‘ธนบัตรเป็นเงินชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย’ : หนี้ทำไมถึงเป็นหนี้

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
(Photo by MANAN VATSYAYANA / AFP)

สวัสดีปีใหม่ 2567 (2024) ผมยังหวังและเชื่อมั่นในสำนึกที่เป็นพลังเชิงบวกว่าจะนำพาโลกและสังคมไปในทิศทางที่ไม่เลวกว่าที่ผ่านมา

ตอนเป็นเด็ก ผมตื่นเต้นเมื่อได้เห็นและสัมผัสธนบัตรที่มีข้อความระบุว่า “เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย”

เป็นครั้งแรกในความคิดและเข้าใจของเด็กบ้านนอก

ผมนึกไม่ออกว่าทำไมธนบัตรที่เป็นกระดาษแผ่นเล็กๆ นี้สามารถใช้ชำระหนี้ของใครก็ได้

อย่างมากที่คิดได้คือ ธนบัตรก็คงเหมือนแผ่นยันต์ศักดิ์สิทธิ์ที่ติดตามบ้านเรือนที่บันดาลสิ่งที่เจ้าของต้องการได้

ในเวลาต่อมาผมเริ่มรับคติความเชื่อของชาวบ้านว่า เงินคือแก้วสารพัดนึก ส่วนวิธีการที่จะได้เป็นเจ้าของเงินตราก็ต้องทำงาน

ยกเว้นคนพิเศษที่ได้รับอภิสิทธิจากการมีมรดกตกทอดมามากพอที่ไม่ต้องลงแรงทำงานก็สามารถใช้ชีวิตอย่างสุขสบายได้

ไม่ต้องบอกก็เดาได้ว่าประเด็นนี้มาจากการประโคมข่าวอย่างจ้าละหวั่นของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่กำลังลงมือปฏิบัตินโยบายใหญ่ในการแก้ปัญหา “หนี้นอกระบบ” ของประชาชนทั้งประเทศ

ฟังจากกระแสข่าวทั้งในและนอกระบบ (เหมือนกัน) ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาหนี้สินของประชาชนไทยเป็นเรื่องใหญ่จริงๆ

ขนาดสัดส่วนของหนี้ครัวเรือนขณะนี้คิดเป็นกว่าร้อยละ 80 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของชาติ (จีดีพี) ติดอันดับคนมีหนี้สินของโลกระดับสูงต้นๆ ทีเดียว

ตรงข้ามกับลำดับการวัดผลการเรียนรู้แบบปิซ่าที่เราติดอันดับท้ายๆ ปรากฏการณ์ไล่ๆ กันของคนไทยในยุคนี้มีความขัดกันไม่น้อย

แต่ก็เชื่อมโยงอธิบายกันได้ เพราะการที่คนไทยเป็นหนี้มาก ก็ย่อมแน่นอนที่จะต้องเรียนรู้และสะสมสติปัญญาได้น้อยเป็นธรรมดา ไม่เคยมีที่ไหนที่คนส่วนมากยากจนข้นแค้นแล้วจะมีปัญญาความรู้มากไปได้

“หนี้นอกระบบ ก็คือ การกู้ยืมเงินที่ไม่ผ่านระบบสถาบันการเงินหรือผู้ให้กู้ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเงินกู้ตามกฎหมาย จึงไม่อยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานภาครัฐใดๆ

ดังนั้น แค่ขอยืมเงินจากเพื่อน ก็นับเป็นหนี้นอกระบบแล้ว” (“หนี้นอกระบบ อยากจะกู้ต้องรู้ทันหนี้” แบงก์ชาติชวนคุย ใน น.ส.พ.ประชาชาติ ฉบับวันที่ 20 พฤษภาคม 2566)

เมื่อพิจารณาจากกลุ่มลูกหนี้ทั้งหมดทำให้มองเห็นภาพได้ว่าคือคนที่มีรายได้ประจำเช่นเงินเดือน รวมถึงครูและพนักงานระดับล่างทั่วไป แต่มีรายจ่ายสูงมากกว่ารายได้ จนเมื่อเกิดความขัดสนด้วยเหตุใดก็ตาม จำต้องไปกู้หนี้ยืมสินจากนายเงิน

ที่ง่ายที่สุดคือคนที่ทำนอกระบบ เพราะปัจจุบันการทำธุรกรรมการเงินอยู่ภายใต้กำกับและกฎหมายของรัฐ ทำให้การกู้หนี้ได้ยากกว่า

