แตงเยลลี่ (แตงหนาม)

เที่ยวให้รู้ ดูให้ลึก เดินชมตลาดเมืองลี่เจียง ประเทศจีน แตงประหลาดมีหนามวางขายได้ คนก็ซื้อกินปกติ น่าฉงน จึงค้นหาความรู้และดูผลไม้ให้ชัดพบว่าเป็นพืชในวงศ์แตง (Cucurbitaceae) นั่นเอง

พืชวงศ์นี้นับเป็นพืชในลำดับแรกๆ ที่มนุษย์นำมาเพาะปลูกเพื่อใช้เป็นอาหารและยามาเนิ่นนาน จากฐานข้อมูลของ Plant of the World กล่าวว่า พืชในวงศ์แตงมีทั้งสิ้น 101 สกุล ถ้าเรานึกไม่ออกก็ให้นึกถึงพืชพี่น้องร่วมตระกูลนี้ เช่น พืชจำพวกน้ำเต้า สควอช เมล่อน และบวบ รวมถึงพืชที่เพาะปลูกกันอย่างกว้างขวาง เช่น แตงกวา ฟักทอง และแตงโมด้วย พืชวงศ์นี้ส่วนมากกระจายพันธุ์ในเขตร้อน เช่นเมืองไทย

แต่ แตงเยลลี่ หรือ แตงหนามหน้าตาประหลาดนี้ มีถิ่นกำเนิดจากประเทศทางทะเลทรายคาลาฮารี แอฟริกา และทางตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกา รูปร่างคล้ายปลาปักเป้า บางท้องถิ่นจึงเรียกว่า ผลไม้ปลาปักเป้า (blowfish fruit) มีน้ำหนักประมาณ 40-350 กรัม มีรูปร่างเป็นรูปไข่ มีหนามขนาดใหญ่ล้อมรอบผิว แตงหนามจึงเป็นพืชชนิดหนึ่งที่อยู่ในวงศ์แตง และอยู่ในสกุล Cucumis ซึ่งในสกุลนี้มีสมาชิกทั้งสิ้น 62 ชนิด

แตงหนามมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cucumis metuliferus E.Mey. ex Naudin ชื่อสามัญเรียกว่า คิวาโน (Kiwano) นอกจากนี้ คนยังตั้งชื่อตามลักษณะผล เช่น แตงหนาม (Horned Melon) แตงเยลลี่ (Jelly Melon) แตงกวาหนาม ( Horned Cucumber) แตงหนามนี้เป็นไม้เถา มีอายุเพียงปีเดียว

 

แตงหนาม ที่ได้มาจากธรรมชาติมี 2 แบบ แบบที่มีรสขมและรสหวาน แต่ชนิดที่นำมาปลูกมีการพัฒนาพันธุ์บ้างแล้วเพื่อการค้าจะมีรสหวานผสมเปรี้ยว มีคนเปรียบเทียบว่ากินแตงหนามดิบเหมือนได้กินรสของผลไม้ 3 ชนิดรวมกัน คือ แตงกวา กล้วย และมะนาว และเมื่อแตงหนามสุก จะมีรสชาติเหมือนแตงกวา กีวี และกล้วยผสมกัน ผลสุกจะสีส้มเหลือง เนื้อข้างในเป็นสีเขียวมะนาว มีเมล็ดนิ่มๆ จำนวนมากคล้ายแตงกวา ลักษณะเนื้อจะคล้ายเยลลี่ (จึงเรียกแตงเยลลี่)

พืชจำพวกแตงนี้ถือว่าเป็นพืชอาหารแบบดั้งเดิมของแอฟริกา เพราะนอกจากแตงกวาหนามแล้ว ยังมีแตงกวาพลอย (gemsbok cucumber มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Citrullus naudinianus (Sond.) Hook.f.) และแตงมะนาว (citron melon หรือ tsamma มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Citrullus ecirrhosus Cogn.) ขึ้นในทะเลทรายคาลาฮารี (Kalahari Desert) แตงหนามเป็นอาหารแล้วยังจัดว่าเป็นหนึ่งในแหล่งน้ำไม่กี่แห่งในช่วงฤดูแล้งในพื้นที่แอฟริกาด้วย

ในทางตอนเหนือของซิมบับเว เรียกแตงหนามว่า “กาก้า” (gaka) หรือ “กาก้าชิก้า” (gakachika) คนที่นั่นจะนำมากินเป็นของว่างหรือสลัด เมื่อผลสุกแล้วสามารถกินได้หรือนำไปปรุงเป็นอาหารแบบต่างๆ ในบางพื้นที่นิยมกินในส่วนของเปลือก ซึ่งมีวิตามินซีและสารเยื่อใยในปริมาณมาก

