ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 มกราคม 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
คงเป็นสิ่งที่ประชาชนไทยทุกคนคาดหวังว่า เมื่อขึ้นปีใหม่ สิ่งใหม่ๆ ดีๆ พึงบังเกิดขึ้น ยิ่งในสมัยที่รัฐบาลเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง การคำนึงถึงและการตอบสนองความต้องการของประชาชนยิ่งมีมากกว่ารัฐบาลที่มาจากวิธีการอื่นๆ
ความคาดหวังของประชาชนในปีใหม่จึงเป็นเรื่องที่ผู้เป็นรัฐบาลต้องตระหนักและรีบเร่งดำเนินการ เพราะรัฐบาลเลือกตั้งนั้นอยู่ได้ด้วยศรัทธาและความนิยมของประชาชน
บทเรียนในอดีตมีมากมายที่พรรคการเมืองที่เป็นที่นิยมของประชาชนอย่างล้นหลาม แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งเหล่านั้นเหลือแค่ความทรงจำเพราะไม่สามารถตอบความต้องการของประชาชนได้
ปีใหม่ 2567 จึงเป็นปีของการพิสูจน์ความสามารถของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ว่าจะสามารถสร้างผลงาน เป็นปีมังกรทองของความรุ่งเรือง หรือจะเป็นมังกรไฟที่แผดร้อนจนไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินอย่างปกติได้ มีหลายปัจจัยที่ท้าทายในเรื่องนี้
ลดความขัดแย้ง
นำสังคมสู่ปกติสุข
ในทางสังคม ความคิดเห็นและอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่าง การสั่งสมความขัดแย้งที่ผ่านมานับสิบปีโดยไม่มีความพยายามแก้ไข คดีการเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่ผู้ต้องหาได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างและไม่เป็นธรรม ความแตกแยกแบ่งกลุ่มแบ่งฝ่าย รับฟังในฝ่ายเดียวกัน ปฏิเสธ โจมตี เสียดสี ใส่ร้ายฝ่ายตรงข้าม คือโจทย์ที่รัฐบาลต้องพึงคิดแก้ไข ไม่ใช่ขยายเพิ่มความขัดแย้ง
ในอดีต ความขัดแย้งในทางการเมืองที่ภาคประชาชนมีกับผู้มีอำนาจในบ้านเมือง เป็นเรื่องที่ประชาชนซึ่งไม่มีอำนาจต้องใช้วิธีการชุมนุมทางการเมือง การเดินขบวนบนท้องถนน การยึดสถานที่ราชการ ซึ่งล้วนเป็นความผิดทางอาญา หลายกรณีมีการตัดสินลงโทษ หลายกรณียังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม
ในขณะที่คดีทางการเมืองเกี่ยวกับการทุจริตของนักการเมือง บางกรณีเป็นการทุจริตจริงที่สมควรได้รับการลงโทษ แต่บางกรณีก็ยังเป็นเครื่องหมายคำถามว่า เป็นการทุจริตหรือเป็นการกลั่นแกล้งจากฝ่ายที่มีอำนาจ
แนวความคิดเรื่องการนิรโทษกรรมคดีการเมืองต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่ช่วยลดความขัดแย้งในสังคมได้ โดย ต้องนิรโทษกรรมในคดีทางการเมืองที่เป็นความคิดเห็นต่าง คดีอาญาที่ไม่รุนแรงและขาดเจตนาในการกระทำผิด และนำคดีทุจริตสีเทาเข้าสู่การพิจารณาใหม่ภายใต้กติกาที่เป็นธรรม
ในทางตรงกันข้าม หากรัฐบาลที่มีโอกาสแก้ไขความขัดแย้ง กลับใช้อำนาจของตนในการรักษาอำนาจมากกว่าการช่วยแก้ไขปัญหา ใช้กลไกความได้เปรียบของตนในการส่งเสริมการแสดงความคิดเห็นเพื่อทำลายคู่แข่งทางการเมือง ความขัดแย้งยิ่งขยายตัว ยากที่สังคมจะเป็นปกติสุข
แก้ไขปัญหาปากท้องอย่างยั่งยืน
ประชาชนอยากจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพในคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม ภารกิจของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน จึงประกอบด้วย 3 ด้านที่สำคัญ คือ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และขจัดความเหลื่อมล้ำ
การเพิ่มรายได้ ต้องเป็นการเพื่อศักยภาพของประชาชนในการผลิต ให้ประชาชนมีช่องทาง โอกาสและมีรายได้จากการประกอบอาชีพโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ส่งเสริมให้เศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ให้เขาสามารถมีรายได้ในท้องที่ ไม่ต้องขวนขวายไปหางานทำในต่างพื้นที่ สังคมครอบครัวไทยจะได้เข้มแข็ง ส่วนการจะขึ้นเงินเดือน ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เมื่อเป็นนโยบายก็ต้องรักษาคำพูด ทำให้ได้ตามสัญญา
การลดรายจ่าย ต้องวิเคราะห์ถึงรายจ่ายหลักของประชาชนที่หากรัฐบาลช่วยเหลือแล้วสามารถทำให้ต้นทุนในการผลิตและในการใช้ชีวิตนั้นลดลง ผู้เป็นชาวนาย่อมต้องการปุ๋ยราคาถูก ผู้ทำงานในเมืองย่อมต้องการความช่วยเหลือจากรัฐในการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ประชาชนทั่วไป หากมีค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน รัฐควรหาทางลดค่าใช้อย่างยั่งยืนมากกว่ามาตรการลดแบบให้ดีใจชั่วครั้งชั่วคราว
