หลังเลนส์ในดงลึก ปริญญากร วรวรรณ / “ลมหนาว”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“ลมหนาว”

กลางเดือนธันวาคม พ.ศ.2560

วราผ่อ ชายหนุ่มบ้านแม่ละมุ้งคี อำเภออุ้มผาง ซึ่งเคยเป็นคู่หูผมเมื่อหลายปีก่อน ขณะทำงานในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ถึงวันนี้ เขาไม่ใช่ชายหนุ่มอายุ 19 ปี แม้จะทำงานดี แข็งแรง แต่พี่ๆ ทุกคนจะส่ายหน้าเมื่อเขาเพลิดเพลินกับเครื่องดื่มจากหมู่บ้านปะละทะมากไปหน่อย

ปะละทะ หมู่บ้านใหญ่อยู่ปากทางเข้าเขต ได้ชื่อว่าผลิตเครื่องดื่มรสชาติดี ราคาย่อมเยา

วราผ่อในวัยต้น 30 เป็นพ่อลูกสาม คนสุดท้องคือลูกเขากับเมีย ส่วนอีกสองคนเป็นลูกติดเมียมา

เขาลาออกจากงานต้นปีที่แล้ว ทุกคนเสียดาย วราผ่อทำงานเอาจริง เชี่ยวชาญพื้นที่ และเลิกรากับเครื่องดื่มปะละทะอย่างเด็ดขาด

“เมียไม่ชอบครับ” เขาบอกเหตุผล

เมียอายุมากกว่า มีลูกติด คือเรื่องปกติของชายหนุ่มแถวนี้

“เมียให้ออกครับ” วราผ่อตอบสั้นๆ เมื่อผมถามเหตุผลที่ลาออกจากงาน

เป็นเรื่องปกติอีกเช่นกัน ที่ในครอบครัว การตัดสินใจทุกอย่างของคนทำงานในป่าจะขึ้นอยู่กับเมีย

วราผ่อโทรศัพท์มาหาผม

“ตอนนี้ที่บ้านผม กลางคืนไม่ถึง 10 องศาครับ ปีใหม่นี้จอมู่โคว้หว่ามาหาผมไหม” เขาระลึกถึงผมเสมอ

“ไปหลังปีใหม่ครับ แล้วพบกัน”

ช่วงมกราคม ผมมีงานในป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันออก การแวะเยี่ยมวราผ่อคือความตั้งใจ

ถึงเวลาที่สายลมหนาวเข้าครอบคลุมผืนป่าแล้ว

อุณหภูมิลดต่ำไม่ถึง 10 องศา อยู่ในป่าเราต้องลดระดับเปลลงต่ำๆ นอนเป็นวงรอบกองไฟ

ครั้นไฟมอด ความเย็นมักทำให้สะดุ้งตื่น หลับๆ ตื่นๆ กระทั่งเช้า

ผมผ่านฤดูหนาวในป่ามาหลายครั้ง

บางฤดูหนาวคล้ายกับว่าสายลมหนาวไม่รุนแรงนัก

ขณะบางปี ความเย็นยะเยือกทำเอาสั่นสะท้าน

หนาวสั่น แม้ว่าจะผูกเปลต่ำๆ อยู่ข้างกองไฟ

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน

ทุกๆ วัน ราว 9 โมงเช้า ระเบียงบ้านริมลำตะคอง จะได้ต้อนรับนกเด้าลมหลังเทาตัวหนึ่ง

มันกระโดดทำหางกระดกๆ ท่าทางจะเอาเรื่องกับเงาตัวเองที่สะท้อนจากประตูกระจก

นกเด้าลมหลังเทามาที่ระเบียงนี้ทุกปี

ว่าตามจริง ผมไม่รู้หรอกว่ามันเป็นตัวเดิมหรือเปล่า

นกเด้าลมเดินทางหลบความขาดแคลนอาหาร มาพร้อมกับลมหนาวระลอกแรกๆ

มีข้อสันนิษฐานหลายอย่างกับการเดินทางของเหล่านกอพยพ

สัตว์ต่างๆ เดินทางโยกย้ายจากถิ่นอาศัย ตามฤดูกาลมากว่า 2,000 ปีแล้ว

เมื่อถิ่นกำเนิดถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง เหล่าสัตว์จึงเดินทางสู่ทางตอนใต้

ในเส้นทางเดิมๆ สู่จุดหมายประจำ ตามกระแสลม ด้วยอิทธิพลของดวงดาว หรือสนามแม่เหล็กของโลก

เหล่านี้อาจเป็นเครื่องมือที่สัตว์ใช้ในการเดินทาง

นกไปพร้อมกันเป็นฝูง คล้ายกับจะอบอุ่น การจัดขบวนเป็นรูปตัววี ช่วยพวกมันประหยัดแรงได้ นกแต่ละตัวได้รับแรงฉุดจากการขยับปีกของนกตัวที่อยู่ข้างหน้า ตัวหลังไม่ต้องออกแรงมาก เมื่อตัวหน้าเหนื่อย จะถอยไปอยู่ด้านหลัง ตัวถัดไปจะขึ้นมาแทน

ส่วนใหญ่นกเดินทางมาพร้อมกันเป็นฝูง

แต่ก็มีนกหลายชนิดเดินทางลำพัง

ไม่มีแรงฉุดจากปลายปีกตัวหน้า ไร้แรงดันจากด้านหลัง

เช่นนี้ ผมเชื่อว่านกตัวเล็กๆ นั่นต้องมีพลังอย่างอื่น นอกจากแรงกาย

ในธรรมชาติ มีการโยกย้ายถิ่นตามฤดูกาล ทั้งสัตว์บก สัตว์น้ำ นก รวมถึงผีเสื้อ

หลายตัวเดินทางใกล้ๆ มีไม่น้อยไปนับพันกิโลเมตร

เป็นเรื่องปกติของการเดินทาง

คงไม่ทุกชีวิตที่ถึงจุดหมาย และอาจมีไม่น้อย ไม่ได้กลับ

นับพันปีแล้ว วิถีนี้ดำเนินมา

นับพันปีแล้ว เหล่าสัตว์ป่ารู้ดีว่าปรับตัวไปตามฤดูกาลคือสิ่งจำเป็น

พบนกตัวเล็ก มีแค่ปีกบางๆ อาศัยอยู่ในแหล่งอันไกลโพ้น เดินทางมาจุดหมายเดิมๆ ทุกปี

ผมมักนั่งมองนกด้วยความชื่นชม นับถือ

นอกจากนกเด้าลมหลังเทา สมาชิกประจำอีกตัวคือ นกกระเต็นหัวดำ

มันจะบินเรี่ยน้ำมาในตอนบ่าย เกาะนิ่งบนขอนไม้กลางลำคลอง

ส่วนหนึ่งของนกกระเต็นหัวดำ เดินทางโยกย้ายถิ่นมา

แต่มีบางส่วนเป็นนกประจำถิ่น

ผมไม่รู้อีกเช่นกันว่า นี่เป็นนกกระเต็นหัวดำตัวเดิมหรือเปล่า

นกเด้าลมหลังเทา และนกกระเต็นหัวดำ รูปร่างลักษณะ รวมทั้งวิธีหากิน ต่างกัน

ทั้งสองตัวเหมือนกันอย่างหนึ่ง

คือ เดินทางมาอยู่เพียงลำพัง

และมีสิ่งที่นอกเหนือจากแรงกาย

ผมเรียนรู้ว่า เมื่อพักแรมอยู่ตามเทือกดอยสูง ต้องเลือกทำเลในหุบ หากพลาดท่าต้องนอนแถวสันกิ่ว หรือช่องลม ก็จะหลีกไม่พ้นในการเผชิญกับกระแสลมแรง และความเย็นยะเยือกเกินกว่าจะหลับได้

