จิตสำนึกแบบสลิ่ม เลิกได้เลิก | คำ ผกา

คำ ผกา

สัปดาห์ที่ผ่านมามีไวรัลในโลกโซเชียลเรื่องที่มีหมอคนหนึ่งโพสต์ในเฟซบุ๊กว่า ตนเองมีเงินเดือนสองแสนกว่าบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยของคนไทยถือว่าเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงมาก แต่กลับรู้สึกว่าเงินเดือนที่จัดว่าสูงนั้นเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายแล้วสุดท้ายแทบจะไม่มีอะไรเหลือ

ค่าใช้จ่าย เช่น ผ่อนบ้านสี่หมื่น, จ่ายเงินเดือนภรรยาที่ให้ลาออกจากงานมาเป็นคุณแม่ฟูลไทม์สามหมื่น, เก็บเงินไว้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาของลูกเดือนละสองหมื่นห้า เพราะต้องการให้ลูกเรียนอย่างน้อยเป็น english program, จ่ายภาษีหกหมื่นต่อปี, ซื้อกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ฯลฯ

สรุปแล้วแต่ละเดือนเหลือเงินใช้ หาความสุขให้ตัวเองน้อยมาก

ดังนั้น สิ่งที่เขามาระบายในเฟซบุ๊กคือ ราคาบ้านในเมืองที่สูงมาก คุณภาพการศึกษา โรงเรียนของรัฐบาลที่มีความเหลื่อมล้ำแตกต่างจากโรงเรียนเอกชน โรงเรียนานาชาติ ทำให้ “ปัจเจบุคคล” อย่างเขารู้สึกว่า ตัวเองจ่ายภาษีสูงมาก แต่กลับได้รับการดูแลจากรัฐน้อยมาก

และสุดท้ายไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ที่อยู่อาศัย ค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ เขาพึ่งพารัฐไม่ได้

 

ฉันอ่านแล้วก็เข้าใจ เพราะมันจริงอย่างที่เขาเขียนคือกลุ่มประชาชนที่มีรายได้สองแสนบาทขึ้นไปต่อเดือน คือกลุ่มคนที่ “จนที่สุด” ในกลุ่มที่ต้องแบกภาระทางภาษี 35% ที่เป็นภาษีเงินได้

ขณะเดียวกันคนกลุ่มนี้เป็นคนชั้นกลางที่มี “ภาระ” ในการรักษาต้นทุนสังคม วัฒนธรรม ทางชนชั้นของตนเองอีกสูงลิ่ว

ต้นทุนสังคม วัฒนธรรมทางชนชั้นของกลุ่มนี้ เช่น เรื่อง parenting คนกลุ่มนี้มีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ทางสังคมวิทยาเรียกว่าเป็น middle class respectability ชีวิตที่มีคุณภาพหมายถึง ที่อยู่อาศัยที่สะอาด ปลอดภัย อยู่ในย่านที่ “มีแต่คนที่มีฐานะ หน้าที่การงาน รายได้ ใกล้เคียงกันอยู่ด้วยกัน”

พ่อและแม่ที่ดีคือ พ่อและแม่ที่มีเวลาให้กับลูก ไม่ปล่อยลูกอยู่กับพี่เลี้ยง คนกลุ่มนี้จะเป็นคนที่เลี้ยงลูกตามตำราจิตแพทย์มากที่สุด และจ่ายเงินเพื่อเรียน “วิชาพ่อแม่”

ดังนั้น หากเลือกได้ เขาจะเป็นพ่อหรือแม่ที่เลี้ยงลูกฟูลไทม์ ตามทฤษฎีว่าสามขวบแรก ถ้าพลาดแล้วพลาดเลย พ่อแม่ที่สังกัดชนชั้นนี้จึงเป็นกลุ่มที่อุทิศตนเพื่อการเลี้ยงลูกเพื่อบรรลุผลทางคุณภาพสูงสุดของการสร้างมนุษย์สักคนขึ้นมาบนโลกใบนี้ เพราะฉะนั้น หากรัฐไม่จัดสรรคุณภาพทางการศึกษาที่ดีพอ คนกลุ่มนี้จะยอมจ่ายแพงเท่าไหร่ก็ได้เพื่อสร้าง “ต้นทุนชีวิต” ที่ดีที่สุดให้ลูกตนเอง

