Green Gentrification ข้อพึงระวังต่อการพัฒนาเมืองกรุงเทพฯ (1)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่สีเขียวในเมือง ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่, pocket park ขนาดกะทัดรัดที่แทรกตัวอยู่ตามย่าน ไปจนถึงสวนหย่อมขนาดเล็กตามซอกตึก คือ องค์ประกอบที่สำคัญของเมืองและเป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตของผู้คนที่อยู่อาศัย

พื้นที่สีเขียวเป็นทั้งพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ จัดกิจกรรมทางสังคม สร้างปฏิสัมพันธ์ให้แก่ผู้คน และช่วยคลายร้อนให้กับเมืองที่เต็มไปด้วยตึกสูง ฯลฯ

งานวิจัยมากมายแสดงให้เห็นอย่างสิ้นสงสัยมานานหลายทศวรรษแล้วถึงคุณประโยชน์ทั้งทางกายภาพ สังคม และระบบนิเวศ ที่พื้นที่สีเขียวมอบให้แก่เมือง

กรุงเทพฯ เป็นเมืองหนึ่งซึ่งก็ไม่ต่างจากเมืองมหานครทั่วโลกทั้งหลาย ที่ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาได้ทุ่มเททั้งความคิดและงบประมาณไปมหาศาลเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว

แม้อัตราส่วนพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ณ ตอนนี้จะอยู่ที่ 7.49 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานตามข้อเสนอขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดให้ไว้ต้องมีอย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อคน

แต่จากความเอาจริงเอาจังพอสมควรทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ไปจนถึงหน่วยงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองในสถาบันการศึกษาต่างๆ ในช่วงไม่กี่ปีนี้ ผมเชื่อว่าอีกไม่นานนัก กรุงเทพฯ จะบรรลุอัตราส่วนขั้นต่ำของพื้นที่สีเขียวได้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ทิศทางเชิงบวกดังกล่าว คำถามที่น่าคิดก็คือ พื้นที่สีเขียวที่ทุกภาคส่วนกำลังวิ่งไล่กวดอย่างขมักเขม้นอยู่นี้ เราสามารถมองมันในลักษณะที่เป็นเสมือนดั่งยาวิเศษแก้ไขปัญหาสารพัดของเมือง เป็นพื้นที่ที่ดีอย่างไร้เงื่อนไข สร้างที่ไหน เมื่อไร และอย่างไรก็เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น โดยไร้ซึ่งผลกระทบด้านลบใดๆ จริงหรือไม่

ซึ่งโดยส่วนตัวผมคิดว่าไม่ และอยากชวนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องลองแบ่งใจมามองถึงผลกระทบด้านลบทางสังคมที่พื้นที่สีเขียว “อาจจะ” สร้างให้เกิดขึ้นได้ในพื้นที่เมือง

โครงการ The High Line
ที่มาภาพ : Wikipedia

มีงานศึกษาทยอยออกมาให้เราเห็นเพิ่มมากขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมาที่ชี้ให้เห็นว่าการสร้างพื้นที่สีเขียวในหลายกรณีได้สร้างเงื่อนไขทั้งโดยตรงและโดยอ้อมอย่างไม่ตั้งใจในการเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้แก่ปรากฏการณ์ Gentrification

พื้นที่สีเขียวบางแห่งทำให้เกิดความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในการเข้ามาลงทุนหรือพักอาศัยในพื้นที่โดยรอบ จนส่งผลให้มูลค่าที่ดินรวมถึงค่าเช่าถีบตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดตัวมันได้ก่อให้เกิดผลร้าย คือ การย้ายออกเป็นจำนวนมากของผู้อยู่อาศัยเดิมที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำ เพราะไม่สามารถแบกรับความแพงของย่านที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้

ผลกระทบของการสร้างพื้นที่สีเขียว รวมถึงองค์ประกอบเมืองรูปแบบอื่นที่ตั้งอยู่บนแนวคิดเมืองสีเขียวทั้งหลาย ที่มีต่อการเกิด Gentrification ดังกล่าว ในทางวิชาการ มีคำเรียกที่เริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันว่า Green Gentrification

