เปิด 10 ผลงาน ‘เรียนดี มีความสุข’ จับตาปี ’67 การศึกษาไทยรุ่งหรือร่วง

ผ่านพ้นปีกระต่าย 2566 เข้าสู่ปีมังกรอง 2567 การศึกษาไทยร้อนแรงไม่แพ้การเมือง ที่มีการเลือกตั้งในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ขับเคี่ยวกว่าจะได้รัฐบาลใหม่ ใช้เวลากว่า 3 เดือน ในที่สุด พรรคภูมิใจไทย ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล “เศรษฐา 1” ส่ง 2 รัฐมนตรีป้ายแดง “บิ๊กอุ้ม” พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ น้องชายนายเนวิน ชิดชอบ ประธานบริหารสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรีหลายสมัย และเป็นพี่ชายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ข้ามห้วยแบบสุดขั้ว จากบิ๊กเนมสีกากี มาเป็นเสมา 1 รัฐมนตรีว่าการ ศธ.

พร้อมด้วย ครูเอ “สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล” จากพรรคเดียวกัน ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน “ซ้อสมทรง” หรือนางสมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (นายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา) แม่ทัพใหญ่ซุ้มบ้านใหญ่วังน้อย นั่งตำแหน่งเสมา 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.

เปิดตัวมาด้วยม็อตโต้ “เรียนดี มีความสุข” เน้นจัดการศึกษา 2 รูปแบบ คือ การเรียนสู่ความเป็นเลิศ และการเรียนเพื่อความมั่นคงในชีวิต ใช้มายแม็ป ลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา เดินหน้าครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น แก้หนี้ครู จัดโครงการ 1 ครู/นักเรียน 1 แท็บเล็ต/โน้ตบุ๊ก ซึ่งเป็นโยบายของพรรคเพื่อไทย

ขณะเดียวกันยังชูแนวทางลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง อาทิ เรียนทุกที่ทุกเวลา เรียนฟรี มีงานทำ “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” มีระบบแพลตฟอร์มการเรียนรู้ โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จัดทำ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ จัดให้มีการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพต้นแบบอย่างน้อย 1 โรงเรียนในแต่ละอำเภอ หรือเขตพื้นที่การศึกษา ระบบแนะแนวการเรียน หรือโค้ชชิ่ง และเป้าหมายชีวิตพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นต้น

นโยบายส่วนใหญ่ไม่แตกต่างจากรัฐบาลที่ผ่านมามากนัก แต่จุดเด่นอยู่ที่ความเอาจริงเอาจังของเจ้ากระทรวง อย่างบิ๊กอุ้ม ที่แม้ไม่ค่อยออกหน้า แต่คอยขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง…

ดังนั้น แม้จะเข้ามาทำงานได้ 3 เดือน แต่ก็เรียกว่า ผลงานไม่ขี้เหร่…

 

ล่าสุด กระทรวงศึกษาธิการ จัดแถลง 10 ผลงาน ศธ.ในรอบ 3 เดือน ภายใต้นโยบายเรียนดี มีความสุข ดังนี้

1. แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ศธ.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งมีรัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. เป็นประธาน มีหน่วยงานในสังกัดและในกำกับ ศธ.ร่วมขับเคลื่อนดำเนินการ โดยให้สถานีแก้หนี้ระดับเขตพื้นที่การศึกษาสำรวจสภาพหนี้ครูและจัดกลุ่มครูตามภาระหนี้สิน จัดทำหลักสูตรเสริมสร้างวินัยทางการเงินในรูปแบบ e-Learning

และอนุมัติจัดสรรวงเงินให้กู้ยืมเงินทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครู ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 200,000,000 บาท

เพื่อช่วยบรรเทาภาวะหนี้สินของข้าราชการครู ให้สามารถนำไปชำระหนี้ซึ่งส่งผลต่อขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน อันจะทำให้คุณภาพการเรียนการสอนดีขึ้น ผู้เรียนเรียนดี มีความสุขตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ

2. เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) เรียนฟรี มีงานทำ “ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” มีระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้โดยผู้เรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สำรวจจำนวนสื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อใช้ในการเรียนรู้ ซึ่งปัจจุบันมีสื่อ 117,852 สื่อ เพื่อเป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลให้กับนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา

ดำเนินการจัดเสริมความรู้คู่บทเรียนด้วยวิทยากรออนไลน์ในการเตรียมนักเรียนให้พร้อมสำหรับการสอบ TGAT TPAT และ A-Level ตลอดเดือนธันวาคม 2566-มีนาคม 2567

รวมทั้งในช่วงเดือนมกราคม 2567 ได้จัดสอบวัดระดับภาษาอังกฤษตามกรอบมาตรฐาน CEFR ให้แก่นักเรียนผ่านแพลตฟอร์มฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

และจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ภาษาอังกฤษตามกรอบมาตรฐานความสามารถทางภาษาอังกฤษ (CEFR)และหลักสูตรพัฒนาสมรรถนะดิจิทัล ในรูปแบบ e-Learning เพื่อให้ครู บุคลากรทางการศึกษาและบุคคลทั่วไปสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

3. พัฒนาระบบการแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิต

กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำกรอบหลักสูตรการพัฒนาครูแนะแนวแกนนำและการ Coaching ที่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์และเป็นประโยชน์กับการแนะแนวนักเรียนในปัจจุบัน