เรื่องการ “กู้หนี้ยืมสิน” อันเป็นศัพท์โบราณเป็นปัญหาเก่าแก่พอๆ กับปัญหาความชอบธรรมของผู้ปกครอง

ความขัดแย้งกระทั่งลุกฮือเกิดเป็นกบฏในอดีตหลายแห่งมีปมเงื่อนอยู่ในปัญหาหนี้สินของราษฎรด้วยเสมอ

เพราะการเก็บกินดอกเบี้ยมันเหมือนการเอาเปรียบที่เรียกว่าขูดรีดจากผู้กู้หนี้ที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบในทุกทาง

คำสอนของฝ่ายคาทอลิกจึงประณามการเก็บดอกเบี้ยว่าเป็นบาปเพราะทำให้งอกเงยมาจากสิ่งไม่มีชีวิต

ในคติพุทธไม่เคยได้ยินว่ามีการประณามหรือกล่าวโทษการเก็บดอกเบี้ยของนายเงิน

แต่ในส่วนของรัฐและผู้มีอำนาจสมัยจารีตเช่นกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีหลักฐานในกฎหมายตราสามดวง เห็นชัดว่ารัฐบาลก็ไม่พอใจและไม่สนับสนุนการเก็บดอกเบี้ยเกินความจำเป็นและลิดรอนการอยู่กินของราษฎร จนอาจทำให้เกิดความไม่สงบได้

จึงมักออกกฎหมายกำกับและควบคุมจนถึงประกาศให้ยกหนี้สินที่ไม่ขอบธรรมนั้นไปเสียเลย

 

กล่าวได้ว่าก่อนที่สังคมไทยจะกลายมาเป็นสังคมทุนนิยมแบบไทยภายหลังการทำสัญญาเบาว์ริ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 น่าสนใจว่าระบบและความสัมพันธ์ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ได้มีอยู่ทั่วไป

แสดงว่าคนไทยสมัยอยุธยาก็เป็นหนี้สินกันมาเนิ่นนานแล้ว จนถึงมีการวิวาทและฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลไม่น้อย

กฎหมายตราสามดวง ซึ่งเป็นแม่บทกฎหมายเก่าแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาถึงรัตนโกสินทร์ก่อนการสร้างกฎหมายสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 พบว่ามีกฎหมายลักษณะหนี้สินอยู่ด้วย

มีบทมาตราครอบคลุมลักษณะปัญหาของการกู้หนี้ยืมสินไว้อย่างละเอียดรวมได้ 164 มาตรา

ตั้งแต่ลักษณะในความสัมพันธ์ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ที่เป็นญาติมิตรทั้งสนิทและห่าง เป็นผัวเมียกู้ด้วยกัน ฝ่ายหนึ่งตาย ไปถึงผู้กู้เข้าชื่อในกรมธรรม์หลายคน เอาชื่อทาสใส่ในกรมธรรม์ไม่บอกเจ้าหนี้ หรือให้ทาษกู้แทน ตายก่อนใช้หนี้ เอาต้นไปทำเป็นดอก เจ้าหนี้ไปชักด่าว่าลูกหนี้ เจ้าหนี้อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่มียศถาบรรดาศักดิ์ เรื่องผู้ค้ำประกัน เอาของไปเป็นดอก กู้หลายแห่ง ทำการต่อสู้เจ้าหนี้ สุดท้ายคือเอาไพร่ไปราชการ มีความยากลำบากไม่มีกิน ต้องกู้หนี้ ให้ใช้แต่ต้นไม่ให้เอาดอก เป็นต้น

เมื่อวิเคราะห์ลักษณะการกู้หนี้และปัญหาข้อพิพาทระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ในสังคมไทยยุคศักดินา (ตรงนี้อย่าแปลว่ามันเหมือนกับระบบฟิวดัล feudalism ของยุโรปเพราะมันไม่เหมือน) แล้ว กล่าวได้ว่ามีลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างคนที่เป็นไพร่ข้าทาษไทคือข้าราชบริพารในระบบปกครองระบบกษัตราธิราชด้วยกันเอง ไม่ใช่ระหว่างผู้กู้กับนายเงินที่เป็นระบบธุรกิจให้ผลตอบแทนอย่างปัจจุบัน

ดังนั้น จึงไม่มีการพูดถึงอัตราดอกเบี้ยเลย ว่าเป็นธรรมเหมาะสมหรือไม่

หากอ่านดูเนื้อหาในกฎหมายแล้วจะพบว่า ระบบเศรษฐกิจศักดินาไทยไม่ได้มองว่าดอกเบี้ยเป็นรายได้อันชอบของเจ้าหนี้นายเงินแต่ประการใด จึงตัดสินในหลายมาตราให้ยกเลิกแล้วแก่กัน ให้ลูกหนี้ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่ตกลงกันแต่แรกเลย

