ผ่า…ผลประเมิน ‘PISA 2022’ ส่งสัญญาณ ‘วิกฤต’ การศึกษา??

กลายเป็นประเด็นที่วิพากษ์กันข้ามปี สำหรับรายงานผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ปี 2022 ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ที่รายงานโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ที่พบว่า ทุกวิชามีผลคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD และยังมีคะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ทั้งในระดับโลก และระดับอาเซียน

โดยคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 394 คะแนน ลดลง 6% อันดับ 58 จาก 81 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ

ด้านวิทยาศาสตร์ 409 คะแนน ลดลง 4% อันดับที่ 64 จาก 81 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ

และด้านการอ่าน 379 คะแนน ลดลง 4% อันดับ 58 จาก 81 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ

ซึ่งทุกวิชามีผลคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD โดยด้านคณิตศาสตร์ ค่าเฉลี่ย 472 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ ค่าเฉลี่ย 485 คะแนน และด้านการอ่าน ค่าเฉลี่ย 476 คะแนน

ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วงเป็นใย และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดูแล…

ขณะที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ตั้งนายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัด ศธ.เป็นประธานคณะทำงานหาแนวทางแก้ปัญหา และยกระดับผลการสอบ PISA 2025 โดยตั้งเป้าว่าจะต้องได้คะแนนอย่างน้อยเท่ากับผลการสอบ PISA 2018

แต่หากเทียบกับ PISA 2018 พบว่า คะแนนเฉลี่ยของไทยทั้ง 3 ด้าน “ลดลง” ดังนี้ ด้านคณิตศาสตร์ ลดลง 25 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ ลดลง 17 คะแนน และด้านการอ่าน ลดลง 14 คะแนน

โดยผลการประเมินของไทยตั้งแต่ PISA 2000 จนถึง PISA 2022 พบว่า คะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ และการอ่านมีแนวโน้มลดลง ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ ไม่เปลี่ยนแปลงทางสถิติ!!

 

อย่างไรก็ตาม การประเมิน PISA 2022 มีนักเรียนเข้าร่วมการประเมินประมาณ 690,000 คน ถือเป็นตัวแทนของนักเรียนอายุ 15 ปี ประมาณ 29 ล้านคน จาก 81 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ สำหรับประเทศไทย สสวท.ทำหน้าที่เป็นศูนย์แห่งชาติ จัดสอบเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 มีนักเรียนกลุ่มตัวอย่างเข้าร่วมการประเมินจาก 279 โรงเรียนในทุกสังกัด รวม 8,495 คน โดยนักเรียนทำแบบทดสอบ และแบบสอบถามด้วยคอมพิวเตอร์

ซึ่งผลการประเมินครั้งล่าสุดนี้ พบว่า นักเรียนสิงคโปร์มีคะแนนเฉลี่ยทั้งด้านคณิตศาสตร์ ด้านวิทยาศาสตร์ และด้านการอ่าน สูงกว่าทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่เข้าร่วมการประเมินในครั้งนี้

โดยประเทศที่มีคะแนนสูงสุด 5 อันดับแรกในด้านคณิตศาสตร์ ที่เน้นในรอบการประเมินนี้ เป็นประเทศ/เขตเศรษฐกิจในเอเชียทั้งหมด ได้แก่ สิงคโปร์ มาเก๊า จีนไทเป ฮ่องกง และญี่ปุ่น

สำหรับประเทศสมาชิก OECD จำนวน 37 ประเทศ มีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ 472 คะแนน ด้านวิทยาศาสตร์ 485 คะแนน และด้านการอ่าน 476 คะแนน เมื่อเทียบกับ PISA 2018 พบว่า ค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ด้านคณิตศาสตร์ และการอ่านลดลง ส่วนด้านวิทยาศาสตร์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางสถิติ

ส่วนผลการประเมินของประเทศที่ได้คะแนนด้านคณิตศาสตร์สูงสุด 10 อันดับแรก และผลการประเมินของประเทศในกลุ่มอาเซียน ดังนี้ สิงคโปร์ มาเก๊า จีนไทเป ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี เอสโตเนีย สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา และเนเธอร์แลนด์!!

 

ทั้งนี้ รศ.ดร.ธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการ สสวท.ได้วิเคราะห์ผลประเมิน PISA 2022 ของไทย ตามสังกัดการศึกษา และกลุ่มโรงเรียนที่เข้าร่วมการประเมินครั้งนี้ พบว่ากลุ่มโรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ มีคะแนนเฉลี่ยทั้ง 3 ด้าน อยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่มีคะแนนคณิตศาสตร์สูงสุด 5 อันดับแรก

ส่วนกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย มีคะแนนเฉลี่ยด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD สำหรับกลุ่มโรงเรียนอื่นๆ ยังคงมีคะแนนเฉลี่ยทั้ง 3 ด้าน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD

รศ.ดร.ธีระเดช ระบุว่า ผลประเมินครั้งนี้ ไม่ได้มีเพียงไทยประเทศเดียวที่ผลการประเมิน PISA ต่ำสุดในรอบ 20 ปี แต่เกิดขึ้นกับทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศสมาชิกของ OECD จำนวน 37 ประเทศด้วย เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่แม้แต่จีน ก็ไม่ปรากฏข้อมูล เพราะไม่สามารถเก็บข้อมูลได้

