จุดเปลี่ยน ‘ภูกระดึง’ เทียบกรณีกระเช้าขึ้นยอดเขาที่ญี่ปุ่น

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ก่อนจะพูดถึงโครงการก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง จังหวัดเลย ที่กำลังเป็นประเด็นฮือฮาในขณะนี้ ขออนุญาตเล่าเรื่องกระเช้าขึ้นยอดเขาทะคะโอะ ประเทศญี่ปุ่น ผมกับเพื่อนๆ เพิ่งไปใช้บริการเมื่อเดือนที่แล้ว

ภูเขาทะคาโอะ อยู่ในเมืองฮาจิโอจิ ใกล้ๆ กรุงโตเกียว นั่งรถไฟจากสถานีชินจูกุ ราวๆ 1 ชั่วโมงก็ถึง ค่าตั๋วแค่ 430 เยน เป็นสถานที่ที่ชาวญี่ปุ่นนิยมมาท่องเที่ยวเดินป่าชื่นชมธรรมชาติ มีต้นไม้เช่นต้นสนอายุ 450 ปีสูงใหญ่ แม้แหงนหน้าคอตั้งบ่าก็ยังไม่เห็นปลายยอด มีสวนป่าต้นซากุระนับพันต้น และเป็นจุดชมวิวภูเขาไฟฟูจิที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในพื้นที่คันโต

ระหว่างทางขึ้นภูเขามีวัดทะคะโอะซังยะคุโออิน ตั้งอยู่ วัดแห่งนี้มีชื่อเสียงมาตั้งแต่โบราณว่าด้วยการเสริมดวงชะตา โชคลาภ การค้าขายและความรัก ภายในวัดมีรูปปั้นเทพเจ้าแห่งภูผาหรือเทงกุ หน้าแดงจมูกโด่งแหลม แต่งชุดเหมือนนักพรตบำเพ็ญศีล มีปีกติดหลังบินไปมาได้ วางอยู่ตามจุดต่างๆ

เมื่อขึ้นถึงยอดเขา มีจุดชมวิว ร้านอาหาร ร้านขายสินค้าที่ระลึก จัดแบ่งเป็นสัดส่วน

 

นักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นเขาทะคะโอะ มีให้เลือก 2 วิธี

วิธีแรก เดินท่องป่าขึ้นเขาซึ่งมีเส้นทางให้เลือกมากถึง 7 เส้นทาง อย่างเช่น เส้นทางที่สัมผัสธรรมชาติและประวัติศาสตร์ หรือเดินป่าผ่านน้ำตกบิวะเป็นสถานที่ฝึกพระใหม่นิกายชินโต

การเดินท่องป่าในพื้นที่ทะคะโอะ นอกจากมีเส้นทางหลากหลายแล้ว ยังสามารถเดินเชื่อมไปยังอุทยานแห่งชาติชิชิบุ ทะมะ ไก ซึ่งมีเส้นทางเดินป่าอีกหลายเส้น

อีกวิธีคือใช้บริการกระเช้า หรือ cable car ขึ้นจากสถานีคิโยทะกิ อยู่ตีนเขาทะคะโอะมีระยะทางยาว 1,000 เมตร กระเช้าสูงจากพื้นดิน 270 เมตร กระเช้านี้มีความชัน 31 องศา ชันมากที่สุดในบรรดากระเช้าขึ้นภูเขาของญี่ปุ่น ใครกลัวความสูงชันไม่แนะนำขึ้นกระเช้า

กระเช้าขึ้นเขาทะคะโอะมี 2 ชนิด เป็นกระเช้าที่เรียกว่า chair lift เป็นเก้าอี้ยึดโยงกับล้อเหล็กและสายเคเบิล (ดูในรูป) กระเช้าประเภทนี้เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสธรรมชาติ เพราะมองเห็นวิวได้ทุกทิศทาง ไม่มีอะไรขวางกั้น ในช่วงหน้าหนาวใบไม้เปลี่ยนสี สีสันสวยงามมาก

ส่วนเคเบิลคาร์อีกชนิดมีรูปทรงเหมือนโบกี้รถไฟ จุได้หลายสิบที่นั่ง ทั้งสองกระเช้ามีปลายทางอยู่บนยอดเขาทะคะโอะ

 

พลิกดูประวัติของกระเช้าขึ้นเขาทะคะโอะ เริ่มเปิดบริการมาตั้งแต่ปี 2470 เป็นยุคเดียวกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 ของไทย แต่เปิดได้ไม่นานก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 กลับมาเปิดใหม่หลังสงครามสิ้นสุด มีการปรับปรุงใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติ และปรับสายเคเบิลให้ปลอดภัยสูงกว่าสายเคเบิลที่ใช้กันทั่วไปมากถึง 10 เท่าตัว

ช่วงที่ไปเห็นนักท่องเที่ยวนิยมใช้กระเช้าขึ้นภูเขาทะคะโอะกันไม่น้อย ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ หมายรวมถึงกลุ่มของผมด้วยเนื่องจากมีเวลาน้อยจึงต้องการความสะดวกรวดเร็ว

ส่วนคนที่นิยมออกกำลังด้วยการเดินขึ้นเขา และชื่นชมธรรมชาติรายล้อมข้างทางก็มีทั้งนักท่องเที่ยวท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวต่างชาติ มาเป็นกลุ่มๆ บางกลุ่มมีนับสิบคน เป็นผู้สูงอายุ เด็กเล็ก คนหนุ่มสาวก็มี

แต่โดยสรุปแล้ว การขึ้นเขาทะคะโอะมีให้เลือกหลายทาง ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว

กระเช้าขึ้นยอดเขาทะคะโอะ เมืองฮาจิโอจิ ใกล้ๆ กรุงโตเกียว เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น

