“ห่าง”ตามครรลอง | สถานีคิดเลขที่ 12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

สถานีคิดเลขที่ 12 | สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

 

“ห่าง”ตามครรลอง

 

แม้ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จะเสนอแนะในเชิงยุทธศาสตร์ ให้ พรรคก้าวไกล “สามัคคี” พรรคเพื่อไทย ภายใต้ความเชื่อมั่นว่า “ดีเอ็นเอ”ประชาธิปไตยในสองพรรคจะทำให้สามารถเอาชนะฝ่ายจารีตนิยมได้

แต่ กระนั้นดูเหมือนว่า คำชี้แนะดังกล่าว จะย้อนแย้ง กับ ปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้นจริงใน”การเมือง”

เพียงแค่บทบาท และสถานะ ที่พรรคก้าวไกล เป็นฝ่ายค้าน ขณะที่พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำรัฐบาล

ก็ทำให้ การแสวงหาจุดร่วม และสงวนจุดต่าง ยากอย่างยิ่งแล้ว

อย่างกรณีการพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ นั้น

ระยะเวลา เพียง 830 นาที ที่พรรคก้าวไกลได้รับการจัดสรรเวลา ให้ชำแหละงบประมาณ

ทำให้ “ระยะห่าง” ระหว่างเพื่อไทยกับก้าวไกล “เพิ่มขึ้น”มหาศาล

พรรคก้าวไกล ได้แสดงบทบาท ฝ่ายค้าน อย่างน่าสนใจ

น่าสนใจทั้งเนื้อหา ที่มีการทำการบ้านอย่างดี มีระบบ สามารถสะท้อนจุดอ่อนของ ฝ่ายรัฐบาล ได้เป็นรูปธรรม

น่าสนใจทั้งการ สร้าง ส.ส.หน้าใหม่ๆขึ้นมาทำหน้าที่ ได้อย่างต่อเนื่อง มิได้ผูกขาดไว้เฉพาะดาวสภา อย่างในอดีต

พรรคก้าวไกล ดำรงความโดดเด่นของพรรคการเมืองรุ่นใหม่ ได้เด่นชัด

ส่วนเพื่อไทยนั้น เผชิญโจทย์หินกว่า

เพราะนอกจากต้องเล่นบทบาท “ผู้ทำ”ซึ่งยากกว่า “ผู้พูด”หรือ”ผู้วิจารณ์”โดยธรรมชาติอยู่แล้ว

ขณะเดียวกันต้องเข้าไปอยู่ท่ามกลางกลไกราชการ ที่มากด้วยระเบียบข้อบังคับ และมากด้วยความเหนียวแน่นของระบบและตัวบุคคล ที่”ทำอยู่ ทำต่อ”มาอย่างยาวนาน

รัฐมนตรี โดยเฉพาะรัฐมนตรีหน้าใหม่ และเพิ่งเข้ามาลิ้มลองอำนาจหมาดๆ จึงต้องเล่นไปตาม”บทเชิด”ของระบบราชการอย่างหลีกเลี่ยงยาก

ตัวอย่างที่แจ่มชัด คือ บทบาทรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่แม้จะดูเหมือนว่าโชกโชนมาในฐานะฝ่ายค้านฝีปากคมคาย เป็นประธานวิปฝ่ายค้าน เป็นผู้นำการอภิปรายสำคัญๆทั้งงบประมาณ หรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

แล้ว สิ่งที่เราเห็น ในเวทีการพิจารณางบประมาณครั้งนี้เป็นอย่างไร

ตกอยู่ในฐานะ “ผู้แก้ต่าง”ให้กับกองทัพที่มากด้วยความแข็งแกร่ง อย่างไม่น่าเชื่อ

สะท้อนให้เห็นว่า “ฝ่ายการเมือง” โดยเฉพาะที่มาจากการเลือกตั้ง หากหวังจะเข้าไปเป็นฝ่ายนำของระบบที่ฝังรากลึก จะอาศัยเพียงความสามารถเฉพาะตัวของนักการเมืองไม่เพียงพอ

หากแต่ต้องมีเจตจำนงแน่วแน่ มีเรือธงทั้งด้านนโยบายและทีมงานเข้าไปทำงานอย่างเป็นระบบเท่านั้น จึงจะสามารถเดินหน้าได้

หากอาศัยเพียงความสามารถ”เฉพาะตัว” เพื่อที่จะเลื่อนไหลไปตามสถานการณ์

ก็จะเป็นเพียง”ตัวเชิด”ในสภาเท่านั้น

และภาวะนี้ ได้ขยายไปถึงรัฐบาลที่มีเพื่อไทยเป็นแกนนำโดยรวมด้วย ที่ไม่สามารถแสดงให้เห็นว่างบประมาณมีความโดดเด่นในการสนับสนุนให้เกิดสิ่งที่รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง

และนั่น ยิ่งทำให้พรรคก้าวไกล โดดเด่นขึ้น

แต่เป็นความโดดเด่น ที่ทำให้เหินห่างจากเพื่อไทยไปพร้อมๆกัน และยิ่งหากมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือพิจารณากฎหมายสำคัญๆอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การนิรโทษกรรม

จึงยากยิ่งที่ 2พรรคจะแสวงหาจุดร่วมกันได้

ดังนั้นสิ่งที่คาดหวังมากที่สุดในตอนนี้ คือทั้งสองพรรคเล่นไปตามบทบาทของตนเองอย่างเต็มที่

เต็มที่ในครรลองประชาธิปไตย ไม่วอกแวกไปพึ่งอำนาจพิเศษใดๆ

แล้วให้ประชาชนตัดสินในการเลือกตั้งครั้งต่อไป