อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ซานไห่ เก้าคนหลังฉาก ในประวัติศาสตร์ผลัดใบ (23)

เมื่อถึงปี 1940 สถานการณ์ในซานไห่ก็ดีขึ้นตามลำดับ

ผู้อพยพต่างพากันออกจากเขตปลอดสงคราม เมื่อถึงเดือนมิถุนายนก็มีการประชุมกันว่าสมควรแก่เวลาที่จะปิดเขตปลอดสงครามลงเสีย

ในตอนนั้นเหลือผู้อพยพเพียง 15,000 คนในเขตนานจี๋

ช่วงนั้นรัฐบาลที่นานกิงได้ตัดสินใจขอตัวบาทหลวงจาควิโนต์มาทำงานด้วยกับประเทศฝรั่งเศส

หากแต่รัฐบาลฝรั่งเศสอ้างว่าศาสนมณฑลในฝรั่งเศสโดยเฉพาะพวกเยซูอิตต้องการให้บาทหลวงจาควิโนต์กลับบ้านเกิดเสียที

เหตุผลหนึ่งซึ่งเปิดเผยในภายหลังคือศาสนมณฑลรู้สึกว่ากิจกรรมของบาทหลวงจาควิโนต์มีนัยยะทางการเมืองมากเกินไปกว่าหน้าที่ของผู้เผยแผ่ศาสนาธรรมดา

บาทหลวงจาควิโนต์ที่ไม่มีทางปฏิเสธจำต้องจากประเทศจีนที่เขารักไปในวันที่ 16 มิถุนายน 1940 ประเทศที่เขาอยู่อาศัยมานับ 27 ปี

เขาโดยสารเรือจากซานไห่และมุ่งหน้ากลับสู่ยุโรป

เมื่อถึงยุโรป บาทหลวงจาควิโนต์พบว่าสถานการณ์สงครามที่นั่นหาได้ดีกว่าที่ที่เขาจากมาเลย

การบุกประเทศโปแลนด์ในวันที่ 1 กันยายน 1939 ทำให้สงครามโลกครั้งที่สองอุบัติขึ้นในยุโรป การบุกเข้ายึดปารีสและทางเหนือของฝรั่งเศสในวันที่ 13 มิถุนายน 1940 ก่อนการเดินทางออกจากประเทศจีนของเขาเพียงสามวัน

jacquinot

ทำให้บาทหลวงจาควิโนต์มีความคิดที่จะเปิดเขตปลอดสงครามขึ้นในยุโรปโดยเฉพาะในประเทศฝรั่งเศสของเขาเอง

ทว่า ในประเทศฝรั่งเศสนั้น บาทหลวงจาควิโนต์ขาดไร้ซึ่งผู้สนับสนุนที่จริงจัง ต่างจากช่วงที่เขาอยู่ที่ซานไห่ และยิ่งปราศจากสถานการณ์ที่บีบคั้นก็ยิ่งทำให้เขาขาดพลังลงอีก

เขาเกิดความเบื่อหน่าย ท้อแท้ การต้องเผชิญกับภาวะสงครามทั้งที่จีนและในยุโรปทำให้เขาเป็นทุกข์

ผนวกกับข่าวการพ่ายแพ้ของฝ่ายสัมพันธมิตรที่มีแบบทุกวันยิ่งทำให้จิตใจของเขาหม่นหมองยิ่งนัก

จำนวนผู้อพยพเพราะผลสงครามนั้นเล่าผนวกกับทหารที่บาดเจ็บและทุพพลภาพ

บทกวีข้างล่างนี้เผยให้เห็นถึงอารมณ์เบื้องในของเขาที่ท้อแท้และสิ้นหวังได้อย่างชัดเจน

โมงยามสนธยาแห่งชีวิต

ทุกวันในฤดูร้อนอันสว่างไสว

จะจบลงด้วยความมืดยามค่ำและเสียงคร่ำครวญ

ดอกไม้บานแล้วก็โรยรา

มีสิ่งใดเหลืออยู่หรือพระเจ้าข้า มีสิ่งใดเหลืออยู่

มีแต่พระองค์ที่ยังคงอยู่เคียงข้าง

เคียงข้างหัวใจอันแสนรันทดของข้าน้อย

และมีแต่พระองค์เท่านั้นที่ยังกำลังแรงของข้าน้อยให้คงอยู่

อันแสดงให้เห็นถึงความรักอันคงมั่นที่ข้าน้อยมีต่อพระองค์

ในฤดูใบไม้ผลิ ข้าน้อยสัมผัสได้ว่า

ชีวิตของข้าน้อยได้ผ่านพ้นมาไกลมาก

ช่างเศร้าอะไรเช่นนี้

ที่มีแต่พระองค์เป็นที่พึ่งสุดท้ายที่ปลายทาง

ในที่สุด บาทหลวงจาควิโนต์ก็ได้ทำงานที่เขาประสงค์เมื่อสันตะปาปาพิอุสที่ 12 ตัดสินพระทัยว่าศาสนจักรคาทอลิกควรเข้ามามีส่วนช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสงคราม

พระองค์ทรงแต่งตั้งบาทหลวง ฌอง โรแฮง-Jean Rohain ให้รับผิดชอบในการนี้ และให้บาทหลวงจาควิโนต์เป็นผู้ช่วย

งานแรกที่บาทหลวงจาควิโนต์ต้องกระทำคือการเดินทางไปยังอังกฤษและไอร์แลนด์เพื่อแสวงหาลู่ทางในการร่วมมือกับศาสนจักรสำคัญที่นั่น

