อาลัย ศาสตราจารย์ ดร.โรเบิร์ต โซโลว์

ดาวพลูโตมองดูโลก | ดาวพลูโต

 

อาลัย ศาสตราจารย์ ดร.โรเบิร์ต โซโลว์

 

สวัสดีปีใหม่ท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่านครับ หวังว่า ปี 2567 จะเป็นปีที่ดีสำหรับทุกท่าน ปีที่ผ่านมาใครดวงดีอยู่แล้ว ปีนี้ขอให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก

ส่วนใครที่กำลังท้อแท้หมดกำลังใจในปีที่ผ่านมา ขออวยพรให้โชคดีในปีนี้ นึกสิ่งใด ประสงค์สิ่งใด ขอให้สมปรารถนาทุกประการครับ

เรื่องคำพยากรณ์ดวงเมืองปี 2567 กระผมขออนุญาตย้ายไปในบทความครั้งถัดไป

เนื่องจากกระผมขอยกพื้นที่บทความในสัปดาห์นี้เพื่อไว้อาลัยการจากไปอย่างไม่มีวันกลับมาของศาสตราจารย์ ดร.โรเบิร์ต โซโลว์ (Robert M. Solow) ปรมาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคผู้ยิ่งใหญ่ของโลก นักเรียนเศรษฐศาสตร์ทุกคนไม่มีใครไม่รู้จักชื่อเสียงของท่าน

การจากไปของท่านสร้างความโศกเศร้าเสียใจแก่คนแวดวงเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก

 

ประวัติโดยสังเขปของ ศาสตราจารย์โซโลว์ ท่านเกิดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ.1924 เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายยิว

ในวัยเพียง 16 ปีท่านได้รับทุนศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) แต่ปีต่อมาต้องออกจากมหาวิทยาลัยเพื่อเข้าร่วมกองทัพเนื่องจากท่านมีความสามารถด้านภาษาเยอรมัน ทางกองทัพจึงมอบหมายให้ดักฟังและแปรข้อความภาษาเยอรมัน

ภายหลังปลดประจำการจากกองทัพจึงเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดต่ออีกครั้ง และเป็นผู้ช่วยวิจัยของศาสตราจารย์ ดร.วาสซิลี ลีอองเทียฟ (Wassily Leontief) ผู้คิดค้นแบบจำลอง Input-Output Model (ศาสตราจารย์ลีอองเทียฟ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ค.ศ.1973 และมีลูกศิษย์ได้รับรางวัลโนเบลถึง 4 ท่าน)

การศึกษาระดับปริญญาเอกและช่วยงานวิจัยทำให้ศาสตราจารย์โซโลว์มีความสนใจในแบบจำลองด้านสถิติเป็นอย่างมาก จึงทุ่มเทเรียนวิชาสถิติที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ระหว่างทำวิทยานิพนธ์

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกแล้ว ได้สอนหนังสือที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาซูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology : MIT)

ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เอง ศาสตราจารย์โซโลว์ ได้ร่วมงานกับศาสตราจารย์ ดร.พอล แซมมวลสัน (Paul A. Samuelson) ปรมาจารย์เศรษฐศาสตร์อีกท่านหนึ่ง (ได้รับรางวัลโนเบล ค.ศ.1970) ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของศาสตราจารย์ลีอองเทียฟ เช่นเดียวกัน

 

ศาสตราจารย์โซโลว์ เป็นผู้คิดค้นแบบจำลองการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Solow’s model of economic growth หรือบางครั้งเรียกว่า Solow-Swan growth model) ซึ่งแบบจำลองการเติบโตทางเศรษฐกิจของโซโลว์ เป็นแบบจำลองที่สามารถเข้าใจได้ง่ายไม่ซับซ้อน

แนวคิดถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1956 หรือเกือบ 70 ปีที่ผ่านมา

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันได้เรียนแบบจำลองนี้ในครึ่งเทอมแรกของวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics) อย่างแน่นอน

แบบจำลองการเติบโตทางเศรษฐกิจของโซโลว์ เป็นแบบจำลองที่สามารถอธิบายการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว (Long-run economic growth) จากการสะสมเงินทุน แรงงานหรือจำนวนประชากร และการเพิ่มผลผลิตโดยอาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

ในแง่มุมของการสะสมเงินทุน หากครัวเรือนแต่ละครัวเรือนนำรายได้ครัวเรือนมาบริโภคจนหมดในปัจจุบัน ก็จะไม่มีการสะสมเงินทุนเพื่อลงทุนในอนาคต อรรถประโยชน์ที่จะได้รับก็จะไม่อยู่ในระดับสูงสุด

ในทางกลับกัน หากภาคครัวเรือนสะสมเงินทุนในรูปแบบของเงินออมมากเกินความพอดี การบริโภคในปัจจุบันก็จะต้องกว่าที่ควรจะเป็น และผลผลิตรวมของระบบเศรษฐกิจก็จะน้อยตามไปด้วย ไม่อยู่ในจุดที่ได้รับอรรถประโยชน์สูงสุด

