‘จารึกศรีจนาศะ’ ที่อยุธยา สิ่งศักดิ์สิทธิ์จากเมืองราด อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา

“จารึกศรีจนาศะ” เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่กลางเมืองศรีจนาศะ (อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา) ถูกพบโดยบังเอิญที่อยุธยา (อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา) 85 ปีที่แล้ว เมื่อ พ.ศ.2482 เป็นที่รู้ทั่วไปในแวดวงประวัติศาสตร์โบราณคดี

แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่พบคำอธิบายว่าถูกขนย้ายจากสูงเนินไปอยุธยาเมื่อไร? และทำไม?

จารึกศรีจนาศะ ข้อมูลสำคัญๆ มีดังนี้

ขนาดแผ่นหิน สูง 45 เซนติเมตร และกว้าง 22 เซนติเมตร สถานที่ตั้ง ปราสาทกลางเมืองศรีจนาศะ สร้าง 1087 ปีมาแล้ว (นับถึง พ.ศ.2567) เมื่อ พ.ศ.1480 ผู้สร้าง มงคลวรรมัน เป็นโอรส (องค์รอง) ของกษัตริย์พระนามสุนทรวรรมัน สร้างเพื่อ ฉลองพระรูปพระชนนีเป็นพระเทวี คือ ชายาของพระศิวะ จารึกบนแผ่นหิน อักษรเขมรมี 2 ด้าน ด้านที่ 1 ภาษาสันสกฤต แต่งเป็นโศลก และด้านที่ 2 ภาษาเขมร เนื้อหา มีโดยสรุปดังนี้

(1.) เริ่มต้นเป็นสรรเสริญ 2 บท บทแรก สรรเสริญพระศิวะ (ศังขกร) บทหลัง สรรเสริญนางปารพตี (พระอุมา) ซึ่งรวมกับพระศิวะภายใต้รูปอรรธนารี

(2.) ต่อจากนั้นกล่าวถึงรายพระนามกษัตริย์ศรีจนาศะ ตามลำดับดังนี้ ภคทัตต์ กษัตริย์องค์แรก, สุนทรปรากรม กษัตริย์สืบจากภคทัตต์, สุนทรวรรมัน กษัตริย์สืบจากสุนทรปรากรม

กษัตริย์สุนทรวรรมันมีโอรส 2 องค์ ได้แก่ องค์พี่ คือ นรปติสิงหวรรมัน เป็นกษัตริย์ศรีจนาศะ องค์น้อง คือ มงคลวรรมัน ผู้ทรงสร้างจารึกศรีจนาศะ

บูชาศิวลึงค์ จารึกศรีจนาศะมีเนื้อหาเริ่มด้วยสรรเสริญพระสิวะและพระอุมา แสดงว่ากษัตริย์เมืองศรีจนาศะขณะนั้นนับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ไศวนิกาย บูชาศิวลึงค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระศิวะ และในเมืองศรีจนาศะพบศิวลึงค์หลายองค์ในปราสาทหลายหลังจากการขุดค้นและขุดแต่งของนักโบราณคดีกรมศิลปากร

ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แพร่หลายกว้างขวางในบ้านเมืองบริเวณลุ่มน้ำมูล โดยรับจาก 2 ทาง ได้แก่ ผ่านขึ้นไปจากรัฐกัมพูชา (บริเวณโตนเลสาบ) และรัฐละโว้ (ลุ่มน้ำเจ้าพระยา)

เมืองศรีจนาศะสมัยนั้นนับถือผี-พราหมณ์-พุทธ หมายความว่าไม่ได้นับถือไศวนิกายอย่างเดียว แต่นับถืออย่างอื่นพร้อมในคราวเดียวกันด้วย คือผีกับพุทธ ซึ่งเป็นปกติของบ้านเมืองทั้งอุษาคเนย์

(ภาพจารึกศรีจนาศะ จัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร จากเว็บไซต์กรมศิลปากร)

