มนัส สัตยารักษ์ : นาฬิกาเจ้ากรรม

เพราะที่จริงแล้วผมเป็นมากกว่า “นักคิด” นั่นคือเป็นคน “คิดมาก” ต่างหาก คิดมากจนพวกเขาพากันออกปากบ่นว่าผมทำตัวน่ารำคาญทีเดียว

ผมคิดเตลิดเปิดเปิงไปถึงว่า ทำไมหลายคนจึงทำให้ชีวิตที่น่าจะสุขสบาย ต้องวุ่นวายจนถึงขั้น “วิกฤต” ไปกับของเล็กๆ ไร้ความจำเป็นอย่างแหวนเพชรหรือนาฬิกา

กรณีที่เป็นข่าวฟุ้งกระจายของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผมก็คิดมากจนพล่ามพูดแล้วพูดอีกด้วยความฉงนสนเท่ห์ใจ

แล้วผมก็โดนคนรอบข้างทักว่า “คิดอะไรแปลกๆ…ประสาท!”

ก็คงจะมีส่วนของ “ประสาท” อยู่บ้าง เพราะทั้งนาฬิกาและแหวนเพชรเป็นของมีราคาที่ผมไม่อยากมี ไม่อยากได้ ผมอยากมีอยากได้แค่รถยนต์ดีๆ อยากมีบ้านน่าอยู่ อยากมีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่เข้ากับสมัย และอยากกินอาหารที่อร่อยและถูกอนามัย

ผมก็รู้ว่าทั้งนาฬิกาและแหวนเพชร เขาซื้อขายกันด้วยเงินจำนวนหนึ่งที่สูงมาก ถ้ามีใครเอามาให้ผมก็ยินดีรับไว้ แต่ผมก็จะเอาไปขายในทันทีเพื่อเอาเงินไว้ซื้อบ้าน รถยนต์หรือเสื้อเครื่องนุ่งห่ม หรือกินอาหารอร่อย

ผมไม่เคยอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เป็นคนที่ยังมีกิเลสเต็มตัวก็จริง อยากได้อะไรต่อมิอะไรมากมาย แต่ไม่เคยอยากมีนาฬิการาคาเป็นล้านหรือแหวนเพชรเม็ดโตเลยครับ

มีเรื่องโบราณส่วนตัวเกี่ยวกับนาฬิกา แหวนและทรัพย์สินอื่นๆ ซึ่งผมใคร่ขอเล่าเป็นประสบการณ์ โดยขอยืนยันว่ามิได้หวังว่าจะอวดสมถะหรือประจานความจนของตัวเองแต่อย่างใด

เป็นแค่ประสบการณ์เท่านั้น…

เมื่อครั้งเรียนมัธยมหก ผมทำสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องหาย พระเครื่ององค์นี้พ่อบอกว่าได้มาจากเพื่อนข้าราชการนามสกุล “สุขุม” ผมจึงมั่นใจว่าเป็นของแท้รุ่นโบราณ ทำให้ผมมีความทุกข์จนนอนไม่หลับอยู่เป็นเดือน

เป็นเหตุให้ผมเลิกแขวนพระ (ซึ่งหมายถึงเลิกสรวมสร้อยคอด้วย) มาแต่บัดนั้นจนถึงวันนี้ เมื่อเห็นว่าถ้าเราทำทรัพย์สินอัน “หาค่ามิได้” สูญหายย่อมเกิดทุกข์รุนแรง ดังนั้น เราไม่ควรหาความทุกข์มาแขวนคอและผูกข้อมือ จนในที่สุดเราก็จะกลายเป็นคนมีนิสัยไม่อยากมีอยากได้ของมีค่าไว้ในครอบครอง

ผมไม่นิยมใส่นาฬิกาข้อมือมาแต่ไหนแต่ไร อาจจะเป็นเพราะข้อมือเล็ก ถ้าจะใส่ให้กระชับก็ควรใช้ของเด็กหรือของผู้หญิง

เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ ผมไม่ได้เป็นนักบินอวกาศซึ่งจำเป็นจะต้องเคร่งครัดเรื่องเวลา

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับคำสั่งแต่งตั้งเป็นสารวัตรสถานีตำรวจนครบาลอีกครั้ง ญาติคนหนึ่งได้ซื้อนาฬิกา (ยี่ห้อธรรมดาของญี่ปุ่น) ให้หนึ่งเรือน พร้อมพูดประชด

“เป็นตำรวจท้องที่ปกครองลูกน้องเป็นร้อย วางตัวให้เขานับถือหน่อย… ต้องผูกนาฬิกาข้อมือ ต้องเป็นคนรู้จักเวลาและตรงเวลา”

พอย้ายออกจากการเป็นตำรวจโรงพัก ผมก็เลิกใช้นาฬิกา ขณะที่เขียนนี้ผมยังนึกไม่ออกเลยว่ามันอยู่ที่ไหน

แต่ผมก็มีเรื่องเกี่ยวกับนาฬิการาคาแพงมาเล่าแก้ “เชย” อยู่ 2 เรื่อง

เรื่องแรก ครั้งไปสวิตเซอร์แลนด์ สุภาพสตรีผู้ร่วมคณะคนหนึ่งซื้อนายฬิกายี่ห้อดังราคาแพงถึง 2 เรือน (ราคาเป็นแสนหรือ 2 แสนขึ้น) เมื่อผมขอแยกตัวออกจากคณะ (ที่ใช้เวลาช้อปปิ้งนาน) หล่อนได้ฝากเรือนหนึ่งให้ผมถือไป จะด้วยเหตุผลอะไรผมก็ลืมเสียแล้ว ผมก็ยินดีรับฝากไปทั้งๆ ที่ขึ้นรถรางไปตามลำพังคนเดียว และรู้สึกโล่งอกที่ได้คืนเจ้าของไปโดยปลอดภัย

อีกครั้งผมไปตลาดนาฬิกาในเมืองเดียวกันนี่แหละ คราวนี้เพื่อนนายตำรวจคนหนึ่งเป็นคนชวนไปเดินช้อปปิ้ง เขาเอาแต่เอ่ยพล่ามถึงคำว่า “ฮอยเอ้อร์ ฮอยเอ้อร์” จนผมได้รู้จักชื่อนี้ว่ามันคือชื่อนาฬิกายี่ห้อ Tag Heuer ซึ่งต่อมากลับถูกค่อนแคะว่าเป็นนาฬิกากระจอก!

