สนทนาธรรม ต้อนรับปี 2567 กับ เจ้าคุณประสาร สังคมไทยต้องกลับมามีสติ และใช้ปัญญาให้มากกว่านี้

รายงานพิเศษ

 

สนทนาธรรม ต้อนรับปี 2567

กับ เจ้าคุณประสาร

สังคมไทยต้องกลับมามีสติ

และใช้ปัญญาให้มากกว่านี้

 

พระราชวัชรสารบัณฑิต-เจ้าคุณประสาร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร และรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สนทนาธรรมกับ “มติชนสุดสัปดาห์” ต้อนรับปี 2567 ด้วยคำถามที่น่าสนใจดังนี้

 

: สังคมที่ผู้คนนิยมมูเตลู ทั้งที่นับถือพุทธ สะท้อนอะไร

อาตมาว่าสะท้อน 2 เรื่อง

1. ประชาชน

2. สะท้อนพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาด้วย

คนทั่วไปอาจจะพยายามแสวงหาที่พึ่ง แม้จะมองว่าโลกพัฒนาขึ้น เจริญขึ้น แต่เรายังต้องการที่พึ่งอยู่ที่พึ่งทางด้านจิตใจ

เมื่อมีปรากฏการณ์อะไรเกิดขึ้นมา ผู้คนบางส่วนก็แสวงหาสิ่งเหล่านั้นเป็นที่พึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ประหลาด ต้นไม้ หรือวิธีกรรมแปลกๆ ของคนบางคน บางกลุ่มบางพวก

สะท้อนให้เห็นถึงศรัทธาของคนในประเทศไทยว่าแม้มีศรัทธามากทางพุทธศาสนา แต่ถ้ามีศรัทธามากเท่าไหร่ ก็ต้องมีปัญญาคือการพินิจพิจารณา ความรอบรู้เป็นองค์ประกอบ กำกับกัน

ไม่ใช่ศรัทธาอย่างเดียว จะต้องมีปัญญาเป็นองค์ประกอบด้วย

อีกด้านหนึ่งคือการสะท้อนพระสงฆ์ในสังคมไทย อาตมามองปรากฏการณ์ของคนรุ่นใหม่ ปรากฏการณ์ความเชื่อของคน การกราบไหว้สิ่งต่างๆ ของผู้คน ว่าพระสงฆ์ได้ทำหน้าที่ในเรื่องการศึกษาทั้งปริยัติศึกษา ปฏิบัติศึกษา และการเผยแผ่ศาสนาได้อย่างเพียงพอหรือยัง

เพราะว่าศาสนิกของเราที่มีอยู่ในประเทศไทยกว่าร้อยละ 94.6 เป็นชาวพุทธ และคุณภาพของชาวพุทธอยู่ที่การศึกษา และการที่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาช่วยเผยแผ่ ช่วยอบรม ช่วยสั่งสอน

 

: แก้ชงปีใหม่ แก้ปัญหาได้หรือไม่

อาตมามองว่าเวลานี้คนมีความเชื่อด้านนี้มาก หนักไปทางสายมูหรือสายไสยศาสตร์มากขึ้น แต่ถ้าทางพุทธศาสนาแล้วสอนให้เชื่อเรื่องกรรม

“กรรม” ก็คือผลการกระทำ ทำดีก็ได้ผลตอบแทนดี ทำไม่ดีก็ได้ผลตอบแทนในทางที่ไม่ดี ไม่มีทางจะเป็นอย่างอื่นได้เลย

เพราะฉะนั้น ในพุทธศาสนาเราจึงไม่มีพิธีการที่จะไปลบล้างสิ่งที่ทำแล้วได้ เพราะถ้าไปลบล้างสิ่งที่ทำแล้วได้ เช่น เราทำอันนี้มาเป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นบาป เป็นความไม่ดี มาทำพิธีนี้แล้วมันจะหายไปเลย มันไม่ใช่

แต่อาจจะมีผลในแง่ที่ว่าคนเหล่านี้อย่างน้อยก็มีศรัทธา มีความเชื่อ มีจิตใจที่อ่อนโยน อาจจะต้องใช้หลักธรรมอื่นๆ เป็นองค์ประกอบให้คนเหล่านี้ดำรงชีวิตอยู่ได้

แต่อย่างน้อยจะต้องรับรู้ได้ว่าการไปแก้ชงการไปทำโน่นทำนี่ก็ตาม กรรมเมื่อทำไปแล้วไม่สามารถจะลบล้างสิ่งที่ทำไปได้ แต่ว่าถ้าท่านทำความดีในวันนี้ วันพรุ่งนี้ แล้วทำดีต่อไปก็จะเป็นผลดีต่อ

แม้แต่การสวดมนต์ข้ามปีเหมือนกัน แต่ก่อนเราสวดมนต์ข้ามปีน้อยมาก ตอนหลังมาวัดของเราทั่วประเทศก็มารณรงค์เรื่องการสวดมนต์ข้ามปี โยมทั้งหลายก็เห็นว่าเอาละตลอดเวลาที่ผ่านมาหลายปีหรือหลายคืนเราอาจจะไปทำอะไรมา แต่ในคืนปีใหม่คืนเดียวนี่เรามาสวดมนต์ข้ามปีให้เป็นสิริ ให้เป็นมงคลแก่ตนเอง ถามว่ามันจะลบล้างสิ่งเก่าทั้งหลายทั้งปวงได้มั้ย ก็ไม่ได้ขนาดนั้น แต่ว่าอย่างน้อยชีวิตที่อยากจะเริ่มต้นในสิ่งที่ดีๆ ในสิ่งที่เป็นมงคลพอขึ้นปีใหม่ก็ได้ไหว้พระ ได้สวดมนต์ ได้เข้าวัด ได้รักษาศีล