การผูกเปลต่ำติดพื้น บางครั้งยังไม่สู้ปูผ้านอนข้างกองไฟ

เต็นท์กันลมได้ และ อุณหภูมิในเต็นท์มักสูงกว่าข้างนอก 2-3 องศา

ถึงวันนี้ แม้จะมีอุปกรณ์เหมาะสม ชีวิตในป่าสะดวกสบายมากขึ้น

แต่หลายครั้งที่ผมมักออกมานอนข้างกองไฟ

และประการสำคัญ เมื่อทำงานอยู่ในป่านานๆ เราจะแบกอะไรไปได้สักเท่าไหร่

จำเป็นต้องเผื่อที่ว่างในเป้ ไว้สำหรับใส่เสบียง ข้าวสาร พริกแห้ง เกลือ

ผัก เก็บแถวลำห้วย ถาวร ผู้ช่วยนักวิจัยจากสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ทำให้ผมรู้ว่า มีใบไม้ในป่าจำนวนมากที่กินได้ จิ้มน้ำพริกอย่างมีรสชาติ

ในป่าทุ่งใหญ่ มีสมุนไพรชื่อและสรรพคุณต่างๆ มีมาก อย่าง กระทิงเปลี่ยว ช้างสาร พญาเท้าเอว หญ้าดอกลาย และอีกหลายชนิด เหล่านี้เก็บมาดองเหล้า หรือต้มดื่ม

“อันนี้แถวบ้านเรียก บือลากือ” จอเจ หนุ่มจากบ้านทิบาเก ชูพืชลักษณะเป็นเถาให้ดู

“เดี๋ยวต้มให้กิน แก้ปวดเมื่อย” เขาพูด

สมุนไพรต้มร้อนๆ ใส่ถ้วยไม้ไผ่ ถือในอุ้งมือ ช่วยให้อบอุ่นขึ้น

ผมมองเพื่อนร่วมทาง ไม่ว่าจะเป็นป่าไหนๆ พูดภาษาใด การเป็นคนงานในหน่วยพิทักษ์ป่า พวกเขาอยู่ในสถานะคล้ายกัน

ผมเชื่อเสมอว่า

เกือบทุกคนมีสิ่งที่มากกว่าแรงกาย

เมื่อลมหนาวครอบคลุมผืนป่า

อุณหภูมิลดต่ำ เราลดเปลลงต่ำเรี่ยพื้น ล้อมเป็นวง กองไฟอยู่กลาง

ในคืนที่ดวงจันทร์เต็มดวง ไม่พียงจะงดงาม แสงนวลตา แต่ดูเหมือนความหนาวเย็นจะทวีคูณ

หลายครั้งบนดอยสูง ผมเห็นกวางผายืนโดดเดี่ยวอยู่บนชะง่อนหิน หรือไต่ไปตามหน้าผาด้วยอาการปกติ ขณะผมหนาวสั่นด้วยความหนาวเหน็บ ผมเคยอยากรู้ว่า ขณะยืนลำพัง อยู่ท่ามกลางลมหนาวอย่างนั้น พวกมันคิดถึงอะไร

นานแล้วที่ผมมีคำตอบให้ตัวเอง

ผมอยากรู้ในสิ่งที่ไม่มีวันรู้

จะปุ๊ เพื่อนผู้เฒ่า ชาวมูเซอดำ “คู่หู” ครั้งที่ผมตามหากวางผา ผู้จากไปอยู่ในดินแดนอันไกลโพ้นเนิ่นนานแล้ว

พร่ำบอกผมบ่อยๆ ว่า เมื่อยังคิดถึงอยู่ก็ไม่มีอะไร อยู่ไกล หรือจากไปไหน

เมื่ออยู่กับวิถีของการเดินทาง

จำเป็นต้องยอมรับว่าการเดินทางคือการพรากจาก

ใช้ความคิดถึงเป็นเครื่องมือ คล้ายร่างกายจะอุ่นขึ้น

ความอบอุ่นที่ไม่ได้มาจากกองไฟ