หลายๆ ครั้งเราจะได้ยินคำพูดที่ว่า “เราลงทุนซื้อสิ่งแวดล้อมและสังคมให้กับลูก”

และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เพื่อนของลูกที่มีในโรงเรียนประถม มัธยม และมหาวิทยาลัย ท้ายที่สุดมันจะกลายเป็นการลงทุนเรื่อง connection ที่พ่อแม่ชนชั้นกลางต้องการลงทุนไว้ให้ลูก

 

หรือถ้าไม่ได้คิดซับซ้อนขนาดนั้นสำหรับชนชั้นกลางที่ ‘respectable’ แค่จินตนาการว่า ลูกตัวเองจะไปเรียนร่วมกับพวกเด็ก “ออนิว” ก็คงรู้สึกมวนท้องแล้ว พร้อมกับจินตนาการว่า เพื่อนร่วมชั้นเรียนของลูกจะพูดคำหยาบ ไอ้เ-ีย ไอ้สัตว์ เ-็ดแม่ สูบพ็อตตั้งแต่ ป.3 กินยาคุมตอน ป.4

มีแม่แต่เป็นทรงซ้อ มีพ่อเป็นทรงเอ นี่เป็นเรื่องที่พ่อแม่ “ชนชั้นกลาง” มวนท้องที่สุด

เพราะฉะนั้น พวกเขาจะยอม “จ่าย” เพื่อคัดกรองสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดให้ลูกหลานของตนเอง

และเรื่องที่น่าสงสารที่สุดคือ ชนชั้นกลางเหล่านี้ต้องยอมจ่ายเงินแทบจะเป็นหนึ่งในสามของรายได้ตนเองเพื่อ “ซื้อสิ่งแวดล้อม” ที่ลูกตนเองจะไม่ถูก contaminate จากชนชั้นที่ไม่ใช่แค่ “ยากจน” แต่ไม่ appropriate ทางวัฒนธรรม ทางปัญญา ทางไลฟ์สไตล์

และนี่คือวิบากกรรมของ “ชนชั้นกลาง” ที่ฉันอยากใช้คำว่า got stuck หรือติดค้างเติ่ง อยู่ระหว่างคนร้อยละ 80 ของประเทศที่ยากจนกว่าตัวเองมากๆ และตัวเองก็ดูถูกคนจนเหล่านี้ ไม่อยากสังสรรรค์ associate กับเขา

ขณะเดียวกันก็ไม่ได้เป็น super rich มีหลายร้อยล้าน มีพันล้านที่ไม่จำเป็นต้องแคร์ว่า ฉันจะต้องลงทุนเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้ลูกหลานของฉันเติบโตมาแบบไม่ต้องไปดมกลิ่นสาบคนจน เพราะถือครองความมั่งคั่งมากจนไม่ต้องมาเกลือกกลั้วกับสามัญประชาชนทั่วไปอยู่แล้ว

stuck กว่านั้นคือ คนชั้นกลางกลุ่มนี้เป็นคน “เก่ง” คนที่มีการศึกษาสูง สมองดี หน้าที่การงานดี ทำงานหนัก มีความรับผิดชอบต่อสังคมสูงเยี่ยม รู้จักโลกกว้าง มีความเชื่อว่าตนเองมีรสนิยมดี อ่านหนังสือเยอะ ดูแลสิ่งแวดล้อม แยกขยะ ถ้าเลือกได้ก็ซื้อของที่เป็นแฟร์เทรด ออร์แกนิกส์