เช่น ม.61 “ถ้าแม้แผ่นดินนั้นเป็นจุลาจลแล้วตั้งขึ้นใหม่ บมิควรที่จะว่าแก่มันเลย” คือถ้ามีการเปลี่ยนรัฐบาลด้วยความรุนแรง การกู้ยืมทรัพย์แก่กันให้เลิกแล้วไปเลย

ถ้าเอามาปรับใช้ในสมัยปัจจุบัน ต้องให้สำนักคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า “เป็นจลาจลแล้วตั้ง (รัฐบาล) ขึ้นใหม่นั้น” อนุโลมใช้ได้กับการทำรัฐประหารที่สำเร็จทุกครั้งไหม แล้วนำเอากฎหมายตราสามดวงในลักษณะกู้หนี้มาใช้ ก็จะแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งในและนอกระบบไปได้โดยทันใด

 

ในระบบศักดินาโบราณ ระบบเศรษฐกิจและการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ได้แยกออกจากกันเหมือนระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่แยกจากระบบการเมืองได้

ไพร่ทาสทำมาหากินภายใต้การคุ้มครองและปกครองโดยรัฐที่มีอำนาจและสิทธิเหนือร่างกายและจิตใจไพร่ทาสโดยสมบูรณ์

ผู้กู้และผู้ให้กู้จึงต่างไม่มีใครเป็นอิสระเสรีในตัวของตัวเอง ทุกฝ่ายล้วนไม่มีอิสระเสรีเพราะเป็นไพร่ฟ้าข้าทาษไท กล่าวโดยรวมคือเป็นคนมีบ่วงคล้องคออยู่ใต้อำนาจปกครองเด็ดขาดและดูแลของกษัตริย์และขุนนาง

ดังนั้น ผู้กระทำการผลิตทั้งหมดไม่มีใครเป็น “คนเสรี” (freeman) ที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตคือที่ดินหรือเงินทุน หากแต่เป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินเหล่านั้นได้ตามสิทธิกัลปนาคือสิทธิในการทำมาหากินเท่านั้น แต่จะเอาไปขายหรือจำนองคนอื่นไม่ได้ นั่นคือทำให้มันเป็นสินค้าแลกเปลี่ยนในตลาดไม่ได้

ความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงมีจุดหมายที่การตอบแทน (reciprocity) ระหว่างคนสองฝ่ายที่ไม่ใช่ผลกำไร หากแต่คือการตอบสนองความต้องการในการดำรงชีวิตของทุกฝ่ายให้อยู่รอดได้ในภาวะปกติ คือมีที่ทำกินมีเงินไปซื้อข้าวของที่ขาดแคลน ระบบนี้จึงไม่ทำให้ใครมั่งคั่งร่ำรวยขึ้นมาได้นอกจากผู้ปกครอง

อันตรงข้ามกับระบบกู้หนี้ปัจจุบันที่ทำกำไรมหาศาลให้แก่นายทุนเงินกู้ทั้งหลาย ทั้งที่เป็นธนาคารและไม่ใช่

การกู้หนี้ยืมสินแบบโบราณจึงรวมศูนย์อยู่ที่ครอบครัว เพราะนี่คือบรรดาคนที่ทำการกู้หนี้ยืมสินมากที่สุดในพระราชอาณาจักร เคียงข้างไปกับการกู้หนี้ยืมสินคือการขายตัวลงไปเป็นทาษ เนื่องจากระบบการผลิตแบบศักดินาคือการเกณฑ์แรงงานไพร่ทาษ โดยไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแรงงาน แรงงานไพร่และลูกหลานในครัวเรือนจึงเป็นแรงงานที่ไม่เสรีเพราะอยู่ใต้พันธนาการของกฎหมายรัฐว่าจะถูกเรียกใช้เมื่อไรก็ได้ ความเป็นเจ้าของแรงงานนึ้จึงได้แก่ระบบศักดินาหรือรัฐกษัตริย์ ไม่ใช่ตัวไพร่เอง คนไทยแต่โบราณมาจึงต้องถามว่าเป็นคนของใครสังกัดใต้ใคร มากกว่าแค่เป็นใครโดดๆ

