เมื่อ ‘ตัวตึง’ มาร่วมวง BRICS การแบ่งขั้วอำนาจก็ร้อนแรงขึ้น!

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

เมื่อ ‘ตัวตึง’ มาร่วมวง BRICS

การแบ่งขั้วอำนาจก็ร้อนแรงขึ้น!

 

เปิดมาปีใหม่ ใครที่กำลังสนใจว่าโลกกำลังจะแบ่งขั้วอย่างชัดเจนมากขึ้นต้องทำความเข้าใจกับการประกาศรับสมาชิกใหม่อีก 5 ประเทศเข้ากลุ่ม BRICS

นี่คือจุดหักเหที่อาจจะหมายถึงการก่อตัวของกลุ่มเศรษฐกิจ, การเมืองและความมั่นคงใหม่ที่สามารถถ่วงดุลแห่งอำนาจกับ

ก๊วนตะวันตกที่นำโดยสหรัฐมายาวนานตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเลยทีเดียว

เป็นอีกหนึ่งโจทย์สำหรับรัฐบาลเศรษฐาในเวทีระหว่างประเทศในปีที่สงครามร้อนๆ ทั้งในยูเครนและฉนวนกาซายังทำท่าจะขยายวงออกไปอย่างน่ากังวล

ไม่นับความตึงเครียดที่ขยับขึ้นอีกในย่านเอเชียไม่ว่าจะเป็นทะเลจีนใต้, เกาหลีเหนือหรือช่องแคบไต้หวันที่ทำให้ไทยต้องวางตำแหน่งทางการทูตที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของเราอย่างแท้จริง

ต้นปีที่แล้ว สมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการแสดงความสนใจที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS

โดยให้เหตุผลว่าเราต้อง “รักษาสมดุลของขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่และประเทศพัฒนาแล้ว”

เป็นก้าวย่างที่ต้องพิจารณาหลายปัจจัยที่มีทั้งด้านบวกและลบ

รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน คงต้องบอกคนไทยว่าจะพิจารณาก้าวต่อไปในเรื่องนี้อย่างไร

BRICS คือบราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน และแอฟริกาใต้

และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมาได้ประกาศตนเป็น BRICS+ ด้วยการต้อนรับสมาชิกใหม่ 5 ชาติจากแอฟริกาและตะวันออกกลาง

ด้วยความคาดหวังว่า จะกลายเป็นกลุ่มใหม่ที่ไม่เพียงแต่มีอำนาจต่อรองด้านเศรษฐกิจเท่านั้น

แต่ยังจะเป็นกลุ่มก้อนที่สามารถคานอำนาจของตะวันตกได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

สมาชิกใหม่ทั้งห้าชาติล้วนมีพลังที่เรียกเสียงฮือฮาได้ทั้งนั้น

อียิปต์, เอธิโอเปีย, อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์

ส่งเสียงออกมาพร้อมเพรียงกันว่านอกจากจะสร้างพลังของกลุ่มกันเองแล้ว เป้าหมายหลักคือจะต้อง “ลดการพึ่งพาชาติตะวันตก”

BRICS เกิดปี 2006 เริ่มด้วยสมาชิก 4 ชาติคือ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย และจีน เรียกตัวเองว่า BRIC

มาเพิ่งตัว S ก็เมื่อแอฟริกาใต้มาสมทบในปี 2010

จีนกับรัสเซียเป็น “ตัวตึง” ของกลุ่มนี้ตั้งแต่แรก ส่งเสียงดังตั้งแต่ต้นว่าตะวันตกอย่าได้ซ่า อย่าทึกทักเอาว่าจะสามารถครอบงำเศรษฐกิจและการเมืองโลกต่อไปอย่างไร้ขีดจำกัด

แต่ทั้งปักกิ่งและมอสโกต่างก็รู้ว่าเพียงแค่ 5 ประเทศคงจะยังไม่สามารถสร้างพลังมากพอที่จะท้าทายวอชิงตันและบรัสเซลส์ได้