พวกเขาจึงมีความคับข้องใจหรือ frustration ลึกๆ ว่า เขาทำงานหนัก เขาอุทิศตน เขาทุ่มเท แต่เขาได้อะไรตอบแทนมาน้อยมาก

frustrated กว่านั้นเมื่อเทียบกับคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยที่เป็นคนจน เขามี “จำนวนน้อย” เมื่อมีจำนวนน้อย พรรคการเมือง หรือนักการเมืองที่เขาเลือก มักจะไม่ค่อยได้เป็นรัฐบาล และส่วนมากในชีวิตของพวกเขามักจำต้องทนอยู่กับ หนึ่ง รัฐบาลเผด็จการทหาร หรือ สอง รัฐบาลที่มีมาจากพรรคการเมืองของพวกคนจนและคน “เลว”

แล้วพอต้องเจอกับความจริงที่ตัวเองต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุดอีก ก็เข้าใจได้ว่าทำไมพวกเขาจะหงุดหงิด โมโห ไปจนถึงรู้สึกว่า ถ้าเลือกได้ “อยากย้ายประเทศ”

 

ส่วนฉันเห็นด้วยว่า คุณภาพชีวิตของชนชั้นกลางไทยจะดีขึ้นมาก หากรัฐบาลทบทวนเรื่องภาษี และเงื่อนไขของการลดหย่อนภาษีของคนที่ต้องเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาให้มันอัพเดตกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันมากขึ้น

เห็นด้วยว่ารัฐบาลต้องเข้าไป “จัดการ” กับธนาคารแห่งประเทศไทยเรื่องดอกเบี้ย เพราะตอนนี้ไม่เพียงแต่แบงก์ชาติจะมีนโยบายขึ้นดอกเบี้ยทั้งๆ ที่อัตราเงินเฟ้อต่ำเท่านั้น

แต่ลักษณะดอกเบี้ยของประเทศไทยคือ ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยเงินฝากกับดอกเบี้ยเงินกู้สูงมาก สูงเสียจนเมื่อเราดู gap ตรงนี้เราจะเข้าใจเลยว่า เพราะอะไรชนชั้นกลางไทยจะไม่มีวันลืมตาอ้าปากได้เลย

ฝากเงินได้ดอกเบี้ยสิบสตางค์ แต่กู้เงินซื้อบ้านเสียดอกเบี้ยเจ็ดบาท สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ธนาคารรวยขึ้นเรื่อยๆ แต่ชนชั้นกลางคือเกิดมาทำงานเพื่อจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้

ฉันเห็นด้วยว่า หากประเทศไทยมีโรงเรียน “รัฐบาล” ที่เรียนฟรี และมีคุณภาพดี จะทำให้พ่อแม่เด็กไทยไม่ต้องตะเกียกตะกายเอาลูกไปเข้าโรงเรียนเอกชนแพงๆ และจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้มหาศาล (แต่สำหรับคนชั้นกลางที่อยากซื้อสังคมให้ลูกผ่านการศึกษา ยังไงก็ต้องตะเกียกตะกายหาเงินส่งลูกไปในสังคมที่ตัวเองอยากปีนป่ายไปให้ถึงอยู่ดี)

แต่โรงเรียนคุณภาพดีที่คนจนเข้าถึง อย่างน้อยก็ลดความเหลื่อมล้ำเรื่องโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่ดีนั่นเอง

ฉันเห็นด้วยล้านเปอร์เซ็นต์ว่า ระบบขนส่งมวลชนของประเทศไทยต้องได้รับการพัฒนา โดยเฉพาะในเขตเมือง เพราะมันคือการลดค่าใช้จ่าย

เมืองควรถูกออกแบบมาให้คนเดินได้ ปั่นจักรยานได้ เชื่อมต่อกับขนส่งสาธารณะได้

ถ้าคนไทยไม่ต้องซื้อรถ ไม่ต้องเติมน้ำมัน ไม่ต้องจ่ายค่าทางด่วนเพื่อไปทำงานทุกวัน คนชั้นกลางจะมีเงินเหลือในกระเป๋าเพื่อจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

