สารพัด ‘ขบ’ (1)

ญาดา อารัมภีร

คุณปู่เล่าให้ฟังว่าสมัยที่พ่อกับอายังเด็กซนอย่าบอกใคร ช่วยกันจับงูตัวเล็กๆ มาเล่น แล้ววิ่งโร่ไปบอกคุณปู่ว่า ‘งูมันขบข้อยๆ’ ดีที่เป็นงูไม่มีพิษ ไม่เช่นนั้นผู้เขียนคงหมดสิทธิ์เกิด

ถามคุณปู่ว่าทำไมพ่อถึงใช้คำว่า ‘ขบ’ แทนกัด

ท่านอธิบายว่าคนเหนือเขาพูดกัน สมัยนั้นคุณปู่เป็นหมอที่เชียงใหม่ พ่อเกิดที่นั่น ก็เลยใช้คำว่า ‘ขบ’ และแทนตัวเองว่า ‘ข้อย’ หมายถึง ฉัน ผม หรือข้าพเจ้า

วรรณคดีไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา เรื่อยมาถึงรัตนโกสินทร์ใช้คำว่า ‘ขบ’ ที่หมายถึง กัด กับสัตว์สารพัดชนิดสารพัดขนาดตั้งแต่ ยุง มด งู แร้ง กา หมา ม้า จระเข้

ไปจนถึงสัตว์ในวรรณคดี เช่น ม้ามังกร และไกรสรราชสีห์ ฯลฯ

 

“ไตรภูมิพระร่วง” สมัยสุโขทัยบรรยายถึงนรกบ่าวลำดับ 2 ว่าเต็มไปด้วยหมา 5 จำพวก มีทั้งสีขาว แดง ด่าง ดำ เหลือง

“หมาฝูงนั้นใหญ่เท่าช้างสารทุกตัว ฝูงแร้งแลกาอันอยู่ในนรกนั้นใหญ่เท่าเกียนใหญ่ทุกๆ ตัว ปากแร้งแลปากกาแลเล็บตีนนั้นเทียรย่อมเหล็กแดงเป็นเปลวไฟลุกอยู่บ่มิได้เหือดสักคาบ แร้งแลกาหมาฝูงนั้น เทียรย่อมจิกแหกหัวอกย่อมขบย่อมตอดคนทั้งหลายผู้อยู่ในนรกนั้น แลบาปกรรมของเขานั้นบ่มิให้ตาย แลให้เขาทนเจ็บปวดสาหัส ทนทุกขเวทนาพ้นประมาณอยู่ในนรกอันชื่อว่า ‘สุนัขนรก’ นั้นแล” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

“ไตรภูมิพระร่วง” ยังเล่าถึงจักรรัตนะหรือกงจักรแก้วคู่บุญของมหาจักรพรรดิราชว่า มีลักษณะโดดเด่นยามลอยขึ้นไปในท้องฟ้า มีสีแสงพร่างพรายงามราวกับมีไกรสรราชสีห์สองตัวเหาะและบ่ายหน้าออกมาจากกงจักรแก้ว ดังจะโจนเข้ากัดและทำลายข้าศึกทั้งมวลให้ย่อยยับ

“เมื่อจักรแก้วนั้นหันไปเบื้องบนอากาศ แลดูพรายงามดังไกรสรสีหะสองตัวนั้นเหาะ แลหว้ายหน้าออกมาแห่งชายกงจักรแก้วนั้นดุจดั่งจะเข้าขบเข้าแหกเอาฝูงข้าศึกนั้นแล”

 

ส่วน “กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก” สมัยอยุธยา ใช้ว่า ‘ขบ’ กับ ยุง ตอนที่กวีเห็นนกตบยุง ซึ่งเป็นนกชนิดหนึ่งก็หวนนึกถึงยามน้องผู้เป็นที่รักคอยใช้แส้ปัดยุงมิให้มา ‘ขบ’ หรือ ‘กัด’ พี่ได้