รวมทั้งจัดทำแนวปฏิบัติการจัดกิจกรรมแนะแนว กิจกรรมโฮมรูม และการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

เพื่อส่งเสริมและพัฒนานักเรียนอย่างรอบด้านให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ มีพัฒนาการที่ดี และมีสุขภาวะทางร่างกายและจิตใจที่ดีในทุกช่วงวัย

4. จัดทำระบบวัดผลรับรองมาตรฐานวิชาชีพ (Skill Certificate)

ผู้เรียนสามารถเรียนเพิ่ม เพื่อรับประกาศนียบัตรวิชาชีพในการประกอบอาชีพ

กระทรวงศึกษาธิการได้หารือร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเกี่ยวกับการดำเนินงานและทิศทางการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ

เพื่อเสริมสร้างโอกาสให้นักเรียนอาชีวศึกษาได้มีคุณวุฒิวิชาชีพ

ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพที่เชื่อมโยง กับกรอบคุณวุฒิวิชาชีพ Up-skill Re-Skill 1 หลักสูตร : 1 Certificate และประกาศนียบัตรวิชาชีพเฉพาะ (ปวพ.) 5 สาขาอาชีพ รวมทั้งการพัฒนาฐานข้อมูลหลักสูตรที่เชื่อมโยงกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติในรูปแบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม

5. จัดทำระบบวัดผลเทียบระดับการศึกษาและประเมินผลการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศไม่ต้องเสียเวลาเรียนในระบบ ประหยัดเวลา และประหยัดค่าใช้จ่าย

กระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำแนวทางการสะสมหน่วยการเรียนรู้และการเทียบโอนผลการเรียนจากโรงเรียนนอกระบบสู่โรงเรียนในระบบ

ดำเนินการยก (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรื่อง แนวทางการดำเนินงานระบบคลังหน่วยกิตการอาชีวศึกษา พ.ศ….

และจัดทำ (ร่าง) คู่มือแนวทางการดำเนินงาน ทบทวนระเบียบ ประกาศ แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเทียบโอนผลการเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

 

6. 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ

กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายรวม 1,808 แห่ง เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา 901 แห่ง และระดับมัธยมศึกษา 907 แห่ง

โดยจะประกาศรายชื่อโรงเรียนคุณภาพพร้อมทั้งเปิดตัวโครงการ และจัดประชุมชี้แจงแนวทางการขับเคลื่อนโครงการแก่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการร ภายในเดือนธันวาคม 2566

7. มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) เน้นเพิ่มปริมาณผู้เรียนทวิภาคี ปวส. ร้อยละ 25 ปักหมุดจังหวัดทวิภาคีเข้มข้น 22 จังหวัดทั่วประเทศ ทำความร่วมมือกับศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการอาชีวศึกษาเพื่อสร้างธุรกิจ สร้างรายได้เพิ่ม พัฒนาเป็นผู้ประกอบการ

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินโครงการส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียน 6 โครงการ

และฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้นให้กับประชาชนทั่วไปตามความต้องการของชุม รวมถึงจัดทำแผนโครงการส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียนในโรงเรียน พื้นที่ชายแดนภาคใต้จำนวน 5 แห่ง

และแผนการพัฒนาอาชีพสำหรับผู้เรียนหลักสูตรระยะสั้น 6 หลักสูตร

8. ปรับวิธีการประเมินวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ปัจจุบันมีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษายื่นคำขอประเมินวิทยฐานะผ่านระบบ DPA รวมทั้งสิ้น 67,007 ราย โดยประเมินแล้วเสร็จ 63,429 ราย และอยู่ระหว่างดำเนินการประเมิน 3,578 ราย

รวมถึงกำหนดแนวทางการปรับปรุงระบบการประเมินวิทยฐานะของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่เน้นตามสภาพจริง ลดการทำเอกสาร ขั้นตอนการประเมินไม่ซับซ้อนและเป็นธรรม โดยเน้นผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน คำนึงถึงสภาพบริบทของสถานศึกษา และสอดคล้องกับการเรียนรู้ที่หลากหลายซึ่งจะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ.2567

9. ครูและบุคลากรทางการศึกษาคืนถิ่น ลดขั้นตอน ลดเอกสาร เพิ่มความสะดวกให้ครูย้ายกลับภูมิลำเนาได้ง่ายขึ้นด้วยความโปร่งใส จึงได้พัฒนาระบบจับคู่ครูคืนถิ่น เปิดใช้งานเพื่อให้ครูได้ยื่นคำขอร้องย้ายสับเปลี่ยนได้ในช่วงระหว่างวันที่ 16-31 มกราคม เพื่อเป็นของขวัญในวันครู ปี 2567

และ 10. จัดหาอุปกรณ์การสอนและสวัสดิการให้เพียงพอและเหมาะสม เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา จัดหาอุปกรณ์ในการช่วยจัดการเรียนการสอนและสนับสนุนจัดหาแท็บเล็ตที่มีประสิทธิภาพ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการจัดสรรงบประมาณ ประจำปี 2567

ตัดเกรด 3 เดือนแรกทีมสองหนุ่ม ผ่านเกินครึ่ง

คงต้องจับตาว่า การศึกษาไทยในปีมังกรทอง 2567 จะมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่… •

 

| การศึกษา