ขนย้ายจารึกศรีจนาศะไปอโยธยา-อยุธยา

จารึกศรีจนาศะถูกขนย้ายจากสูงเนินไปอยุธยาตั้งแต่สมัยอยุธยา “คงอยู่ที่นั้นมาตั้งแต่ครั้งพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี” เป็นคำอธิบายของ ศ.ยอร์ช เซเดส์ (ชาวฝรั่งเศส) นักปราชญ์ทางประวัติศาสตร์โบราณคดีในไทยและอุษาคเนย์ ที่เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส 80 ปีมาแล้ว เมื่อ พ.ศ.2487 ต่อมาแปลเป็นภาษาไทย โดย ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล (พิมพ์ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาค 4 โดยคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2513 หน้า 216-220)

คำอธิบายของ ศ.ยอร์ช เซเดส์ เสมือน “ใบเบิกทาง” ให้พบข้อมูลกว้างขวางเพิ่มเติม ดังนี้

เรื่องแรก การขนย้ายจารึกศรีจนาศะมีขึ้นได้ทั้งในสมัยอโยธยาและสมัยอยุธยา เพราะไม่พบสิ่งใดกำหนดผูกมัดว่าจะต้องสมัยอยุธยาเท่านั้น เรื่องสำคัญคือจารึกศรีจนาศะไม่ได้ถูกโจรกรรมเพื่อขายเป็นของเก่า (ตามที่พูดจากันในท้องถิ่นและในทางการบางสถานที่) แต่ถูกเชิญลงไปอยุธยาในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์

เรื่องหลัง ศิลาจารึกศรีจนาศะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นนำสมัยอโยธยา-อยุธยา จึงไม่ใช่เพียงแผ่นศิลามีตัวอักษรสลักไว้เท่านั้น เพราะพบโดยบังเอิญจากการขุดดินทำถนนบริเวณซากโบสถ์พราหมณ์ย่านชีกุน ซึ่งเป็นเทวสถานสำคัญมากของอยุธยา เพราะอยู่ท่ามกลางวัดใหญ่หลวงศูนย์กลางอำนาจ 2 วัด คือ วัดมหาธาตุและวัดขุนเมืองใจ

หลักฐานสนับสนุนทั้งหมดอยู่ในเรื่องราวความเป็นมาหรือพัฒนาการความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ และเครือข่ายการค้าระหว่างเมืองศรีจนาศะซึ่งอยู่ที่ราบสูง บริเวณลุ่มน้ำมูล กับบ้านเมืองที่ราบลุ่ม บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา กระทั่งท้ายสุดที่ราบสูงลุ่มน้ำมูลถูกผนวกเป็นดินแดนของอยุธยา ซึ่งอาจสรุปสั้นๆ และง่ายๆ ดังต่อไปนี้

(1.) เมืองศรีจนาศะมีกำเนิดและเติบโตจากชุมชนบนเส้นทางการค้าทองแดง ระหว่างลุ่มน้ำโขงกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก-ท่าจีน-แม่กลอง ไปอินเดีย ราว 2,000 ปีมาแล้ว เมื่อเรือน พ.ศ.500

(2.) เมืองศรีจนาศะ ลุ่มน้ำมูล (นครราชสีมา) เป็นเมืองใหญ่ระดับรัฐขนาดเล็ก คู่กันกับเมืองศรีเทพ ลุ่มน้ำป่าสัก (เพชรบูรณ์) เริ่มรับศาสนาจากอินเดีย และมีวัฒนธรรมแบบทวารวดี ราว 1,500 ปีมาแล้ว เรือน พ.ศ.1000

(3.) กษัตริย์เมืองศรีจนาศะเชื่อมโยงเป็นเครือญาติกับกษัตริย์รัฐใหญ่ในกัมพูชา ส่วนเมืองศรีจนาศะเป็นศูนย์กลางชาวสยามที่มีภาพสลัก “เสียมกุก” บนระเบียงปราสาทนครวัด พ.ศ.1650

(ชาวสยาม “ไม่ไทย” เพราะเป็นลูกผสมหลายชาติพันธุ์ “ร้อยพ่อพันแม่” แต่พูดภาษาไท-ไต เป็นภาษากลางสื่อสารต่างชาติพันธุ์)

(4.) พ่อขุนผาเมืองเป็นชาวสยามทายาท “เสียมกุก” ครองเมืองศรีจนาศะ แต่ถูกเรียกเมืองราด ราว 900 ปีมาแล้ว เมื่อเรือน พ.ศ.1700