การบริโภคและการออมเงินเพื่อสะสมเงินทุนจึงต้องทำแต่พอดีในขนาดที่จะให้ผลรวมของการบริโภคทั้งปัจจุบันและอนาคตอยู่ในระดับสูงสุด

ซึ่งเรียกจุดนั้นว่า “สถานะคงที่ (Steady-state)”

ซึ่งหากเปรียบเทียบกับหลักพระพุทธศาสนา น่าจะตรงกับหลัก “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือ “ทางสายกลาง คือ การเลือกบริโภคแต่พอดีไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป เพื่อการสะสมเงินทุนสำหรับลงทุนในอนาคตให้มีอรรถประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืน

 

ในแง่มุมของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แบบจำลองสามารถอธิบายได้ว่าเมื่อประเทศมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการผลิตเพิ่มขึ้น จำนวนเงินทุนต่อแรงงานที่ใช้เพื่อผลิตสินค้าจะลดลง กล่าวคือ เทคโนโลยีจะเพิ่มผลผลิตโดยตรง แม้ว่าใช้เงินทุนและแรงงานจะเท่าเดิม ซึ่งผลผลิตของระบบเศรษฐกิจก็คือ ผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP นั่นเอง

จากข้อมูลสถิติเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ค.ศ.1909-1949 พบว่าจำนวนผลผลิตต่อหัวเพิ่มขึ้นเท่าตัวในช่วงระยะเวลา 40 ปี เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นพบว่า เศรษฐกิจเติบโตจากการเพิ่มขึ้นของการสะสมเงินทุนประมาณ 1 ใน 8 ส่วนอีก 7 ใน 8 เป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

จากแบบจำลองนี้ ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายจึงมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มอัตราการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ผลงานชิ้นโบแดงของศาสตราจารย์โซโลว์ชิ้นนี้ เป็นรากฐานสำคัญในการศึกษาต่อยอดปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง อาทิ กฎทองของการออม (Golden Rule Saving Rate) ของ เอ็ดมันส์ เฟลฟ์ (Edmund S. Phelps) เจ้าของรางวัลโนเบล ค.ศ.2006

 

ด้านชีวิตอาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์โซโลว์ เข้ากล่าวสัมภาษณ์ไว้ว่า “ถ้าผมละทิ้งนักเรียนได้ ผมอาจมีผลงานตีพิมพ์เพิ่มขึ้น 25% ทางเลือกที่มีตัดสินใจได้ง่ายมาก และผมไม่เคยเสียใจเลย” แสดงให้เห็นถึงความรักและทุ่มเทในการสอนของท่านเป็นอย่างมาก

ท่านได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติคุณของสถาบัน (Institute Professor Emeritus) ใน ค.ศ.1973 ซึ่งแต่ละช่วงเวลาจะมีผู้ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเพียงสาขาละ 1 ท่านเท่านั้น

นับเป็นตำแหน่งวิชาการที่ทรงเกียรติสูงสุดของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาซูเซตส์

ลูกศิษย์ของศาสตราจารย์โซโลว์ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์มีถึง 4 ท่าน ได้แก่ จอร์จ อเคอร์ลอฟ (Geprge A. Akerlof) ค.ศ.2001 โจเซฟ สติกลิตส์ (Joseph E. Stiglitz) ค.ศ.2001 ปีเตอร์ ไดมอนด์ (Peter A. Diamond) ค.ศ.2010 และ วิลเลียม นอร์เดาส์ (William D. Nordhaus) ค.ศ.2018

นอกจากชีวิตความเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยแล้ว ศาสตราจารย์โซโลว์ ได้รับรางวัลเชิญชูเกียรติ ได้แก่ รางวัล John Bates Clark Medal ค.ศ.1961

รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ค.ศ.1987 จากทฤษฎีการเติบโตทางเศรษฐกิจ (for his contributions to the theory of economic growth)

รางวัล National Medal of Science ค.ศ.1999 สาขาสังคมศาสตร์ จากประธานาธิบดีบิล คลินตัน ซึ่งปีหนึ่งจะมีผู้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรตินี้เพียงสาขาละ 1 ท่าน

และรางวัล Presidential Medal of Freedom ค.ศ 2014 ซึ่งเป็นรางวัลเชิดชูเกียรติสูงสุดจากประธานาธิบดีสำหรับผลงานที่มีคุณค่าอย่างยิ่งต่อความมั่นคงหรือผลประโยชน์ของชาติสหรัฐอเมริกา สันติภาพโลก วัฒนธรรม หรือความพยายามสาธารณะหรือส่วนตัวที่สำคัญอื่นๆ

ศาสตราจารย์ ดร.โรเบิร์ต โซโลว์ จากไปอย่างสงบที่บ้านพักในย่านเลกซิงตัน มลรัฐแมสซาซูเซตส์ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 สิริอายุ 99 ปี

มอบความรู้อันประเสริฐต่อมวลมนุษยชาติ ปิดตำนานอันยิ่งใหญ่อย่างงดงาม