“ถ้าสังเกตดูผลการประเมิน PISA เมื่อปี 2009 และ 2012 จะเห็นว่าคะแนนกระดกหัวขึ้น เพราะชินกับข้อสอบกระดาษ เข้าใจข้อสอบ ที่เน้นทักษะการแก้ปัญหา มีคำตอบแบบตัวเลือก แต่การประเมิน PISA 2015 สอบผ่านคอมพิวเตอร์ เด็กไทยไม่คุ้น แต่โรงเรียนที่คะแนนดีอย่างโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย 12 แห่ง และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ นักเรียนทำข้อสอบผ่านคอมพิวเตอร์ จึงคุ้นชิน ดังนั้น สิ่งที่กำลังร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) คือจัดทำระบบข้อสอบออนไลน์คล้ายข้อสอบ PISA เพื่อให้นักเรียน และครู ลงทะเบียน และทดลองใช้ได้” รศ.ดร.ธีระเดช กล่าว

สำหรับ “ครู” รศ.ดร.ธีระเดช ฟันธงว่า มีส่วนสำคัญมากๆ ในการช่วยนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนกลุ่มช้างเผือก ที่มีมากถึง 15% เป็นนักเรียนที่เก่ง แต่ฐานะทางบ้านไม่ดี ดังนั้น ครูต้องใช้คำถามเป็นตัวนำให้เด็กได้คิด วิเคราะห์ แก้ปัญหา จึงต้องอบรมให้ครูเป็น “โค้ช” แทนการให้ความรู้ แนะนำเด็กได้ ให้สนุกกับการเรียน และเรียนรู้ต่อด้วยตัวเอง นอกจากนี้ ในพื้นที่ห่างไกลที่ครูขาดแคลน เด็กได้เรียนบ้าง ไม่ได้เรียนบ้าง จะทำให้เด็กเข้าถึงสื่อได้อย่างไร

ส่วนที่รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ตั้งเป้าว่าในการสอบ PISA 2025 ผลการประเมินของเด็กไทยจะต้องดีขึ้น อย่างน้อยเท่ากับปี 2018 นั้น รศ.ดร.ธีระเดช ระบุว่า จะทำได้หรือไม่ ไม่แน่ใจ คาดหวังแค่ได้เท่ากับค่าเฉลี่ยของประเทศสมาชิก OECD ซึ่งมี 37 ประเทศ ก็ดีแล้ว ซึ่งไม่ใช่ค่าเฉลี่ยของประเทศทั้งหมดที่เข้าร่วมประเมินในปีนั้นๆ เพราะแม้แต่ประเทศสมาชิก OECD เอง มีที่ได้คะแนนเกินค่าเฉลี่ยไม่ถึง 20 ประเทศ

ขณะที่ นางสุพัตรา ผาติวิสันติ์ รองผู้อำนวยการ สสวท.จะยอมรับว่า ข้อสอบ PISA ครั้งที่ผ่านมายากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ที่การเรียนรู้ของเด็ก อาจจะไม่ได้เต็มที่ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การใช้เหตุผล และคิดวิเคราะห์ ที่ต้องได้จากห้องเรียนขาดหายไปบ้าง

ฉะนั้น มองว่าการสอบ PISA 2025 จะต้องส่งเสริมการเรียนรู้ในห้องเรียน เน้นการคิดวิเคราะห์ เพราะรอบต่อไปข้อสอบจะเน้นความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และสิ่งแวดล้อมทั่วโลกเป็นหลัก!!

 

อย่างไรก็ตาม ผลการประเมิน PISA 2022 ที่ออกมา ก็ถือเป็น “สัญญาณ” เตือนให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการศึกษา และรัฐบาล ตระหนักถึง “วิกฤต” การศึกษาของประเทศ ที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้ ภายหลังจากทั้งโลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

ซึ่ง ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เห็นว่าการศึกษาไทยในขณะนี้วิกฤตอย่างมาก นายกฯ ควรเร่งแก้ไขโดยด่วน เพราะปัญหาคุณภาพการศึกษา ไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษอย่างเดียวที่รั้งท้ายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่อาจรั้งท้ายโลก เพราะเมื่อดูผลคะแนนสอบ PISA และคะแนนสอบโอเน็ต จะเห็นว่าการศึกษาไทยตกต่ำมาหลายปีแล้ว ที่วิกฤตไม่แพ้กันคือ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ดังนั้น จะสั่งแก้ปัญหาเฉพาะภาษาอังกฤษไม่ได้ เพราะการศึกษาไทยแย่ทั้งหมด

แต่ ศธ.กลับสนใจแก้ไขวิชาประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง…

สิ่งที่เป็นวิกฤตมากกว่า ในมุมมองของ ศ.ดร.สมพงษ์ คือ “รัฐมนตรี” ที่เข้ามาดูแลด้านการศึกษา รับรู้ รับทราบ เห็นวิกฤตที่เกิดขึ้น แต่ไม่แก้ไข ทั้งที่มีอำนาจ และสั่งการได้ จึงอยากฝากให้รัฐบาลกลับมาใส่ใจคำว่า “ปฏิรูปการศึกษา” ปรับปรุงระบบกฎหมาย รื้อ หรือปรับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ หันมาทำระบบหลักสูตร จะทำอย่างไรไม่ให้การเรียนติดหล่ม 8 กลุ่มสาระวิชา เปลี่ยนให้เป็นการศึกษาสมัยใหม่ กระจายอำนาจอย่างจริงจัง

พร้อมฟันธงว่า ขณะนี้ “คุณภาพ” การศึกษาไทยกำลัง “ดำมืด” ประเทศจะเดินต่อไม่ได้ ถ้าคุณภาพการศึกษาด้อยลงๆ “เด็กไทย” รุ่นนี้จะกลายเป็น “คนด้อยคุณภาพ”…

ต้องติดตามว่า นายกฯ เศรษฐา ในฐานะผู้นำรัฐบาล และเจ้ากระทรวง ศธ.จะขยับตัว หรือลุยแก้วิกฤตการศึกษาอย่างไร หรือจะปล่อยให้การศึกษาไทย เป็นไปตามยถากรรม!! •

 

| การศึกษา