(5.) พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด เป็น “ลูกเขย” กษัตริย์กัมพูชา ได้รับพระราชทานของสำคัญรวมทั้ง “พระขรรค์ชัยศรี” หลังจากนั้นพ่อขุนผาเมืองมีเครือข่ายอำนาจเชื่อมโยงวงศ์เครือญาติเมืองศรีเทพ, เมืองละโว้, เมืองอโยธยา และเมืองสุโขทัย

พบความทรงจำอยู่ในพระราชพงศาวดารเหนือว่าเชื้อสายพ่อขุนผาเมือง คือพระยาแกรก เป็นกษัตริย์ครองอโยธยา พร้อมพระขรรค์ชัยศรี (ของพ่อขุนผาเมือง) และ จารึกศรี จนาศะ น่าจะถูกเชิญลงไปอโยธยาในคราวนี้

(6.) เมืองราด (ศรีจนาศะ) ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอโยธยาและอยุธยา ต่อมาอยุธยาในแผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถ สถาปนาขึ้นเป็นเมืองนครราชสีมา พ.ศ.2011

เมืองนครราชสีมาได้รับยกย่องเป็นเมืองประเทศราช มีศักดิ์ศรีสูง ได้ถือน้ำพระพัทธ์ (น้ำพิพัฒน์สัตยา) พบหลักฐานในกฎมณเฑียรบาล สมัยอยุธายาตอนต้น

(7.) เมืองนครราชสีมาถูกย้ายไปสร้างใหม่อยู่บริเวณปัจจุบันเป็น จ.นครราชสีมา ทำให้ที่เดิมถูกเรียกเมืองโคราชเก่า (อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา)

[ชื่อทางการของเมืองนครราชสีมา มีคำว่า “สีมา” หลังจากนั้นถูกชาวบ้านเรียกเมืองโบราณโคราชเก่าอย่างกลายคำว่าเมืองเสมา]

จารึกศรีจนาศะ (จากเมืองศรีจนาศะ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา) ขุดพบบริเวณเทวสถานใกล้สะพานชีกุน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
แผ่นศิลารูปทรงคล้ายกลีบบัว จารึกอักษรเขมรโบราณทั้งสองด้าน ด้านที่ 1 บรรทัดที่ 1-18 ภาษาสันสกฤต ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 1-17 ภาษาเขมรโบราณ (ส่วนล่างของจารึกชำรุดหักหายไป)
[ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). จารึกศรีจนาศะ. [ออนไลน์] สืบค้นเมื่อ 9 กรกฎาคม 2566, จาก https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/313]
สิ่งศักดิ์สิทธิ์จากเมืองศรีจนาศะ

ความศักดิ์สิทธิ์ของศิลาจารึกศรีจนาศะมี 2 อย่าง ได้แก่ (หนึ่ง) มีโศลกสรรเสริญพระศิวะ (หรือพระอีศวร) และพระอุมา (สอง) มีรายพระนามกษัตริย์บรรพชน เสมือน “เทพบิดร”

แต่ความศักดิ์สิทธิ์ของจารึกศรีจนาศะไม่มั่นคงเหมือนเดิม เมื่อสภาพแวดล้อมทางสังคมและการเมืองเปลี่ยนไป ได้แก่

(1.) อโยธยาหลังรับเถรวาทแบบลังกา (นับถือพระราม) อย่างเต็มบริบูรณ์ ย่อมละเลยจารึกศรีจนาศะที่มีเนื้อความสรรเสริญพระศิวะ

(2.) อโยธยาถูก “ผีห่า” กาฬโรคระบาด ต้องทำพิธีล้างอาถรรพ์ด้วยการย้ายศูนย์กลางอำนาจไปที่ใหม่ น่าจะส่งผลกระทบถึงศิลาจารึกศรีจนาศะอย่างรุนแรง จึงไม่พบหลักฐานความเป็นมา

(3.) หลังเสียกรุง พ.ศ.2310 โบสถ์พราหมณ์ย่านชีกุนต้องปรักหักพัง ทำให้ศิลาจารึกศรีจนาศะถูกถมทับเป็นเนินดินนานมากกว่า 100 ปี ต่อมาอีกนานมากถูกค้นพบจากการขุดดินทำถนน เมื่อ พ.ศ.2482 •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