กลับมาที่ประเด็นกระเช้าภูกระดึงที่กำลังถกเถียงในสื่อโชเชียลดังกระหึ่ม ความเห็นนั้นแตกเป็น 2 ด้าน ค้านก็มี สนับสนุนก็มาก

เหตุที่กลายเป็นประเด็นฮือฮา เพราะว่าเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วหน่วยงานราชการและภาคเอกชนในจังหวัดเลย ร่วมกันรวบรวมข้อมูลโครงการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงนำเสนอในเวทีประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร จัดขึ้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู

ผู้สนับสนุนโครงการกระเช้าภูกระดึงยืนยันว่า โครงการนี้ได้ประโยชน์กับท้องถิ่นอย่างแน่นอนเพราะช่วยกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวมาขึ้นภูกระดึงมากขึ้น มีเงินสะพัดปีละไม่น้อยกว่า 7 หมื่นล้านบาท

คุณภูริวัจน์ โชตินพรัตน์ นายอำเภอภูกระดึง บอกว่าชาวบ้านในอำเภอแห่งนี้ร้อยละ 90 เห็นด้วยให้สร้างกระเช้า ฝ่ายลูกหาบที่มีอาชีพแบกหามเครื่องมือเครื่องใช้ของนักท่องเที่ยวขึ้นภูกระดึงก็เห็นด้วยเหมือนกัน

กลุ่มเห็นด้วยยังบอกอีกว่า การสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงเท่ากับเปิดโอกาสให้คนจำนวนมากขึ้นมาสัมผัสความสวยงามของธรรมชาติ แทนที่จะปล่อยให้กลุ่มรักธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงเดินขึ้นไปสัมผัสธรรมชาติได้แต่ฝ่ายเดียว

ฝ่ายคัดค้านการสร้างกระเช้า อ้างว่าภูกระดึงเป็นเส้นทางท่องเที่ยวเดินป่าขึ้นเขาที่สมบูรณ์แบบ ผู้เดินป่าขึ้นภูกระดึงได้สัมผัสธรรมชาติอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่ขึ้นกระเช้าไปดูธรรมชาติแบบฉาบฉวย และเมื่อมีกระเช้าแล้วคนแห่ขึ้นไปภูกระดึงจนรับไม่ไหวทั้งที่พัก เกิดปัญหาขยะล้นและการดูแลพื้นที่

 

เดิมทีโครงการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง มีมาตั้งแต่สมัยคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ เมื่อปี 2549 ระหว่างคุณทักษิณไปประชุม ครม.สัญจรที่ อ.ด่านซ้าย จ.เลย

รัฐบาลคุณทักษิณ ยกเรื่องนี้ให้ทางองค์การบริหารพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ไปศึกษาความเป็นไปได้ ปรากฏว่ามีเสียงคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติ ทำให้เรื่องถูกเก็บพับ แม้ในรัฐบาลชุดต่อๆ มาจะผลักดันหลายครั้งหลายวาระ แต่เรื่องก็ยังค้างคาจนมาถึงรัฐบาลคุณเศรษฐา ทวีสิน

ในการประชุม ครม.สัญจรเป็นครั้งแรกที่จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมปีที่แล้ว ได้หยิบยกเอาโครงการกระเช้าภูกระดึงขึ้นมาหารือ ที่ประชุมเห็นชอบให้จัดงบฯ 28 ล้านบาทไปออกแบบก่อสร้างและวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ (environmental impact assessment)

ต่อมาคุณภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์ บุกไปสำรวจพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง แล้วบอกสื่อว่า รู้จักภูกระดึงตั้งแต่ยังเป็นเด็กๆ ฟังเพลงสุนทราภรณ์ก็นึกถึงบรรยากาศ แต่จะให้ขึ้นไปบนภูก็ไม่กล้าเพราะไม่แน่ใจในสุขภาพร่างกาย

คุณภูมิธรรมยอมรับว่า การสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงมีทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน รัฐบาลไม่ปฎิเสธเสียงแตกต่าง แต่ควรหาทางออกที่ดีที่สุด ต้องรักษาระบบนิเวศ จัดระบบท่องเที่ยวให้ปลอดภัย ไม่มีขยะหรือกระทบสิ่งแวดล้อม ต้องทำให้การท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันได้ ถ้าโครงการนี้เกิดจะเป็นคนแรกๆ ที่มาขึ้นกระเช้า

 

เมื่อ 20 ปีก่อน ผมเองก็เป็น 1 ในผู้คัดค้านการก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง ระหว่างเป็นนักข่าวสายภูมิภาคของมติชน พยายามผลักดันข่าวนี้เพราะเชื่อว่าถ้ามีกระเช้าแล้วจะเกิดผลเสียกับสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติบนภูกระดึง

แต่วันนี้ ยอมรับว่าเมื่อท่องไปในโลกกว้าง ได้เห็นกระแสนิยมธรรมชาติสิ่งแวดล้อมโหมทะลัก ขณะเดียวกันกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวก็เติบโตอย่างมาก แทบทุกประเทศต่างมีระบบจัดการบริหารเพื่อให้เกิดการสมดุลและพัฒนาอย่างยั่งยืน

“ภูกระดึง” ก็เช่นกัน เป็นจุดที่มีธรรมชาติสมบูรณ์และเป็นจุดที่สามารถพัฒนาสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้น การจะโอบกอดเอาไว้ด้วยกระแสอนุรักษ์เพียงอย่างเดียวคงเป็นไปได้ยาก

ทำอย่างไรจึงจะมีความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์ธรรมชาติกับการพัฒนา “ภูกระดึง” ให้เกิดความยั่งยืนดังกรณีตัวอย่างกระเช้า “ทะคะโอะ”? •