รายงานการศึกษาเชิงลึกพบว่า แตงหนามให้ประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก เช่น มีสรรพคุณต้านเชื้อรา ต้านจุลินทรีย์ ต้านไวรัส ต้านความดันโลหิตสูง ต้านเบาหวาน และต้านอนุมูลอิสระ จากการศึกษาทางพฤกษเคมีพบสารสำคัญหลายชนิด เช่น แคโรทีนอยด์ (carotenoids) สเตียรอยด์ (steroids) อัลคาลอยด์ (alkaloids) ซาโปนิน (saponins) ไกลโคไซด์ (glycosides) ฟลาโวนอยด์ (flavonoids) แทนนิน (tannins) และสารประกอบฟีนอลิก (phenolic compounds)

และจากงานวิจัยพบว่าอัลคาลอยด์จากเปลือกผลของแตงหนามสามารถต้านไวรัสได้ในระดับดี

ในช่วงทศวรรษ 1980 (ช่วง พ.ศ.2523) แตงหนามจัดว่าเป็นพืชที่มีคุณค่าสูง ประเทศนิวซีแลนด์นำสายพันธุ์จากแอฟริกาไปพัฒนา และทำเป็นสินค้าส่งออกไปยังญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ในชื่อ “คิวาโน” ผลของแตงหนามสามารถเก็บไว้ได้นานถึง 6 เดือน โดยไม่ต้องเก็บไว้ในตู้เย็น ในปัจจุบันผู้ผลิตหลัก คือ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลียและแอฟริกา ซึ่งมีตลาดใหญ่อยู่ที่ยุโรปตะวันตกและอเมริกาเหนือ

นอกจากคุณค่าทางโภชนาการที่สูงแล้ว แตงหนามยังมีคุณสมบัติสมุนไพรที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นการใช้ในต่างประเทศ เช่น ชนิดพันธุ์ที่มีรสหวานนำมาใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และใช้กับผู้ป่วยที่มีผลเลือด HIV/IDS ที่เป็นบวก เมล็ดนำมาบดให้เป็นแป้งละเอียดนำมาละลายกับน้ำดื่มช่วยขับพยาธิหรือปรสิต ในประเทศเบนินเชื่อกันว่าแตงหนามเป็นผลไม้ที่มีคุณสมบัติเป็นยาวิเศษ ใช้ในพิธีกรรมของวูดู ใช้รักษาอาการไข้ปะทุ ผลที่ปอกเปลือกออกแล้วนำมาหมักทำไวน์กลั่นหรือผสมกับน้ำมะนาว ใช้รักษาไข้ทรพิษและผื่นที่ผิวหนังได้

ในชนเผ่าบางเผ่าของซิมบับเวและบอตสวานา ใช้ยาต้มที่เตรียมจากรากแตงหนามบรรเทาอาการปวดหลังคลอดบุตร รักษาโรคหนองในและเป็นยารักษาโรคเบาหวาน

 

ในประเทศไนจีเรียนำผลและเมล็ดดิบมากินเป็นอาหารเสริมบำรุงเพศชาย และในแอฟริกาใต้มีการใช้ทุกส่วนของแตงหนาม ส่วนของใบสดใช้เคี้ยวมีสรรพคุณช่วยให้ร่างกายกระฉับกระเฉง แก้อาการเหนื่อยล้า หรือนำใบมาต้มแบบชาสมุนไพร ใช้เป็นยาระบาย หรือใช้ต้านการอักเสบด้วย

การสำรวจศักยภาพทางการค้าของผลไม้พื้นเมืองในแอฟริกาใต้ เพื่อพัฒนาพืชผลและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมอาหาร ยาและเครื่องสำอาง พบว่าแตงหนามเป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพในการพัฒนาอาหารใหม่ เช่น ผลไม้แห้งและแปรรูป แยม ชัทนีย์ ขนมหวาน เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เช่น น้ำผลไม้ เหล้า เบียร์ ไวน์ผลไม้ ค็อกเทล ชาสมุนไพร อาหารเพื่อสุขภาพ เครื่องเทศ และเครื่องปรุงรสจากผลไม้ นักวิจัยเสนอให้นำเอาสารสกัดที่ได้จากผลของแตงหนามไปพัฒนาเป็นสารเคลือบไปบนวัสดุที่เป็นพลาสติกที่ใช้ในการหีบห่อ (packaging coating) พบว่าสามารถต้านอนุมูลอิสระในผลิตภัณฑ์ได้

แตงหนามข้ามทะเลจากแอฟริกาไปตลาดสดจีน ยังไม่แน่ชัดว่าจีนปลูกเองหรือนำเข้า สำหรับไทยแลนด์ เห็นขายเมล็ดพันธุ์แตงหนามในออนไลน์ ไม่แน่ชัดว่าเกษตรกรไทยปลูกพืชหน้าตาแปลกแต่มากด้วยคุณค่าและมูลค่ากันหรือยัง? •

 

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org