Green Gentrification ข้อพึงระวังต่อการพัฒนาเมืองกรุงเทพฯ (จบ)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

Green Gentrification

ข้อพึงระวังต่อการพัฒนาเมืองกรุงเทพฯ (จบ)

 

Green Gentrification เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่เมืองกรุงเทพฯ หรือไม่?

เป็นคำถามที่คงตอบได้ยาก ณ ปัจจุบัน อันเนื่องมาจากความขาดแคลนงานวิจัยที่ศึกษาผลกระทบของการสร้างพื้นที่สีเขียวที่มีต่ออัตราส่วนการถูก displacement ของคนที่เคยอยู่อาศัยดั้งเดิมในบริเวณพื้นที่โดยรอบที่มีการสร้างพื้นที่สีเขียว ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากในยุโรปและอเมริกาที่มีงานศึกษาด้านนี้ไม่น้อย เช่นกรณี The High Line ที่ได้กล่าวไปในสัปดาห์ก่อน

ในบริบทแบบสังคมไทย เราแทบไม่รู้เลยว่า หลังการสร้างพื้นที่สีเขียวแล้ว ราคาที่ดินในบริเวณโดยรอบถีบตัวสูงขึ้นเท่าไร มีใครบ้างที่ได้รับผลกระทบเชิงลบ ใครบ้างต้องย้ายออกจากพื้นที่เพราะราคาค่าเช่าที่เพิ่มสูงขึ้น มีอาชีพตลอดจนกิจกรรมทางเศรษฐกิจรากหญ้าอะไรบ้างที่ต้องสูญหายไป ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม แม้เราจะขาดงานศึกษาที่มากเพียงพอในประเด็นนี้ แต่สิ่งที่มองเห็นอย่างชัดเจนคือ การสร้างพื้นที่สีเขียวในหลายกรณีเกิดขึ้นจากการไล่รื้อย่านคนที่มีรายได้น้อยหรือชุมชนเก่าแก่ที่ไม่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากมายอะไรนัก

กรณีคลาสสิคที่สุดที่ผมเคยพูดไว้หลายที่แล้ว แต่ก็ยังอยากพูดถึงอยู่เสมอก็คือ การไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬที่มีผู้อยู่อาศัยมากกว่า 50 หลังคาเรือน (มีคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ราว 200 คน) เพื่อสร้างเป็นสวนสาธารณะ

สวนดวกไม้พร้อมสิ่งก่อสร้างชั่วคราวประกอบการถ่ายรูปในพื้นที่สวนสาธารณะป้อมมหากาฬซึ่งเคยเป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีผู้อยู่อาศัยมากกว่า 200 คน
ที่มาภาพ : เพจ Matichon Academy

ด้วยมายาคติว่าด้วยความดีงามไร้ที่ติของสวนสาธารณะ ได้ส่งผลทำให้ชุมชนเก่าแก่แห่งนี้ที่สามารถสืบย้อนกลับไปไกลได้ถึงต้นรัตนโกสินทร์ เต็มไปด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจราคาประหยัด และวัฒนธรรมนอกกระแสชนชั้นกลาง ไม่ว่าจะเป็น เลี้ยงนกเขา ชนไก่ หลอมทอง ปั้นหัวฤๅษี ขายดอกไม้ไฟ ถูกทำลายลงไปจนหมดสิ้น

โดยสิ่งที่ได้มาแทนที่ คือ สนามหญ้าสีเขียวและทางเดินเท้าสำหรับเดินหรือปั่นจักรยาน ซึ่งแทบไม่มีคนเข้าใช้งานเลยในวิถีชีวิตประจำวัน

ความคึกคักของผู้คน หากจะมี ก็เป็นเพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ที่เกิดจากอีเวนต์ชั่วครั้งคราว เช่น สงกรานต์ ลอยกระทง และ Bangkok Design Week ซึ่งแม้จะดี แต่ก็เทียบคุณค่าและความยั่งยืนไม่ได้เลยกับสิ่งที่ต้องเสียไป

พื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬไม่เหมาะสมอย่างยิ่งในการทำสวนสาธารณะ เพราะเป็นพื้นที่ปิด เข้าถึงยากจากภายนอกอันเนื่องมาจากการถูกโอบล้อมด้วยคลองและกำแพงเมืองเก่าเกือบทุกด้าน การเข้าถึงสามารถทำได้เพียงประตูช่องกุดขนาดไม่ใหญ่โตมากนัก 4 จุดเท่านั้น ซึ่งด้วยลักษณะเช่นนี้ ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะทำให้สวนสาธารณะป้อมมหากาฬประสบความสำเร็จ