ในด้านความเหลื่อมล้ำ ต้องยอมรับว่า สังคมไทยยังมีความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจสูง เป็นโจทย์ว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถลดช่องว่างดังกล่าว ไม่ใช่เพียงแค่เก็บภาษีคนรวยเพิ่ม และคนรวยเหล่านั้นก็มาเอากำไรชดเชยจากคนจน
เดินหน้าประเทศ
สู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
ปี 2567 เป็นปีที่รัฐบาลมีโอกาสจะเดินหน้าประเทศไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ เริ่มจากกติกาหลักของประเทศ คือ รัฐธรรมนูญ ที่ถูกร่างเพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่มในการสืบทอดอำนาจของตนเอง หาใช่กติกาที่เป็นธรรมและก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองให้กับประเทศ
การให้มีการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมาทำหน้าที่ร่างกติกาใหม่ที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์สมควรเป็นสิ่งที่ต้องเร่งรัดในการดำเนินการ เพราะยังมีขั้นตอนหลังจากนั้นอีกมากมายที่ไม่อาจวางใจได้ว่าจะสามารถดำเนินการได้ทันวาระของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
ยังต้องจับตาการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่ที่จะมาแทนที่สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกที่จะหมดวาระลงในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2567 และจะต้องมีการดำเนินการคัดเลือกรอบแรกในระดับอำเภอภายใน 30 วันหลังจากชุดเดิมหมดวาระ เพราะภายใต้กติกาที่เขียนถึงวิธีการได้มาโดยให้สมัครตามกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม ให้มีการเลือกกันเองและเลือกไขว้ จำนวน 3 รอบ จากอำเภอ จังหวัดและประเทศ แค่เริ่มต้นการสมัครตามกลุ่มอาชีพและเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพก็เห็นช่องทางของการให้อำนาจเงิน อำนาจอิทธิพล และการหาทางที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยไม่ชอบได้โดยสะดวกแล้ว
ยังไม่เห็นแนวทางใดของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการป้องกันการ “ฮั้ว” การเลือกกันเองและเลือกไขว้ในทุกระดับ
เช่นเดียวกับ การเลือกตั้งท้องถิ่นต่างๆ ที่จะทยอยเกิดขึ้น นับแต่ปลายปี 2567 เป็นต้นไป โดยเริ่มจากการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่จะครบวาระ 4 ปี ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2567
ปัญหาการซื้อเสียง การใช้อิทธิพล ที่ว่ากันว่ามีมากกว่าการเลือกตั้งในระดับประเทศ และเป็นช่องทางให้ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นใช้เป็นช่องทางเข้าสู่อำนาจทางการเมือง ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องคิดตรองว่าจะช่วยกันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้อย่างไร
ระบบราชการ
ยังเป็นโจทย์ที่ต้องปฏิรูป
ไม่ว่าฝ่ายการเมืองใดจะมาเป็นรัฐบาล สิ่งที่เป็นข้อจำกัดและอุปสรรคของการดำเนินนโยบายคือ ความเคยชินในการทำงานแบบราชการและการรักษาผลประโยชน์ของข้าราชการที่มีตำแหน่งหน้าที่ที่ฝ่ายการเมืองไม่กล้าเข้าไปแตะต้อง
งบประมาณของหน่วยราชการ โดยเฉพาะงบของหน่วยราชการที่มีการจัดซื้อจัดจ้างในวงเงินค่อนข้างมาก เช่น งบการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ งบฯ ทางหลวง งบฯ ชลประทาน เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ในเรื่องความเหมาะสม คุ้มค่า และความโปร่งใสในการดำเนินการ
ปัญหาของประเทศที่ต้องเริ่มจากการระบบราชการและการปฏิรูปในด้านต่างๆ จึงมีมากมายและรอคอยให้ฝ่ายการเมืองแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่เขียนเป็นหมวดหนึ่งในรัฐธรรมนูญ แล้วบอกว่า ครบ 5 ปีแล้ว ประเทศมีการปฏิรูปแล้ว หมดภารกิจการปฏิรูปแล้ว
ปี 2567 จึงเป็นปีดีที่จะเริ่มต้นการพัฒนาเปลี่ยนแปลงในทุกๆ เรื่องหากรัฐบาลมีความจริงใจและตั้งใจในการดำเนินการแต่หากยังคิดเพียงแค่การหาเสียง หาคะแนนนิยม พูดแต่นโยบายไม่ผลักดันไปสู่การปฏิบัติ ให้สัญญา ให้ความหวัง ผัดผ่อนไปวันๆ
มังกรทองที่ตั้งความหวัง อาจกลายเป็นมังกรไฟที่แผดร้อน เตือนให้ทราบ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022