างแตกต่าง เขาไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์บริหารกลุ่มธุรกิจหลักโดยตรง เช่นกรณีที่ผ่านๆ มา ทั้งนี้ เชื่อว่ามีความเชื่อมโยงกับอีกบทบาทหนึ่ง ควบตำแหน่งเป็นผู้จัดการใหญ่ซิเมนต์ไทยโฮลดิ้งด้วย ดูจะสอดคล้องกับแผนการการปรับโครงสร้างทางธุรกิจครั้งใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้

ในจังหวะคาบเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างคณะกรรมการ แผนการการปรับตัวทางธุรกิจครั้งสำคัญได้เปิดฉากขึ้น บริษัทหลักๆ ในเครือข่ายเอสซีจี ทยอยกันเข้าตลาดหุ้น

ที่ถือว่าตั้งหลักไมล์ใหม่ในปลายปี 2563 บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP บริษัทกลุ่มธุรกิจหลัก-ธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง ได้เข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นบทเรียนแห่งความสำเร็จในฐานะกิจการเข้าตลาดหุ้นในช่วงวิกฤต COVID-19

ตามมาด้วย บริษัท เอสซีจีเคมีคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC แผนการที่ใหญ่กว่า เดิมพันสูงกว่า เปิดขึ้น (ปลายปี 2565) ที่แรกเดินหน้าไปตามขั้นตอน แต่ได้รีรอมา ด้วยสถานการณ์ไม่เป็นใจ ในที่สุดจึงประกาศ (เมื่อกลางปี 2566) ยกเลิกแผนการ แต่เน้นว่าจะเริ่มต้นกระบวนการใหม่อีกครั้ง เมื่อ “สถานการณ์เอื้ออำนวย”

มีอีกแผนการคล้ายๆ กัน กรณี บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (SCGD) เดินแผนการเข้าตลาดหุ้น แม้เป็นกิจการซึ่งเล็กกว่า SCGC แต่มีกระบวนการและขั้นตอนซับซ้อนพอควร

เปิดฉากมาตั้งแต่ปี 2561 เมื่อควบรวมกิจการเซรามิกทั้งหมด โดยยึดบริษัทซึ่งอยู่ในตลาดหุ้นอยู่แล้ว เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ COTTO เป็นการซอยแบ่งกิจการส่วนหนึ่งของกลุ่มธุรกิจหลักซึ่งพัฒนามาแต่ดั้งเดิม-ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง

หากย้อนกลับไปอีก จุดตั้งต้นมาจาก บริษัท ไทย-เยอรมัน เซรามิค อินดัสทรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TGCI เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจเซรามิกรายแรกในประเทศไทย (ปี 2512) และเข้าตลาดหุ้นไทยในยุคแรก (ปี 2523) จนมาถึงการเปลี่ยนแปลงความเป็นเจ้าของ เข้ามาอยู่เครือข่ายเอสซีจี (ปี 2551)

ข้ามชอร์ตมาสู่ SCGD กับแผนเข้าตลาดหุ้น ต้นปี 2566 จะเรียกว่าระยะที่ 2 หรือเป็นแผนการ “ลงตัว” ขึ้นด้วยแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจ SCGD ว่าไปแล้วยึดโมเดลเดียวกับกรณี TGCI เป็น COTTO โดยเพิกถอน COTTO ออกจากตลาดหุ้น “เพื่อให้ SCGD เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพียงบริษัทเดียว” ว่าในเชิงยุทธศาสตร์ธุรกิจ เป็นไปตามแผนการใหญ่ขึ้น “ยกระดับเป็นบริษัทชั้นนำในธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน” อย่างที่ว่าไว้

ในที่สุด SCGD เข้าตลาดหุ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา (20 ธันวาคม 2566) ไม่กี่วันก่อนผู้จัดการใหญ่คนใหม่เอสซีจีจะมาถึง

 

เอสซีจียุคใหม่ ในนามเก่าแก่-บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จากนี้ในฐานะบริษัทแม่ (Holding company) กำกับดูแลบริษัทแกน ครอบคลุมธุรกิจหลักเช่นเดิม ขณะการบริหารแต่ละกิจการ ดูจะเป็นเอกเทศมากขึ้น เป็นไปอย่างคล่องตัว และยืดหยุ่นมากขึ้น ตอบสนองพัฒนาการในโอกาสทางธุรกิจเปิดกว้าง ตามคลื่นการเติบโตรอบใหม่

ทั้งเป็นแผนคลี่คลายข้อจำกัด ตามบุคลิกพิเศษเอสซีจี เครือข่ายธุรกิจใหญ่อยู่ในตลาดหุ้นไทยมานาน (ตั้งแต่ปี 2518 ภายใต้ชื่อย่อ SCC) จากทุนจดทะเบียน 740 ล้านบาท ปัจจุบันคงมีทุนจดทะเบียนเพียง 1,600 ล้านบาท (ชำระแล้วเพียง 1,200 ล้านบาท) ขณะที่มีสินทรัพย์เข้าใกล้ 1 ล้านล้านบาท มีความสามารถจ่ายเงินปันผลอย่างต่อเนื่อง เฉพาะในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา มากกว่า 300,000 ล้านบาท

มีดัชนีหนึ่งที่น่าสนใจ ในช่วงใกล้ๆ นี้ (2564-2566) SCC ออกหุ้นกู้ระดมเงินจากสาธารณะไปแล้วราว 10 ครั้ง รวมกว่า 80,000ล้านบาท เช่นเดียวกัน ช่วงเดียวกัน (2564-2567) SCGP เพิ่งเข้าตลาดหุ้นไม่นานได้ระดมทุนด้วยตนเอง ออกหุ้นกู้มาแล้วมีมูลค่าถึง 12,000 ล้านบาท •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com