แม้ความไม่เหมาะสมดังกล่าวจะมองเห็นได้อย่างชัดเจน แต่ด้วยมายาคติว่าด้วยพื้นที่สีเขียวที่แพร่กระจายซึมลึกลงในสังคมไทย ก็ได้ทำให้ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ณ ช่วงเวลานั้นดึงดันจนไร้รื้อชุมชนจนสำเร็จ

 

ในทัศนะผม โครงการสวนสาธารณะป้อมมหากาฬคือหนึ่งในตัวอย่างของ Green Gentrification (แม้ว่าอาจจะไม่ตรงกับความหมายที่ใช้กันโดยทั่วไปนักก็ตาม) ในบริบทแบบไทยๆ และโครงการนี้คืออนุสรณ์สถานแห่งความล้มเหลวที่น่าละอายที่สุดในการสร้างพื้นที่สีเขียวในพื้นที่เมืองกรุงเทพฯ

ไม่ได้มีแค่ตัวอย่างเดียวนะครับ จากงานศึกษาที่ดีมากชิ้นหนึ่งของ อ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา จาก ม.ธรรมศาสตร์ เรื่อง “การแปลงเปลี่ยนชนชั้นของย่านในเมืองด้วยข้ออ้างด้านสิ่งแวดล้อมและลัทธิอำนาจนิยมเชิงนิเวศวิทยา : การฟื้นฟูคลองภายใต้รัฐบาลทหารในประเทศไทย”

ที่แม้กรณีศึกษาอาจไม่เกี่ยวกับสวนสาธารณะโดยตรง แต่ก็ทำให้เรามองเห็นถึงมายาคติที่เชื่องโยงกันของความพยายามยกข้ออ้างเรื่องสิ่งแวดล้อม ความสะอาดสวยงาม เข้ามาไล่คนจนเมืองให้ออกจากพื้นที่ เพื่อเปลี่ยนให้เป็น “พื้นที่สาธารณะรักษ์สิ่งแวดล้อม” ตามทัศนะแบบคนชั้นกลาง

ซึ่ง อ.บุญเลิศ ใช้แนวคิดที่เรียกว่า Environmental Gentrification มาใช้อธิบายปรากฏการณ์ความเหลื่อมล้ำและไร้หัวใจของกรุงเทพฯ ที่กระทำต่อคนจนเมือง

ผมมีความเห็นว่า ทั้งเรื่อง Green Gentrification และ Environmental Gentrification คือสิ่งที่ควรให้ความสำคัญอย่างมากในการวิจัยเรื่องเมืองในสังคมไทย

เพราะแนวคิดนี้ได้เข้ามาทำลายมายาคติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประการหนึ่งของการพัฒนาเมือง และเผยให้เห็นความอันตรายที่สร้างความเหลื่อมล้ำอย่างน่ารังเกียจ ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนาของมายาคติชุดนี้

 

ขอย้ำอีกครั้งว่า พื้นที่สีเขียวคือสิ่งจำเป็นที่สุดอย่างหนึ่งขององค์ประกอบเมือง และกรุงเทพฯ ก็ยังขาดพื้นที่สีเขียวอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การพูดถึง Green Gentrification จึงไม่ใช่การต่อต้านการเพิ่มพื้นที่ประเภทนี้ แต่คือการชวนให้สังคมมองเห็นเหรียญอีกด้านของมายาคติพื้นที่สีเขียว ที่หากเราไม่ตระหนักถึงมันมากพอ แทนที่มันจะสร้างเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ก็อาจกลับกลายเป็นการสร้างผลร้ายในวงกว้างแทน

ในสหรัฐอเมริกามีการศึกษาอย่างจริงจังในประเด็นนี้ และพยายามหาทางออกที่เหมาะสมรวมไปถึงมาตรการเชิงรุกที่เป็นรูปธรรมที่จะเข้ามาสร้างสมดุลในการสร้างพื้นที่สีเขียวที่ไม่ก่อให้เกิด Gentrification โดยเรียกมันว่า “parks-related anti-displacement strategies” (PRADS)

โดยงานศึกษาได้เข้าไปสำรวจโครงการก่อสร้างสวนสาธารณะขนาดใหญ่ 27 แห่งที่ถูกสร้างขึ้นในย่านผู้มีรายได้น้อยใน 19 เมือง ผ่านการวิเคราะห์เอกสารนานาชนิดที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างกว้างขวาง

ผลการศึกษาพบว่ามีสวนสาธารณะมากถึงครึ่งหนึ่งที่มิได้ตระหนักถึงปัญหานี้ และไม่มีกลยุทธ์ที่เหมาะสมในการรองรับปัญหาที่อาจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม อีกราวครึ่งหนึ่ง (13 สวนสาธารณะใน 12 เมือง) กลับมีสัญญาณเชิงบวกในการวางแผนรับมือปัญหาหลากหลายรูปแบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นของ Green Gentrification