กรณีศึกษาคลาสสิคของปรากฏการณ์นี้คือ The High Line โครงการก่อสร้างสวนสาธารณะยกระดับความยาวเกือบ 2.5 กิโลเมตรบนทางรถไฟเก่าที่ถูกทิ้งร้างยาวนานกว่าเกือบ 30 ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ.2523) ในย่านแมนฮัตตันตอนล่าง

โครงการนี้เปิดใช้งานสวนสาธารณะเฟสแรกในปี พ.ศ.2552 โดยเฟสสุดท้ายแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2562

ในด้านหนึ่ง The High Line ประสบความสำเร็จมาก กลายเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำของเมืองนิวยอร์ก ดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายล้านคนต่อปี (ตัวเลขล่าสุดคือราว 8 ล้านคนต่อปี)

โดยตลอดเส้นทางเดินที่ถูกปรับปรุงขึ้นใหม่นั้นจะเต็มไปด้วยสวนดอกไม้ ต้นไม้ ที่นั่งพักผ่อน และงานศิลปะเก๋ๆ อีกทั้งยังสามารถมองเห็นทัศนียภาพของเมืองและตึกระฟ้ามากมายของย่านแมนฮัตตันได้

โครงการนี้ได้เปลี่ยนพื้นที่เสื่อมโทรมรกร้าง น่ากลัว เต็มไปด้วยคนไร้บ้าน ให้กลายมาเป็นพื้นที่ที่มีชีวิตชีวา สวยงาม มีเสน่ห์ แวดล้อมด้วยพื้นที่สีเขียวและผู้คน

จนโครงการนี้ได้กลายเป็นตัวแบบการฟื้นฟูย่านเสื่อมโทรมมากมายหลายแห่งทั่วโลก และแน่นอนรวมไปถึงประเทศไทยด้วย

 

แต่ในอีกด้านหนึ่ง ที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก คือ The High Line ได้เข้ามาเปลี่ยนโฉมพื้นที่เมืองที่เส้นทางนี้ตัดผ่านเกือบทั้งหมดให้กลายเป็นย่านผู้ดีหรูหราที่ดึงดูดคนร่ำรวยให้เข้ามาอยู่อาศัยหรือประกอบกิจการราคาแพงนานาชนิดในพื้นที่

พร้อมทั้งเบียดขับคนที่อยู่อาศัยเดิมที่ยากจนให้ออกไป (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนผิวสีในพื้นที่)

อย่าว่าแต่คนจนเลยนะครับ แม้กระทั่งคนชั้นกลางตามมาตรฐานแบบอเมริกันชนทั่วไปก็แทบจะไม่สามารถอยู่อาศัยในย่านนี้ได้

การศึกษาผลกระทบของ The High Line ในปี พ.ศ.2563 พบว่า โครงการนี้ทำให้มูลค่าสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่เพิ่มขึ้นมากถึง 35% แม้ว่าสิ่งนี้อาจเป็นข่าวดีสำหรับเจ้าของบ้าน แต่ชาวแมนฮัตตันมากกว่า 75% เป็นผู้เช่า

ดังนั้น ด้วยอัตราการขยายตัวของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์เช่นนี้ ย่อมทำให้คนที่เคยอยู่อาศัยในย่านแมนฮัตตันมีแนวโน้มที่จะถูกขับไล่ให้ออกไปจากย่าน (อ้างถึงในบทความ Why “greening” cities can make gentrification worse – and often doesn’t help the environment either โดย Laura Kiesel จากหนังสือพิมพ์ Salon)

Robert Hammond และ Joshua David ผู้อยู่อาศัยในย่านดังกล่าวและเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม Friend of The High Line ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่ผลักดันให้เกิดโครงการสวนยกระดับนี้ขึ้นจนสำเร็จเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ได้เคยออกมาให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปี พ.ศ.2560 ถึงผลกระทบทางลบที่พวกเขาเองก็คาดไม่ถึงจากโครงการนี้ที่มีต่อผู้คนที่เคยอยู่อาศัยในย่าน