แต่ผมเชื่อว่าก้าวใหม่ที่เพิ่มสมาชิกมาอีก 5 ประเทศ (เพิ่มสมาชิกขึ้นเท่าตัวชั่วข้ามคืน) BRICS มี “กำลังภายใน” มากพอที่จะทำให้ตะวันตกต้องลุกขึ้นมาจับจ้องหนักขึ้นอีกแน่นอน

เริ่มด้วยการผนึกกำลังระหว่างจีนและรัสเซียที่เป็น “หัวหอก” ต่อต้านสหรัฐและสหภาพยุโรป

แอฟริกาใต้และบราซิลเป็น “พี่ใหญ่” ของทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ตามลำดับ

พอรวมกับอีก 5 ประเทศกลายเป็น 10 ชาติก็ทำให้กลุ่มนี้น่าเกรงขามไม่น้อย

ประชากรรวมของสมาชิกทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 3.5 พันล้านคน หรือ 45% ของประชากรโลก

ขนาดเศรษฐกิจของ BRICS มีมูลค่ากว่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

นั่นเท่ากับ 28% ของมูลค่ารวมของเศรษฐกิจโลก

แต่ที่ทำให้ใครต่อใครต้องสนใจเป็นพิเศษคือสมาชิก BRICS ที่ขยายตัวเป็นกลุ่ม 10 ประเทศรวมกันแล้วเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบป้อนตลาดโลกราว 44%

 

ไม่ต้องสงสัยว่า BRICS ประกาศด้วยเสียงแข็งกร้าวว่าต่อแต่นี้กลุ่มนี้ต้องการจะเป็น “ตัวแทนและกระบอกเสียงอันดังของ” กลุ่มเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต

ที่รู้จักกันดีในนาม Global South ที่ฝ่ายตะวันตกก็พยายามจะจีบมาเป็นพรรคพวกของตนเหมือนกัน

ตะวันตกมีธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กลุ่มใหม่นี้ก็ต้องมีทางเลือกแบบเดียวกัน

ปี 2014 BRICS ตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (New Development Bank-NDB) เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงเงินกู้เพื่อนำไปพัฒนาประเทศ

หรือที่ธนาคารโลกกับธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank หรือ ADB) มักเมินคำร้องขอจากประเทศที่มีตัวเลขเศรษฐกิจที่ไม่เข้ามาตรฐานตะวันตก

เพื่อพิสูจน์ว่ากลุ่ม BRICS เป็นที่พึ่งพิงของประเทศที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ธนาคาร NDB จึงปล่อยกู้ให้เห็นเป็นประจักษ์

ณ สิ้นปี 2022 ธนาคารแห่งนี้ปล่อยกู้ให้ประเทศกำลังพัฒนาไปสร้างถนน, สะพาน, รางรถไฟ และโครงการพัฒนาน้ำประปา รวมเป็นมูลค่าเกือบ 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าจีนคือ “พี่ใหญ่” ในเรื่องนี้ เพราะการตั้งธนาคารของ BRICS เดินตามแนวเดียวกับธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้กับประเทศที่ร้องขอ

นั่นคือ Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) ที่ให้กู้กับประเทศที่ร่วมมือกับจีนในโครงการ BRI (Belt & Road Initiative)

แต่มิติที่ซ้อนอยู่คือรัสเซียอาจไม่ได้มองทุกอย่างเกี่ยวกับ BRICS เหมือนจีนเสียเลยทีเดียว

มอสโกย่อมต้องมองว่า BRICS จะช่วยสู้มาตรการคว่ำบาตรโดยเฉพาะหลังประธานาธิบดีปูตินตัดสินใจส่งทหารรัสเซียเข้าทำสงครามยูเครน

พออิหร่านอยู่ในรายชื่อสมาชิกใหม่ของ BRICS ก็ถึงบางอ้อ

อิหร่านตกอยู่ในที่นั่งเดียวกับรัสเซีย…เพราะโดนตะวันตกคว่ำบาตรด้วยกรณีการวิจัยและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

มีคนถามว่า ถ้า BRICS มีเงินสกุลใหม่จะแทนดอลลาร์หรือไม่

เรื่องของเรื่องคือบราซิลและรัสเซียอยากเห็นเงินสกุลใหม่เพื่อฟาดฟันกับเงินสกุลสหรัฐ