“ตบยุงเคยโบกยุง กรานในมุ้งถือแส้วี

ยุงขบพี่ฤๅมี เพราะเพื่อเจ้าเฝ้าพยาบาล

นกตบยุงนึกน้อง เทพี

ถือแส้หมอบพัดวี ค่ำเช้า

ยุงขบพี่ฤๅมี สักหยาด

เพราะเพื่อนวลของเจ้า เฝ้าเฟี้ยมพยาบาลฯ”

นอกจากนี้ มีคำว่า ‘ขบ’ ในวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์หลายเรื่อง เช่น ‘หมาขบ’ พบใน “โคลงโลกนิติ” มาจากสำนวนว่า ‘หมากัดอย่ากัดตอบ’ หมายความว่า อย่าลดตัวลงไปต่อสู้หรือต่อปากต่อคำกับคนพาลหรือคนที่มีศักดิ์ต่ำกว่า

“หมาตัวใดร้ายขบ บาทา

อย่าขบตอบต่อหมา อย่าขึ้ง

ทรชนชาติช่วงทา รุณโทษ

อย่าโกรธอย่าหน้าบึ้ง ตอบถ้อยถือความ”

 

โดยเฉพาะเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ใช้คำนี้เป็นระยะๆ อย่างตอนที่ทองประศรีพาพลายแก้วลูกชายหนีภัยมาอยู่ในป่า ต้องผจญความทุกข์ยากเดือดร้อนรำคาญมากมาย พลายแก้วกุมารน้อยตัดพ้อรำพันว่า

“จะหลับจะนอนก็ไม่ได้ ยุงริ้นบินไต่อยู่หวู่หวี่

มดขบแม่ตบให้ฉันที แต่พอรุ่งพรุ่งนี้จะหนีไป”

หรือตอนที่พลายชุมพลกับเถนขวาดแปลงกายต่อสู้กัน

“ลิงสู้งูขบทบกระหวัด งูรัดเอาลิงลงกลิ้งอยู่

ลิงก็หายกลายเป็นขรัวตาครู ชุมพลหายจากงูเป็นคนไป”

ตอนที่เถนขวาดแปลงกายเป็นจระเข้ใหญ่ ก็ต่อสู้กับพลายชุมพลซึ่งชักมีดหมอรอจังหวะ

“เอาหางฟาดฉาดรับด้วยมีดหมอ แกแว้งขบหลบล่อแล้วห้ำหั่น

เถนกดชุมพลกอดต้นคอพลัน เถนผุดชุมพลรันขึ้นขี่คอ”

 

นิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” เล่าถึงฤทธิ์เดชม้ามังกรไว้หลายตอน แรกพบกับสุดสาครทำเอากุมารน้อยรับมือไม่ไหว ต้องรีบแจ้นกลับไปหาพระโยคี

“ไปเที่ยวเล่นเห็นอ้ายอะไรมิรู้ ดำทั้งตัวหัวหูมันดูขัน

ข้าเข้าจับกลับขบต้องรบกัน แต่กลางวันจนเดี๋ยวนี้ฉันหนีมา”

เมื่อม้ามังกรกลายเป็นพาหนะคู่ใจของสุดสาคร ยามเผชิญหน้ากับผีดิบ ก็ช่วยกันสองแรงแข็งขัน

“บ้างอยากกินลิ้นแลบแปลบแปลบมา กุมารกล้ากลอกกลับเข้ารับรบ

ม้ามังกรถอนถีบกีบสะบัด เอาหางวัดราวกับนาคทั้งปากขบ

สังหารผีรี้พลอยู่จนพลบ เห็นเพลิงคบล้อมรอบขอบกำแพง”

ยิ่งตอนผจญภัยที่เกาะกาวินถิ่นผีเสื้อ ต้องช่วยกันเป็นพัลวัน

“มันกลับกลุ้มรุมจับพระรับรบ ทั้งม้าขบโขกกัดสะบัดหาง

ทั้งตัวปีกฉีกตายมันวายวาง พระสู้พลางภาวนามหามนต์”

นอกจาก ‘ขบ’ มีคำไหนบ้างใช้แทนกันได้ คำว่า ‘ขบ’ ยังแตกลูกออกหลานอีกหลายคำ

ฉบับหน้าอย่าพลาด •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร