น้ำท่วมชายแดนใต้

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัดและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน อัลลอฮ์ได้โองการ ความว่า

“การบ่อนทำลาย ได้เกิดขึ้นทั้งทางบกและทางน้ำ เนื่องจากสิ่งที่มือของมนุษย์ได้ขวนขวายไว้เพื่อที่พระองค์จะให้พวกเขาลิ้มรสบางส่วนที่พวกเขาประกอบไว้ โดยที่หวังจะให้พวกเขากลับเนื้อกลับตัว (ซูเราะหอัรรูม : 41)”

27 ธันวาคม 2566 ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมกับสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดสงขลา ร่วมลงพื้นที่ช่วยเหลือน้ำท่วมหรืออุทกภัยพี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนใต้

“คนชายแดนใต้ต้องส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2567 ด้วยน้องน้ำที่ไม่ได้รับเชิญถล่มลงมาอย่างรวดเร็ว ตั้งตัวไม่ทัน โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้ๆ ต้นน้ำ ส่งผล ‘เรือล่ม-น้ำพัด จยย.-ดินสไลด์ทับบ้าน ตาย-สูญหาย’ เช่น เกิดเหตุดินสไลด์เมื่อคืนวันที่ 24 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน และส่งผลให้มีเพื่อนครู 2 รายจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามชื่อดังคือโรงเรียนดารุสลาม เป็นสองสามีภรรยาเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวแช่ขา เสียชีวิต บ้านพังหายไปกับสายน้ำ และพบร่างทั้งสองคนช่วงเที่ยงวันที่ 26 ธันวาคม 2566 หลังผ่านไปสองวัน”

ผลจากน้ำท่วมในรอบ 70 ปีในบางที่ หรือ 50 ปีในบางที่ แต่ภาพรวมในครั้งนี้สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ อย่างไรก็แล้วแต่ มีภาพภูเขาลูกหนึ่งที่ปราศจากป่าไม้ น้ำเทมาหลายสายอย่างบ้าคลั่งถูกแชร์ในสื่อต่างๆ

สะท้อนว่า หลังน้ำลดครั้งนี้ภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะรัฐที่อยู่ภายใต้กฎหมายความมั่นคง ต้องออกมาจัดการกับกลุ่มทุนที่ร่วมตัดไม้ทำลายป่าบนเขา

มิฉะนั้น โศกนาฏกรรมก็จะเกิดมาวนซ้ำอีกในปีต่อไป

 

ผศ.มัสลาน มาหามะ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ให้ทัศนะว่า “จริงอยู่ สังคมมุสลิมเราถูกสอนให้ยอมรับกับตักดีร (การกำหนดสภาวการณ์จากพระเจ้า) แต่มิได้หมายความว่าไม่ให้ฝึกฝนให้หาวิธีแก้ปัญหาเพื่อสู่ตักดีรที่ดีกว่า?”

กอ.รมน.ให้ข่าวตั้งแต่ปี 2561 ว่า พื้นที่ที่ถูกลักลอบตัดไม้และแผ้วถาง ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติป่าบองอ, อุทยานแห่งชาติบูโด และอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป ซึ่งกระจายอยู่ในเขตพื้นที่ อ.รือเสาะ, สุคิริน, ศรีสาคร, สุไหงปาดี และจะแนะ จ.นราธิวาส ในส่วนพื้นที่จังหวัดยะลา พบการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าเป็นจำนวนมากในพื้นที่ อ.ธารโต, ยะหา และเบตง ส่วน จ.สงขลา พบการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาแดนและป่าเขาเสม็ด ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ อ.สะบ้าย้อย และนาทวี

ไทยพีบีเอส รายงานว่า น้ำท่วมครั้งนี้นั้นหากดูกายภาพพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ คือ นราธิวาส ต่อเนื่องยะลา มีแนวเขาและน้ำจากภูเขาจะระบายออกทะเลที่ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นที่ราบ ผ่านแม่น้ำ 4 สายหลัก

แม่น้ำสายบุรี ซึ่งรับน้ำมหาศาลจาก อ.สุคิริน, จะแนะ, ศรีสาคร, รือเสาะ จ.นราธิวาส และ อ.รามัน, กะพ้อ จ.ยะลา ทั้งหมดนี้คือพื้นที่ที่ปริมาณฝนตกสะสมสูงสุดเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา และถูกน้ำท่วมหนักสุด จะระบายออกไปทาง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี

แม่น้ำปัตตานี รับน้ำจาก อ.เบตง และรัฐเปรัก ประเทศมาเลเซีย มีเขื่อนบางลางกับเขื่อนปัตตานีกั้น แม่น้ำสายนี้จะไหลผ่าน อ.บันนังสตา, กรงปีนัง และเมืองยะลา ก่อนจะเข้าเขต อ.แม่ลาน, ยะรัง ระบายออกทะเลที่เมืองปัตตานี

จ.ปัตตานี แม้ฝนตกไม่หนักเท่า จ.นราธิวาส และ จ.ยะลา แต่เพราะมีแม่น้ำ 2 สายหลักต้องระบายน้ำจากทั้ง 2 จังหวัดนี้ ทำให้ปัตตานีเป็นพื้นที่รับน้ำ ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง โดยเมื่อเช้ามืด 27 ธันวาคม 2566 แม่น้ำสายบุรีเอ่อล้นตลิ่ง เพราะปริมาณน้ำเกินความจุของลำน้ำ หลากเข้าท่วมถนนเพชรเกษม ทำให้การคมนาคมผ่านถนนเส้นนี้ต้องใช้รถยกสูงเท่านั้น

