บทสรุปการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ถอดบทเรียนความสำเร็จอีกครั้ง ของฝั่งก้าวหน้าในสนามประชาธิปไตย

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี

ในคืนวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ผมในฐานะผู้สมัครลงเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมสัดส่วนลูกจ้าง อันนับเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของสังคมไทย

กองทุนประกันสังคมซึ่งได้มาด้วยการต่อสู้ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย และกระแสปฏิรูปทางการเมือง

อย่างไรก็ดี ตลอด 33 ปีการรัฐประหารทั้งสามครั้ง ได้ผลักดันให้ประกันสังคมไทยยึดโยงกับผู้ประกันตนน้อยลง

การแต่งตั้งบอร์ดจาก คสช.ยาวนานมากว่า 9 ปี เป็นเครื่องเตือนให้เห็นถึงกองทุนสวัสดิการที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ แต่กลับตอบสนองต่อคนธรรมดาที่ทำงานหนักอย่างน่าสงสัย

เราฟอร์มทีม “ประกันสังคมก้าวหน้า” ขึ้นมาเพื่อแข่งขันการเลือกตั้งครั้งนี้

หากพูดตามตรงเราไม่ได้ถูกให้ความสนใจมากนัก

และนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งในขบวนการแรงงานก็วิเคราะห์ว่าเรามีโอกาสน้อย

แต่คืนวันที่ 24 ธันวาคม แม้ผู้มาใช้สิทธิ์จะน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ที่ 156,870 คน ผลการเลือกตั้งออกมาว่า ทีมประกันสังคมก้าวหน้าได้รับคะแนนสูงสุดถึง 71,917 หรือร้อยละ 45 ของผู้ลงคะแนน สูงเป็น 6 เท่า ของผู้สมัครทีมอื่น

นับเป็นการชนะการเลือกตั้งในระดับชาติ แลนด์สไลด์ ครั้งสำคัญ

ในบทความนี้ผมขอใช้พื้นที่สรุปสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังที่สนใจการผลักดันนโยบายสวัสดิการ ผ่านกระบวนการทางการเมืองต่อไป

โดยแบ่งพื้นที่สองส่วนคือ การมองเห็นข้อจำกัด และ การมองเห็นโอกาสต่างๆ

 

ข้อจำกัดสำคัญ

การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เป็นการเลือกตั้งโดยตรงของผู้ประกันตนมากกว่าสิบล้านคน

ตามหลักการเป็นการเลือกตั้งใหญ่อันดับสองของประเทศ และเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกันทั้งหมด เป็นชุดผู้สมัครชุดเดียวกันทั้งหมดทั้งประเทศ จากแม่สายถึงเบตง สมุทรสาคร สมุทรปราการ ถึงสาทร สีลม

การรณรงค์เลือกตั้งมีข้อจำกัดอย่างมาก เพราะพื้นที่การเลือกตั้งทั้งประเทศ

หากหวังสำเร็จในการเลือกตั้ง ต้องใช้กำลังคนและทรัพยากรจำนวนมากมหาศาล

แน่นอนที่สุด ผู้สมัครทั่วไปจะไม่มีทรัพยากรมากมายขนาดนั้น

แต่เช่นเดียวกัน ก็จะมีผู้สมัครส่วนหนึ่งที่ได้เปรียบ คือกลุ่มที่มีการรวมตัวกันมาก่อน

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสหภาพแบบดั้งเดิม หรือกลุ่มตัวแทนผู้ประกันตนที่มีความสัมพันธ์กับนายจ้าง ด้วยเงื่อนไขที่การเลือกตั้งต้องลงทะเบียนก่อนล่วงหน้า

ทำให้หลายบริษัทสามารถนำรายชื่อพนักงานไปลงทะเบียนได้ และด้วยกติกาการเลือกตั้งที่ไม่ได้เข้มงวดเหมือนกับการเลือกตั้งระดับชาติ หรือท้องถิ่น

กลุ่มจัดตั้งเดิมจึงดูเหมือนว่ามีโอกาสมากกว่า

มิตรสหายที่ผมรู้จักในหลากหลายสหภาพแรงงานก็ประเมินว่า ยากที่ผู้สมัครหน้าใหม่จะเอาชนะต่อกลุ่มเดิม เพราะมีการประสานผลประโยชน์กันมาอย่างยาวนาน

แม้จะมีผู้ประกันตนหลายล้านคนแต่ถูกสกัดกั้นด้วยเงื่อนไขการลงทะเบียนล่วงหน้า ดังนั้น ไม่สามารถสร้างกระแสช่วงท้ายในการสื่อสารการเมืองสำหรับผู้สมัครหน้าใหม่ได้

กระแสการตื่นตัวของประชาธิปไตยมีก็จริงในช่วงปีที่ผ่านมา แต่คนทั่วไปไม่รู้จักคุ้นชินกับประกันสังคม

และน้อยคนนักจะคิดว่าเรื่องนี้เกี่ยวพันกับประชาธิปไตยและการต่อสู้ทางการเมือง

ยิ่งเวลาผ่านไปก็จะเห็นว่า “กลุ่มประกันสังคมก้าวหน้า” ดูเหมือนจะเสียเปรียบ เพราะผู้สมัครส่วนมากแล้วมีอายุน้อย ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายประกันสังคมมาก่อน

แม้จะเป็นที่รู้จัก แต่ก็ไม่ได้มากพอในระดับประเทศ

และยิ่งเป็นการเลือกตั้งในกลุ่มเฉพาะที่ต้องผ่านการลงทะเบียน จึงดูเป็นสมรภูมิที่ยากจนเป็นไปไม่ได้