จุดเริ่มต้นที่ดีของปีก็จะทำให้มันชักจูงเราไปในทางที่เป็นสัมมาทิฏฐิมากขึ้น มองในแง่นี้มากกว่า

ดังนั้น การที่เราไปแก้โน่นแก้นี่ ถ้าเป็นเครื่องมือให้คนมีศรัทธา ให้มีปัญญาแล้ว มีสัมมาทิฏฐิจะเป็นประโยชน์ แต่ถ้าไปมองว่าทำไปจะไปช่วยลบล้างของเดิมได้ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันพิจารณา ว่าน่าเป็นห่วงหากมีวิธีการคิดแบบนี้

 

: ปรากฏการณ์เชื่อมจิต เป็นปรากฏการณ์จริงไหม

ต่อเรื่องนี้ อาตมามองว่า เราอยู่ในโลกข้อมูลข่าวสาร โลกที่เป็นโซเชียลที่มันรวดเร็ว ที่มันเข้าถึงผู้คนได้ง่าย แต่ว่าไม่ได้วัดว่ามันถูกมันผิดอย่างไร มีคุณภาพหรือไม่ แต่เอาความเร็วเป็นตัวตั้ง อะไรก็ได้ที่พูดแล้วมันเข้าถึงง่าย พอพูดเสร็จปุ๊บแล้วคำนี้มันโดนใจ มันใช่เลย ก็พยายามจะพูดอะไรสักอย่างหรือทำอะไรสักอย่างเพื่อให้มัน “จุดติด” ในสังคม

เพราะฉะนั้น คำว่า “เชื่อมจิต” ก็ตาม หรือคำว่าอะไรก็แล้วแต่ เป็นสิ่งที่พยายามที่จะพูดให้มันเข้ากับสิ่งที่สังคมสนใจ

แต่ก็น่าเป็นห่วงว่าความเชื่อของคนมันไปไกลแล้วก็เชื่อง่ายด้วย มีเหตุผลน้อยลง อาจจะไปกระทบถึงศาสนา กระทบถึงพระพุทธศาสนา ทำให้เหมือนเป็นของเล่น ทำให้ด้อยค่าลง

แล้วในที่สุดก็ทำให้คนมองว่าศาสนาเอง หรือพุทธศาสนา ไม่ได้มีอะไรที่จะเอื้อเฟื้อเขาได้ ที่จะทำให้เขาอยู่ได้อย่างมีความสุข โดยปราศจากสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ทั้งหลาย

 

: ธรรมะสำหรับคนไทย ในปี 2567

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่อาตมามองสำหรับสังคมไทย คิดว่าวันนี้สังคมเราเป็นสังคมที่ไหลบ่า ติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น โลกแห่งโซเชียลทั้งหลายที่มันติดต่อสัมพันธ์กันทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่มันเข้าถึงโดยตรงต่อประชาชนทุกฝ่าย การเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ คือการเอาความเร็วเป็นตัวตั้ง จะถูกผิดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง พอเป็นแบบนี้สังคมไทย ณ วันนี้ อาตมาคิดว่าสิ่งที่จะต้องมี คือ

1. สติ ก็คือการรู้จักยับยั้งชั่งใจ การที่ฉุกคิดว่าอะไรควรไม่ควร

2. สังคมไทยควรจะต้องมีการใช้ปัญญาให้มากขึ้น ช่วยกันพินิจพิจารณา ช่วยกันหาเหตุหาผลว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตามเหตุตามปัจจัย หรือเป็นเรื่องทางศาสนาที่สอนให้เราไปสู่ทางแห่งความพ้นทุกข์หรือไม่ หรือสอนให้เราดำรงชีวิตอยู่อย่างมีความสุขได้หรือไม่ แต่มันอาจจะเป็นเครื่องมือบางสิ่งบางอย่างของคนบางกลุ่ม

เพราะฉะนั้น ถ้าสังคมของเราขาดสติแล้วก็ขาดปัญญา มันก็จะเป็นอย่างที่เกิดขึ้น

อาตมาไม่ได้ว่าคนใดคนหนึ่ง แต่ว่าโดยรวมสังคมเราก็จะตกเป็นเหยื่อของสิ่งที่เกิดขึ้นมาแต่ละที่แต่ละอย่างแต่ละแห่งก็จะเป็นเหยื่อของของสิ่งเหล่านี้

แล้วคนที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา ส่วนหนึ่งก็จะมีเงินมีทองกลับเข้าไปซึ่งน่าเป็นห่วงสังคม น่าเป็นห่วงความเชื่อ ว่าสังคมเราใช้สติ ใช้ปัญญาน้อยไปหน่อย

ในที่สุดจะเป็นจิตวิทยาหมู่ ตกเป็นเครื่องมือบางสิ่งบางอย่างแล้วอาจจะนำไปสู่การที่มีกลุ่มมาแสวงหากลุ่มคน มาแสวงหาผลประโยชน์ อันนี้น่าเป็นห่วง

ชมคลิป