ส่วนที่ จ.นราธิวาส มีแม่น้ำ 2 สายระบายน้ำออกทะเล คือ แม่น้ำโก-ลก กับแม่น้ำบางนรา ซึ่งแม่น้ำโก-ลก ที่ต้องรับน้ำทั้งจากรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย และ อ.แว้ง จ.นราธิวาส จะระบายออกทะเลที่ อ.ตากใบ โดยระดับน้ำที่คลองบูเก๊ะตากลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะนี้ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 2.05 เมตร ส่วนที่สะพานลันตูปันยัง อยู่ในระดับล้นตลิ่ง โดยสูงกว่าตลิ่ง 82 เซนติเมตร

แม้จะมีพนังกั้นน้ำเลียบแม่น้ำโก-ลก แต่ระดับน้ำในแม่น้ำยังสูงกว่าตลิ่ง 32 เซนติเมตร ทำให้น้ำล้นเป็นม่านน้ำหลากเข้าท่วมตลาด จุดที่เคยมีเหตุการณ์คลังพลุระเบิด แนวกระสอบทรายเสริมความแข็งแรงถูกกัดเซาะ เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ภาพรวมของลุ่มน้ำโก-ลก ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง

แม่น้ำอีกสาย คือ แม่น้ำบางนรา และลุ่มน้ำตันหยงมัส ซึ่งรับน้ำจาก อ.ระแงะ ตันหยงมัส ออกไปที่บ้านยะกัง ในเมืองนราธิวาส ก่อนระบายออกทะเล ขณะนี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลาย

หากดูจากข้อมูลแม่น้ำ 4 สายหลัก ทั้งฝั่งนราธิวาส และปัตตานี จุดที่น่าเป็นห่วง คือพื้นที่ปลายน้ำใน จ.ปัตตานี เพราะต้องรับบทบาทระบายน้ำลงทะเล นอกจากต้องเฝ้าระวังฝนที่มีแนวโน้มตกลงมาในพื้นที่ต้นน้ำแล้ว น้ำทะเลหนุนก็เป็นปัจจัยที่จะทำให้การระบายน้ำช้าลง อาจทำให้พื้นที่ที่อยู่ริมแม่น้ำและใกล้ทะเลต้องเผชิญน้ำท่วมเป็นเวลานาน

อุทกภัยในทุกๆ ครั้งที่ถูกตั้งคำถามต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ ความสับสนของข้อมูลจริง ณ ห้วงเวลานั้น (real-time)

ซึ่งในปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีสามารถประเมินปริมาณน้ำเชิงตัวเลขและเชิงพื้นที่ ว่าจะไหลไปไหนอย่างไร

เช่น ฐานข้อมูลกายภาพของพื้นที่ ทิศทางการไหลของลำน้ำสาขาในธรรมชาติ

การสำรวจพื้นที่อย่างต่อเนื่อง การคำนวณพื้นที่เสี่ยงภัย ในทุกระดับมาตราส่วน ตั้งแต่ระดับลุ่มน้ำ (watershed) จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ซึ่งจะช่วยในระบบเตือนภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ (รวมทั้งการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ) อันเป็นมาตรการบรรเทาความเสียหายจากภัยน้ำท่วม โดยสามารถเตือนภัยน้ำท่วมล่วงหน้าให้กับพื้นที่เสี่ยงภัยเพื่อมีการจัดเตรียมรับมือภาวะน้ำท่วม ซึ่งสามารถลดความเสียหายได้เป็นอย่างมาก

แต่ต้องอาศัยความร่วมมือ โดยเฉพาะรัฐที่ต้องรีบสรุปบทเรียนและรีบแก้ปัญหา วางระบบในอนาคตแม้จะต้องทุ่มทุนงบประมาณขนาดไหน พร้อมฝึกคน รวมทั้งประชาสังคมที่มีอย่างมากมายที่อาสาลงพื้นที่ช่วยเหลืออุทกภัยทุกๆ ครั้ง ไม่ใช่แค่อุทกภัย แต่ภัยพิบัติอื่นๆ เพื่อเสริมศักยภาพประชาชน ชุมชน รับมือภัยพิบัติด้วยการจัดการตนเอง

ซึ่งแนวทางการลดความเสี่ยงจากสาธารณภัยให้กับประชาชน อาจแบ่งเป็น 2 ระยะ

โดยระยะป้องกันควรเริ่มจาก 1.ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนสร้างแนวปฏิบัติลดความเสี่ยงร่วมกัน 2.พัฒนาประสิทธิภาพของมาตรการในด้านการอพยพ เช่น การจัดตั้งศูนย์อพยพเพิ่มมากขึ้น 3.พัฒนาระบบการจัดการในภาวะฉุกเฉินให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่หรือชุมชน 4.เมื่อเกิดเหตุสาธารณภัยขึ้น ควรมีระบบการประเมินความต้องการหลังเกิดสาธารณภัยอย่างทันท่วงที

ส่วนในระยะฟื้นฟู ควรจัดให้มีการฟื้นฟูทางสังคม ความเป็นอยู่ทั้งด้านกายภาพและด้านจิตใจ การดูแลสถาบันความมั่นคงของครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนควรมีแผนฟื้นฟูและเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน

ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วน และการบูรณาการกันจากทุกหน่วยงาน