แปลว่าความสามารถในการบริโภคมากขึ้น เท่ากับเป็นการสร้างความคึกคักทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เมืองที่เดินได้ ปั่นจักรยานได้ นอกจากจะลดมลพิษทางอากาศ ยังทำให้คนได้ออกกำลังกายไปในตัว สุขภาพโดยรวมของชาวเมืองจะดีขึ้น

และเมืองที่เดินและปั่นจักรยาน จะหล่อหลอมให้คนใส่ใจในรายละเอียดของธรรมชาติ เห็นความงามของต้นไม้ ดอกไม้ สังเกตความสวยงามเล็กๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว

ในระยะยาวเมืองแบบนี้จะกล่อมเกลาให้คนมีความละเมียดละไมในชีวิตมากขึ้น

 

และฉันก็ยังเห็นด้วยอีกว่า public housing หรือบ้านเราเรียกว่า “การเคหะ” เป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการโดยรัฐ

ในอนาคตการเคหะนอกจากสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับคนรายได้น้อย สามารถทำโครงการสำหรับคนชั้นกลาง หรือสร้างที่อยู่อาศัยให้คนเช่าระยะยาว (สานต่อความฝันตั้งแต่สมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่สร้างแฟลตดินแดง) พร้อมกับการสร้างชุมชนที่มี public space สำหรับกิจกรรมที่หลากหลาย ตั้งแต่กีฬา ศิลปะ การพบปะ พูดคุย และท้ายที่สุดมันคือการสร้างสำนึกของ “ภาคประชาชน” ที่เข้มแข็ง

และปลายทางของมันคือการสร้างสังคมที่ยืนอยู่บนวัฒนธรรมประชาธิปไตยจากวิถีชีวิตที่ inclusive แทนการสร้าง “โลกจำลอง” ผ่านโครงการหมู่บ้านจัดสรรที่ตั้งใจจะพาสเจอไรซ์ สร้างสังคมปลอดเชื้อ คบกันเอง รู้จักกันเองในกลุ่มคนที่มีรายได้ มีหน้าที่การงานใกล้เคียงกันและทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกว่าตัวเองปลอดภัยภายใต้โลกจำลองในหมู่บ้าน เป็นโลกคู่ขนานกับโลกภายนอกที่อีเหละเขละขละ สกปรก อันตราย

และนี่คือเหตุผลว่าทำไมคนเงินเดือนสองแสนต้องยอมซื้อบ้านที่ต้องผ่อนเดือนละสี่หมื่น เพราะเขาต้องการอยู่ในโลกจำลองพาสเจอไรซ์ทปลอดเชื้อปลอดภัยสำหรับตัวเขาและครอบครัว

สิ่งนี้ถูกเรียกว่า “การซื้อสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัวและคนที่คุณรัก”

 

ถ้ารัฐบาลทำทั้งหมดนี้ได้ก็คงจะดี

แต่ถ้าเราเป็นรัฐบาล ซึ่งต้องหมายเหตุว่า เป็นรัฐบาลในประเทศที่ถูกแช่แข็งและดึงกลับให้ถอยหลังผ่านการรัฐประหารและบริหารประเทศโดยคณะเผด็จการทุกๆ สิบปี หรือทุกๆ ยี่สิบปี อันก่อให้เกิดผลลัพธ์คือ สังคมที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจถ่างกว้างจนคิดไม่ออกว่า มันจะแคบลงกว่านี้ได้อย่างไร

และในขณะที่ชนชั้นกลางเงินเดือนสองแสนกำลังเผชิญวิบากกรรมของการดิ้นรนเพื่อรักษา “คุณภาพชีวิต” ที่พึงมี (ที่แปลว่า ทั้งแปลกแยก alienate กับเพื่อนร่วมชาติที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นไลฟ์สไตล์ ความฝัน parenthood ฯลฯ) คนจนที่สุด 4 ล้านคนของประเทศไทยมีรายได้แค่เดือนละ 2,672 เท่านั้น

ถ้าเรามองเห็นภาพตรงนี้ เราจะเข้าใจคำว่า “เราต้องการทำเค้กให้ใหญ่ขึ้นก่อนแทนที่จะพยายามตัดเค้กก้อนเล็กๆ นี้แบ่งออกเป็นชิ้นละเท่าๆ กันให้ทุกคน” ของพรรคเพื่อไทย และนั่นหมายความว่าแทนการสร้าง “รัฐสวัสดิการ” ในวันนี้ นโยบายพรรคเพื่อไทยจัดเรียงลำดับความสำคัญ ความยากง่าย สิ่งที่ต้องทำก่อน-หลัง ว่าระหว่างดูแลคนจนที่สุด และคนชั้นกลางที่อยู่ล่างสุดที่น่าจะเป็นประชากร “ส่วนใหญ่” ของประเทศ กับชนชั้นกลางเงินเดือนสองแสนบาทขึ้นไป (ที่ก็มีความลำบากในชีวิตอีกแบบ) รัฐบาลเลือกที่จะดูแลคนที่ “ลำบากที่สุด” ก่อน

จึงเข้าใจได้ไม่อยากว่า แทนการทำรัฐสวัสดิการ พรรคเพื่อไทยมองว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะเลือกทำ “สวัสดิการโดยรัฐ” แล้วเจาะไปที่ “ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ก่อนเพราะมันพิสูจน์แล้วว่า เรื่องความเจ็บป่วยและสุขภาพเป็น “ตัวเปลี่ยนเกม” ที่จะทำให้จากคนชั้นกลางกลายเป็นคนจน หรือเปลี่ยนจากคนจนกลายเป็นคนสิ้นไร้ไม้ตอก ไร้บ้าน ไร้ที่ดินได้ในทันที และเรื่องสิทธิในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพยังสัมพันธ์กับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ

เพราะฉะนั้น ในภาวะที่ประเทศยังไม่มี “รายได้” มากพอจะทำรัฐสวัสดิการ ก็ต้องเลือกทำ “สวัสดิการโดยรัฐ” ในส่วนที่สำคัญที่สุดเสียก่อน

ระหว่างนี้อีกขาหนึ่งของรัฐบาลก็ต้องกระตุ้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพิ่มเม็ดเงิน ที่หมายถึงการทำให้เค้กก้อนใหญ่ขึ้น เพิ่มจำนวนคนชั้นกลางให้มากขึ้น

เมื่อชนชั้นกลางมากขึ้น ก็จะมีคนเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น

 

เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นภายในร้อยวัน หรือแม้แต่ 4 ปีของรัฐาลใดรัฐบาลหนึ่ง

แต่รัฐสวัสดิการในฝันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรารักษาการเมืองประชาธิปไตยระบบเลือกตั้ง มีรัฐบาลพลเรือนบริหารประเทศ จะเป็นรัฐบาลจากพรรคไหนก็ช่าง แต่ต้องอยู่กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ยาวนานกว่า 20 ปีขึ้นไป หรือห้าสมัยของการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง เราถึงจะผลักดันความเปลี่ยนแปลงจากเสียงประชาชนได้

ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้ ฟาดงวงฟาดงา ท่องคำว่าโครงสร้าง แบบไม่รู้ผีสี่แปด ท่องคำว่าตระบัดสัตย์ เพราะอกหักที่พรรคที่ตัวเองเลือกไม่ได้เป็นรัฐบาล

สุดท้ายก็ไม่ต่างอะไรจากผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต ที่ฟาดงวงฟาดงาจนเป็นข้ออ้างของการทำรัฐประหารแล้วทุกอย่างก็กลับไปนับหนึ่งที่ของการสู้กับเผด็จการไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ประเทศนี้พังมากพอแล้วกับจิตสำนึกแบบสลิ่ม เลิกได้เลิก