 

โอกาสใหม่ๆ

“มันคือการเลือกตั้งครั้งแรก” … “และเราไม่ได้มาเชิงสัญลักษณ์ เรามาเพื่อชนะ” พวกเราในทีมตั้งแต่ผู้สมัครถึงทีมสนับสนุน บอกกันอยู่เสมอ

เราพยายามมองหาโอกาสใหม่ๆ สำคัญ ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนซึ่งสามารถขยายประเด็นได้ดังนี้

1. การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งสนามใหม่ที่ยังไม่มีใครเป็นเจ้าของ และเป็นการเลือกตั้งที่เกี่ยวพันกับจำนวนคนมหาศาล การเพิ่มโอกาสที่จะชนะ คือการเพิ่มจำนวนคนลงทะเบียน

ยุทธศาสตร์แรกคือการรณรงค์ให้ผู้คนลงทะเบียนให้มากที่สุด

ยิ่งคนลงทะเบียนจำนวนมาก จะทำให้เกิดการแข่งขันเชิงนโยบายมากกว่า การแข่งขันผ่านความสัมพันธ์บุคคล

จนกระทั่งวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 การลงทะเบียนเพิ่มเป็นกว่า 9 แสนคนหรือราว 5 เท่า ในเวลาเพียงแค่สิบวัน

แม้จะไม่ใช่ตัวเลขที่คาดการณ์ แต่ก็มากพอให้เกิดการแข่งขันเชิงนโยบาย ซึ่งจะสามารถลดความได้เปรียบของกลุ่มจัดตั้งเดิมได้ อันเป็นหลักการที่ใช้ได้ ตามหลักการการเลือกตั้งโดยทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่การเลือกตั้งครั้งนี้

2. ฟังความเป็นไปได้ใหม่ๆ มิตรสหายในขบวนการแรงงาน หรือคนที่มีประสบการณ์ทางการเมือง วิเคราะห์แต่เรื่องความเป็นไปไม่ได้ ภายใต้คำอธิบายว่า “คนที่จะลงคะแนน ล้วนมีเจ้าของหมดแล้ว”

ผมต้องขอบคุณ ไชยวัฒน์ วรรณโคตร ที่ปรึกษาทางการเมืองคนสำคัญของผม ซึ่งอายุเพียง 26 ปีเท่านั้น ในการชวนมองให้เห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ว่า “ประกันสังคม” ไม่ได้เกี่ยวกับแค่คนในโรงงานเท่านั้น แต่เกี่ยวพันกับแรงงานรุ่นใหม่ คนทำงานในพื้นที่ใจกลางเมือง หรือแม้กระทั่งแรงงานอิสระฟรีแลนซ์ คนทำความสะอาด พนักงานรักษาความปลอดภัย

ถึงแม้ว่าคนกลุ่มนี้จะไม่มีเครือข่ายเป็นพันเป็นหมื่น แต่ความเจ็บปวดของพวกเขา คือความเจ็บปวดของพวกเรา

การออกแบบนโยบายเพื่อการสื่อสารจึงมุ่งเน้นไปที่กลุ่ม ที่ศัพท์ทางวิชาการเรียกว่า “แรงงานเสี่ยง”-Precariat กลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ไร้อำนาจต่อรองที่สุด แบกรับความเสี่ยงแทนชนชั้นนายทุน และไม่สามารถเลื่อนสถานะทางชนชั้นได้ แรงงานกลุ่มนี้ไม่จำกัดอาชีพ ไม่จำกัดสภาพการทำงาน แต่มีความเจ็บปวดในลักษณะเดียวกัน

3. เมื่อถึงวันเลือกตั้ง แม้กระแสต่างๆ ที่ถูกพูดถึงในทางออนไลน์ จะมาช้าไป ผู้ประกันตนส่วนมากไม่มีสิทธิ์เลือกตั้งเพราะไม่ได้ลงทะเบียน

แต่เราเห็นแรงงานรุ่นใหม่จำนวนมาก ที่พวกเขาอาจยังไม่ได้เบิกสิทธิ์เลี้ยงดูบุตร ยังไม่ตั้งครรภ์ หรือน้อยครั้งที่จะเจ็บป่วย อีกหลายปีที่จะเกษียณ พนักงานทำงานความสะอาดที่ทำงานหนัก รวมถึงสหภาพแรงงานรุ่นใหม่ที่สนับสนุนจุดยืนฝั่งประชาธิปไตย ผู้คนที่ปรารถนารัฐสวัสดิการ ตื่นแต่เช้าไปใช้สิทธิ์

หลายคนเลิกทำงาน OT ในวันอาทิตย์เช้า สัปดาห์สุดท้ายก่อนปีใหม่ ก็เดินทางมาที่คูหาเลือกตั้งก่อนปิดคูหา

การเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมผ่านไป และเป็นทีมประกันสังคมก้าวหน้า ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งผมและทีมงานเองหวังว่า เราจะสามารถใช้จังหวะนี้ผลักดันก้าวแรกสู่รัฐสวัสดิการอย่างเต็มที่

ด้วยความเจ็บปวดของผู้คน ความปรารถนาสังคมใหม่ และเป็นเรื่องที่น่าสนใจหากการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

จะชวนให้เราคิดฝันถึงการสร้างประชาธิปไตยในองคาพยพอื่นในประเทศ ที่มากไปกว่าการเลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

และชวนให้เราจินตนาการถึงการสร้างประชาธิปไตยในที่ทำงานในระดับต่างๆ ได้