หอค้าภูธรตื่นตัว ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ รับนโยบาย เฟ้นของดีเมืองไทย หนุนปั๊ม 10 ล้านล้านพลิก ศก.ฐานราก

บทความเศรษฐกิจ

 

หอค้าภูธรตื่นตัว ‘ซอฟต์เพาเวอร์’

รับนโยบาย เฟ้นของดีเมืองไทย

หนุนปั๊ม 10 ล้านล้าน พลิก ศก.ฐานราก

 

เรียกว่าเป็นกระแสฮอตฮิตปากในปี 2566 อีกหนึ่งคำ กับ ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ ที่ฮือฮาสุดสุด หลังรัฐบาลนำโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศเดินหน้าผลักดันนโยบายการส่งเสริมซอฟต์เพาเวอร์อย่างเต็มรูปแบบ และกำหนดให้เป็นนโยบายเศรษฐกิจระยะกลางถึงยาว เพื่อสร้างโอกาสโกยเม็ดเงินใหม่ๆ เข้าประเทศ

โดยที่มี แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ทำหน้าที่ในฐานะรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นหัวเรือขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ซึ่งมีการทำแผนงบประมาณปี 2567 มูลค่า 5,164 ล้านบาท ด้วยการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ 11 ด้าน 12 คณะ ได้แก่ แฟชั่น หนังสือ ภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ เฟสติวัล อาหาร ออกแบบ ท่องเที่ยว เกม ดนตรี ศิลปะ และกีฬา

โดยตั้งเป้าหมายสร้างมูลค่าใน 11 อุตสาหกรรมถึง 10 ล้านล้านบาทภายใน 4 ปี!

ขึ้นปี 2567 นโยบายซอฟต์เพาเวอร์รัฐบาล จะถูกการผลักดันไปในทุกมิติ ซึ่งภาคเอกชนถือเป็นผู้ดำเนินการเป็นหลักเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย หลังรัฐบาลทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุน และได้จัดตั้ง 12 คณะอนุกรรมการ เป็นแกนกลางจัดทำแผนงานและออกแบบโครงการสาขาต่างๆ จากการเฟ้นหาของดีประจำจังหวัด เพื่อนำมาเป็นตัวชูโรงในอุตสาหกรรมซอฟต์เพาเวอร์

จากแนวทางที่ขับเคลื่อนกันมาสักระยะหนึ่ง และผู้เล่นสำคัญคือภาคเอกชน ดังนั้น ‘มติชนสุดสัปดาห์’ จึงได้สอบถามความคืบหน้าการทำงาน และแนวคิดทั้งระบบ ผ่านหอการค้าไทย 5 ภาค

 

เริ่มที่ภาคเหนือ สมบัติ ชินสุขเสริม ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย กล่าวว่า การสนับสนุนนโยบายซอฟต์เพาเวอร์ของรัฐบาล โดยหอการค้าไทย ได้ทำงานขับเคลื่อนร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดำเนินโครงการแฮปปี้ โมเดล (Happy Model)

ภายใต้คอนเซ็ปต์ กินดี อยู่ดี ออกกำลังกายดี และแบ่งปันสิ่งดีๆ สำหรับเรื่องกินดี

จะนำเสนอเรื่องอาหารท้องถิ่น หรืออาหารประจำถิ่นแต่ละพื้นที่ เช่น อะยิอะเยาะ เป็นแกงที่รวมผักพื้นบ้านอย่างละนิดละหน่อยนำมาประกอบอาหาร และมีสรรพคุณเป็นสมุนไพรได้ด้วย

ขณะที่เรื่องอยู่ดี โดยจะเน้นเรื่องการท่องเที่ยวพื้นที่ต่างๆ เน้นท่องเที่ยวในบรรยากาศเน้นวิถีชีวิตของประชาชน

รวมถึงออกกำลังกายดีก็มีที่ผักผ่อนเป็นสวนสาธารณะสามารถไปทำกิจกรรมได้ เป็นต้น

ขณะที่ ปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย กล่าวว่า การจะผลักดันซอฟต์เพาเวอร์ดูแล้วไม่น่าจะใช่เรื่องง่าย เพราะถ้ามีการระดมหลายๆ อย่างพร้อมกันอาจทำให้ผลตอบรับไม่ดีอย่างที่คาดการณ์

ซึ่งสิ่งที่อยากจะทำให้เป็นซอฟต์เพาเวอร์ควรจะมีการกำหนดให้ชัดเจนในแต่ละจังหวัด และทำให้หลายฝ่ายผลักดันไปพร้อมกัน จึงมองว่ารัฐบาลจะต้องทำเรื่องที่มีอยู่แล้วให้เกิดการรับรู้ผ่านโฆษณามากขึ้น หรือโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดียที่จะสามารถขยายการรับรู้ได้อย่างรวดเร็ว และรัฐต้องทำเรื่องนี้จริงจังมากขึ้น