และออกยอมรับว่าในด้านหนึ่งโครงการนี้เป็นความล้มเหลว และจำเป็นต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ The High Line มีความสมดุลและเอื้อประโยชน์ที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยท้องถิ่นให้มากขึ้น

(ดูรายละเอียดในบทความ The High Line’s Next Balancing Act โดย Laura Bliss จากสำนักข่าว Bloombreg)

 

ปัญหาว่าด้วย Green Gentrification ไม่ได้มีแค่เพียงกรณี The High Line นะครับ จากการศึกษาของ Dr. Jeremy Nemeth ศาสตราจารย์ด้านการวางแผนภาคและเมืองของ the University of Colorado Denver และ Dr. Alessandro Rigolon แห่ง University of Illinois Urbana-Champaign ที่ทำการเก็บข้อมูลผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้นจากสวนสาธารณะที่ถูกสร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ.2543-2558 ในเมืองต่างๆ 10 เมืองของสหรัฐอเมริกา ก็พบประเด็นน่าสนใจว่า

สวนสาธารณะในบางเงื่อนไข โดยเฉพาะสวนสาธารณะที่สร้างขึ้นเป็นเส้นแนวยาว ใกล้กับย่านกลางเมือง และล้อมรอบไปด้วยโครงข่ายการคมนาคมหลากหลายรูปแบบนั้น แทนที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในเมือง กลับทำหน้าที่เป็นตัวเร่งให้เกิดปรากฏการณ์ Gentrification อย่างรุนแรงขึ้นแทนที่ (ดูเพิ่มใน Alessandro Rigolon and Jeremy Nemeth, “Green gentrification or ‘just green enough’ : Do park location, size and function affect whether a place gentrifies or not?,” Urban Studies 57, 2 (2020) : 402-420.)

ข้อเท็จจริงเหล่านี้ถูกเผยให้เห็นมากขึ้นผ่านงานวิจัยร่วมสมัยมากมาย แต่ในสังคมไทยซึ่งมีความตื่นตัวในประเด็นเรื่อง Gentrification แบบทั่วไปอยู่ไม่มากนักเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ยิ่งมาเจอเรื่อง Green Gentrification ที่แฝงตัวอย่างแนบเนียนอยู่ภายใต้เปลือกของแนวคิดว่าด้วย “เมืองสีเขียว” ที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่มีคุณภาพ การตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน ตลอดจนปัญหามลพิษในเมืองใหญ่ที่ต้องแก้ไขด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ ฯลฯ คงยิ่งทำให้ประเด็นนี้ดูเป็นเรื่องแปลกประหลาดและอาจชวนให้หลายคนเกิดความรู้สึกโมโห ที่อยู่ดีๆ ก็มีคนออกมาพูดรณรงค์เสมือนหนึ่งว่าให้เราต่อต้านการสร้างพื้นที่สีเขียว

แต่ผมอยากชี้แจงและอธิบายให้เข้าใจร่วมกันก่อนนะครับว่า เท่าที่ตามอ่านงานศึกษาที่สนใจเรื่อง Green Gentrification มาพอสมควร ผมยังไม่เคยเห็นใครต่อต้านการสร้างพื้นที่สีเขียวเลยสักคนเดียว

ผมเองซึ่งคล้อยตามข้อเสนอในกลุ่มนี้ก็เช่นเดียวกันนะครับ ไม่เคยต่อต้านการเพิ่มพื้นที่สีเขียวแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม การสร้างพื้นที่สีเขียวที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เรามองมันอย่างใสซื่อเกินไป

มองมันเป็นพื้นที่ที่มีแต่ผลกระทบด้านบวกเพียงอย่างเดียวจนละเลยการมองอย่างพินิจพิจารณาลงไปในระดับรายละเอียดว่า พื้นที่สีเขียวในบางเงื่อนไขของการออกแบบตัวมันถูกใช้เป็นเครื่องมือของระบบทุนนิยมที่ไร้หัวใจในการขับไล่คนจนออกจากเมือง

และในบางบริบทอาจเป็นตัวเร่งให้ความไม่เป็นธรรมในพื้นที่เมืองตลอดจนความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนขยายตัวถ่างออกไปมากยิ่งขึ้น