เมื่อไม่มีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน ผู้กู้หนี้ที่เป็นไพร่หรือทาส จึงมักเอาลูกหรือเมีย ซึ่งกฎหมายลักษณะทาษให้อำนาจแก่พ่อหรือผัวว่าสามารถนำไปขายได้เพราะพ่อและผัวมี “อิสรภาพ” เหนือลูกและเมีย

คำว่าอิสรภาพโบราณจึงแปลว่าผู้มีอำนาจสูงสุด ไม่ใช่เสรีภาพอย่างปัจจุบันนี้แต่ประการใด

พัฒนาการสังคมไทยต่อมาจึงเห็นความย้อนแย้งและขัดกันเมื่อคติเสรีภาพอิสรภาพแบบตะวันตกเข้ามาใช้ โดยทับศัพท์ไทยโบราณที่มีความหมายอันตรงกันข้าม นั่นคือคนที่มีเสรีภาพและอิสรภาพมากกว่าใครก็ยังเป็นคนที่กุมอำนาจและความมั่งคั่งมากกว่า ส่วนคนที่ไม่มีหรือมีน้อยก็ย่อมมีและใช้เสรีภาพอิสรภาพได้น้อยตามไปด้วย

โดยที่กฎหมายสมัยใหม่ก็ลงมาคุ้มครองปกป้องน้อยด้วยเช่นกัน ทั้งหมดนี้เป็นผลจากกระบวนการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ของไทยสยามที่ดำเนินมาเพียงแค่ในทางรูปแบบ แต่ไม่ได้นำเอาเนื้อหาภายในมันมาด้วย

ผลคือทำให้อานิสงส์ของการเป็นสมัยใหม่ ตกเป็นของส่วนบนหรือชนชั้นปกครองเท่านั้นที่เป็นกอบเป็นกำ

ส่วนคนข้างล่างก็รอน้ำหยดลงมาจากข้างบนทีละหยด ปรากฏให้เห็นในแทบทุกปริมณฑลของความเปลี่ยนแปลงที่ได้ปฏิบัติมาในอดีตถึงปัจจุบัน และกำลังต่อยอดไปยังอนาคตอีกด้วย

 

การวิเคราะห์อย่างนี้ฟังดูด้านเดียวและเชิงลบมากไปหรือเปล่า

ความจริงในความเปลี่ยนแปลงสมัยใหม่ ไม่ว่าจะรับมาในรูปแบบและเนื้อหาที่ไม่ครบถ้วน ก็ได้สร้างผลการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้แก่ราษฎรคนข้างล่างและกลางได้บ้างเหมือนกัน

เช่น ระบบการศึกษาถ้วนหน้า ระบบสาธารณสุขแบบใหม่และโรงพยาบาล ระบบคมนาคม และระบบเศรษฐกิจการค้าแบบทุนที่ขยายตัวเติบใหญ่ ทำให้ชาวนาไทยปลูกข้าวส่งออกไปตลาดโลกได้มากขึ้น กล่าวโดยรวมก็ทำให้ชีวิตและความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าสมัยกรุงศรีอยุธยาแน่นอน

ปัญหาเดียวคือมันเปลี่ยนแปลงและยกระดับดีขึ้นในอัตราและถัวเฉลี่ยที่ต่ำและช้ากว่าที่มันควรจะเป็น

ตัวเลขการก่อหนี้นอกระบบของคนไทยปัจจุบันที่มีมูลค่ากว่าร้อยละ 80 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมชองชาติ (จีดีพี) จึงฟ้องถึงลักษณะล้าหลังด้อยพัฒนาที่แฝงอยู่ในระบบโครงสร้างอำนาจและการปกครองไทยที่เป็นอำนาจนิยมและผูกขาดอย่างยั่งยืนและสถาพรยิ่ง

การเกิดหนี้สินจึงมาจากปัญหาการขาดรายได้ที่พอเพียงกับการดำรงชีวิตเท่าที่จำเป็นในสังคม

นั่นคือการหารายได้ซึ่งคือการทำงานเพื่อได้รับค่าจ้างแรงงาน ซึ่งเป็นหนทางหลักของผู้ใช้แรงงานในระบบทุน การแก้ปัญหาหนี้สินไม่ว่าในระบบหรือนอกระบบในระยะยาวจึงต้องเข้าไปแก้ในปัญหาของระบบทุนนิยมด้วย

นั่นคือการทำให้ระบบทุนเป็นเสรีมากขึ้นและทำการแข่งขันอย่างเสรี จึงจะยกระดับเทคโนโยลีการผลิตและกระจายการแบ่งปันผลกำไรไปให้ผู้ใช้แรงงานทั้งหลายอย่างเท่าเทียมเป็นธรรม