เขาต้องฝ่าแนวระเบิดจากมิสไซล์ของฝ่ายเยอรมนีที่กระหน่ำลงในนครลอนดอน

หลังจากนั้นเขาเดินทางไปอีกหลายประเทศและอีกหลายเมืองทั้งในเยอรมนี และฝรั่งเศส

สิ่งที่น่าตกใจคือสุขภาพของเขาที่เลวร้ายลงทุกขณะ

เมื่อเขากลับจากเบอร์ลินในเดือนสิงหาคม 1946 เขาอ่อนแอจนไม่อาจเข้าพิธีมิสซาได้ด้วยซ้ำไป

อาหารที่เขากินประทังชีวิตคือมะเขือเทศที่เขาปลูกไว้ในอาราม

เพื่อนร่วมอารามขอให้เขาไปพบแพทย์เฉพาะทาง

หากแต่เขาปฏิเสธ นั่นอาจเป็นเพราะว่าเขารู้ตัวดีว่าวาระสุดท้ายของเขาเข้าใกล้มาแล้ว

ยาที่เขาได้รับเขามักเทมันให้กับต้นไม้ในกระถางหัวเตียงแทน

และเมื่อแพทย์ที่จ่ายยาถามว่ายาได้ผลเช่นไรบ้าง เขาจะชี้ให้แพทย์ดูต้นไม้ที่ออกใบเหลืองใกล้ตายแล้วกล่าวว่ายาได้ฆ่าสิ่งมีชีวิตนี้ไปแล้ว

วันที่ 6 กันยายน บาทหลวงจาควิโนต์ล้มลงด้วยอุบัติเหตุ เขาได้รับบาดเจ็บและถูกนำส่งตัวยังโรงพยาบาล

แพทย์วินิจฉัยว่าเขาป่วยเป็นโรคลิวคีเมียระยะสุดท้าย และจำเป็นต้องได้รับการถ่ายเลือดโดยด่วน ซึ่งอย่างน้อยก็ยังยืดชีวิตเขาไปได้อีกระยะหนึ่ง

หากแต่บาทหลวงจาควิโนต์ปฏิเสธ เขาอ้างว่าเขาได้รับเลือดผ่านวิธีนี้มาสี่ครั้งแล้วในชีวิตเขา และเขารู้สึกว่ามันเพียงพอแล้ว

บัดนี้เขาเตรียมตัวที่จะจากโลกนี้ไปแล้ว

และเมื่อถึงวันที่ 9 กันยายน เมื่อพยาบาลมาเยี่ยมเขา บาทหลวงจาควิโนต์ได้ร้องขอแชมเปญหนึ่งขวด เมื่อแชมเปญมาถึง เขาเทมันใส่ช้อนและจิบเพียงเล็กน้อยก่อนจะรินแจกใส่แก้วให้ทุกคนเพื่อดื่มอวยพรให้เขา

เหตุการณ์นี้ดูจะแสดงออกถึงความเป็นตัวตนของเขาที่ไม่ระย่อต่อโชคชะตา

วันรุ่งขึ้นอาการของเขาก็หนักลง

หลังจากนั้นเขาก็ไม่รู้สึกตัวอีกเลย

และเมื่อถึงวันที่ 10 กันยายน เวลาสี่โมงเย็น บาทหลวงจาควิโนต์ก็จากโลกนี้ไปด้วยวัย 68 ปี

ชีวิตของบาทหลวงจาควิโนต์เป็นชีวิตที่น่าสนใจอย่างยิ่ง แม้เขาจะจากโลกนี้ไปนานแล้ว แต่รูปแบบของเขตปลอดสงครามที่สร้างพื้นที่ที่ให้ผู้บริสุทธิ์ปลอดภัยจากอันตรายยังเป็นสิ่งที่กระทำกันโดยทั่วไป

สหประชาชาติได้ประกาศให้ใช้เขตปลอดสงครามเพื่อดูแลชีวิตพลเรือนหากจำเป็น

สนธิสัญญาเจนีวาในปี 1949 ที่มุ่งสร้างความปลอดภัยให้ชีวิตพลเรือนและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนก็มีกำเนิดส่วนหนึ่งมาจากการสร้างเขตปลอดสงครามของบาทหลวงจาควิโนต์นั่นเอง

ช่วงเวลาที่ซานไห่ถูกกระทำจากกองทัพญี่ปุ่นในสงครามจีน-ญี่ปุ่นนั้น หากปราศจากเขตปลอดสงครามของบาทหลวงจาควิโนต์ก็ไม่แน่ว่าจะมีผู้สูญเสียอีกเป็นจำนวนมากสักเท่าไร

มีงานระลึกถึงเขาอยู่เสมอที่ซานไห่ และหากเราย้อนเดินกลับไปในเมืองแห่งนี้ ร่องรอยของเขาและผลงานของเขายังคงปรากฏโดยทั่วไป

และไม่ใช่เพียงบาทหลวงจาควิโนต์เท่านั้น หากแต่บุคคลในตำนานทั้ง อ้ายชิง, เจียวเหลอ, เสี่ยนอี๋, ตู้ ยู เชิง, มู่ จื่อ อิง, ไต้ ลี่ หยาง, เสี่ยวฉง, โยชิโกะ คาวากูจิ หรือ หลี่ เซียง หลาน ล้วนเป็นบุคคลในตำนานทั้งสิ้น

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ว่าบุคคลเหล่านี้ล้วนข้องเกี่ยวกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่งผ่านทางสิ่งที่เรียกว่า สื่อและอิทธิพลของสื่อทศวรรษที่สาม ศูนย์แห่งนครซานไห่

ทศวรรษนั้นเป็นทศวรรษที่ผู้มีปากกาในมือคือผู้ที่ทรงอิทธิพลอย่างแท้จริง