ความรู้รอบตัวล่าสุดมีว่า นาฬิกาที่แพงที่สุดในเวลานี้ก็คือ “ริชาร์ด มิลล์” ยี่ห้อเดียวกับที่กำลังเป็นข่าวนี่แหละ คือ 2.8 ถึง 66 ล้านบาท!

ส่วนเครื่องประดับประเภทแหวนนั้นผมใส่ “แหวนรุ่น นรต.” เพียงวงเดียวจนเป็น ร.ต.ท. แล้วไปทำหลุดหล่นหายในลำธารแห่งหนึ่งของป่าศรีราชา จังหวัดชลบุรี ลูกน้องที่ไปด้วยต่างอาสาจะลงไปงมคืนมา พวกเขาเชื่อว่า ถ้าทำแหวนรุ่นหายจะไม่ได้แต่งงาน แต่ผมก็ห้ามไว้ แล้วก็เลิกสวมแหวนมาแต่บัดนั้น

โล่งอกไปที่ไม่มีแหวนเพชรไว้ลืมหรือทำหล่นหายอีก

กลับมาคุยถึงเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับนาฬิกากันอีกสักนิด

ตามประสาคนสอดรู้สอดเห็น สายตาดันสอดแทรกไปเห็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ รายงานเมื่อ 13 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า อดีตประธานสภาอินโดนีเซีย นายเซตยา โนวานโด ถูกตั้งข้อหารับสินบนมูลค่า 7.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 237 ล้านบาท) เพื่อผ่านงบประมาณของรัฐในโครงการบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อปี 2552

อัยการกล่าวว่า นอกจากเงินแล้วอดีตประธานสภายังได้รับนาฬิกา “ริชาร์ด มิลล์” มูลค่าราว 4.3 ล้านบาท เพื่อเป็นหลักประกันว่าโครงการดังกล่าวจะผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาด้วย

อัยการอินโดฯ กล่าวว่า หากนายโนวานโดผิดจริงอาจโดนจำคุกตลอดชีวิต

ไทยกับอินโดฯ เป็นคู่ชิง “แชมป์คอร์รัปชั่น” ของเอเชีย เรื่องราวตลอดจนยี่ห้อของนาฬิกามันเหมือนกับเรื่องราวในประเทศไทย จนกระทั่งว่าเมื่อผมได้เห็นภาพใบหน้าอมทุกข์สาหัสของนายโนวานโด (ซึ่งก็ดูคล้ายกับใบหน้าของข้าราชการไทย) ผมรู้สึกมีความสุขสะใจอย่างกับคนเป็นซาดิสต์อ่อนๆ

ผมรู้สึกราวกับว่า ได้รับการบำบัดแล้ว หรือได้สนองแค้น (retribution) ไปเรียบร้อยแล้วตามหลักทัณฑวิทยา

จะเป็นการบังเอิญหรือเปล่าก็ไม่ทราบ ในห้วงเวลาของ “ข่าวดี” ข้างต้นนี้ มีข่าวสมาชิกสภาเปรู บีบประธานาธิบดี นายเปโคร ปาโบล คุชินสกี ให้ลาออกภายใน 24 ชั่วโมง มิฉะนั้นจะยื่นถอดถอน (อิมพีชเมนต์)

เปรูเป็นประเทศที่ “บิ๊ก” ระดับประธานาธิบดีโดนข้อหาคอร์รัปชั่นบ่อยที่สุด รายนี้ก็ดูท่าจะไม่รอด

ประเทศไทยก็ใช่ว่านักการเมืองระดับรัฐมนตรี และข้าราชการขี้ฉ้อชั้นผู้ใหญ่ จะรอดพ้นเงื้อมมือกฎหมายไปหมด ในช่วงวันเวลาแห่งการ “ต่อต้านคอร์รัปชั่นสากล” มีสื่อมวลชนอย่างน้อย 2-3 แห่งเปิดเผยรายละเอียดของพฤติกรรม ชื่อ ชื่อสกุล พร้อมภาพถ่ายใบหน้าผู้ที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษ ในข้อหา ปกปิดทรัพย์สิน ซุกหุ้น หรือร่ำรวยผิดปกติ ฯลฯ

ไม่ต่ำกว่า 10 คนที่ถูกเผยแพร่นี้ยังมีชีวิตอยู่ ลูกเมียยังเชิดหน้าชูตาอยู่ในสังคม แถมบางคนยังพยายามจะกลับเข้ามา “ถอนแค้น” หรือ “กู้หน้า” โดยไม่สำนึกผิดหรือกระดากอายแม้แต่น้อย

ตำราอันว่าด้วย “การลงทัณฑ์” (Penology) ท่าจะโบราณเกินไปแล้ว มันน่าจะได้รับการปฏิรูปมากกว่าปฏิรูปตำรวจเป็นไหนๆ