แต่จีนอาจจะต้องคิดหนัก เพราะด้านหนึ่งปักกิ่งต้องการผลักดันเงินหยวนให้แข่งกับดอลลาร์

หากมีเงินสกุลใหม่ของ BRICS จีนก็อาจจะต้องผลักดันทั้งหยวนและเงินสกุลใหม่…ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ถึงวันนี้บอกได้ว่าความคิดเรื่องเงินสกุลบริกส์ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างนัก

 

บางสำนักตั้งข้อสังเกตว่า BRICS เตรียมเทียบมวยกับกลุ่ม G-20 ของตะวันตกหรือเปล่า

แต่มีประเด็นว่าบางประเทศยืนถ่างขาทั้งสองข้าง

มองในแง่ท้าทาย สองเสืออยู่ในถ้ำเดียวกันไม่ได้

แต่มองในแง่บวก อย่างที่สี จิ้นผิง ของจีนเคยกระซิบโจ ไบเดน แห่งสหรัฐว่า “โลกใบนี้ใหญ่พอสำหรับเราสองประเทศ”

ทางเลือกสำหรับทั้งสองกลุ่มก็คือ : “ข้าอยู่เอ็งไป เอ็งอยู่ข้าไป”

หรือไม่ก็อาจจะมาในรูปของการ “โลกใหญ่พอสำหรับเสือสองตัว”

แต่เพราะรัสเซียจะเป็นเจ้าภาพในการประชุมสุดยอดประจำปีที่เมืองคาซาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ จึงไม่ต้องแปลกใจหากปูตินจะใช้จังหวะนี้แสดงอิทธิฤทธิ์ของ BRICS ให้ร้อนแรง

ข้อแรก ผู้นำรัสเซียบอกว่าจะให้ BRICS มีบทบาทคึกคักขึ้นในเวทีการเงินระหว่างประเทศ

อีกทั้งจะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคธนาคารและขยายการใช้เงินสกุลท้องถิ่นของสมาชิก BRICS

และจะกระชับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านภาษีและศุลกากร

บางคนมองว่าปูตินคงไม่พลาดโอกาสที่จะใช้ BRICS เป็นอาวุธยันกับตะวันตก

ดังนั้น หากจะถามดังๆ ว่า BRICS ที่ขยายสมาชิกจาก 5 เป็น 10 จะนำไปสู่ “ระเบียบโลก” ใหม่ที่จะสยบโลกภายใต้การนำของตะวันตกหรือไม่ คำตอบก็คงจะอยู่ที่ว่า จีนกับรัสเซียจะบริหารจัดการสมาชิกเก่าและใหม่ที่มี “วาระ” ที่แตกต่างกันอย่างมีนับสำคัญมากน้อยเพียงใด

ยิ่งมี “ตัวตึง” เดิมคือรัสเซีย และ “ตัวตึงใหม่” เช่น อิหร่านมารวมตัวกันเข้าอย่างนี้ก็อาจจะนำไปสู่การ “เผชิญหน้า” ระหว่างกลุ่มเก่ากับกลุ่มใหม่หนักขึ้น

แต่หาก “พี่ใหญ่” อย่างจีนจะเล่นบทเป็น “กาวใจ” ประสานรอยร้าวทั้งสองก๊วนได้ ก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการมีระเบียบโลก “สองขั้วคู่ขนาน” ที่อาจจะสร้างโลกที่มี “ดุลอำนาจ” สูสีคู่คี่ นำมาซึ่งสันติภาพและการเคารพกันและกันได้

มอง “โลกสวย” ในปี “มังกรพ่นไฟ” ก็อาจจะคลายเครียดไปได้บ้าง…ก่อนจะเจอ “ของจริง” ในปีนี้

ซึ่งผมกริ่งเกรงว่ามันจะหนักหน่วงรุนแรงกว่าที่ผู้คนหวาดหวั่นกันหลายเท่านัก

เพี้ยง! ขอให้ผมทำนายผิดเถิด…

https://twitter.com/matichonweekly/status/1552197630306177024