 

ด้านภาคกลาง ธวัชชัย เศรษฐจินดา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย กล่าวว่า การทำงานของหอการค้าไทยเรื่องการพัฒนาซอฟต์เพาเวอร์ ซึ่งภาคเอกชนได้ร่วมอยู่ในคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และคณะอนุกรรมการในด้านเฟสติวัล ซึ่งจากที่มีการนำร่องเรื่องเทศกาลมหาสงกรานต์ปี 2567 ที่จะมีการสาดน้ำตลอดทั้งเดือนแล้ว

ซึ่งทางคณะทำงานจะเข้าไปดูงานเทศกาลประจำจังหวัด หรือพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว จะทำอย่างไรให้อีเวนต์ที่มีการจัดทำนั้นถูกยกระดับขึ้นมาให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เช่น การจัดกิจกรรมระดับงานระดับจังหวัดให้ขึ้นเป็นงานระดับภูมิภาค หรืองานระดับประเทศได้หรือไม่

“ซึ่งตัวนี้จะส่งผลให้กระตุ้นการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย และแก้ปัญหาที่ปัจจุบันนักท่องเที่ยวเดินทางไปกระจุกตัวท่องเที่ยวในพื้นที่ยอดนิยม หรือในจังหวัดหลักๆ เท่านั้น โดยที่เม็ดเงินจะไม่สะพัดเข้าสู่เมืองรอง ดังนั้น การเปิดอีเวนต์ใหม่ๆ ที่กระจายตัวในพื้นที่ต่างๆ จะสร้างบรรยากาศกระตุ้นนักท่องเที่ยวเข้าไปสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ได้ด้วย ซึ่งเทศกาลไทยถือเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมที่นับเป็นซอฟต์เพาเวอร์หลักของเมืองไทย”

ธวัชชัยกล่าว

 

ขณะเดียวกัน สวาท ธีระรัตนนุกูลชัย ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย กล่าวว่า การทำงานของภาคเอกชนในภาคอีสาน ขณะนี้ได้ให้ชุดคณะทำงานลงพื้นที่ เพื่อดูว่าจะนำอะไรมาเรียกว่าเป็นซอฟต์เพาเวอร์ผ่านการสรรหาตามนโยบาย 1 อำเภอ 1 ซอฟต์เพาเวอร์ และทำความเข้าใจเรื่องต่างๆ รวมถึงต้องดูด้วยว่าสิ่งที่นำเสนอจะมีอันไหนโดน อันไหนไม่โดน และสุดท้ายจะมีขั้นตอนการขัดเลือก รวมถึงมีข้อสรุปที่ชัดเจน เพื่อเสนอรัฐบาลต่อไป

“หากดูในพื้นที่ของภาคอีสาน จุดเด่นคงจะเป็นเรื่องดนตรี โดยเฉพาะแนวเพลงหมอลำ รถแห่ ที่มีดนตรีสนุกและเป็นสีสัน ขณะที่เรื่องสายมู หรือการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อ เข้ามาเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน เช่น งานบุญบั้งไฟพญานาค ที่เห็นชัดเจนว่ามีทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติให้ความสนใจ ซึ่งเอกชนและรัฐต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น” นายสวาทกล่าว

และนายหัวใหญ่อย่าง วัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคใต้มีจุดเด่นเรื่องการท่องเที่ยวที่ถือเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมด้านการท่องเที่ยวอยู่แล้ว เพราะมีการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้การใช้ชีวิตของคนพื้นถิ่น และมีการเรียนรู้การทำเกษตรด้วย รวมถึงการเผยแพร่ประเพณีไทย เช่น การแสดงโนรา หนังตะลุง ลิเกป่า รวมถึงอาหารไทย โดยที่ผ่านมา ภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่ได้ดำเนินการมาก่อนจะมีนโยบายซอฟต์เพาเวอร์แล้ว

“อย่างไรก็ตาม ตามที่รัฐมีการสนับสนุนนโยบายนี้ และกำลังจะมีการจัดสรรงบประมาณในด้านนี้ด้วย ภาคเอกชนอยากให้เม็ดเงินมาสนับสนุนเรื่องต่างๆ ได้มากขึ้น เพราะต้องการให้กระตุ้นสิ่งที่ทำอยู่ให้เกิดการรับรู้ในกลุ่มชาวต่างชาติมากขึ้น เพราะหากมีการโปรโมตและทำสำเร็จจะเกิดเม็ดเงินสะพัดในเศรษฐกิจ และเกิดการจ้างงานในพื้นที่ได้ด้วย” ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้กล่าว

ภาคเอกชนพร้อมจะขับเคลื่อน ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ ด้วยของดีเมืองไทย ด้วยความหวังว่าจะโดนใจทั้งคนในประเทศและนอกประเทศได้แท้จริง และคุ้มค่าเหนื่อยแน่นอน!