ไม่ว่าจะเป็น การควบคุมราคาค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ในบริเวณโดยรอบสวน การใช้มาตรการทางภาษีช่วยเหลือเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่มีรายได้น้อย ให้ความช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบในการถูกบังคับให้ย้ายออกจากย่าน ให้การสนับสนุนธุรกิจรายย่อยในพื้นที่ เพิ่มพื้นที่เช่าพักอาศัยและทำการค้าขนาดเล็กที่มีราคาไม่แพงจนเกินไป ฯลฯ

(ดูรายละเอียดใน Alessandro Rigolon & Jon Christensen.”Greening Without Gentrification : Learning from Parks-Related Anti-Displacement Strategies Nationwide,” Park & Recreation Magazine. November 2019)

แม้ว่าข้อเสนอโดยส่วนใหญ่ยังไม่อาจประเมินผลลัพธ์ได้ชัดเจนนักว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ เนื่องจากการแก้ปัญหานี้ต้องมองดูผลในระยะยาว

แต่ข้อค้นพบที่งานศึกษาชิ้นนี้สรุปมาก็มีความน่าสนใจและสังคมไทยควรอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงข้อเสนอเหล่านี้อย่างจริงจัง

 

น่าจะถึงเวลาแล้วนะครับที่สังคมไทยโดยรวม โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐและสถาบันทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและวางผังชุมชนเมืองทั้งหลาย ควรหันมาใส่ใจอย่างเต็มที่กับเรื่องนี้ โดยอาจจะเริ่มต้นให้ความสำคัญอย่างน้อยใน 2 ประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่อง Green Gentrification ดังต่อไปนี้

หนึ่ง ควรเริ่มงานศึกษาวิจัยที่เข้าไปประเมินผลกระทบเชิงลบของโครงการสร้างพื้นที่สีเขียวต่างๆ อย่างจริงจัง มิใช่มุ่งเน้นเพียงเร่งการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเชิงปริมาณเพียงอย่างเดียว โดยมิได้ทำการศึกษาผลกระทบทางสังคมที่ตามมาอย่างรอบด้าน

สังคมไทยต้องทำลายมายาคติของการสร้างพื้นที่สีเขียวที่กำลังกลายมาเป็นเสมือนแก้วสารพัดนึกที่ใช้แก้ไขปัญหาเมืองอย่างไร้เงื่อนไข

โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องละเอียดอ่อนให้มากขึ้นต่อโครงการก่อสร้างพื้นที่สีเขียวในพื้นที่เสี่ยง เช่น พื้นที่ย่านชุมชนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจต่ำ ย่านเมืองเก่าที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตที่หลากหลาย และพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มสูงในการเกิด gentrification

โดยตัวอย่างนำร่องที่ควรนำมาเริ่มศึกษาผลกระทบอย่างเป็นระบบคือ สวนสาธารณะป้อมมหากาฬ, สวนสันติไชยปราการ, สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี, สวนปทุมวนานุรักษ์ และ Chao Phraya Sky Park เป็นต้น

สอง สำหรับโครงการสร้างพื้นที่สีเขียวในอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ควรศึกษาข้อมูลและข้อเสนอของกลุ่มที่ตระหนักถึงปัญหา Green Gentrification ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีงานศึกษาในทำนองนี้ออกมาพอสมควรในต่างประเทศ (เช่นตัวอย่างงานวิจัยที่ยกมาข้างต้น) และนำมาคิดร่วมกับโครงการก่อสร้างที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยทันที

เพราะหากเราต้องการจะป้องกันผลกระทบเชิงลบของการสร้างสวนสาธารณะให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจำเป็นต้องคิดถึง “parks-related anti-displacement strategies” คู่ขนานไปด้วยเลยทันทีตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นโครงการ

และต้องนำมาตรการทั้งหลาย ทั้งทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง ไปจนถึงกฎหมาย เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในเงื่อนไขของการวางแนวคิดสร้างสวนสาธารณะตั้งแต่ต้น

เราพูดถึงกันมากเลยนะครับในปัจจุบันเรื่องความเหลื่อมล้ำ เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไปจนถึงเมืองสร้างสรรค์สารพัดประเภท ซึ่งคำพูดสวยหรูทั้งหมดนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริงเลย หากเราละเลยปัญหาว่าด้วย Gentrification

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่แอบซ่อนความร้ายกาจอย่างแนบเนียนที่ชื่อว่า Green Gentrification