หอการค้าไทย ระดมสมองตั้งรับ 4 ปัจจัยท้าทายเศรษฐกิจปีมังกร

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

แนวโน้มของเศรษฐกิจในปี 2567 ยังมีสัญญาณว่าจะต้องเผชิญความท้าทายจาก 4 ปัจจัยหลัก คือ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่คลี่คลาย ทั้งจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อมาเกือบ 2 ปี ต่อเนื่องด้วยสงครามอิสราเอล-ฮามาส และการใช้ความรุนแรงในทะเลแดง

ส่งผลให้เศรษฐกิจโลก “ชะลอตัว” ภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกยังมีแนวโน้มสูงขึ้น และยังมีความเสี่ยงจากปัญหาด้านความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ

ขณะที่ภาคการผลิตยังต้องเผชิญความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจโลกและการแข่งขันที่รุนแรงในปี 2566

ปรากฏข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ชัดเจนว่ามีอุตสาหกรรมของไทยไม่ต่ำกว่า 20 รายการที่ได้รับผลกระทบไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาได้

โดยเฉพาะ “อุตสาหกรรมเหล็ก” ที่ปิดตัวไปหลายโรงงาน

หากปี 2567 สถานการณ์การแข่งขันยังไม่คลี่คลาย ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นก็มีความเสี่ยงที่ปิดต่อเพิ่มขึ้นอีก

เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ HSD ซึ่งพบว่ามีชะลอตัวมาตลอดตั้งแต่กลางปี 2566

ซึ่งข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระบุว่า เดือนธันวาคม 2566 ยังมีสัญญาณที่ต้องเฝ้าระวัง จากที่ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินและภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น

ทั้งยังกังวลต่อปัญหาการขึ้นค่าแรง การปรับราคาพลังงานทั้งน้ำมันและไฟฟ้าซึ่งมีผลต่อต้นทุนของภาคเอกชน

ขณะที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ายังคงชะลอตัว นโยบายการเงินที่แต่ละประเทศยังตรึงอัตราดอกเบี้ยระดับสูง ภาคการก่อสร้างที่ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า ส่งผลต่อการประมูลโครงการก่อสร้างของภาครัฐ

 

เมื่อความท้าทายยังคงอยู่ องค์กรภาคเอกชนสำคัญอย่างหอการไทย จึงวางหมากขับเคลื่อนแผนพลิกฟื้นเศรษฐกิจด้วยกลไกสำคัญ 3 ด้าน ตามนโยบายของนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

กำหนดเป็นแนวทางคอนเน็กเดอะดอต “Connect the Dots” แบ่งกลยุทธ์การทำงานเป็น 3 ด้าน คือ กลไกเชื่อมโยง (Connect) สร้างความร่วมมือเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะเครือข่ายในส่วนของหอการค้าและสภาหอการค้า ซึ่งมีมากถึง 117,808 ราย

แบ่งเป็น เครือข่ายในต่างจังหวัด ซึ่งประกอบด้วย หอการค้าจังหวัด 76 จังหวัด รวม 40,404 ราย หอการค้าต่างประเทศ 37 ประเทศ รวม 7,717 ราย ในกรุงเทพฯ 8,042 ราย และยังมีเครือข่ายสมาคมการค้า 156 สมาคมอีก 42,614 ราย และเครือข่ายจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 19,031 ราย

กลไกสร้างความสามารถในการแข่งขัน (Competitive) การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในทุกมิติ และสุดท้ายคือ กลไกสร้างความยั่งยืน (Sustainable) พัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน สร้างอนาคตที่เต็มไปด้วยโอกาส เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นใหม่

โดยการขับเคลื่อนกลไกต่างๆ เหล่านี้ หอการค้าได้มีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ 33 คณะ และ 10 คณะทำงาน จากตัวแทนภาคเอกชนในสาขาต่างๆ

 

โดยมีบทสรุปแนวทางในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย 5 ด้าน ตามที่ได้เคยเสนอเป็นสมุดปกขาวไว้ในการประชุมหอการค้าทั่วประเทศปี 2566 ซึ่งประกอบไปด้วย

1. ด้านการค้าและการลงทุน ต้องผลักดันการเจรจา ความตกลงจัดทำเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ยกระดับนวัตกรรมดิจิทัล การแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัย เปลี่ยนแนวคิดจากคู่แข่งเป็นคู่ค้า และผลักดันนโยบายเพื่อพัฒนาแรงงาน

2. ด้านเกษตรและอาหาร ต้องยกระดับเกษตรมูลค่าสูง สร้างความสมดุลและรักษาเสถียรภาพการนำเข้า-ส่งออก ผลักดันองค์ความรู้ด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร และมาตรฐานฟาร์ม และขับเคลื่อนแนวทางการปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี

3. ด้านการท่องเที่ยวและบริการ สนับสนุนการท่องเที่ยวคุณภาพสูงด้วยแฮปปี้โมเดล เศรษฐกิจสร้างสรรค์ TAGTHAI (แท็กไทย) แพลตฟอร์มกลางด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย การท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืน โครงการฮักเอิร์ธ

4. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เร่งรัดโครงการลงทุน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน บูรณาการแผนบริหารจัดการน้ำและงบประมาณแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และต่อยอดการดึงการลงทุนจากทาเลนต์ต่างชาติ

และ 5. ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้มีการกระจายรายได้และลด ความเหลื่อมล้ำผ่านโครงการพัฒนาเมืองรอง 10 จังหวัด นำ BCG Model และ ESG มาใช้ขับเคลื่อนโครงการ ธนาคารอาหารของประเทศไทย ตั้งสถาบันวิทยาการ เศรษฐกิจหมุนเวียน

 

ในฟากฝั่งนโยบาย “นายภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ปี 2567 กระทรวงพาณิชย์เตรียมแผนผลักดันและเร่งรัดการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไว้ 4-5 ฉบับ เพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้าด้วยเอฟทีเอ

โดยเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เตรียมจะลงนาม FTA ไทย-ศรีลังกา ซึ่งจะช่วยให้ GDP ไทยขยายตัว 0.02% ต่อปี

นอกจากนี้ ยังมีแผนจะเปิดการเจรจาเอฟทีเอใหม่กับประเทศเกาหลีใต้และภูฏาน พร้อมทั้งจะเร่งสานต่อความตกลงเอฟทีเอที่อยู่ในระหว่างการเจรจาให้จบตามเป้าหมาย ทั้งเอฟทีเอไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (เอฟต้า) เอฟทีเออาเซียน-แคนาดา และเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเป็นความตกลงที่เพิ่งเริ่มในปี 2565 มีเป้าหมายจะสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในปี 2568

แต่อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) นัดสุดท้ายของปี 2566 ยังคงวางกรอบประมาณการจีดีพีปี 2567 จะขยายตัว 2.8-3.3% เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่คาดว่าจะขยายตัว 2.5-3.0%

แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกปี 2567 โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจสหรัฐและยุโรปจะชะลอตัว จากภาวะการเงินที่ยังตึงตัวต่อเนื่อง ขณะที่ “จีน” ก็ยังมีแนวโน้มเศรษฐกิจเติบโตไม่ถึง 5% จากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์

แต่อีกด้านหนึ่งยังมีความหวังว่า “เศรษฐกิจในฝั่งเอเชีย” ทั้งเกาหลีใต้ ไต้หวัน อินเดีย และตะวันออกกลาง จะเติบโตในระดับสูง และเป็นตลาดที่มาช่วยหนุนการส่งออกของไทยในระยะข้างหน้าได้

ทำให้ภาคเอกชนมั่นใจว่าการส่งออกปี 2567 จะพลิกกลับมาขยายตัว 2-3% เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่คาดว่าจะติดลบ 2% ถึงลบ 0.5% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์เป้าหมายการส่งออก 2566 จากข้อมูลเบื้องต้นว่าจะขยายตัว 1.99% หลังจากหารือกับตัวแทนสายเรือรายใหญ่ให้ความมั่นใจว่าได้เริ่มกลับมาขนส่งในเส้นทางทะเลแดงแล้ว แต่ยังมีโอกาสที่อัตราค่าระวางเรือและค่าธรรมเนียมเซอร์ชาร์จจะปรับตัวสูงขึ้น

ไม่เพียงการส่งออกจะฟื้นตัว แต่ไทยยังมีปัจจัยบวกภายในประเทศมาจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ทำให้โดยตัวเลขนี้ยังไม่นับรวมนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) หากรัฐบาลดำเนินการสำเร็จจะช่วยเพิ่ม GDP ได้ 1-1.15%

นอกจากนี้ เอกชนยังลุ้นว่าผลสำเร็จจากการเดินหน้าโรดโชว์ของเซลส์แมน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ที่ออกไปดึงดูดนักลงทุนด้วยตัวเองในช่วง 3-4 เดือนหลังจากเข้ารับตำแหน่ง จะหนุนนำให้ “บิ๊กธุรกิจ” จากต่างประเทศ เริ่มคิกออฟการลงทุนที่ประเทศไทยในปีมังกรนี้

ซึ่งจะส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนโดยตรง (เอฟดีไอ) เป็นอีกหนึ่งเครื่องจักรที่ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจตามเป้าหมาย